สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมื่อหนี้เสียเพิ่มขึ้นสูงกว่ารายได้

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย วิไล อักขระสมชีพ

เวลาที่รัฐบาล สภาพัฒน์หรือแบงก์ชาติพูดว่าเศรษฐกิจดีขึ้น กำลังซื้อโดยรวมก็ดีขึ้น เพราะภาคเกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นฐานส่วนใหญ่ของประเทศ ถ้าเป็นเช่นนี้จริง ก็ต้องแปลว่า คนเรามีเงินในกระเป๋าตังค์เพิ่มขึ้น…ถูกไหม ?

ยิ่งเวลาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ รายงานตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2560 บอกว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนของทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 11.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.16 หมื่นล้านบาท หรือ 3% จากช่วงเดียวกับปีก่อน แม้ว่าจะโชว์ตัวเลขสวย ๆ ในด้านของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี (มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ของเศรษฐกิจไทย มีอัตราชะลอลงอยู่ที่ 78.6% ต่อจีดีพี และลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ทำให้ภาครัฐดูจะโล่งอก ต่างจากหลายปีที่เคยขึ้นถึง 80% ทำเอาหวาดผวากันไปทั้งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หากเจาะลึกในหนี้ครัวเรือน จะเห็นความน่ากลัวของฐานะการเงินของคนไทยที่ “เปราะบาง” และหากมาดูความจริงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ลดลง ก็เพราะว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตทุกปี (มูลค่าจีดีพี) ในช่วงที่ผ่านมาก็โตปีละ 3% ขึ้นไป

ยิ่งไตรมาสแรกนี้ จีดีพีโตดีถึง 3.3% ด้วย นอกจากนี้ช่วงต้นปีจะเห็นคนมีเงินที่ได้จากโบนัส มาจ่ายคืนหนี้กันบ้าง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสินเชื่อบางตัวที่ชะลอตัวลง เช่น สินเชื่อกู้ซื้อบ้าน

ซึ่งธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) อนุมัติยากขึ้น เพราะระมัดระวังการปล่อยกู้มากขึ้น หรือแม้แต่สินเชื่ออื่นก็ลดลงเพราะอนุมัติยากขึ้นเช่นกัน จึงเหลือแต่หนี้เก่า ๆ จึงทำให้ไตรมาสแรก สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีออกมาดูดีทีเดียว

แต่ในสภาพความเป็นจริงคนไทยเรา เวลานี้ต่างรู้สึกว่ามีเงินในกระเป๋าใช้จ่ายน้อยลง งานนี้ขอไม่นับคนรวย ๆ ที่กระจุกตัว และทางออกที่ทำได้ คือ หากมีช่องทางไหนให้กู้เงินมาใช้จ่ายหมุนเวียนก็วิ่งไปหาทั้งนั้น เพราะอารมณ์ความอยากซื้อมันพลุ่งพล่าน จนไม่มีเหตุผลมาแยกแยะว่าสิ่งนี้จำเป็นต้องซื้อ สิ่งนี้ฟุ่มเฟือยไม่ต้องซื้อ ยิ่งมีบรรดาแบงก์-น็อนแบงก์ หลัง ๆ มารัฐก็เปิดให้มี “นาโนไฟแนนซ์-ฟิโก้ไฟแนนซ์” เข้ามาให้บริการเงินกู้ในกลุ่มคนรากหญ้า สนองนโยบายรัฐที่อยากให้คนรากหญ้าเข้าถึงแหล่งเงินกู้ยืมง่ายขึ้น

นี่คือฝั่งหนี้สินของคนไทย มาดูฝั่งด้านการออมเงินของคนไทยบ้าง อยู่ระดับต่ำมายาวนาน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องการออมของคนไทย

น่าสนใจ คือ สถานการณ์การออมของครัวเรือนไทยชะลอตัวลงนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา จากที่เคยมีเงินออมอยู่ที่ระดับ 25.1% ต่อรายได้เฉลี่ยรายเดือน ซึ่งลดลงมาอยู่ที่ 21.4% ในปี 2558 พบว่าคนที่มีการออมส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงกว่า 15,000 บาทต่อเดือน เนื่องจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท จะมีรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย

รวมทั้งเล่าถึงการออกไปสำรวจตัวอย่างครัวเรือนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า ครัวเรือนประมาณ 40% ของทั้งหมดที่สำรวจมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาถึง เดือนพฤษภาคมนี้ โดยส่วนใหญ่หนี้

เพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายล่วงหน้า ทั้งหนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล หนี้ที่จำนำทอง จำนำบ้าน เป็นต้น โดยครัวเรือนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ในแต่ละเดือน มากกว่า 40%

สัญญาณการออมเงินมี แต่แนวโน้มลดลง ขณะที่ทิศทางการสร้างหนี้กลับเพิ่มขึ้น ล้วนตอกย้ำภาพอำนาจการซื้อของคนไทย มีแต่ลดหายลงไปทุกทีและหากจะใช้จ่ายก็ต้องไปหาเงินกู้ยืมยอมจ่ายดอกเบี้ยสูงมาใช้จ่ายล่วงหน้าไปก่อน เพราะรายได้มีไม่เพียงพอ ซึ่งก็จะมีหนี้พอกหมักหมมขึ้น กว่าจะปลดล็อกก็ไม่ง่ายอยู่แล้ว ในด้านของการกู้หนี้มาใช้จ่ายจะช่วยให้ด้านการบริโภคเอกชนขยายตัวดี และส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้สดใส แต่หากเป็นการกู้ยืมเงินมาสร้างภาคการบริโภคให้ดี การเติบโตของเศรษฐกิจไทยคงเป็นภาวะเปราะบาง เช่นที่ยังเกิดขึ้นอยู่เช่นนี้แน่นอน

ไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมช่วงปีนี้จึงเห็นผู้ว่าการหนุ่มแบงก์ชาติ “ดร.วิรไท สันติประภพ” ออกมาแข็งขัน ที่จะแก้ปัญหาหนี้ของคนไทย ซึ่งกำลังพยายามทำให้ครบวงจร หลังจากที่ผ่านมาได้เข้ามาตั้ง “คลินิกแก้หนี้” สำหรับคนที่มีหนี้ไม่มีหลักประกัน ราว 2 ล้านบาท (เป็นหนี้เสียก่อน 1 พ.ค. 2560) เข้าโครงการเพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้ และจัดโปรแกรมวางแผนทางการเงิน

และล่าสุดกำลังเดินหน้าคุมการก่อหนี้ประเภทไม่มีหลักประกัน คือ ทั้งบัตรเครดิต พีโลน บัตรกดเงินสด ซึ่งกฎเกณฑ์ที่ใกล้จะเจรจากับฝั่งผู้ประกอบการแบงก์และน็อนแบงก์แล้ว คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในเดือนสิงหาคมนี้

ครั้งนี้นับเป็นการแก้ปัญหาที่หมักหมมหรือรากเศรษฐกิจสำคัญของไทยทีเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุก

ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แม้ในช่วงที่เริ่มใช้จะเป็นช่วงภาวะกินยาขม แต่อย่าลืม ทุกวันนี้ เรารู้ตัวกันอยู่แล้วว่า ตกอยู่ในภาวะ “แก่ก่อนรวย” เพราะมีหนี้ท่วมอยู่ต้องผ่อนชำระจนแก่ และขณะที่ตอนนี้เข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยแล้ว หากยังไม่รีบแก้ปัญหาการออมและการก่อหนี้ ประเทศไทยสุ่มเสี่ยงที่จะตกอยู่ในภาวะวิกฤตแน่นอน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หนี้เสียเพิ่มขึ้น สูงกว่ารายได้

view