สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โอกาสของ คนสูงวัย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

ในโลกยุคดิจิทัลที่กำลังหมุนเร็ว ทุกวันมีแต่การเกิดขึ้น ธุรกิจ “สตาร์ตอัพ” ที่ต้องการเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีข่าวเล็ก ๆ เกี่ยวกับสตาร์ตอัพของเกาหลีใต้ที่ชื่อ “EverYoung” รับสมัครพนักงานเฉพาะผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไปเท่านั้น เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาบนออนไลน์

หลายคนอาจมองว่าผู้สูงอายุอาจจะ “เชื่องช้า” ตามไม่ทันโลก โดยเฉพาะในโลกยุคดิจิทัล แต่บริษัทแห่งนี้ยืนยันว่า ผู้สูงอายุกับเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ไปด้วยกันได้ ที่สำคัญพนักงานสูงอายุยังใส่ใจในรายละเอียดการทำงานดีกว่าพนักงานที่อายุ น้อย รวมทั้งมีความตั้งใจในการทำงานมากกว่า

โดยบริษัทได้เริ่มทดลองจ้างงานผู้สูงอายุจำนวน 30 คน คอยสอดส่องเนื้อหาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของบริษัท จากจำนวนพนักงานบริษัททั้งหมด 420 คน

พนักงานสูงอายุกลุ่มนี้จะเก็บมือถือไว้ที่ตู้ล็อกเกอร์ เรียกว่าไม่ใช้โทรศัพท์ระหว่างการทำงานแน่นอน แต่พนักงานจะทำงานเพียงวันละ 4 ชั่วโมง และทุก ๆ 50 นาที จะมีเวลาพักผ่อน 10 นาที

ผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพ EverYoung บอกว่า แนวคิดของบริษัทเกิดขึ้นจากที่เราเห็นศักยภาพการทำงานของผู้สูงอายุ และต้องการให้ผู้สูงอายุได้เข้าร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะบุคคลเหล่านี้เต็มไปด้วยความรักและสนุกในการทำงาน

และในขณะที่หลาย ๆ ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย คนวัยทำงานลดลง รายงานของ “เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม” ระบุว่า ในปี 2050 อัตราส่วนของคนทำงานที่เกษียณอายุจะเพิ่มมากขึ้น จากสัดส่วน 8:1 ในปัจจุบันเป็น 4:1 หมายความว่าคนทำงานทุก ๆ 4 คนจะเกษียณอายุ 1 คน

พร้อมกับอายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ที่จะเพิ่มมากขึ้น อย่างในประเทศญี่ปุ่นคนที่เกษียณอายุในวัย 60 ปี สถิติข้อมูลเฉลี่ยจะต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไปอีก 35 ปี ด้วยอายุขัยเฉลี่ยที่ 95 ปี ดังนั้นช่วงเวลาหลังวัยเกษียณกลายเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานมากขึ้น

“เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม” ระบุว่า ระบบเกษียณอายุการทำงานแบบเดิมนั้น ถูกออกแบบมาสำหรับการมีชีวิตอยู่ต่อหลังวัยเกษียณเฉลี่ย 10-15 ปีเท่านั้น เมื่อมนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้นานาประเทศจำเป็นต้องทบทวนนโยบายการเกษียณ และขยับตัวเลขเกษียณอายุการทำงานให้สูงขึ้นตามไปด้วย ไม่เช่นนั้น อาจส่งผล (เสีย) ต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น กรณีประเทศอังกฤษ ล่าสุดมีการเสนอการปรับตัวเลขอายุเกษียณเพิ่มเป็น 68 ปี

อย่างไรก็ตาม การปรับเกณฑ์การเกษียณไม่ใช่แค่การปรับ “อายุ” เท่านั้น อีกสิ่งสำคัญคือต้องปรับแผนเรื่องเงินบำเหน็จบำนาญในอนาคตเพื่อให้สอดคล้อง กับอายุขัยด้วย เพราะปัญหาสำคัญที่จะเกิดขึ้นคือผู้สูงวัยไม่มี “เงินออม”

โดยเฉพาะคนไทยที่ได้ชื่อว่ามีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 71.2% ต่อจีดีพี ทั้งระดับหนี้และอัตราการเติบโตหนี้ครัวเรือนของไทยสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชีย และทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

ปัจจุบัน 1 ใน 3 ของประชากรไทยมีหนี้ (ในระบบ) เฉลี่ยอยู่ที่ 147,068 บาทต่อคน และ 1 ใน 5 ของคนไทยที่มีหนี้ จะเป็นหนี้เสีย 56,529 บาทต่อคน

ที่สำคัญรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า คนไทยเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดย 1 ใน 2 ของคนวัยเริ่มทำงานมีหนี้ และเป็นช่วงอายุที่มีสัดส่วนคนเป็นหนี้มากที่สุด นอกจากนี้ คนไทยยังมีหนี้นาน คือเป็นหนี้ตั้งแต่เริ่มทำงานจนเกษียณ

เป็นโจทย์ที่ทุกคนต้องตั้งรับและวางแผนชีวิต แม้ในอนาคตคนวัยเกษียณอาจได้รับโอกาสในการจ้างงานเพิ่มขึ้น ไม่ว่าเพราะด้วยศักยภาพความสามารถ หรือเพราะคนวัยทำงานลดน้อยลง แต่การเตรียมพร้อมวางแผนทางการเงินหลังวัยเกษียณแบบไม่เป็นหนี้ และมีเงินออม (เพียงพอ) น่าจะดีที่สุด

ดังนั้นเวลานี้ ธปท.จึงพยายามผลักดันมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดปัญหาการก่อหนี้ (เกินตัว) ของคนไทย และล่าสุดที่กำลังจะคลอดออกมาก็คือการลดวงเงินใช้จ่ายบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลของผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ด้วยความหวังจะช่วยเพิ่มโอกาสไม่ให้คนไทยเป็นหนี้ไปจนเกษียณ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โอกาส คนสูงวัย

view