สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กานต์ ตระกูลฮุน EEC เป็นเพชรเม็ดใหม่ ใหญ่กว่าอีสเทิร์นซีบอร์ด

กานต์ ตระกูลฮุน “EEC เป็นเพชรเม็ดใหม่ ใหญ่กว่าอีสเทิร์นซีบอร์ด

จากประชาชาติธุรกิจ

สัมภาษณ์พิเศษ

หลังวางมือจาก SCG เมื่อ 4 มกราคม 2559 “กานต์ ตระกูลฮุน” อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ก็ได้รับความไว้วางใจให้เป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการต่าง ๆ ของ “รัฐบาลประยุทธ์” ถึง 8 คณะ และเป็นประธานโครงการประสานพลังประชารัฐ 2 คณะ คือ คณะทำงานด้านการยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ และคณะทำงานด้านการปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ

ผ่านไปปีกว่า ความรับผิดชอบของ “กานต์” มากขึ้นหลายเท่าตัวจากที่เคยทำงานประจำ วันนี้เขาให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” สรุปภาพรวมให้เห็นทิศทางของประเทศไทยในเกมที่ใหญ่ขึ้นว่ามีความคืบหน้าอย่างไร

เร่ง R&D ให้ได้ 1%

เรื่องหนึ่งต้องยอมรับว่า การวิจัยและพัฒนา หรือ R&D สำคัญมาก ประเทศไทยใช้งบประมาณ เรื่อง R&D น้อยมาก ทั้งภาครัฐและเอกชนมีแค่ 0.2% ของจีดีพี (ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท) ซึ่งเป็นตัวเลขอันน้อยนิด ไม่ได้เกิดผลใด ๆ เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ใช้ถึง 3-4% เช่น เกาหลี เดิมใช้งบฯ 0.2% เหมือนไทย ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น กระทั่งตัวเลขงบฯวิจัยของเขาขยับไปที่ 1.2% ปรากฏว่า เกิดองค์ความรู้มากมาย และเกิดการพัฒนาเปลี่ยนไปจากเดิม

“มีคีย์เวิร์ดหนึ่งบอกว่า ถ้างบฯวิจัยและพัฒนาของประเทศถึง 1% ของจีดีพีเมื่อไหร่ ประเทศจะเกิดการพลิกหรือปรับเปลี่ยนดีขึ้นทันที ประเทศไทยหลายปีที่ผ่านมา งบฯวิจัยและพัฒนาไม่คืบหน้าไปไหน ตัวเลขอาจขยับขึ้นบ้าง แต่ก็ยังไม่ถึง 1% ปี 2558 อยู่ที่ 0.62% ตอนนี้น่าจะถึง 0.7% แล้ว คาดว่าจะขึ้นไปถึง 1% ในปลายปี 2561 ผมบอกได้เลยว่า ประเทศเราจะเริ่มเปลี่ยนแปลง ดังนั้นต้องลงทุน R&D เยอะ ๆ ถ้าไม่ทำ บ้านเราจะผลิตแต่สินค้าพื้น ๆ สู้ใครไม่ได้ เพราะต้นทุนสูงกว่า การลงทุน R&D จะทำให้เกิดสินค้าใหม่ เป็นการเพิ่มมูลค่า มาร์จิ้นจะสูงขึ้น มีองค์ความรู้ที่จะลดต้นทุนได้ด้วย”

แก้ไขกฎหมาย “อย.” อืด

กานต์กล่าวว่า ที่กำลังทำในฐานะกรรมการ “สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ” คือให้ภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ร่วมทำงานวิจัย (R&D Consortium) ซึ่งยังไม่เคยมี แต่เริ่มแล้วในเรื่อง “ฟู้ดอินโนโพลิส” หรือ “เมืองนวัตกรรมอาหาร”

งานสำคัญอีกด้านหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย คือปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ “กานต์” กล่าวว่า ต้องแก้กฎหมายที่ล้าสมัย ประเทศไทยจะได้วิ่งฉิว จากการทำงานมาระยะหนึ่งพบว่า ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ถึง 80,000-90,000 ฉบับ ถือว่ามากเกินไป ต้องปรับลดลง

“หลายคนพูดว่าถ้าเรารีฟอร์มกฎหมายได้จริง จีดีพีจะขึ้น 10-15%”

กฎหมายที่จะต้องเร่งแก้ไขอันดับต้น ๆ เช่น 1.กฎหมายคนเข้าเมือง มีใช้ฉบับเดียว ไม่ว่านักวิชาการ นักธุรกิจ หรือแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานในไทยเทียบเท่ากันหมด ซึ่งไม่ถูกต้อง 2.กฎหมายศุลกากร เป็นเรื่องที่ญี่ปุ่นเรียกร้องให้แก้เป็นอันดับ 1 ขณะนี้แก้เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างนำเสนอ สนช. จะประกาศใช้เร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะทำให้สินบนนำจับเรื่องพิกัดศุลกากรดีขึ้น 3.กฎหมาย EIA และ EHIA จะลดขั้นตอน จาก 420 วันเหลือ 300 วัน 4.กฎหมาย อย.เป็นกฎหมายที่แก้ไขยากมาก ขั้นตอนยาว ปัญหาเยอะ

“ต้องกราบจริง ๆ คณะกรรมการ อย.ทุกท่าน ขอให้เข้าใจตรงนี้ คงต้องคุยกันด้วยเหตุและผล เพราะการพัฒนาประเทศต้องร่วมกัน จึงอยากให้แก้ไขให้ได้ กฎหมายนี้ยังไม่คืบหน้าเท่าไหร่ อยากให้เร็วกว่านี้”

“อีอีซี” เพชรเม็ดงาม

อีกเรื่องที่ “กานต์” มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นคือ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เขาย้ำว่า “ถือเป็นเพชรเม็ดใหม่” เพราะอีอีซี คือ eastern economic corridor แต่ใหญ่กว่ามาก อีสเทิร์นซีบอร์ดเป็นแค่อำเภอเท่านั้น และเน้นอุตสาหกรรมอย่างเดียว ไม่ได้มองอย่างอื่น แต่อีอีซีเป็นเมืองอุตสาหกรรมเดิม อุตสาหกรรมใหม่ และการท่องเที่ยวด้วย

“อุตสาหกรรมในอีอีซีเป็นไฮเทค ไม่ใช่พื้น ๆ แล้ว อย่างรถยนต์เราเป็นฮับใหญ่สุดในอาเซียน รัฐบาลประกาศแล้วและผมสนับสนุนเต็มที่ให้เป็น EV เราต้องการอุตสาหกรรมใหม่ ๆ จึงต้องดึงเข้ามาในไทย ตอนนี้หุ่นยนต์ก็มาแล้ว เมดิคอลเอ็นจีเนียริ่งก็มา มีหลายอุตสาหกรรมสนใจ ยิ่งเราชูโครงการอู่ตะเภาขึ้นมา สิ่งที่ตามมาคือการซ่อมเครื่องบิน วันนี้ยอมรับว่าเซ็นเตอร์อยู่ที่สิงคโปร์ แต่พื้นที่เขาไม่พอต้องถมทะเลไปเรื่อย ราคาก็แพงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่เรามีพื้นที่อยู่แล้ว มีเทอร์มินอลใหม่ที่เพิ่งเปิดไป รับคนได้ถึง 3 ล้านคนในเฟสแรก ถ้ารันเวย์ที่สองแล้วเสร็จ เราจะสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 40-50 ล้านคน และกำลังทำรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน”

“กานต์” เพิ่มเติมว่า ในพื้นที่อีอีซีจะมี 14-15 โครงการ แต่จะเร่ง 5 เรื่องสำคัญให้เกิด คือ 1.อุตสาหกรรมใหม่พวกโรโบติก 2.สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา จะให้เกิดในปีงบประมาณ 2560 รวมรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน 3.ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 กำลังเร่งทำ 4.เมืองใหม่ที่จะต้องเกิด และ 5.เรื่องท่องเที่ยว (จุกเสม็ด) ต้องให้เกิดในปีนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาล “ออนท็อป” ให้ประชาชนในพื้นที่ คือ ตั้ง “กองทุนใหม่” เป็นกองทุนดูแลสภาพแวดล้อมและชุมชน ซึ่งเงินจะมาจากนักลงทุนภาคเอกชน

“4-5 เรื่องนี้ต้องให้เห็นเป็นรูปธรรมภายในปีนี้ วันนี้เข้าใจว่ากำลังพิจารณาเพิ่มอีก 2 เรื่อง รวมเป็น 7 เรื่องที่ต้องทำให้เกิดให้ได้ ยอมรับว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติที่มาลงทุนในไทยค่อนข้างน้อย เพราะทุกประเทศต่างพยายามดึงนักลงทุนไปประเทศเขา ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บ้านเรามีปัญหาการเมืองพอสมควรถ้าเทียบกับที่อื่น ขณะที่อินโดนีเซียเริ่มขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ให้สิทธิประโยชน์มากมาย โตโยต้าก็ไปลงทุนที่นั่น มาเลเซียก็กำลังไปได้ดี เขาก็ดึงเม็ดเงินไปเช่นกัน สิงคโปร์มีเงินเยอะมาก อาจต้องดึงเขามาร่วมลงทุนกับเรา เม็ดเงินการลงทุนของแต่ละบริษัทมีจำกัด เพราะมีอยู่ก้อนเดียว อยู่ที่ว่าเขาจะเลือกไปลงที่ไหนเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น นี่คือเหตุสำคัญที่สุดที่เราต้องเร่งอีอีซีให้เกิด เพื่อให้เป็นเพชรเม็ดใหม่ มีความเป็นบิวตี้ ดูแล้วสวยงามน่าอยู่ เพื่อดึงดูดการลงทุนมาให้ได้”

อัดงบฯ 1.5 ล้านล้าน

ถามถึงงบประมาณลงทุน “กานต์” บอกว่า เบ็ดเสร็จเฉพาะอีอีซีต้องใช้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี งบฯขนาดนี้รัฐจึงต้องผลักดันให้โครงสร้างพื้นฐานเป็น “พีพีพี” หรือ Public Private Partnership ใช้เม็ดเงินเอกชนลงทุนมากกว่ารัฐ ส่วนสถานะทางการเงินวันนี้ มีตัวเลข 180 บิลเลียนยูเอสดอลลาร์ ถือว่าเข้มแข็ง มั่นใจว่าประเทศไทยสามารถทำโครงการเหล่านี้ได้

การดึงนักลงทุนไปอีอีซีนั้น มีเอกชนไทยสนใจ อาทิ กลุ่ม ปตท.ในอีก 5 ปีข้างหน้า ตัวเลขร่วม ๆ 3 แสนล้าน SCG ก็ร่วมและจะต่อยอดธุรกิจออกไป ส่วนอุตสาหกรรมใหม่ อุตสาหกรรม MRO (Maintenance Repair and overhaul) มีแอร์บัสมาคุยแล้ว ล่าสุดเป็นบริษัทใหม่จากญี่ปุ่น 3-4 บริษัท และจากยุโรป ไต้หวัน เชื่อว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีประกาศอีกหลายราย ถือเป็น Good News

“ความเป็นเมือง” สำคัญสุด

อย่างไรก็ตาม “กานต์” ย้ำถึงสิ่งสำคัญที่สุดของโครงการอีอีซี นั่นคือ “ความเป็นเมือง” เพราะอีอีซีครอบคลุม 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ชลบุรีกับระยองมีนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ขณะที่ “ฉะเชิงเทรา” เพิ่งจะเริ่ม ตามแผนจะพัฒนาฉะเชิงเทราเป็นที่พักอาศัย เพื่อรองรับจำนวนคนที่หลั่งไหลเข้ามา ทั้งนักลงทุน นักธุรกิจ และแรงงานต่างชาติ เหมือนที่สิงคโปร์ทำสำเร็จ

“วันนี้พื้นที่ 3 จังหวัดมีประชากรเกือบ 2 ล้านคน แต่ใน 5-10 ปีข้างหน้า ถ้าโครงการอีอีซีสำเร็จ พื้นที่นี้จะมีประชากรมากถึง 10 ล้านคน รวมชาวต่างชาติที่จะมาอยู่ด้วย”


วิจัยและพัฒนา

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Market-think โดย สรกล อดุลยานนท์

วันก่อนฟังคุณกานต์ ตระกูลฮุน อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ SCG มาเล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงองค์กร SCG ให้เป็นองค์กรด้านนวัตกรรม

มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ

โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา

ตอนที่คุณกานต์เข้ามา ปี 2007 งบลงทุนและพัฒนาของ SCG ใช้เพียง 11 ล้านเหรียญสหรัฐ

หรือประมาณ 300 กว่าล้านบาท

จากนั้นค่อยขยับขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 21-25-26-32-41….

จนปี 2016 ตัวเลขงบวิจัยและพัฒนาของ SCG พุ่งขึ้นเป็น 124 ล้านเหรียญ

หรือประมาณ 4,000 ล้านบาท

แค่ 10 ปี งบด้านนี้ของ SCG เพิ่มจาก 300 เป็น 4,000 ล้านบาท

กว่า 10 เท่าตัว

คุณกานต์ให้ความสำคัญกับเรื่องการวิจัยและพัฒนามาก

ไม่ใช่แค่งบประมาณ

แต่เรื่องบุคลากรก็ทุ่มเทหนักมาก

เขาโชว์ตัวเลขจำนวนพนักงานในฝ่ายวิจัยและพัฒนา กับทีมออกแบบผลิตภัณฑ์

จากปีแรกที่เข้ามา มีอยู่ 364 คน

10 ปีผ่านไป ปีที่แล้ว 2 ฝ่ายนี้มีพนักงานสูงถึง 1,823 คน

งบลงทุนที่เพิ่มขึ้นมีนัยสำคัญกับยอดขายของ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มŽ ซึ่งเป็นเป้าหมายของ SCG

จาก 1,111 ล้านเหรียญ เมื่อปี 2007

ปีที่แล้ว 4,597 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 150,000 ล้านบาท

สูงกว่าสินค้าที่แข่งในตลาดราคาปกติไปแล้ว

เพราะเขารู้ว่าถ้าสู้เรื่อง ราคาŽ จะไม่ยั่งยืน

ต้องสู้ด้วยนวัตกรรม จึงจะเป็นผู้นำธุรกิจแบบยั่งยืน

คุณกานต์เล่าว่า เคยไปคุยกับผู้ผลิตสินค้าวัสดุก่อสร้างรายหนึ่งของอิตาลี

ตอนนั้นมีงานแสดงสินค้าและนวัตกรรมระดับโลกจัดแสดงอยู่

เขาถามว่า จะไปงานนี้หรือเปล่า

เจ้าของสินค้ารายนั้นทำหน้าสงสัย

ไปทำไมŽ

ก็ไปดู Trend ของตลาดŽ

เขาหัวเราะแล้วตอบสั้น ๆ

I am trendŽ

เพราะเขาเป็นเจ้าใหญ่กำหนด Trend ของตลาด

ความคิดแวบแรกที่ กานต์Ž คิดหลังจากฟังประโยคนี้ก็คือ วันหนึ่งเราจะต้องเป็นแบบนี้ให้ได้

SCG จึงทุ่มงบเรื่องการวิจัยและพัฒนากับการออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างเต็มที่

จากนั้นไม่กี่วัน ผมก็ได้ฟังเรื่องราวของ ซัมซุงŽ

ซัมซุงŽ เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องวิจัยและพัฒนาอย่างมาก

ถ้าจำไม่ผิดแต่ละปีเขาใช้งบประมาณกับเรื่องนี้เป็นหลักหมื่นล้านบาท

และที่สำคัญ ซัมซุงŽ ไม่ได้ใช้งบนี้กับเรื่องการพัฒนาสินค้าอย่างเดียว

แต่ใช้งบนี้กับเรื่องการเรียนรู้

ผู้บริโภคด้วย

เนื่องจาก ซัมซุงŽ เป็นแบรนด์ระดับโลก กลุ่มลูกค้าของเขาคือผู้บริโภคในประเทศต่าง ๆ

ทุกปี ซัมซุงŽ จะส่งคนไปต่างประเทศประมาณปีละ 150 คน

ส่งให้ไปเที่ยว

อ่านไม่ผิดครับ

ไม่ได้ส่งไปสำรวจตลาด แต่ส่งไปเที่ยว ไปใช้ชีวิต

ทำใจสบาย ๆ แล้วทำตัวให้เหมือนกับคนท้องถิ่น

อยู่กันเป็นปีเพื่อเรียนรู้วิธีคิดและชีวิตของคนประเทศนั้น

การบ้านก็มีเพียงแค่ให้ถ่ายวิดีโอส่งมาเรื่อย ๆ

ดูคลิปของทีมงานแล้ว ไม่มีอะไรเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าเลย

เป็นเรื่องวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น

นี่คือ การทำวิจัยผู้บริโภคแบบ ซัมซุงŽ ครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กานต์ ตระกูลฮุน EEC เพชรเม็ดใหม่ ใหญ่กว่าอีสเทิร์นซีบอร์ด

view