สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สรรพากร ดีเดย์ 1 ก.ย.นี้ เอาผิดอาญาผู้ใช้ใบกำกับ VAT ปลอม

สรรพากร” ดีเดย์ 1 ก.ย.นี้ เอาผิดอาญาผู้ใช้ใบกำกับ VAT ปลอม

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       “อธิบดีกรมสรรพากร” ระบุ 1 ก.ย. 60 เริ่มใช้แนวทางปฏิบัติที่เข้มข้นสำหรับผู้กระทำความผิดโดยการใช้ใบกำกับภาษี VAT ปลอม เตรียมดำเนินคดีเอาผิดทางอาญาที่ระบุโทษจำคุก 7 ปีต่อการยื่นใบกำกับภาษีปลอม 1 ฉบับ “ประสงค์ พูนธเนศ” เผย เป็นไปตามแรงกดดันจากต่างประเทศที่ต้องการให้ไทยเอาผิดผู้หลีกเลี่ยงภาษี เหตุบ่อนทำลายระบบภาษีและเศรษฐกิจประเทศ เตือนสำนักงานบัญชีต้องเริ่มปรับบทบาทจากการเป็นผู้ให้บริการจัดทำบัญชีไปสู่การเป็นผู้ให้คำแนะนำปรักษาการบันทึกบัญชี ปิดความเสี่ยงแก่ผู้ประกอบการรับมือกับโลกไร้เงินสด
       
       นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวหลังงานสัมมนาความร่วมมือกับสำนักงานเพื่อการแนะนำด้านภาษีอากรที่มีคุณภาพว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 60 เป็นต้นไป กรมสรรพากรจะเริ่มใช้แนวปฎิบัติที่เข้มข้นขึ้นกับผู้ประกอบการที่ใช้ใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ปลอม หลังจากที่ 20 ปีก่อนกรมสรรพากรได้ยอมผ่อนปรนให้ผู้ที่ใช้ใบกำกับภาษีปลอมเอาเงินมาจ่ายคืนแก่กรมสรรพากรแล้วกรมสรรพากรจะไม่ส่งเรื่องเพื่อดำเนินคดีอาญา เนื่องจากในขณะนั้นกรมสรรพากรมีความเห็นว่าผู้ประกอบการไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีจึงไม่เน้นการเอาผิดในคดีอาญา
       
       อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันปัญหาการใช้ใบกำกับภาษีปลอมก็ยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมาก และเมื่อมีการจับกุมผู้กระทำความผิดได้แล้วก็จะขอให้ชี้เบาะแสเพื่อสาวให้ถึงตัวการใหญ่ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันเหลือแต่ตัวการรายเล็กๆ จึงทำให้กรมสรรพากรมั่นใจแล้วว่าผู้ประกอบการที่ยังคงใช้ใบกำกับภาษีปลอมในปัจจุบันนั้นถือเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดและมีเจตนาที่จะหลบเลี่ยงการเสียภาษี
       
       ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้กำหนดบทลงโทษทางอาญาสูงสุดทั้งผู้ที่เจตนากระทำผิดและผู้สนับสนุนให้มีการกระทำผิดโทษ เช่น สำนักงานบัญชี คือจำคุก 7 ปีต่อการยื่นใบกำกับภาษีปลอม 1 ฉบับ โดยไม่ต้อรอให้ผู้กระทำผิดยื่นใบกำกับภาษี VAT ปลอมได้สูงถึง 75% แต่โทษสูงสุดโดยรวมแล้วจะไม่เกิน 20 ปี
       
       แม้ในช่วงผ่านมากรมสรรพากรจะยังไม่เคยดำเนินการตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ก็ตาม เนื่องจากโลกและแนวคิดในปัจจุบันได้เปลี่ยนไป การดำเนินคดีอาญาก็มีความชัดเจนมากขึ้น กรมสรรพากรจึงถูกบีบบังคับจากกระแสจากต่างประเทศ เช่น ยุโรป ให้ต้องดำเนินการเอาผิดในคดีอาญากับผู้ที่กระทำความผิดโดยการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี เนื่องจากการใช้ใบกำกับภาษีปลอมนั้นถือว่าเป็นการทำลายระบบภาษีและระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง สำหรับกฎหมายเอาผิดดังกล่าวจะออกโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ขณะที่คณะกรรมการจากกรมสรรพากรจะทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณากลั่นกรองตัวผู้เสียภาษีที่เข้าข่ายกระทำความผิดเพื่อส่งต่อให้ ปปง. ดำเนินการต่อไป
       
       ทั้งนี้ ในปัจจุบันสำนักงานบัญชีทั่วประเทศจะมีลูกค้าที่ใช้บริการตรวจสอบบัญชีราว 300,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) โดยที่ผ่านมากรมสรรพากรได้กำหนดมาตรการที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนให้ SMEs เสียภาษีให้อย่างถูกต้องเป็นธรรม แต่ก็ยังมีปัญหาว่าการทำบัญชียังไม่ตรงกับความเป็นจริง
       
       อย่างไรก็ตาม การนำระบบ e-payment มาใช้ในประเทศไทยนั้นก็เพื่อจะลดการใช้เงินสดจึงได้กำหนดให้ร้านค้าต่างๆ ติดตั้งเครื่องรูดบัตร (EDC) โดยสมัครใจ โดยกระทรวงการคลังมีเป้าหมายที่จะติดตั้งทั้งประเทศ 690,000 เครื่อง แต่ถึงปัจจุบันวามารถดำเนินการได้เพียง 90,000 เครื่อง เนื่องจากผู้ประกอบการให้เหตุผลว่ากลัวกรมสรรพากรจะรู้รายได้จริงของพวกตน ดังนั้น กรมสรรพากรจะถือว่าร้านค้าใดที่ไม่ติดตั้ง EDC เป็น
       จุดที่มีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการที่กรมสรรพากรจะต้องเข้าตรวจสอบภาษี
       
       นอกจากนี้ บทบาทของสำนักงานบัญชีในยุคที่โลกไร้เงินสดที่ระบบการทำธุรกิจค้าขายจะใช้ IT เป็นตัวกลางซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถบันทึกบัญชีรับ-จ่ายเป็นแบบเรียลไทม์ได้เองนั้นจะทำให้สำนักงานบัญชีต่างๆ ต้องเริ่มปรับบทบาทของตัวเองจากในปัจจุบันที่ทำหน้าที่เป็นผู้ลงบัญชีให้ผู้ประกอบการไปสู่การทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาการบันทึกบัญชีเพื่อปิดความเสี่ยงต่างๆ เช่น ความเสี่ยงจากการไม่บันทึกบัญชีเงินฝากธนาคารของกิจการ รวมถึง การให้คำแนะนำในการวิเคราะห์ด้านการเงิน การอำนวยความสะดวกด้านโปรแกรมบัญชี และการให้คำแนะนำเรื่องการดำรงสินค้าคงคลัง เป็นต้น 


สรรพากรเอาจริงใบกำกับภาษีปลอม เจอโทษอาญาจำคุกสูงสุด20ปี โดนทั้งบริษัทที่ใช้-สำนักงานบัญชี

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาความร่วมมือกับสำนักงานบัญชีเพื่อการแนะนำด้านภาษีอากรที่มีคุณภาพว่า แจ้งไปยังสำนักงานบัญชีทั่วประเทศ ส่วนใหญ่รับทำบัญชีให้กับบริษัทและเอสเอ็มอีรวมกันกว่า 3 แสนบริษัท ว่าตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 กรมสรรพากรเอาจริงในคดีอาญาในการใช้ใบกำกับภาษีปลอม จากในอดีตที่ยังไม่เคยมีการใช้คดีอาญากับกรณีดังกล่าว และจบที่การเสียค่าปรับ เงินเพิ่ม แต่จากนี้ไปหากมีการใช้ใบกำกับภาษีปลอม แม้แต่ใบเดียวต้องถูกดำเนินคดีอาญา 7 ปีต่อใบ โดย 1 ใบกำกับภาษีปลอมเท่ากับ 1 กรรม ดังนั้นถ้า 2 ใบต้องถูกดำเนินคดีอาญา 14 ปี แต่สูงสุดไม่เกิน 20 ปี

“การดำเนินคดีอาญาดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา 37 ประมวลรัษฎากร ซึ่งโทษบังคับใช้ทั้งกับผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอม คือ บริษัท ห้างร้าน และผู้ที่สนับสนุนให้กระทำผิด คือ สำนักงานบัญชี ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกดำเนินการในลักษณะนี้อยู่แล้วและเริ่มเข้มข้นขึ้น รวมถึงขอให้ไทยดำเนินคดีอาญาเหมือนในต่างประเทศด้วย เพราะที่ผ่านมา 20 ปี ไทยอนุโลมให้หากสำนึกผิดมาเสียภาษีและเสียค่าปรับถือว่าจบกันไป ไม่ต้องดำเนินคดีอาญา แต่ต่อไปถ้ามีหลักฐานชัดเจนว่ามีการใช้ใบกำกับภาษีปลอม จะไม่มีการละเว้นหรืออนุโลมในคดีอาญาให้อีกแล้ว” นายประสงค์กล่าว

นายประสงค์กล่าวต่อว่า สำนักงานบัญชีที่มีพฤติกรรมจงใจบันทึกบัญชีโดยปกปิดข้อเท็จจริง สร้างรายจ่ายอันเป็นเท็จ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกหรือใช้ใบกำกับภาษีปลอม ทำให้ผู้ประกอบการเสียภาษีไม่ถูกต้อง ตลอดจนการขอคืนภาษีเป็นเท็จ นอกจากจะถูกกรมสรรพากรดำเนินคดีอาญาตามประมวลรัษฎากรแล้ว ยังเป็นความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ.2543 ด้วย ซึ่งมีทั้งโทษปรับและจำคุก รวมถึงเป็นความผิดในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ซึ่งสภาวิชาชีพบัญชีฯอาจลงโทษสูงสุดถึงขั้นเพิกถอนการขึ้นทะเบียน

 

ที่มา : มติชนออนไลน์


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สรรพากร ดีเดย์ 1 ก.ย. เอาผิดอาญา ผู้ใช้ใบกำกับ VAT ปลอม

view