สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปรตวัดสุทัศน์ ภิกษุสันดานกากับขุมทรัพย์แสนล้าน...

เปรตวัดสุทัศน์ ภิกษุสันดานกากับขุมทรัพย์แสนล้าน...

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

เปรตวัดสุทัศน์ ภิกษุสันดานกากับขุมทรัพย์แสนล้าน...

        “แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์” 
        เป็นคำที่เชื่อว่า คนไทยแทบจะทุกคนคุ้นชินกันเป็นอย่างดี 
       
        ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - และถ้าจะพูดถึงเรื่องแร้งวัดสระเกศ ก็ต้องกล่าวถึงเปรตวัดสุทัศน์ เพราะสองคำนี้เป็นคำคู่กันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ จนเป็นคำติดปากของคนบางกอกสืบเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน เพียงแต่อาจจะยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ที่มาของประโยคดังกล่าวมีต้นตอมาจากอะไร เป็นเรื่องจริงหรือเป็นเพียงนิยายปรัมปราที่บอกเล่าสืบต่อกันมาเท่านั้น
       
        คำว่า แร้งวัดสระเกศเกิดขึ้นเพราะในช่วงต้นรัตนโกสินทร์นั้นโรคห่าหรืออหิวาตกโรคระบาดจนมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก และมีการนำศพผ่าน “ประตูผี”ออกนอกกำแพงพระนครมาไว้ที่วัดสระเกศ ทำให้ “แร้ง” ที่นิยมชมชอบกินซากสิ่งเสียชีวิตต่างๆ มาชุมนุมกันที่วัดแห่งนี้เพื่อจิกกินซากศพเป็นอาหาร
       
        ส่วนเปรตวัดสุทัศน์มีที่มาจากคำเล่าขานว่าที่วัดแห่งนี้มักมีเปรตปรากฏกายในเวลากลางคืนเป็นที่น่ากลัวอย่างยิ่ง ประกอบกับอหิวาตกโรคที่ระบาดจนมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 จนเผาศพแทบไม่ทัน ณ วัดสระเกศ จึงมีคำกล่าวคล้องจองกันว่า “เปรตวัดสุทัศน์ แร้งวัดสระเกศ” 
       
        และในวันนี้ เรื่องราวของเปรตวัดสุทัศน์ในอดีตกำลังกลับมาเป็นประเด็นร้อนสุดๆ ในยุทธจักรดงขมิ้นยุคปัจจุบันจนเกิดเป็น “วิวาทะ” ในโลกสังคมออนไลน์ที่แซ่บซี้ดระดับโอทอป 5 ดาว อันเป็นผลมาจากกรณีทุจริต “เงินทอนวัด” ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ภายใต้การนำของ “พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์” กำลังดำเนินการสะสาง และ นำมาซึ่งความไม่พอใจของพระสงฆ์องคเจ้าบางรูปถึงขั้นประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมและเรียกร้องให้มีการปลด “พ.ต.ท.พงศ์พร” ให้พ้นจากเก้าอี้ ผอ.พศ. กันเลยทีเดียว
       
        คำถามก็คือ ทำไมถึงต้องเรียกร้องให้ปลด พ.ต.ท.พงศ์พร
        พ.ต.ท.พงศ์พรไม่เข้าใจการบริหารจัดการของวัดวาอารามต่างๆ จริงดังคำกล่าวอ้างเช่นนั้นหรือ
       
        หรือเป็นเพราะเกรงว่า พ.ต.ท.พงศ์พรจะขยายความจากทุจริตเงินทอนวัดไปจัดการ “ขุมทรัพย์” ก้อนมหึมาที่ไม่เคยมีใครเข้าไปตรวจสอบจนกระทั่งเกิดการรั่วไหลไปใช้เป็นสมบัติส่วนตัวมากกว่าศาสนสมบัติของพุทธศาสนิกชนคนไทย เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครหรือหน่วยงานไหนไปยุ่งกับวัดวาอารามต่างๆ ที่มีนับแสนวัดทั่วประเทศในการใช้เงินทำบุญที่บรรดาญาติโยมบริจาคเพื่อจรรโลงศาสนาเลยแม้แต่น้อย
       
       2560 เปรตวัดสุทัศน์ฟื้นคืนชีพ
        จุดเริ่มต้นของวิวาทะแลเรื่องราวทั้งหมดมีที่มาจากกรณีการทุจริตเงินทอนวัดที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ(ปปป.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางสืบไปสืบมาพบว่า เจ้าหน้าที่ พศ.ร่วมมือกับวัดต่างๆ ทุจริตงบประมาณที่ใช้ในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันการสืบสวนขยายผลก็ลุกลามบานไปออกไป และไม่ได้หยุดอยู่แค่วัดเล็กวัดน้อยเท่านั้น หากยังรวมไปถึงวัดขนาดใหญ่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า กระทบพระชั้นผู้ใหญ่และคณะสงฆ์อย่างรุนแรง
       
        ฝ่ายที่ตำหนิติติงก็มีการตีความว่า การทำงานของ พศ. การออกมาให้ข่าวให้ข้อมูลรายวันของ พ.ต.ท.พงศ์พร ทำให้คณะสงฆ์เสียหาย ก่อให้เกิดวิกฤตศรัทธาที่ซึมลึกในหมู่พุทธศาสนิกชน ทั้งๆ ที่วัดวาอารามส่วนใหญ่มิได้มีพฤติกรรมเช่นนั้น ส่วนฝ่ายสนับสนุน พศ.ก็ชูรักแร้ให้ พ.ต.ท.พงศ์พรเดินเครื่องเต็มที่ เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะปฏิรูปศาสนาให้พ้นจากเหลือบไรหรือบรรดาแร้ง บรรดาเปรตที่อาศัยผ้าเหลืองแฝงตัวในการทำมาหากินให้หมดไปเสียที ขณะที่ภาครัฐเองก็เด้งรับด้วยการนำเรื่องเข้าสู่การประชุมของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ให้การสนับสนุน พศ.เต็มที่
       
        การปะทะคารมจึงเกิดขึ้นอย่างเผ็ดร้อน โดย มีตัวละครที่เกี่ยวข้องมากหน้าหลายตา ทั้ง พ.ต.ท.พงศ์พร เจ้าคุณพิพิธฯ พระพยอม หลวงปู่พุทธะอิสระ นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ นายออมสิน ชีวพฤกษ์ หรือแม้กระทั่งนักเขียนการ์ตูนชื่อดังอย่าง ชัย ราชวัตร ซึ่งในที่สุดก็ดุเดือดเลือดพล่านจนกลายเป็นที่มาของคำว่า เปรตวัดสุทัศน์
       

 


        ทั้งนี้ หัวหมู่ทะลวงฟันฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการของ พ.ต.ท.พงศ์พรก็คือ พระเทพปฏิภาณวาที หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เจ้าคุณพิพิธ” แห่งวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
       
        เจ้าคุณพิพิธฯ ออกมาบอกว่า พระสังฆาธิการ อันหมายถึงสมภาร เจ้าวัด และเจ้าคณะชั้นปกครองของสงฆ์ไทย จะตัดขาดกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือพศ. รวมทั้งคณะสงฆ์จะไม่เชิญ พ.ต.ท.พงศ์พร เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ 
       
        “ที่ผ่านมาพระสังฆาธิการทำงานร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ แบบพระ ให้เมตตาธรรม มีมือเปล่าไป กิจกรรมสำคัญพระท่านก็ให้เกียรติให้มีบทบาทในงานต่างๆ ขอให้พระช่วยอะไร ทั้งส่วนตัว ส่วนราชการพระก็ช่วย แต่ปัจจุบันความสัมพันธ์ขาดลงแล้ว เพราะอะไรก็คิดกันเอาเอง แปลว่าพระสังฆาธิการท่านคว่ำบาตรเสียแล้ว ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดก็ต้องรับชะตากรรมไปด้วย” 
       
        “ถ้าพระระดับไหนโกง จัดการได้ตามกฎหมาย ผู้ไม่เกี่ยวข้องไม่มีสิทธิ์จะโจมตี ถ้าพระถูกราชการหลอกต้องไปจัดการกันเอง เพราะวัดเป็นเหยื่อต้องใช้วิธีการทางราชการและวิธีการแบบกระบวนศาล ไม่ใช่ใครที่พล่ามทำลายคณะสงฆ์ตลอดเวลา มีพระสงฆ์ที่ท่านเจ็บปวดจากการถูกโจมตีทำลายทางสื่อ กำลังทำบัญชีคว่ำบาตรบุคคลที่ใส่ร้ายป้ายสี เอาแบบเป็นบัญชีที่สื่อถึงกันหมด ทั้งที่อยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังทั้งราชการและเอกชน” เจ้าคุณพิพิธกล่าวและในวันต่อมา เจ้าคุณพิพิธยังแต่งกลอนสาปแช่งอีกต่างหาก
       
        อย่างไรก็ดี ไม่น่าแปลกใจที่ท่านเจ้าคุณจะมีปฏิกิริยาเช่นนี้ เพราะเมื่อไล่เรียงรายชื่อเม็ดเงินที่ พศ.อุดหนุนให้กับวัดวาอารามต่างๆ ก็จะเห็นว่า ล้วนแล้วแต่เป็นเครือข่ายคนคอเดียวกันทั้งสิ้น กล่าวคือ เมื่อตรวจสอบการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนวัดจาก พศ.ตั้งแต่ปี 2558-2560 ก็พบว่า วัดบางแห่งได้รับการจัดสรรเงินที่สูงมาก เช่น วัดพิชยญาติการามวรวิหาร ได้รับงบ 3 ปีรวมประมาณ 68 ล้านบาท วัดสระเกศวรมหาวิหาร 132 ล้านบาท วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ 79 ล้านบาท เป็นต้น
       
        หากจำกันได้ เจ้าคุณพิพิธผู้นี้เคยออกมาบอกให้ พล.อ.ประยุทธ์เสนอชื่อผู้ที่จะถูกสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ให้ปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด หรือสรุปกันตรงๆ แบบไม่อ้อมค้อมคือ เจ้าคุณพิพิธอยู่ฝ่ายเดียวกับสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง แห่งวัดปากน้ำ ก่อนที่สมเด็จพระมหามุนีวงศ์แห่งวัดราชบพิธจะได้รับการสถาปนาในท้ายที่สุด
       
        “อยากถามผู้ออกมาประท้วงว่า ตลอดชีวิตของสมเด็จท่านสร้างความเสียหายอะไรให้กับพุทธศาสนาบ้าง คุณประโยชน์ที่สมเด็จท่านทำให้นั้นมหาศาล และประจักษ์ชัด ในสังฆมณฑลนี้ผู้บริจาคทานบารมีมากสุดคือสมเด็จท่าน ทุกอย่างปฏิบัติตามพระธรรม พระวินัย ตามกฎเกณฑ์ ไม่ได้แสดงถึงความร่ำรวยอย่างที่คนใส่ร้าย เงินที่บริจาคก็เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากมาย คนที่ไม่ชอบสมเด็จท่าน คนพวกนี้ไม่เคยกราบไหว้สมเด็จท่านมาแต่เดิม ซึ่งพอเห็นศรัทธาคนซึ่งเกิดขึ้นที่วัดปากน้ำภาษีเจริญแล้วทำใจไม่ได้ สมเด็จท่านไม่อยากเป็นหรอก แต่จำเป็นต้องเป็นตามกฎหมาย ถ้าสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์เป็นสังฆราชจะเอื้อให้กับธรรมกาย อยากถามว่า ที่ผ่านมาเคยที่ไหน กระทำตรงไหน เมื่อไหร่ คดีความของธรรมกายมีมหาศาล ก็ล้วนแต่หลุดโดยกฎหมาย ท่านไม่เคยไปโอบอุ้ม การเอาเรื่องธรรมกายมาผูกโยงจึงไม่ใช่เรื่อง”เจ้าคุณพิพิธร่ายยาวในหนังสือพิมพ์มติชนเมื่อครั้งกระโน้น
       
        ส่วน “องค์กรพระสังฆาธิการแห่งคณะสงฆ์ไทย” ที่ออกแถลงการณ์มาในทำนองเดียวกับเจ้าคุณพิพิธ โดยระบุว่า นับจากนี้ไปวัดวาอารามต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศจะไม่ขอรับงบประมาณสนับสนุนจาก พศ.อีกต่อไป ก็ไม่รู้ว่า องค์กรนี้ประกอบไปด้วยวัดวาอารามหรือพระสังฆาธิการรูปไหนบ้าง เพราะไม่มีรายชื่อปรากฏอยู่บนใบแถลงการณ์ที่แจกจ่ายออกมา ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วน่าจะเป็น “ใบปลิว” เสียมากกว่าด้วยซ้ำไป 
       
        ขณะที่ “หลวงปู่พุทธะอิสระ” แห่งวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ก็อดรนและทนกับใบปลิวดังกล่าวไม่ได้ เคาะแป้นพิมพ์โพสต์เฟซบุ๊กออกมาสรุปรวมความได้ว่า “พักนี้ดูพวกพ้องของผู้มีส่วนร่วมรับจ่ายเงินทอนวัด มีกิริยาร้อนรนขวนขวายพยายามที่จะแสดงพลังออกมาเป็นระยะๆเช่น ขู่ว่าจะบอยคอตไม่รับเงินอุดหนุนวัดบ้างล่ะ จะคว่ำบาตรไม่คบกับ ผอ.สำนักพุทธบ้างล่ะ และมีมติขับไล่ ผอ. ไม่รู้ว่ามีเจตนาจะข่มขู่ให้เจ้าหน้าที่หยุดตรวจสอบ หรือว่าต้องการจะเบี่ยงเบนประเด็นด้วยอารมณ์ความรู้สึก ประมาณว่า เงินทอนวัดข้า ใครอย่าแตะบ้านเมืองกำลังเข้าสู่ยุคปฏิรูปโดย คสช.และรัฐบาลประกาศจัดการต่อการทุจริตคอรัปชั่นในทุกวงการ หรือพวกท่านเจ้าคุณจะให้ละเว้นการทุจริตในวงการสงฆ์เอาไว้ให้คู่ประเทศไทยต่อไป คนทั้งประเทศเขาต้องการปฏิรูปและรังเกียจการทุจริต แล้วทำไมพวกท่านเจ้าคุณจึงออกมาปกป้องคนทุจริต หากไม่คิดจะปกป้องคนทุจริตผิดศีลธรรม แล้วจะมาข่มขู่ผู้ทำหน้าที่ตามกฎหมายทำไม”
       

 


        ที่เด็ดไม่แพ้กันคือ “พระราชธรรมนิเทศ” หรือ“เจ้าคุณพระพยอม” แห่งวัดสวนแก้วที่เขียนบทความสรุปรวมๆ ได้ว่า “ ความจริงถ้าวัดมีระบบตรวจสอบที่ดีซะหน่อย ข้าราชการเลวๆ หรือพวกเปรตเหล่านั้นก็ไม่สามารถมาทำชั่วทำไม่ดีได้ วัดต้องมีอุดมการณ์มีหลักการว่าจะไม่ผลาญงบประมาณแผ่นดิน”
       
        หรือที่เคยกล่าวเอาไว้ในงานสัมมนาแบบเผ็ดๆ ร้อนๆ ว่า“ปกติหัวคิวกินกัน 20-30% ก็ถือว่ามากแล้ว เป็นพระไม่รู้หรือว่าการที่เขาเอาเงินทอน ถึง 80% ยิ่งผิดปกติ และเป็นไปได้อย่างไรที่เรามาถึงยุคที่วัดมีรายได้กันเป็นพันเป็นหมื่นล้านบาท ดังนั้นลำพังพระธรรมวินัย อาจเอาอยู่หากอยู่ในป่า แต่มาอยู่ในเมือง ก็ต้องอยู่ในกรอบปกครองของประเทศ” 
       
        แต่ที่เด็ดที่สุดเห็นจะเป็นการ์ตูนนิสต์ชื่อดังอย่าง “ชัย ราชวัตร” ที่ตวัดปากกาอัดเจ้าคุณพิพิธฯ อย่างรุนแรงชนิดที่ต้องบอกว่า ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ ส่วนจะเป็นถ้อยคำใดนั้น เชื่อว่า คงคาดเดาได้ไม่ยาก
       
        ส่วนความคืบหน้าคดีเงินทอนวัดนั้น เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แถลงสรุปว่า คดีมีมูลความผิดชัดเจน เพียงพอ จึงมีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนกรณีสำนวนการทุจริตเบิกจ่ายเงินงบประมาณในการบูรณปฏิสังขรณ์ วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดแรก ส่วนอดีตผู้บริหาร พศ. 3 ราย คือ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีตผอ.พศ. นายพนม ศรศิลป์ อดีตผอ.พศ. และน.ส.ประนอม คงพิกุล รองผอ.พศ. พบว่ามีส่วนร่วมกระทำผิดในการเบิกจ่ายงบฯดังกล่าว มูลค่าความเสียหาย 20 ล้านบาท โดยมอบหมายให้นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการป.ป.ช. เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนคดี จากนั้นป.ป.ช.จะแจ้งคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ส่งไปให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คนรับทราบ หรือให้คัดค้านรายชื่ออนุกรรมการต่อไป
       
       ผ่าขุมทรัพย์วัด...มหาศาลจนยากที่จะประเมิน
        อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า ถ้าหากจะกล่าวถึงองค์กรหรือนิติบุคคลที่มีเงินทองหรือทรัพย์สินที่มีรายได้เป็นลำดับต้นของประเทศไทย เชื่อเหลือเกินว่า ไม่มีใครปฏิเสธว่า “วัด” คือหนึ่งในนิติบุคคลที่มีทรัพย์สินก้อนมหึมาอันเกิดจากแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนคนไทยทั้งประเทศ
       
        เพียงแต่ยังมิได้เคยมีการสำรวจตรวจสอบกันอย่างเป็นระบบ ปล่อยให้สมภาร เจ้าอาวาส บริหารจัดการกันไปตามอัธยาศัย เพราะเชื่อมั่นใน “ศีลอันบริสุทธิ์” ของศิษย์ตถาคต
       
        ทว่า ในระยะหลังๆ เริ่มมีคำถามถึงเรื่องดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากปรากฏข่าวคราวพระจำนวนไม่น้อยนำเงินแห่งศรัทธาไปใช้ในนามส่วนตัวเป็นจำนวนมาก บางวัดแทนที่จะนำเงินเข้าวัดก็เล่นแร่แปรธาตุไปซุกไว้ในนามมูลนิธิ ที่ดินที่ควรจะเป็นธรณีสงฆ์ซึ่งซื้อขายไม่ได้ ก็กลายเป็นสมบัติของมูลนิธิ หรือไม่ก็สมบัติส่วนตัวของเจ้าอาวาสแทน
       
        ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือกรณีของ “นายวิรพล สุขผล” หรืออดีตเณรคำ ที่ใช้กระเป๋าแบรนด์เนมราคาแพง มีการเช่าเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว หรือการถ่ายรูปคู่กับรถเบนซ์ในลักษณะที่ไม่สำรวม เป็นต้น ซึ่งขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนรายนี้กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยและศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 
       
        เมื่อปี 2557 ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง หรือTCIJ ได้เขียนรายงานหัวข้อ เจาะเงินฝากวัด 3 แสนล้าน 'เจ้าอาวาสคุม-ทำบัญชีไม่เป็นระบบ-ขาดธรรมาภิบาล' เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยหยิบยกงานวิจัยของเรื่อง ‘การบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย’ ของ ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม แห่งคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า มาอ้างอิง โดยระบุว่าา จากจำนวนวัด 37,000 วัด มีเพียงหลักพันเท่านั้น ที่ส่งรายงานบัญชีให้แก่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่สำคัญคือการจัดทำบัญชีของวัดก็ไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลแต่อย่างใด 
       
        การสำรวจของ ผศ.ดร.ณดา พบว่า รายรับรวมโดยเฉลี่ยของวัดเท่ากับ 3,235,692 บาทต่อปี เงินส่วนใหญ่หรือ 2,022,501 บาท มาจากเงินบริจาคเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะด้าน เช่น งานซ่อมแซม โบสถ์ หรือศาสนสถานอื่น ๆ รองลงมาคือรายรับจากการสร้างวัตถุบูชา 1,460,907 บาท และเงินบริจาคในโอกาสพิเศษ เช่น ทอดกฐิน ผ้าป่า งานบวช พิธีฝังลูกนิมิต เป็นต้น รวมประมาณ1,054,324 บาทต่อปี
       
        ขณะที่รายจ่ายรวมเฉลี่ยของวัดเท่ากับ 2,770,927 บาทต่อปี ซึ่งโดยมากเป็นค่าก่อสร้างและซ่อมแซมอาคารสถานที่ในวัด 2,384,146 บาทต่อปี รองลงมาเป็นค่าซ่อมบำรุงรักษาสถานที่และอุปกรณ์ 451,832 บาทต่อปี
       
        ส่วนผลการสำรวจวัด 490 วัด พบว่า 107 วัด มีรายรับระหว่าง 500,001-1,000,00 บาท คิดเป็นร้อยละ 21.8 และโดยส่วนมากคือ 100 วัด มีรายจ่ายอยู่ที่ 200,001-500,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 20.41 งานศึกษาของ ผศ.ดร.ณดา ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า วัดที่มีรายได้และรายจ่ายมากกว่า 20 ล้านบาทต่อปีขึ้นไปมีจำนวน 9-10 วัด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 โดยในจำนวนนี้ ครึ่งหนึ่งมีรายรับ-รายจ่ายมากกว่า 50 ล้านบาท
       
        ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลด้วยว่า ในปัจจุบัน วัดที่มีตัวเลขรายรับรายจ่ายอยู่ที่หลัก 100 ล้านบาทต่อปีนั้นมีถึงราว 900 แห่งเลยทีเดียว
       
        ไม่ต้องอื่นไกล เพียงแค่วัดพระธรรมกายวัดเดียว ก็ไม่รู้ว่ามีทรัพย์สินเงินทองมากมายขนาดไหนแล้ว นี่ไม่นับรวมถึงมูลนิธิต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาและเป็นเจ้าของที่ดิน ตลอดรวมถึงทรัพย์สินแทนวัดเป็นจำนวนไม่น้อยดังที่ปรากฏเป็นข่าว เช่น มูลนิธิมหาอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เป็นต้น
       
        อย่างไรก็ดี ความพยายามที่จะปฏิรูปวัดไทยปรากฏให้เห็นเป็นระยะ ๆ อย่างล่าสุดเมื่อกลางเดือน มิ.ย. 2560 นายบวรเวท รุ่งขจี ผู้ช่วยโฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็ได้ลุกขึ้นมาแถลงถึงแนวทางการจัดการทรัพย์สินของวัดต่อสาธารณชน โดยมีข้อเสนอให้วัดจัดทำบัญชีทรัพย์สินตามเกณฑ์มาตรฐาน ครอบคลุมทรัพย์สินของวัดทั้งหมด ตลอดจนโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ศาสนวัตถุ ทั้งนี้ให้มหาเถรสมาคม (มส.) หรือ พศ. กำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการบริหารจัดทรัพย์สินของวัดทั่วประเทศ 37,000 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งรูปแบบวิธีการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัดที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนติดตามตรวจสอบการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัด และรายงานผลการตรวจสอบ รวมทั้ง ให้ พศ.นำเสนอมหาเถรสมาคม เรื่องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2505, กฎกระทรวงปี 2511, กฎมหาเถรสมาคม ระเบียบ คำสั่งต่าง ๆ ให้ทันสมัยบังคับใช้ได้จริง 
       
        อาทิ การกำหนดให้สำนักงานพระพุทธศาสนามีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินวัด และรายงานผลการตรวจสอบให้มหาเถรสมาคม นายกรัฐมนตรี และสาธารณชนรับทราบ หากการตรวจสอบพบว่ามีความไม่โปร่งใสให้ดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด จากเดิมที่เพียงให้วัดแค่ส่งบัญชีทรัพย์สินมาให้สำนักพุทธศาสนาฯ เก็บไว้เท่านั้น แต่ไม่เคยตรวจสอบและไม่เคยมีบทลงโทษ
       
        นอกจากนั้น ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการผลักดันเรื่องการปฎิรูปพระพุทธศาสนาผ่าน ‘ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินวัดและพระภิกษุ’ โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเสนอให้มีการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา 4 ด้าน คือ 1. เงิน ทรัพย์สินของวัด พระ ไม่มีการตรวจสอบหรือเปิดเผยทำให้เกิดปัญหาเรื่องความโปร่งใสของวัด 2. การตีความพระธรรมวินัย ที่ผ่านมามหาเถรสมาคมไม่เข้ามาแก้ปัญหาในเรื่องนี้ อย่างเรื่องคำสอนให้ยึดในอัตตา หรือมีเรื่องข้อครหาต่าง ๆ ในตำแหน่งของพระชั้นต่าง ๆ 3. การปกครองคณะสงฆ์ เป็นลักษณะผูกขาด แค่กลุ่มเดียวราว 100 กว่ารูปแต่ควบคุมพระกว่า 2-3 แสนรูป และ 4. ภาครัฐต้องสนับสนุน ปกป้องคุ้มครอง กิจการของฝ่ายศาสนจักรโดยการจัดโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ที่มีความคล่องตัว
       
        ทว่า เสียงคัดค้านจากฝ่ายศาสนจักรก็ดังกระหึ่มมาโดยตลอดเช่นกัน ทำให้เรื่องคาราคาซังและไม่เดินหน้าไปถึงไหน กระทั่งเกิดกรณีเปรตวัดสุทัศน์อันเป็นผลมาจากคดีทุจริตเงินทอนวัด จึงทำให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้อีกครั้ง 
       
        กระนั้นก็ดี คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้สำเร็จ แม้ในยุคที่มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์อยู่ในมือเต็มร้อยก็ตาม เพราะเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนและพร้อมที่จะถูกปลุกขึ้นมาเป็นชนวนให้เกิดความวุ่นวายภายในประเทศได้เป็นอย่างดี เหมือนดังที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเอาไว้ว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่คนไทย 90 กว่าเปอร์เซ็นต์นับถืออยู่ เราจึงต้องทำให้ประชาชนยังมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในพระพุทธศาสนาต่อไป อย่างไรก็ตามขออย่ารีบตัดสินว่าใครดีหรือไม่ดีทั้งหมด เพราะคนที่เกี่ยวข้องเป็นคนส่วนน้อย เราต้องทำอย่างไรให้ส่วนน้อยตรงนี้ได้รับการแก้ไข จึงต้องนำไปสู่การตรวจสอบ ดังนั้นอย่าเพิ่งไปทำให้เกิดประเด็นขึ้น มิฉะนั้นจะสร้างความขัดแย้งกับพุทธศาสนิกชน หรือกลายเป็นรัฐบาลชุดนี้ถูกกล่าวหาว่าทำลายศาสนาพุทธเพื่อให้ศาสนาอื่นได้เข้ามาแล้วจะถูกเชื่อมโยงกับเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่มันเป็นคนละเรื่องกัน”
       
       ขอขอบคุณ 
        ภาพภิกษุสันดานกาโดย อนุพงษ์ จันทร


พระชั้นผู้ใหญ่จับมือคว่ำบาตร ผอ.พศ.-กระทบชิ่งรัฐบาล

โดย MGR Online

       พระชั้นผู้ใหญ่เปิดหน้าขับ ผอ.สำนักพุทธฯ อ้างเหตุทำศาสนาเสื่อมเสีย จับพิรุธหลังตำรวจแตะเงินทอนวัดปากน้ำ สวมบทองค์กรพระสังฆาธิการคว่ำบาตร เจ้าคุณพิพิธหัวหอกชน วัดใหญ่ในเครือเมินพงศ์พร เหมือนไร้ตัวตน หวังกระทบชิ่งไปถึงรัฐบาล พบพระชั้นเทพ-พรหม-สมเด็จ ที่ออกโรงต้านแน่นแฟ้นวัดปากน้ำ-ธรรมกาย แถมบางรูปเคยหนุนคนเสื้อแดง 

พระชั้นผู้ใหญ่จับมือคว่ำบาตร ผอ.พศ.-กระทบชิ่งรัฐบาล
        

        หนักขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการตอบโต้การตรวจสอบทุจริตเงินทอนวัด ที่มีกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป.เป็นทีมหลักในการเข้าไปตรวจสอบตามวัดต่างๆ และพบการทุจริตเงินงบประมาณระหว่างทางวัดกับข้าราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในหลายวัด พร้อมทั้งขยายการตรวจสอบออกไปถึงวัดดังในกรุงเทพมหานคร
       
       อาการไม่เห็นด้วยเริ่มมาตั้งแต่ 16 มิถุนายน 2560 ที่พระชั้นผู้ใหญ่อย่าง พระเทพปฏิภาณวาที หรือเจ้าคุณพิพิธ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ออกมาให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องของระบบข้าราชการไม่ใช่มาโทษพระ
       
       ในวันเดียวกัน พระมหาอภิชาติ ปุณฺณจนฺโท สังกัดวัดเบญจมบพิตร ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อผู้อำนวยการสำนักพุทธฯ ในข้อหาหมิ่นประมาท ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกเกลียดชัง หลังจากได้รับหนังสือเตือนเนื่องจากพระมหาอภิชาติ ออกมาตอบโต้สื่อของศาสนาอื่น
       
       จากนั้น วัดพระธรรมกาย ออกโรงตอบโต้ พันตำรวจโทพงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ว่า สำนักพุทธฯ ไม่มีอำนาจตรวจสอบบัญชีวัดทั่วประเทศ และมีแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ขององค์กรพระสังฆาธิการแห่งคณะสงฆ์ไทยประกาศจะไม่รับเงินอุดหนุนใดๆ จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อ 20 มิถุนายน 2560
       
       รุกรอบ 2 ขอเปลี่ยนตัว ผอ.สำนักพุทธฯ
       
       ทิ้งระยะเวลาไม่นานนัก เจ้าคุณพิพิธ ก็ออกมากล่าวถึงเรื่องนี้อีกครั้ง เมื่อ 10 กรกฎาคม 2560 โดยกล่าวตำหนิการทำงานของผู้อำนวยการสำนักพุทธฯ จนกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างพระสังฆาธิการ กับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
       
       ตามมาด้วยแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ขององค์กรพระสังฆาธิการแห่งคณะสงฆ์ไทย เมื่อ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา เนื้อหาไม่แตกต่างไปจากคำสัมภาษณ์ของเจ้าคุณพิพิธ ครั้งนี้ตำหนิไปที่การทำงานของพงศ์พร พราหม์เสน่ห์ โดยตรง และเพิ่มการตอบโต้เข้มข้นขึ้นถึงขั้นเสนอให้มีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คนนี้
       
       องค์กรพระสังฆาธิการแห่งคณะสงฆ์ไทยจึงแถลงการณ์มาเพื่อให้วัดทุกวัด และโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญทุกแห่ง ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศจะขึ้นป้ายไม่ขอรับเงินอุดหนุนใดๆ จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติต่อไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำ พศ. หรือผู้นำ พศ.แสดงความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เชิงประจักษ์เสียก่อน โดยไม่กระทำเพียงหวังสร้างเครดิตให้ตนเองเท่านั้น 

พระชั้นผู้ใหญ่จับมือคว่ำบาตร ผอ.พศ.-กระทบชิ่งรัฐบาล
พิธีสวดถวายพระราชกุศล ณ วัดเทพศิรินทราวาส 13 กรกฎาคม 2560(ภาพจาก alittlebuddha.com)
        

        ไม่สังฆกรรมสำนักพุทธฯ
       
       ปฏิบัติการตอบโต้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจากวัดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร วัดเหล่านี้มีพระผู้ใหญ่เป็นกรรมการในมหาเถรสมาคม อย่างที่วัดเทพศิรินทร์ ในงานพิธีสวดถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อ 13 กรกฎาคม 2560 ผอ.สำนักพุทธฯ ไปร่วมพิธีด้วย แต่ไม่มีการเชิญเข้าร่วมกิจกรรมในพิธี วัดดังกล่าว มีสมเด็จพระธีรญาณมุนี เป็นเจ้าอาวาส
       
       นอกจากนี้ยังมีการออกใบปลิวโจมตี ผอ.สำนักพุทธฯ หรือพระพรหมดิลก เจ้าคุณเอื้อน เจ้าอาวาสวัดสามพระยา ก็ออกมาตำหนิการทำงานของ ผอ.สำนักพุทธฯ เช่นกัน
       
       จนทำให้ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีต้องหารือกับ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.พศ. ถึงเรื่องการทำงานต้องใช้ความระมัดระวัง รอบคอบ รัดกุมในการทำงานกับคนหมู่มาก แต่ยังให้ ผอ.พศ.ทำงานต่อไป เพราะทำงานตามกฎหมาย เช่นเดียวกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ยังชื่นชมการทำงานของ ผอ.สำนักพุทธฯ
       
       จัดหนักหลังเริ่มแตะวัดปากน้ำ
       
       ลองไล่วันเวลาดูดีๆ ก็จะเห็นว่า เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร หลังจากที่มีรายชื่อ 12 วัดถูกเปิดเผยออกมาว่า พบทุจริตเงินทอน ช่วงเดือนมิถุนายนทางตำรวจ ปปป.ได้เข้าตรวจวัดใหญ่ในกรุงเทพมหานครหลายแห่ง จนนำมาซึ่งความสงสัยในวัดบำเพ็ญเหนือ และวัดราชสิทธาราม
       
       หนึ่งในวัดที่ทางตำรวจขอเข้าตรวจสอบนั้นมีวัดปากน้ำรวมอยู่ด้วย แต่มีการขอเลื่อนนัดเจ้าหน้าที่มาเป็นวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 และก็มีการขอเลื่อนนัดอีกครั้งอย่างไม่มีกำหนด อีกทั้งนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งย้ายน.ส.ประนอม คงพิกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เข้าไปสังกัดคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เมื่อ 11 กรกฎาคม หลังจากนั้นก็มี เจ้าคุณพิพิธและองค์กรพระสังฆาธิการออกมาเคลื่อนไหวอีกรอบ
       
       เมื่อมีการตรวจสอบองค์กรพระสังฆาธิการ ไม่พบว่ามีพระรูปใดเป็นแกนนำ หรือมีสมาชิกเป็นท่านใดบ้าง และองค์กรดังกล่าวก็ไม่มีอยู่ในวงการของพระสงฆ์ แต่ที่น่าแปลกใจนั่นคือ คำให้สัมภาษณ์ของเจ้าคุณพิพิธ ตรงกับเนื้อหาส่วนใหญ่ในแถลงการณ์ฉบับที่ 2
       
       นอกเหนือจากการไม่ขอรับเงินสนับสนุนจากสำนักพุทธฯ แล้ว ท่านเจ้าคุณยังกล่าวว่า ทางคณะสงฆ์ไม่หยุดแค่นั้น มีการรวมตัว และเห็นว่าต่อไปกิจกรรมใดก็ตามที่ทางคณะสงฆ์จัดขึ้นจะไม่เชิญผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด เข้าร่วมอย่างเด็ดขาด
       
       ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ไม่มีเรื่องของการตัดสำนักพุทธฯ ออกจากกิจกรรมของวัด แต่ปรากฏว่า เกิดเหตุการณ์ที่หลายวัดใหญ่ในกรุงเทพฯ ไม่เชิญผู้อำนวยการสำนักพุทธฯ เข้าร่วมพิธี แม้ตัวผู้อำนวยการฯ จะเดินทางไปในงานกิจกรรมของวัด เช่น วัดเทพศิรินทร์ ก่อนหน้านี้ก็มีอีกหลายวัดที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกันก็ปฏิบัติเช่นนี้กับ ผอ.สำนักพุทธฯ ซึ่งเป็นวัดใหญ่ทั้งสิ้น 

พระชั้นผู้ใหญ่จับมือคว่ำบาตร ผอ.พศ.-กระทบชิ่งรัฐบาล
แถลงการณ์องค์กรพระสังฆาธิการแห่งคณะสงฆ์ไทย ฉบับที่ 2/2560
        

        ผอ.สำนักพุทธฯ แค่เป้ารอง
       
       เป็นที่ทราบกันดีว่า ที่ผ่านมาสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำงานสนองงานของมหาเถรสมาคมเป็นหลัก จึงไม่เกิดความขัดแย้งกับพระชั้นผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคม แต่ในรัฐบาลนี้ได้เปลี่ยนตัวผู้อำนวยการด้วยมาตรา 44 ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2560 เมื่อมีการตรวจสอบเรื่องเงินทอนตามวัดต่างๆ ทำให้กระทบต่อพระหลายรูป
       
       แหล่งข่าวจากวงการพระพุทธศาสนา กล่าวว่า ถ้าวัดใดไม่เกี่ยวข้องต่อการทุจริตดังกล่าวก็ไม่น่าจะต้องเดือดร้อน เพราะการสร้างความโปร่งใสถือเป็นเรื่องที่ดี ที่สำคัญการตรวจสอบในเรื่องเงินทอนวัดนั้นเป็นหน้าที่ของตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ไม่ใช่สำนักพุทธฯ แต่พระชั้นผู้ใหญ่กลับพุ่งเป้าถล่มที่ตัว ผอ.สำนักพุทธฯ
       
       หากย้อนกลับไปดูเส้นทางการทำงานของ พันตำรวจโทพงศ์พร พราหม์เสน่ห์ ในยุคที่ทำงานให้แก่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หลายคดีเกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดง รวมทั้งคดีรถโบราณของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และอยู่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในช่วงที่มีการตรวจสอบวัดพระธรรมกาย จากกรณีร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจรจากการทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
       
       นี่จึงเป็นอีกปมหนึ่งที่พระในสายของวัดปากน้ำ และวัดพระธรรมกาย เฝ้าจับตามองการทำงานของ ผอ.สำนักพุทธฯ คนนี้เป็นพิเศษ ดังนั้น ปฏิบัติการกดดันจึงรุกคืบถึงขั้นเสนอให้มีการเปลี่ยนตัว ผอ.สำนักพุทธฯ
       
       “จริงๆ แล้วเขาอยากให้ไปถึงเปลี่ยนรัฐบาล ผอ.สำนักพุทธฯ เป็นแค่ด่านหน้าที่ยกขึ้นมาอ้างเท่านั้น หากรัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องของพระสังฆาธิการจริง ก็เท่ากับลดความศักดิ์สิทธิ์ของมาตรา 44 ลง ซึ่งวัดพระธรรมกาย ทำสำเร็จมาแล้วที่ไม่สามารถนำตัวพระธัมมชโย เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้” 

พระชั้นผู้ใหญ่จับมือคว่ำบาตร ผอ.พศ.-กระทบชิ่งรัฐบาล
พระพรหมดิลก เจ้าอาวาสวัดสามพระยา วรวิหาร(ภาพจาก kalyanamitra.org)
        

        ปากน้ำ-ธรรมกาย-เสื้อแดง
       
       วันนี้ถือว่าพระชั้นผู้ใหญ่หลายรูปเปิดหน้าเปิดตัวกันออกมาแล้วว่าอยู่ภายใต้ปีกใด จากเดิมที่ค่อนข้างคลุมเครือไม่ชัดเจนกับบทบาท และท่าทีของท่าน เจ้าคุณพิพิธ อยู่ในสายที่สนับสนุนสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช และยังเคยทักท้วงการตรวจค้นวัดพระธรรมกาย
       
       พระพรหมดิลก เจ้าคุณเอื้อน เจ้าอาวาสวัดสามพระยา เป็นพระผู้ใหญ่ มีตำแหน่งในมหาเถรสมาคมอีกรูปที่ออกมาตำหนิการทำงานของ ผอ.สำนักพุทธฯ ถูกหลวงปู่พุทธะอิสระ ระบุว่า เป็นผู้ที่สนับสนุนคนเสื้อแดง และชื่นชมยกย่องพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
       
       สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิรินทร์ ที่ไม่เชิญ ผอ.สำนักพุทธฯ เข้าร่วมในพิธีกรรมของทางวัด และพบใบปลิวโจมตีการทำงานของสำนักพุทธฯ
       
       และยังมีอีกหลายวัดใหญ่ที่เจ้าอาวาสมีตำแหน่งในมหาเถรสมาคม และอยู่ในสายสัมพันธ์เดียวกับวัดที่กล่าวถึงมาข้างต้น รวมไปถึงองค์กรพระสังฆาธิการแห่งคณะสงฆ์ไทย ที่แถลงการณ์ที่ออกมานั้นไม่แตกต่างไปจากคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าคุณพิพิธ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์
       
       เมื่อย้อนกลับไปในช่วงที่วัดพระธรรมกายเกิดวิกฤตก็พบว่า มีเครือข่ายพระสังฆาธิการแห่งคณะสงฆ์ไทยออกมาแสดงจุดยืนปกป้องวัดพระธรรมกาย ด้วยเช่นกัน
       
       จะเห็นได้ว่าพระชั้นผู้ใหญ่ที่เปิดหน้าเคลื่อนไหวในครั้งนี้ มักมีความสัมพันธ์กับวัดปากน้ำ ที่ท่านเจ้าอาวาสเคยประกาศเป็นวัดพี่วัดน้องกับวัดพระธรรมกาย เมื่อวัดใดวัดหนึ่งประสบเหตุ เครือข่ายพระชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ต่างออกมาช่วยกันเพื่อระงับเหตุ ไม่เพียงแค่เรื่องระหว่างวัดกับวัดเท่านั้น แต่ยังพบเห็นเรื่องพระชั้นผู้ใหญ่กับกลุ่มคนเสื้อแดงที่โยงไปยังพรรคการเมืองบางพรรคได้ 

สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปรตวัดสุทัศน์ ภิกษุสันดานกากับขุมทรัพย์แสนล้าน...

view