สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อเมริกาจะไม่เป็นผู้นำโลก

จากประชาชาติธุรกิจ

คนเดินตรอก โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

หลังจากสหรัฐอเมริกาได้ประธานาธิบดีอย่าง นายโดนัลด์ ทรัมป์ มาเป็นเวลาเกือบครึ่งปี แต่รัฐบาลอเมริกันก็ไม่สามารถดำเนินการบริหารประเทศได้ ไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคม เพราะพรรคการเมืองที่ โดนัลด์ ทรัมป์ สังกัด ซึ่งควรจะส่งเสริมและสนับสนุนในสภาคองเกรส กลับไปร่วมมือกับพรรคเดโมแครตฝ่ายตรงกันข้าม คัดค้านทุกเรื่องที่ทรัมป์เสนอขออนุมัติจากสภา ยกเว้นการรับรองการแต่งตั้งบุคคลเข้ารับตำแหน่งสูง ๆ

หลังจากการ เลือกตั้งสิ้นสุดลง ประธานาธิบดีประกาศนโยบาย การอภิปรายรับรองการแต่งตั้งรัฐมนตรี ก็มีการอภิปรายการมีผลประโยชน์ขัดแย้งกับการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของคนในครอบครัวทรัมป์ แต่ประเด็นที่สำคัญคือระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง มีการใช้บริการข้อมูลลับจากสำนักงานข่าวกรองของรัสเซีย รวมทั้งการพูดพล่อย ๆ ซึ่งสะท้อนถึงความไม่มีวุฒิภาวะของ

ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้ประธานาธิบดีต้องมานั่งแก้ปัญหาของตัวเองและครอบครัว เหมือนกับลิงแก้แห อย่างไม่รู้จักจบ ภาระการแก้ตัวของประธานาธิบดีทรัมป์อาจจะยืดเยื้อไปเป็นเวลากว่า 4 ปี จนหมดวาระการดำรงตำแหน่งก็ได้ ไม่มีใครคาดเดาได้

ขณะเดียวกันการลงประชามติของชาวอังกฤษว่า อังกฤษจะคงยังอยู่ในสหภาพยุโรปหรือไม่ ผลออกมาด้วยอารมณ์ชั่วขณะ หรือกระแสความคิดเห็นชั่วขณะ คะแนนเสียงส่วนใหญ่มาลงประชามติให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายกับเศรษฐกิจของอังกฤษอย่างมหาศาล เพราะการที่อังกฤษได้เข้าไปอยู่ในสหภาพยุโรป ทำให้อังกฤษสามารถส่งสินค้าและบริการเข้าไปขายในสหภาพยุโรปได้ โดยทัดเทียมกับเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และประเทศอื่น ๆ โดยไม่ต้องเสียภาษีขาเข้า แต่เมื่อไม่ได้อยู่ในสหภาพยุโรป สินค้าและบริการของอังกฤษก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว สถาบันการเงินของอังกฤษในสหภาพยุโรปก็จะถูกปฏิบัติแบบเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่อยู่นอกสหภาพ อังกฤษที่ได้สร้างตลาดของตนในตลาดสหภาพยุโรปไว้แล้วก็จะเสียตลาดของตนไป ในขณะเดียวกัน ตลาดนอกสหภาพยุโรปที่อังกฤษเคย

เสียเปรียบประเทศนอกสหภาพยุโรป เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา บราซิล อังกฤษก็คงไม่สามารถที่จะเจาะตลาดได้อย่างรวดเร็ว เพราะระหว่างอังกฤษกับตลาดเหล่านี้ อังกฤษอยู่ในฐานะเดิมในการได้เปรียบเชิงเทียบอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้เมื่อนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ของอังกฤษ เตรียมตัวออกจากสหภาพยุโรปอย่างรวดเร็ว แทนที่จะค่อย ๆ ปรับตัวออก ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิง

จึงตกลงทันทีในอัตราที่ค่อนข้างมากในระยะแรก ๆ คนอังกฤษอาจจะไม่ค่อยรู้สึกเพราะอาจจะสามารถขายสินค้านอกตลาดยุโรปได้มาก ขึ้นจากค่าเงินที่ตก แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่ออังกฤษต้องเสียเปรียบประเทศในยุโรปมากขึ้นในการค้าขายกันเอง เศรษฐกิจของอังกฤษก็คงจะขยายตัวได้ยากขึ้น และจะย้อนขอสมัครกลับมาเป็นสมาชิกใหม่ก็คงทำไม่ได้เสียแล้ว ความเป็นผู้นำอังกฤษของ เทเรซา เมย์ คงจะแย่ถ้าเศรษฐกิจของอังกฤษเลวลง อันเป็นผลมาจากการออกจากสหภาพยุโรป

เมื่อตอนที่อังกฤษตัดสินใจขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจยุโรป อังกฤษก็ต้องใช้เวลาตัดสินใจอยู่นาน เพราะระดับการคุ้มครองเศรษฐกิจภาคเกษตรของอังกฤษอยู่ในระดับต่ำกว่ายุโรป เพราะประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ยกเว้นเยอรมนี ยังคงมีกำแพงภาษีขาเข้าสินค้าภาคเกษตรกรรมสูงกว่าอังกฤษ เพราะอังกฤษยังต้องดูแลภาคเกษตรกรรมของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ที่ใช้ตลาดอังกฤษเป็นที่ส่งออกอยู่มาก การเข้าร่วมเป็นสมาชิกประชาคมยุโรปสมัยนั้น อังกฤษต้องขึ้นกำแพงภาษีสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ ทำให้ราคาอาหารแพงขึ้น ทำให้กระทบต่อค่าจ้างแรงงานในอังกฤษ ซึ่งสหภาพแรงงานของอังกฤษนั้นมีความเข้มแข็ง มีพรรคการเมืองของตนเอง คือ พรรคกรรมกร ซึ่งในขณะนั้นมีนโยบายเอียงไปทางซ้ายไม่เหมือนกับพรรคกรรมกร

ในปัจจุบัน และอ่อนกำลังลงเมื่อสหภาพแรงงานเหมืองถ่านหินของอังกฤษพ่ายแพ้ต่อนโยบายเปิด เสรีในการนำถ่านหินเข้าประเทศได้ ตามนโยบายของนายกฯหญิงเหล็ก มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ของพรรคอนุรักษนิยม ที่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจของอังกฤษจนประสบความสำเร็จ และเอาชนะสงครามแย่งเกาะฟอร์กแลนด์กับอาร์เจนตินาได้สำเร็จ ถ้าอังกฤษล้มเหลวจากการที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป บารอนเนส แทตเชอร์ คงจะได้รับความนับถือเพิ่มขึ้นทั้งในยามปกติหรือในยามสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามร้อนหรือสงครามเย็น ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์อย่างไรก็จะต้องมีผู้นำเกิดขึ้น ขณะเดียวกันผู้นำในประเทศต่าง ๆ ก็จะแสดงภาวะผู้นำที่โดดเด่นเพื่อเป็นผู้นำของภูมิภาคและเป็นผู้นำของโลก

ในยามที่มีการขับเคี่ยวแข่งขันกันเป็นผู้นำของโลก ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างผู้นำของโลกเสรีและผู้นำของประเทศในค่าย คอมมิวนิสต์ อันได้แก่ สหภาพสังคมนิยมโซเวียต ในขณะนั้น ต่อมาในค่ายคอมมิวนิสต์เองก็เกิดการแตกแยกและแข่งขันกัน ระหว่างสหภาพโซเวียตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่พยายามจะทำตัวเป็นผู้นำของประเทศโลกที่สาม โดยให้คำนิยามว่า มหาอำนาจนิวเคลียร์ 2 ประเทศ

ได้แก่สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต เป็นมหาอำนาจโลกที่ 1 มหาอำนาจเดิม ได้แก่ ยุโรปตะวันตกเป็นมหาอำนาจโลกที่ 2 ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเป็นผู้นำของประเทศโลกที่ 3 ตามทฤษฎีสามโลกของประธาน เหมา เจ๋อตง

เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น ประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งต่างก็เน้นนโยบายเศรษฐกิจ เป็นระบบเศรษฐกิจที่ดำเนินกิจการต่าง ๆ โดยรัฐอย่างเคร่งครัด เปลี่ยนมาเป็นระบบทุนนิยม โดยรัฐซึ่งกระจายอำนาจของรัฐลงสู่วิสาหกิจต่าง ๆ ให้มีอิสระในการตัดสินใจตามแนวทางการตลาด ดำเนินการขยายธุรกิจโดยสามารถร่วมทุนกับทุนต่างชาติได้ ทุนต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปจึงหลั่งไหลเข้าไป ลงทุนในประเทศจีน และต่อมาในสหภาพรัสเซีย

การเปิดระบบเศรษฐกิจเพื่อ รับการหลั่งไหลของทุนจากตะวันตก ทางสหภาพโซเวียตไม่ได้ทำเป็นขั้นเป็นตอน แต่ยังคงรูปแบบการปกครองประเทศโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ฝ่ายจีนซึ่งสามารถรักษาความมั่นคงทางการเมืองไว้ได้ ไม่ทำให้ประเทศแตกแยกออกอย่างสหภาพโซเวียต ขณะเดียวกันก็ประสบความสำเร็จ

ในการพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่สูงเป็นตัวเลข 2 หลัก เป็นเวลาเกือบ 20 ปี แม้ในขณะนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนก็ยังอยู่ในระดับสูง ประมาณร้อยละ 6.5-7.0 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในโลก ทั้ง ๆ ที่เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา ผู้นำของจีนจึงกลายเป็นคู่แข่งของการเป็นผู้นำของโลกทันที แม้ว่าจีนยังไม่สามารถจะทำตัวเป็นผู้นำของโลกในทางทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีทางอวกาศอย่างสหรัฐอเมริกา

การแข่งขันกันเป็นผู้นำของโลกระหว่างผู้นำสหรัฐอเมริกา ผู้นำสหภาพโซเวียตรัสเซีย และจีน เมื่อรัสเซียประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมือง ประเทศซึ่งเคยประกอบด้วยสาธารณรัฐต่าง ๆ ที่เคยเป็นเมืองขึ้นของพระเจ้าซาร์ ผู้นำของโลกจึงเหลือแต่สหรัฐอเมริกา เพราะจีนปฏิเสธที่จะออกไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งภายนอกประเทศ ปล่อยให้อเมริกาเป็นตำรวจโลกแต่เพียงประเทศเดียว

การเป็นผู้นำแต่เพียงผู้เดียวในการจัดระเบียบการเมืองและเศรษฐกิจของโลก ควรเป็นเจ้าของสกุลเงินตราที่เป็นที่ยอมรับชำระหนี้และทุนสำรองระหว่าง ประเทศได้ รวมถึงเป็นศูนย์กลางตลาดเงินและตลาดทุนของโลก แม้ว่าสหรัฐจะได้ประโยชน์อย่างมหาศาลในทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลก แต่สหรัฐอเมริกาก็มีภาระที่จะต้องแบกรับที่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเงินได้ ง่าย แม้ว่าในการทำหน้าที่ตำรวจโลก อเมริกาก็จะคิดค่าใช้จ่ายของกองทัพสหรัฐอย่างเต็มที่กับประเทศที่ตนส่งกำลังทหารเข้าไปช่วยเหลือ ขณะเดียวกันอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สหรัฐออกค่าใช้จ่ายก็หมุนกลับไปที่อุตสาหกรรม ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐเอง

บางทีผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่สหรัฐและคนอเมริกาได้รับจากดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าลิขสิทธิ์ ค่านิมิตสิทธิ์ รวมทั้งผลประโยชน์จากสาธารณะ ความสามารถควบคุมทิศทางการค้าการลงทุน รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ ๆ เช่น น้ำมันดิบ เพื่อประโยชน์ของบริษัทของอเมริกาได้

เรื่องเหล่านี้ผู้นำรัฐบาลอเมริกันอย่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะมองไม่เห็น เพราะความตื้นเขินของตนจึงได้ประกาศจะถอนตัวออกจากประชาคมโลก จะลดการค้ากับต่างประเทศลง จะกีดกันการลงทุนของอุตสาหกรรมอเมริกันที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเป็นการทำลายฐานะและศักดิ์ศรีของการเป็นผู้นำโลกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถ้าตีเป็นตัวเงินย่อมมีค่ามากมายมหาศาลนัก เมื่ออเมริกาจะถอนตัวออกจากการเป็นผู้นำในการจัดระเบียบการค้าของโลก

ซึ่งมุ่งไปในทางโลกาภิวัตน์ ผู้นำในด้านธรรมาภิบาล จริยธรรม สิทธิมนุษยชน ปัญหาโลกร้อนก็จะมีผู้นำจากประเทศอื่นเข้ามาแทน เช่น สี จิ้นผิง ปูติน มาครง หรือเทเรซา เมย์ เป็นต้น คนอเมริกันจะทนได้หรือ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อเมริกา ไม่เป็นผู้นำโลก

view