สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อาเซียนปั๊ม เมกะโปรเจ็กต์ ดัน การค้า-ลงทุน ในภูมิภาคโต

จากประชาชาติธุรกิจ

หลายปีที่ผ่านมาความเคลื่อนไหวที่โดดเด่นมากที่สุดของประเทศสมาชิก “อาเซียน” ก็คือแผนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อมุ่งใช้ประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเพิ่มปัจจัยการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มากขึ้นด้วย

ในวาระครบรอบ “50 ปีอาเซียน” ชาติสมาชิกได้ประกาศพันธสัญญาว่าจะทุ่มงบประมาณลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเป็นสองเท่า โดยมีมูลค่าสูงกว่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในระยะเวลา 5 ปี (2016-2020) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นทั้งด้านการค้า การท่องเที่ยว และการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

นายโทนี คริปปส์ ซีอีโอ ธนาคารเอชเอสบีซี สิงคโปร์ กล่าวกับ สเตรตส์ไทมส์ ของสิงคโปร์ว่า “ปัจจุบันนักลงทุนอาเซียนกลายมาเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคของตัวเอง โดยมีปริมาณการลงทุนมากกว่านักลงทุนจีน 3 เท่า”

นายโทนีอ้างอิงรายงาน “Asean Investment Report 2016” โดยระบุว่าอาเซียนยังคงเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางที่สำคัญของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยปี 2015 มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในอาเซียนสูงถึง 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนราว 16% ของ FDI ของทั่วโลก และเป็นเม็ดเงิน

ลงทุนจากชาติสมาชิกอาเซียนด้วยกันเองประมาณ 22,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 18.5% เพิ่มขึ้นจาก 17% ในปี 2014 ขณะที่เงินทุนจากญี่ปุ่น ตกมาเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ 17,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วยสหรัฐ 12,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทุนจีนร่วงมาที่อันดับ 4 อยู่ที่ 8,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบขนส่งถือเป็นวาระลำดับต้น ๆ ของรัฐบาลอาเซียนทุกประเทศในช่วงปี 2016-2020 ทั้งนี้ ประเทศไทยและอินโดนีเซีย ถือเป็น “ประเทศต้นแบบ” ที่มีการผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุดในภูมิภาค

ที่ผ่านมา “อินโดนีเซีย” มีแผนการพัฒนาโครงการมากมายทั้งหมดในช่วงปี 2017-2018 มูลค่าราว 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การลงทุนด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ จะเป็นเงินทุนจากภาครัฐ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และภาคเอกชนราว 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วน “ฟิลิปปินส์” มีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานงบประมาณราว 50,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเม็ดเงินการลงทุนหลัก ๆ คาดว่าจะมาจากนักลงทุนจีน หลังจากที่รัฐบาล โรดริโก ดูเตอร์เต ได้ฟื้นความสัมพันธ์กับจีน อีกทั้งยังประกาศชัดเจนว่าต้องการที่จะพัฒนาโครงการต่าง ๆ เพื่อเชื่อมต่อโครงการ One Belt One Road ของรัฐบาลจีนด้วย

สำหรับ “ประเทศไทย” รัฐบาลชูโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ด้วยงบประมาณลงทุนสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท หรือราว 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับแผนระยะยาว 5 ปี

ขณะที่ ประเทศสิงคโปร์ ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาค มีบทบาทในเชิงรุกของการจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยประเมินว่างบประมาณ 2 ใน 3 ของเงินลงทุนในอาเซียนในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มาจากตลาดเงินของสิงคโปร์


“อาเซียน” นอกจากการเป็นแหล่ง FDI สำคัญที่สุดของโลก ปัจจุบัน “พันธบัตร” ที่ออกโดยรัฐบาลอาเซียน ก็เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากผลตอบแทนที่สูงกว่า เช่นพันธบัตรอายุ 10 ปี ของรัฐบาลอินโดนีเซียเพิ่งคลอดเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีผลตอบแทนสูงเกือบ 7% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ที่ให้ผลตอบแทนเพียง 2% เท่านั้น

นอกจากนี้สมาชิกอาเซียนยังมีแผนเพิ่มการค้าภายในภูมิภาค จากปัจจุบันอยู่ที่ 25% ของการค้าอาเซียนกับทั่วโลก พร้อมตั้งเป้าจะเพิ่มปริมาณการค้ากับจีนเป็น 2 เท่า มาอยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2020 จาก 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา

ช่วงเวลาเดียวกัน มีรายงานประจำปี 2016 – 2017 ของ “World Economic Forum Global Competitiveness” ที่ระบุถึงแผนการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลในอาเซียนในอีก 5 ปีข้างหน้าว่า เป็นการมุ่งเน้นลงทุนในโครงการด้านคมนาคมขนส่งเป็นหลัก พร้อมชื่นชมว่าเป็นการวางกรอบเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดที่สำคัญของขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาค

พร้อมย้ำว่า หากเป้าหมายของสมาชิกอาเซียนในการเพิ่มการค้าภายในภูมิภาค และโครงการก่อสร้างบรรลุตามระยะกำหนดเวลานั้น “อาเซียน” จะกลายเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทมากที่สุดในเวทีการค้าและการลงทุนโลก

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่อาเซียนจะบรรลุเป้าหมายมีอยู่สูง แต่อุปสรรคของความไม่เป็นเอกภาพก็มีอยู่สูงเช่นกัน เช่น ความขัดแย้งทางการเมือง ความตึงเครียดข้อพิพาททะเลจีนใต้ รวมถึงภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ ซึ่งความแตกแยกทางความคิดของสมาชิกอาเซียน เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้การเชื่อมโยงระหว่างกันยากขึ้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อาเซียนปั๊ม เมกะโปรเจ็กต์ การค้า-ลงทุน ภูมิภาคโต

view