สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จดหมายแห่งอนาคต (15) หยวน ขึ้นบัลลังก์แทน ดอลลาร์ ได้หรือไม่

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย สันติธาร เสถียรไทย santitarn.sathirathai@gmail.com

ถึงลูกพ่อ

ในตอนที่แล้วเราคุยกันว่า ในยุคของพ่อเงินดอลลาร์สหรัฐยังมีบารมีอยู่มากทีเดียว แม้อำนาจและความสำคัญของเศรษฐกิจอเมริกาที่เป็นต้นตอของบารมีนี้ได้ค่อย ๆ เสื่อมถอยลงไปแล้ว ขณะที่จีนกำลังเรืองอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ

ลูกอาจจะเดาได้แล้วว่า คำถามต่อไปที่คนรุ่นพ่อต้องคิดก็คือ ในอนาคตเงินดอลลาร์สหรัฐจะก้าวลงจากบัลลังก์การเป็นราชาแห่ง reserve currency แล้วเงินหยวนของจีนจะก้าวขึ้นมาแทนที่ เช่นเดียวกันกับที่เศรษฐกิจจีนสามารถผงาดขึ้นมามีความสำคัญเบียดเศรษฐกิจอเมริกาได้หรือไม่ ? อย่างไร ?

ที่แน่ ๆ คือ เทรนด์ของเงินหยวน (RMB) ของจีนในการก้าวสู่เวทีโลกนั้นมาแรงทีเดียว ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เช่น ในปี 2016 ที่เพิ่งผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประกาศให้ “เงินหยวน” เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ SDR (Special Drawing Rights) เคียงบ่าเคียงไหล่กับดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร เงินปอนด์ และเงินเยน โดยเงินหยวนมีสัดส่วนในตะกร้า SDR ประมาณ 10.9% สูงกว่าสัดส่วนของเงินเยนและปอนด์เสียอีก

แต่ทั้งนี้ ไม่ได้แปลว่าหนทางสู่บัลลังก์ของเงินหยวนจะโรยด้วยกลีบกุหลาบหรืออยู่ใกล้แค่เอื้อม ความจริงพ่อคิดว่าถนนสายนี้ยังอีกยาวและคดเคี้ยวทีเดียว

บทเรียนจากประวัติศาสตร์ เปลี่ยนสกุลเงินต้องใช้เวลา

ประวัติศาสตร์สอนเราว่าการเปลี่ยนแปลงบัลลังก์ของสกุลเงินนั้น อาจเกิดตามหลังการเปลี่ยนแปลงบัลลังก์ทางเศรษฐกิจหลายสิบปี ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาผงาดขึ้นเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่แซงหน้าอังกฤษตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1870-1900 แต่การเปลี่ยนแปลง “เจ้าบัลลังก์เงินตราของโลก” จากปอนด์มาเป็นดอลลาร์ไม่ได้เกิดขึ้นทันที จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นแบบ Bretton Woods ซึ่งคือระบบเงินดอลลาร์ผูกกับราคาทองคำหลังจากนั้นอีกประมาณ 50 ปีต่อมา

ทั้งนี้ ไม่ได้แปลว่าเราต้องรออีก 50 ปี แต่ประวัติศาสตร์ช่วยบอกใบ้ว่าการเปลี่ยน reserve currency จากสกุลหนึ่งไปเป็นอีกสกุลหนึ่ง อาจมีความซับซ้อนพอสมควร เช่น ในเรื่องของการตั้งราคาและทำใบเสร็จในระบบการค้าระหว่างประเทศนั้นมี network effects ซึ่งพ่อขอเรียกง่าย ๆ ว่า facebook effects (สมัยลูกอาจไม่รู้จักหรือมีอย่างอื่นมาแทน แต่สมัยพ่อ facebook, instagram, snapchat ถือว่าเป็นเครือข่ายโซเชียลหลัก) คือทุกคนอยากจะใช้สกุลเงินที่คนอื่น ๆ ใช้กันในการค้าเหมือนกับที่คนเราก็อยากอยู่ในโซเชียลมีเดียที่คนส่วนใหญ่อยู่กัน

เราจะเปลี่ยนจากโซเชียลเน็ตเวิร์กหนึ่งไปโซเชียลตัวใหม่ก็ต่อเมื่อเพื่อน ๆ รอบข้างเราเปลี่ยนไปใช้เน็ตเวิร์กใหม่เป็นส่วนใหญ่กัน จนถึงจุดที่เรียกว่า “จุดพลิกผัน” หรือ tipping point ซึ่งคาดเดาได้ยากว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร

จุดนี้สำคัญ เพราะเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่ reserve currency หลักของโลกสกุลใหม่นั้นอาจจะไม่เกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปเรื่อย ๆ แบบการเปลี่ยนแปลงทางการค้าโลก ที่จีนค่อย ๆ ขึ้นมาเบียดอเมริกา แต่อาจเกิดขึ้นทีละนิด ๆ จนวันหนึ่งก็เปลี่ยนพลิกอย่างรวดเร็ว อย่างไม่ทันตั้งตัว จนอาจเกิดความผันผวนทางการเงินและเศรษฐกิจขึ้นก็ได้ หรืออีกทางหนึ่งก็คืออาจเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์กระตุ้นสำคัญ ๆ เช่น วิกฤตการเงิน หรือสงคราม เหมือนกับที่เงินปอนด์ต้องขยับหลบให้ดอลลาร์สหรัฐกลายเป็นพระเอกในโลก หลังจาก Great Depression กับสงครามโลกก็ได้

จีนอยากให้หยวนโค่นดอลลาร์ ?

ก่อนจะไปดูความ “พร้อม” ของเงินหยวน พ่อว่าเราอาจต้องถามคำถามสำคัญว่า จีนอยากให้หยวนขึ้นมาแทนดอลลาร์สหรัฐหรือไม่ เพราะทางรัฐบาลจีนเองก็พูดมาตลอดว่าตนไม่ได้ต้องการให้เงินหยวนมาแทนดอลลาร์ แต่กลับเป็นรัฐบาลอื่น ๆ และผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ที่เชียร์อยากให้เกิดขึ้น

ความจริงเป็นอย่างไร น้อยคนนักที่รู้ แต่ประเด็นหนึ่งที่ต้องแยกแยะให้ดีก็คือ การทำ internationalization หรือผลักดันเงินตัวเองให้มีการใช้ในระดับนานาชาติเป็นหนึ่งใน reserve currency นั้น ไม่ได้แปลว่าจะต้องให้เป็นราชาของ reserve currency แทนดอลลาร์สหรัฐเสมอไป นี่เป็นประเด็นสำคัญที่ผู้คนมักจะมองข้าม

มีอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติประเทศหนึ่งยกขึ้นมาพูดในงานสัมมนาที่พ่อไปฟังเมื่อไม่นานมานี้ โดยท่านได้ชี้ว่า หลายประเทศต้องการให้เงินสกุลตนเองเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมากขึ้น เพื่อประโยชน์อย่างน้อยสองประการ

ข้อแรก การที่สามารถทำการค้าระหว่างประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านดอลลาร์ หรือแม้แต่ใช้เงินสกุลตนเอง แต่ตั้งราคาทำใบเสร็จเป็นเงินหยวน (น่าจะเป็นว่า ทำการค้าโดยไม่ต้องผ่านดอลลาร์หรือหยวน แต่ตั้งราคาเป็นเงินสกุลตัวเอง ?) นอกจากจะช่วยลดต้นทุนทางการแลกเปลี่ยนค่าเงินแล้ว ยังลดความอ่อนไหวต่อความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ ที่หลายครั้งขยับตัวโดยไม่ได้เกี่ยวกับเศรษฐกิจภายในประเทศแม้แต่น้อยอีกด้วย

ข้อสอง หากเงินสกุลของตนได้รับการยอมรับจากนักลงทุนต่างชาติและมีการใช้ในระดับนานาชาติ ก็จะทำให้การกู้ยืมเงินในสกุลเงินตนเองทำได้ง่ายขึ้น ลดความเสี่ยงต่อปัญหา currency mismatch ที่เกิดจากการกู้ยืมเป็นเงินสกุลต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่รายได้เป็นเงินสกุลของประเทศตัวเอง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเคยทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาบ่อยครั้ง รวมทั้งวิกฤตต้มยำกุ้งมาแล้ว

แต่การจะผลักดันให้เงินหยวนไปแทนที่ดอลลาร์ในฐานะของราชา reserve currency นั้น มีโจทย์เพิ่มขึ้นมาอีกหลายข้อ

จีนอยากแค่ไหน หยวนพร้อมเพียงใด

ข้อหนึ่ง การจะเป็น reserve currency ตัวหลักนั้นเสมือนทำให้เงินสกุลตนเองกลายเป็น medium of exchange เสมือนเป็น “เงินสด” แหล่งสภาพคล่องของโลก มิใช่เพียงแค่ของประเทศตัวเอง เงินสกุลตนเองจะต้องกลายเป็น “สินค้าส่งออก” โดยนักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่าประเทศจีนอาจต้องยอมขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง เพื่อเป็นการให้เงินหยวนไหลออกสู่โลก ให้ประเทศต่าง ๆ ได้มีใช้อย่างเพียงพอ

หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกที่สภาพคล่องหดหาย ธนาคารกลางจีนจะต้องมีช่องทางการซัพพลายเงินหยวนออกสู่ประเทศต่าง ๆ เหมือนที่อเมริกาทำ ทั้งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองและหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008 ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ได้สัญญากับธนาคารกลางต่าง ๆ หรือ swap facility แจกจ่ายเงินกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์ไปให้กับธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ

ทั้งนี้ การจะให้เงินหยวนเป็น global reserve currency จีนอาจจะต้องเสียสละความสามารถในการควบคุมเงินตราในประเทศระดับหนึ่ง ซึ่งคือสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกกันว่า triffin dilemma ที่ยังไม่แน่ว่ารัฐบาลจีนพร้อมที่จะทำหรือไม่ เพราะทุกวันนี้จีนยังมีการคุมการปริวรรตเงินตรา (capital controls) อย่างค่อนข้างเข้มงวดและเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา โดยเฉพาะเวลามีเงินไหลออกจากประเทศ

ข้อสอง จีนยังต้องเปิดให้นักลงทุนสถาบันสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ในสกุลเงินหยวนได้ เพื่อใช้ในการออม (store of value) ได้อย่างสะดวก ในส่วนนี้ จีนมีความพยายามในการเปิดเสรีทางการเงินต่าง ๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น การให้นักลงทุนสถาบันประเภทกองทุนบริหารเงินสำรองต่างประเทศมาลงทุนได้มากขึ้น การผ่อนคลายการควบคุมดอกเบี้ยของภาคธนาคารโดยตรง รวมไปถึงการทำความเชื่อมโยงตลาดพันธบัตรกับฮ่องกง ให้นักลงทุนที่จดทะเบียนในฮ่องกงสามารถลงทุนในตลาดพันธบัตรของจีน (bond connect) เพื่อเปิดประตูเงินโลกเข้าถือเงินหยวน (เปิดประตูให้นักลงทุนโลกเข้าถือเงินหยวน ?)

แต่นอกจากจะเปิดแล้วยังไม่พอ จีนยังจะต้องมีตลาดพันธบัตรรัฐบาลขนาดใหญ่พอที่เมื่อเปิดประตูให้นักลงทุนโลกเข้ามาแล้ว ต้องมี “ที่ให้เก็บเงิน” เป็นเงินสกุลหยวนแบบเดียวกับที่อเมริกามีตลาด treasury ด้วย ซึ่งในส่วนนี้พ่อคิดว่าจีนอาจมีแผนยิงนัดเดียวให้ได้นกสองตัว คือปัจจุบันจีนมีปัญหาหนี้ภายในประเทศอยู่สูงเฉียด 300% ของ GDP (รวมรัฐบาลและเอกชน) โดยส่วนหนึ่งเป็นหนี้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “ภาคเอกชน” แต่แท้จริงแล้วเป็นของรัฐบาลระดับมลรัฐ ที่ไปตั้ง “บริษัท” ขึ้นมาเพื่อกู้เงินไปทำโครงการต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลกลางของจีนกำลังทำก็คือ การเปลี่ยนหนี้เหล่านี้ให้กลายเป็นหนี้ของรัฐบาลจริง ๆ อย่างชัดเจน ไม่ใช่ลูกครึ่งผสมแบบที่เป็นอยู่ หากจีนทำตรงนี้สำเร็จก็จะเป็นทั้งการเพิ่มปริมาณพันธบัตรรัฐบาลในตลาดให้กับนักลงทุน พร้อมทั้งลดหนี้ประเภทที่ขาดความโปร่งใสลงไปอีกด้วย

ข้อสาม คือ จีนจำเป็นต้องมีการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินและการสื่อสารที่ชัดเจนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือเงินหยวนเพราะเงินหยวนจะต้องกลายมาเป็น unit of account คือเป็นหน่วยวัดมูลค่าสินค้าและสินทรัพย์ต่าง ๆ ได้สำหรับคนทั่วโลก

หากค่าเงินหยวนผันผวนมากไป หรือมีนโยบายพลิกไปพลิกมา ก็จะทำให้ทำหน้าที่นี้ได้ลำบาก โดยส่วนตัวพ่อติดว่านี่อาจเป็นเรื่องที่จีนต้องปรับตัวมากที่สุด แม้จีนจะกล่าวว่าได้เปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระบบที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ได้ผูกติดอยู่กับดอลลาร์อย่างเดียวแล้ว แต่ระบบใหม่นี้ยังไม่นิ่ง และบ่อยครั้งยังสร้างความสับสนและความผันผวนให้กับนักลงทุนในตลาดเป็นช่วง ๆ เช่น เมื่อตอนต้นปี 2559 เป็นต้น แม้แต่ในเรื่องการเปิดเสรีการเงิน จีนก็ยังคงมีการคุมเข้มกว่าที่เปิดเผยเป็นทางการ และบ่อยครั้งกลับไปกลับมา โดยสื่อสารไม่ชัดเจน

สรุป หากพ่อต้องทาย พ่อคิดว่าเงินหยวนคงก้าวไปสู่การยอมรับในระดับนานาชาติได้มากขึ้นเรื่อย ๆ (Internationalization) แต่ขนาดจะเป็นราชาของ reserve currency แทนดอลลาร์สหรัฐเลยหรือไม่นั้น ยังไม่ชัดเจน และคงต้องให้เวลาพิสูจน์


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จดหมายแห่งอนาคต หยวน ขึ้นบัลลังก์แทน ดอลลาร์ ได้หรือไม่

view