สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จดหมายแห่งอนาคต (16) แบงก์ชาติยังจำเป็นอยู่หรือไม่ในยุคเงินดิจิทัล

จากประชาชาติธุรกิจ

โดยสันติธาร เสถียรไทย santitarn.sathirathai@gmail.com

ถึงลูกพ่อ

ในยุคที่พ่อกำลังเขียนจดหมายนี้อยู่ โลกการเงินกำลังพบกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอยู่ประการหนึ่ง คือการผงาดขึ้นของเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า cryptocurrency ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) หรือ dis-tributed ledger technology (DLT) cryptocurrency เป็นที่รู้จักดีที่สุดก็คือ bitcoin แต่จริง ๆ มีอีกหลายประเภท เช่น ether stablecoin bitcoin cash ที่แยกตัวมาจากบิตคอยน์เมื่อไม่นานมานี้

ผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านการเงิน เศรษฐศาสตร์ และเทคโนโลยีจำนวนมากมองว่า การผงาดขึ้นมาของ cryptocurrency และเทคโนโลยี blockchain จะทำให้เราต้องตั้งคำถามที่สำคัญหลายข้อ เกี่ยวกับทุกอย่าง แม้แต่เรื่องความอยู่รอดของระบบการเงินที่คนรุ่นพ่อรู้จักและคุ้นเคย

หนึ่งในคำถามที่โดยส่วนตัวพ่อสนใจมากก็คือ เรื่อง “บทบาทของธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์” ที่เป็นหัวใจของระบบการเงินในโลกปัจจุบันนั้น จะยังคงมีความสำคัญและจำเป็นแค่ไหนในโลกอนาคต ? วันนี้เรามาคุยกันเรื่องธนาคารกลาง หรือแบงก์ชาติ กันก่อน

บิตคอยน์ เกิดจากไม่ไว้ใจระบบการเงินปัจจุบัน

พ่อคงไม่ต้องอธิบายเรื่อง cryptocurrency และเทคโนโลยี DLT หรือ blockchain ที่เป็นรากฐานของเงินดิจิทัลประเภทนี้นัก เพราะพ่อทายว่าในยุคของลูก cryptocurrency คงกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว แต่ที่พ่ออยากชวนย้อนคิดไปดู คือ แรงจูงใจของผู้ให้กำเนิดบิตคอยน์

บิตคอยน์ถูกสร้างขึ้นมาโดยโปรแกรมเมอร์ หรือกลุ่มโปรแกรมเมอร์ ที่ใช้ชื่อว่า Satoshi Nakamoto ที่ทุกวันนี้ยังลึกลับ ไม่มีใครรู้ชัดว่า ตัวจริงคือใคร (แต่มีคนบางกลุ่มบอกว่า รู้ แต่ก็ไม่เปิดเผย) ก่อนที่ Satoshi จะหายตัวไปจากวงการ เขาเคยเขียนให้ความเห็นเกี่ยวกับระบบการเงินในยุคปัจจุบันว่า มีปัญหาเรื่อง “ความไว้วางใจ” (trust) ที่ “เปราะบาง” เพราะตั้งอยู่บนฐานของ “F” สองตัว fiat money และ fractional reserve

Fiat Money คือ ระบบที่ค่าของเงินนั้นไม่ได้ผูกติด (fixed) อยู่กับสินทรัพย์ใด ๆ แต่มันคือ “หนี้” ของธนาคารกลาง ที่ออกให้คนถือโดยไม่จ่ายดอกเบี้ย มันมีค่าเพราะเราเชื่อมั่นในธนาคารกลาง และเชื่อว่าคนอื่นเชื่อเหมือนที่เราเชื่อ ทั้งนี้ เมื่อดูประวัติศาสตร์ลูกจะเห็นว่า สมัยก่อนเงินจะผูกติดอยู่กับทองคำ (เดิมทีคือ ใบกระดาษที่ใช้มาถอนทองที่ฝากไว้ที่วัด) โดยสาเหตุหนึ่งที่ทิ้งการผูกเงินกระดาษกับทองคำ ก็เพื่อให้ธนาคารกลางมีความสามารถในการพิมพ์เงินอัดฉีดสภาพคล่องและลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วง Great Depression ที่เศรษฐกิจตกต่ำขั้นวิกฤตและเกิดภาวะเงินฝืด หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ทำให้ธนาคารกลางมีความสามารถในการคุม “นโยบายการเงิน” ได้นั่นเอง

แต่ระบบ Fiat Money ก็มีข้อเสียตรงที่หากธนาคารกลางบริหารนโยบายการเงินผิดพลาด พิมพ์เงินธนบัตรออกมามากจนเกินไป ก็อาจเกิด hyper inflation แบบที่พบเห็นกันบ่อย ๆ ในทวีปอเมริกาใต้ (เช่น กรณีล่าสุดในเวเนซุเอลา) เพราะฉะนั้น ระบบนี้จะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อคน “เชื่อ” ว่า ธนาคารกลางจะไม่พิมพ์เงินสุ่มสี่สุ่มห้าจนถึงขั้นเกิดวิกฤต ค่าเงินลดลง จนกลายเป็นต้องขนเงินกระดาษเป็นเกวียนเพื่อนำไปซื้อขนมปังหนึ่งก้อน

…ถูกท้าชน ?

ระบบของบิตคอยน์เสมือนจะท้าชนกับแนวคิดของ Fiat Money นี้ โดยเป็นการดึงอำนาจการจัดการพิมพ์เงินโดยตรงออกจากแบงก์ชาติไป จากที่ปัจจุบันธนาคารกลางมีสิทธิผูกขาดในการกำกับปริมาณเงินในระบบ (แบงก์พาณิชย์สามารถสร้างเงินจากการปล่อยสินเชื่อ แต่สุดท้ายแบงก์ชาติก็ยังมีอำนาจในการควบคุมอยู่ดี) สำหรับ cryptocurrency นั้น ปริมาณจะขึ้นอยู่กับความต้องการเงินตรา และการ “ผลิต” จะเป็นหน้าที่ของ “นักขุด” บิตคอยน์ (miners) เปรียบเสมือนเราย้อนไปในยุคที่ต้องขุดและผลิตทองคำขึ้นมาเพื่อนำมาใช้เป็นเงินตรา

หากในอดีต เราต้องใช้คนและเครื่องมือขุดทอง ในยุคบิตคอยน์ นักขุดก็ใช้พลังคอมพิวเตอร์ “ขุด” cryptocurrency ซึ่งคือการประมวลผลและยืนยันธุรกรรม แล้วลงบันทึกใน “บล็อก” ทั้งนี้ ขั้นตอนการ “ขุดเหรียญ” หรือ “พิมพ์เงิน” ของ cryptocurrency ต้องใช้พลังไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์มหาศาล “เหมือง” ของพวก miners จึงมักจะต้องไปอยู่ในที่ที่มีไฟฟ้ามหาศาล ในราคาถูก เช่น เขตปกครองมองโกเลียใน หรือแถบภูเขาใกล้แหล่งพลังงานน้ำในมณฑลเสฉวนของจีน

นอกจากนี้ บิตคอยน์ยังได้รับการออกแบบมาให้มีจำนวนจำกัดอยู่ที่ 21 ล้านบิตคอยน์ ไม่สามารถขุดได้มากกว่านั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนบางท่านคิดว่า ทำให้เป็น “สินทรัพย์” ที่มีค่ามากขึ้น เพราะมีจำนวนจำกัด แต่ในทางกลับกันก็อาจจะทำให้เป็น “เงิน” ที่ใช้กันทั่วไปได้ยากขึ้น และทำให้เกิดภาวะเงินฝืดขึ้นได้ (เงินแต่ละเหรียญมีค่ามากขึ้น ราคาของในสกุลเงินนั้นก็ถูกลง ๆ)

ข้อสุดท้าย ระบบของบิตคอยน์นั้นมีปรัชญาของ “ประชาธิปไตย” และ “การกระจายอำนาจ” (decentralized) ฝังรากลึกอยู่ การตัดสินใจเปลี่ยนกฎกติกาล้วนทำกันโดยเครือข่ายบิตคอยน์

ซึ่งเป็นแบบ Peer-to-Peer ที่มีการเชื่อมโยงกันระหว่างคอมพิวเตอร์ ทุกคอมพิวเตอร์ที่ประมวลธุรกรรมการคำนวณบันทึก Blockchain มีฐานะเท่ากัน (Peer) อาศัยการโหวตเพื่อการตัดสินใจ โดยไม่มีองค์กรกลาง เช่น แบงก์ชาติ เข้ามากำกับควบคุม ตราบใดที่ 51% ของคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ ก็จะโจมตีหรือ hack เครือข่าย Bitcoin ได้ยากมาก ๆ

Back to the future ?

ในปัจจุบันมี cryptocurrency หลายสกุล แข่งขันกันเป็นเจ้ายุทธภพ หากลองคิดเล่น ๆ ว่า ถ้าผู้คนหนีจากการใช้เงินสกุลประจำประเทศต่าง ๆ ไปใช้ cryptocurrency ต่าง ๆ กันอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ผลก็คือแบงก์ชาติจะมีความสามารถในการควบคุมปริมาณเงิน หรือนโยบายการเงินน้อยลงมาก จนอาจต้องตั้งคำถามว่า ธนาคารกลางยังจำเป็นอยู่ไหม

ซึ่งในยุคของพ่ออาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่ในความเป็นจริง หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ในอดีต ก็มียุคที่หลายประเทศมีระบบ free banking ที่แต่ละธนาคารพาณิชย์ในอดีตก็ออก “เงิน” ของตัวเองให้คนใช้ โดยธนาคารกลางมีบทบาทจำกัดมาก จนมายุคหลัง ประเทศส่วนใหญ่ถึงจะเอาระบบธนาคารกลางของอังกฤษ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่เรืองอำนาจในขณะนั้นมาใช้ ประจวบเหมาะกับบางเศรษฐกิจที่ใช้ระบบ free banking ประสบวิกฤตเศรษฐกิจ จึงเริ่มมีแนวคิดว่า ควรมีธนาคารกลางที่จะเป็น lender of last resort หรือผู้ให้กู้คนสุดท้าย เป็นอัศวินม้าขาวเข้ามาช่วยแบงก์พาณิชย์ที่มีปัญหาได้ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามไปทั้งระบบ

จะเกิดอะไรขึ้นกับแบงก์ชาติต่าง ๆ ในอนาคต

ลูกอาจจะบอกว่า ก็ยังเห็นมีแบงก์ชาติอยู่ ไม่ได้หายไปไหนนี่นา (พ่อทายว่าเป็นอย่างนั้น) เหตุผลส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะในความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบัน cryptocurrency ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง เช่น ปัญหาเรื่องการ scale ที่พูดไปแล้วข้างบน ความผันผวนของราคาอย่างรุนแรง ทำให้อาจจะพอเป็นสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้คนบางกลุ่มเข้าไปเทรด แต่ยังยากที่จะเป็นเงินที่ทำหน้าที่ได้ทั้งเป็น unit of account ทั้ง store of value และ medium of exchange (ตัวกลางในการใช้จ่าย) อย่างแพร่หลาย ซึ่งยังคงต้องมีการวิวัฒนาการอีกมาก

แต่ในความคิดพ่อ อุปสรรคเหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่พอแก้ได้ ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ เทคโนโลยี blockchain ของบิตคอยน์นั้น สามารถเอาไปปรับใช้จากระบบกระจายอำนาจไปเป็นระบบรวมศูนย์ คือ เป็น cryptocurrency ออกโดยแบงก์ชาติเองได้ และหลายธนาคารกลางก็กำลังศึกษาความเป็นไปได้นี้อยู่อย่างจริงจัง จึงอาจเหมือนโชคชะตาเล่นตลก หาก cryptocurrency ที่บางคนคาดหวังว่าจะมาลดบทบาทธนาคารกลางลง กลับกลายเป็นว่าทำให้แบงก์ชาติต่าง ๆ ยิ่งมีอำนาจมากขึ้นไปอีก เมื่อสามารถออกเงิน cryptocurrency ของตัวเองได้

คราวหน้าเรามาดูกันว่า cryptocurrency ของแบงก์ชาติ หน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร และจะเขย่าระบบการเงินได้มากแค่ไหน


สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จดหมายแห่งอนาคต (16) แบงก์ชาติ จำเป็นอยู่หรือไม่ ยุคเงินดิจิทัล

view