สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ก่อนจะใช้ประโยชน์การวิจัย ต้องไม่สับสนในความหมาย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

ในปัจจุบัน “การวิจัย” ถูกใช้ในงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในบริบทของ “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งเป็นจินตนาการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ชาติไทย ฟังดูคล้ายกับว่า “การวิจัย” จะนำไปสู่สิ่งใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ ที่เรียกว่า “นวัตกรรม”

ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ชัดเจนว่า “การวิจัย” (research) และ “การวิจัยและพัฒนา (R&D) แม้จะมีความคล้ายกันและเกี่ยวพันกัน หากก็มิใช่สิ่งเดียวกัน

“การวิจัย” เป็นส่วนประกอบที่สำคัญและเป็นภารกิจหลักประการหนึ่งของอุดมศึกษา ในความหมายที่ว่ามหาวิทยาลัยจะต้องมีการวิจัยควบคู่ไปกับการจัดการเรียนการสอน อาจารย์จะต้องทั้งสอนหนังสือและทำวิจัย ในขณะที่นักศึกษาชั้นสูง ๆ และขั้นบัณฑิตศึกษาจะต้องฝึกหัดการทำวิจัย

แต่ “การวิจัยและพัฒนา” เป็นปัญหาสำคัญของการบริหารธุรกิจยุคปัจจุบันที่ธุรกิจจะต้องพัฒนาสินค้าและบริการของตนให้ครองใจผู้บริโภคอยู่เสมอในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งหมายถึงว่าหากคุณภาพและมาตรฐานไม่ดีกว่า ราคาก็จะต้องถูกกว่า หรือ เป็นสินค้าหรือบริการที่มีประโยชน์ในการใช้สอยมากกว่า หรือน่าใช้กว่า เป็นต้น

ธุรกิจที่เป็นการลงทุนของต่างชาติ จะทำการวิจัยและพัฒนาในประเทศแม่ ธุรกิจขนาดใหญ่จะตัดสินใจระหว่างจะทำการวิจัยและพัฒนาเอง หรือซื้อผลงานการวิจัยและพัฒนาของต่างประเทศ โดยพิจารณาว่าอย่างใดคุ้มค่ากว่ากัน

สำหรับธุรกิจขนาดย่อมที่ไม่มีทุนรอนในการทำวิจัยและพัฒนาด้วยตัวเอง ก็จะว่าจ้างสถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัยภายในประเทศทำการวิจัยและพัฒนาให้ โดยระบุผลงานวิจัยและพัฒนาที่ต้องการให้ชัดเจน แต่ก็เช่นเดียวกับธุรกิจที่มีขนาดใหญ่กว่า ธุรกิจขนาดย่อมอาจตัดสินใจเลือกซื้อผลงานวิจัยและพัฒนาจากต่างประเทศก็ได้ หากพิจารณาว่าคุ้มกว่า

การวิจัย (research) ที่เป็นภารกิจซึ่งมหาวิทยาลัยจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการเรียนการสอน มิใช่ “การวิจัยและพัฒนา” (R&D) แต่เป็นการศึกษาค้นคว้าในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เพื่อให้บรรลุถึงความรู้ที่ชัดเจนขึ้น ลึกซึ้งขึ้น และแตกฉานขึ้น หรือจะเป็นการศึกษาหาข้อมูลข้อเท็จจริงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็ได้ หรือจะเป็นการทบทวนหลักเกณฑ์หรือทฤษฎีที่มีอยู่เดิม ก็ได้เช่นกัน

การวิจัยที่มหาวิทยาลัยมุ่งไปที่ความรู้เป็นสำคัญ มิใช่เป็นการแสวงหานวัตกรรมเพื่อประโยชน์ของธุรกิจ อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษา มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการ ผลิตบัณฑิตและพัฒนาความรู้ ในศาสตร์ต่าง ๆ เป็นสำคัญ

การชักนำให้มหาวิทยาลัยทั่วไป ด้วยนโยบายและมาตรการล่อใจต่าง ๆ ให้มหาวิทยาลัยเบี่ยงเบนหน้าที่และความรับผิดชอบหลัก เป็นการทำลายระบบอุดมศึกษาของชาติ

งานวิจัยและพัฒนานั้น โดยหลักการจะต้องเป็นความริเริ่มมาจากการตัดสินใจของผู้ประกอบการธุรกิจ ซึ่งมาจากการพิจารณาความคุ้มค่าเป็นหลัก จริงอยู่ที่ผลงานวิจัยและพัฒนาจะเกิดจากการค้นคว้าในห้องปฏิบัติการของสถาบันวิจัยหรือของมหาวิทยาลัย หากความสำเร็จในห้องปฏิบัติการจะต้องผ่านกรรมวิธีอีกยาวไกลจนกว่าจะออกมาเป็นนวัตกรรมของสินค้าและบริการ

การตัดสินใจที่จะนำผลงานการวิจัยและพัฒนาจากห้องปฏิบัติการมาสู่การผลิตเป็นสินค้าและบริการ เป็นการตัดสินใจในการบริหารธุรกิจ ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการนั้นมากมายหลายมิติ ดังนั้น การเปลี่ยน จินตนาการ ให้เป็น ความจริง ในเรื่องดังกล่าว จึงไม่เพียงการทุ่มงบประมาณให้แก่การวิจัยและพัฒนาในสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัย หรือการยกเว้น ลดหย่อนภาษีเพื่อล่อใจผู้ประกอบการธุรกิจเท่านั้น หากต้องการอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นธรรมชาติ ทั้งในด้านผู้ประกอบการธุรกิจ นักวิจัย และผู้บริโภค

บทบาทของรัฐบาลไม่อาจจะไปได้ไกลกว่าจินตนาการ แต่สิ่งที่รัฐบาลพึงจะกระทำได้และควรกระทำมีอยู่หลายประเด็นเหมือนกัน อาทิ การปลูกฝัง “จิตสำนึกทางวิทยาศาสตร์” (scientific mindedness) ให้แก่พลเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนไทย การทำนุบำรุงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการเพิ่มขีดความสามารถการพึ่งตนเองในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (self-reliance in science & technology) เหล่านี้ เป็นต้น

ที่สำคัญก็คือจะต้องแยกแยะระหว่างการใช้และการผลิตเทคโนโลยี โดยเข้าใจให้ชัดเจนว่าแม้กล้วยจะเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เราก็ไม่ควรคิดแต่จะกินกล้วย หากจะต้องคิดปลูกกล้วยเอาไว้กินด้วย หากยังไม่เข้าใจก็อย่าไปเสียเวลาคิดในเรื่องการวิจัยและพัฒนาเลย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ใช้ประโยชน์การวิจัย ไม่สับสนในความหมาย

view