สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาษีค่าน้ำได้ไม่คุ้มเสีย

จากประชาชาติธุรกิจ

คนเดินตรอก ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ประเด็นที่กรมทรัพยากรน้ำหรือกรมชลประทานเก่า เสนอให้มีการเก็บค่าน้ำจากเกษตรกรในเขตชลประทานของรัฐหรือเขตเกษตรก้าวหน้ามีมาเรื่อย ๆ โดยอ้างว่าเพื่อให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดสำหรับผู้ที่อยู่ต้นน้ำ จะได้มีน้ำไว้ให้ผู้ที่อยู่ใต้น้ำมีน้ำใช้

ประเด็นดังกล่าวเคยพูดกันมากว่า 30 ปีแล้ว จำได้ว่าเมื่อสมัยรัฐบาลป๋าเปรม คราวที่ประเทศไทยต้องเข้าโครงการช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ หลังวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 ทั้งไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกตั้งเป็นเงื่อนไขว่า กรมชลประทานต้องเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายเก็บค่าน้ำกับทุกคนที่ใช้น้ำ จากเขื่อน คลอง คูส่งน้ำของโครงการชลประทานของรัฐบาล รวมทั้งผู้ใช้รายใหญ่ที่สุด คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำในเขื่อนด้วย นอกจากนั้นเจ้าของอ่างเก็บน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯหรือกรมชลประทาน ก็ควรจะเสียภาษีบำรุงท้องที่เหมือนคนอื่น ๆ ด้วย เพื่อท้องถิ่นจะได้มีรายได้ เกษตรกรรายย่อยนอกจากจะเสียค่าน้ำแล้วยังต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่หรือที่เรียกว่าภาษีค่านาด้วย ส่วนค่าไฟกับค่าน้ำประปาที่คนในเมืองใช้นั้นปลอดจากภาษีดังกล่าว เป็นสาเหตุหนึ่งของความเหลื่อมล้ำ เพราะคนในเมืองไม่ยอมให้ขึ้นค่าไฟค่าน้ำในสมัยน้ำมันแพง แต่พอน้ำมันราคาถูกรัฐบาลก็หายเงียบไปเลย เพราะตนไม่เดือดร้อนจากการกดดันของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกแล้ว เพราะได้คืนหนี้ไปหมดแล้ว ไม่ต้องกู้ดอกเบี้ยแพงจากธนาคารโลกแล้ว มีความสามารถที่จะออกพันธบัตรกู้จากประชาชนในประเทศก็ได้ เพราะทุนสำรองระหว่างประเทศก็มีเหลือเฟือจนเงินบาทแข็งเอาแข็งเอา เพราะธนาคารกลางเข้าใจว่าอัตราดอกเบี้ยกับอัตราแลกเปลี่ยนไม่มีความสัมพันธ์กัน เห็นผู้ว่าการออกมาพูดหน้าตาเฉยว่าอย่างนั้น เหตุผลที่เราไม่ยอมทำตามไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกกับธนาคารพัฒนาเอเชีย ก็ด้วยเหตุผลหลายอย่าง อย่างแรกประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในร่องมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือ ได้เมฆฝนจากทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ขณะเดียวกันก็ได้ฝนจากพายุไต้ฝุ่นที่พัดเข้าเวียดนามปีละไม่ต่ำกว่า 20 ลูก เมื่อปะทะเข้ากับทิวเขายาวกว่า 1,400 กม.ที่กั้นเวียดนามกับลาว เป็นร่องความกดอากาศต่ำ หรือ depression เกิดเป็นฝนตกในภาคเหนือ แล้วค่อย ๆ เลื่อนลงทิศใต้ไปสิ้นสุดในเดือนธันวาคมในภาคใต้

น้ำฝนที่ตกในประเทศไทยร้อยละ 80-85 ไหลลงทะเล ที่สามารถเก็บกักไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งมีเพียงร้อยละ 15-20 ในการจัดการบริหารน้ำก็ไม่แน่ใจว่าให้น้ำหนักกับการผลิตไฟฟ้าก่อนหรือเกษตรก่อน เพราะถ้ามองทางธุรกิจหรือทางเศรษฐศาสตร์ก็ควรให้น้ำหนักกับการผลิตไฟฟ้าก่อน เพราะไฟฟ้ามีราคาแพงกว่าราคาข้าว ถ้าลดการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำลงก็ต้องเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตามากขึ้น เพราะก๊าซธรรมชาติก็ใช้เต็มที่แล้ว ผู้ที่จะเป็นปากเสียงให้เกษตรกรก็ไม่มี แต่ถ้าจะเก็บค่าน้ำ ภาษีบำรุงท้องที่ จากเจ้าของเขื่อน แล้วเจ้าของเขื่อนต้องมาขึ้นค่าไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งก็เป็นชนชั้นกลางในเมืองหรือผู้ผลิตสินค้าอื่น ๆ ที่ใช้ไฟฟ้าก็คงจะถูกต่อต้านจากคนในเมืองแน่ ไม่มีรัฐบาลใดกล้าทำ

ถ้าฝนจำนวนมากถึงร้อยละ 80-85 นั้นไหลลงทะเลทางแม่น้ำโขงบ้าง แม่น้ำเจ้าพระยาบ้าง แม่น้ำท่าจีนบ้าง รวมทั้งแม่น้ำอื่น ๆ ทางภาคใต้ และแม่น้ำสาละวินที่ไหลลงทะเลในพม่า ถ้าใช้สามัญสำนึก กรมทรัพยากรน้ำก็ควรจะคิดหาทางลงทุนกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น เพราะแหล่งน้ำที่เหลือนั้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯคงจะไม่สนใจ เพราะไม่คุ้มกับการลงทุนที่จะแพงขึ้นเมื่อคิดต่อหน่วย ก็ควรจะเป็นหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำที่จะต้องคิดหาทางจัดการบริหารน้ำให้ดีกว่าปัจจุบัน ทั้งในภาวะแล้งที่น้ำไม่พอใช้หรือในฤดูน้ำหลากที่มีน้ำมากเกินไป จนเกิดภาวะน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรอบ ๆ กรุงเทพฯ สร้างความเสียหายมหาศาลและเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่อ้างว่ามีหน้าที่ดูแลไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ไม่ยอมให้กรมชลประทานปล่อยน้ำไหลผ่านกรุงเทพฯลงทะเล ความขัดแย้งในการจัดการบริหารน้ำจึงมีทั้งในภาวะแล้งและในภาวะน้ำมากเกินไป ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพในการจัดการบริหารน้ำยังอยู่ในระดับต่ำ ในภาวะแล้งก็ขอให้ชาวนาชาวสวนเสียสละ ในภาวะน้ำท่วมก็ขอพื้นที่จากชาวนาชาวสวนเป็นพื้นที่รับน้ำและให้น้ำผ่านลงทะเล แม้ว่าจะได้ปลูกข้าวปลูกพืชผักแล้วก็ตาม

ช่วงเกิดปัญหาไม่ว่าแล้งหรือท่วม ก็พูดกันมากเรื่อง การลงทุนโครงการขนาดใหญ่เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวอย่างถาวร แบบเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เมื่อช่วงภัยพิบัติผ่านไป โครงการที่ว่าก็เงียบหาย
ไป ไม่เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในกรุงเทพฯและในเมืองอี่น ๆ

การเก็บภาษีค่าน้ำ ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำคงจะเห็นตัวอย่างจากประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีฝนตกไม่มาก แต่มีหิมะตกมาก เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ที่มีลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาแบบเดียวกับภาคเหนือของเราที่มีระบบชลประทานราษฎร์ ที่จัดเป็นสมาคมผู้ใช้น้ำที่ก่อตั้งขึ้นโดยชาวไร่ชาวนาผู้ใช้น้ำ โดยเสียค่าน้ำให้กับสมาคมที่ตนสังกัด สมาคมเป็นเจ้าของอ่างเก็บน้ำ ฝาย คลองไส้ไก่ ที่ระบายน้ำเข้าไร่นา

ขณะเดียวกันรัฐบาลระดับจังหวัด อำเภอ หรือรัฐบาลกลางเป็นผู้ลงทุนโครงการชลประทานขนาดใหญ่ระดับชาติ แล้วขายน้ำให้กับจังหวัด อำเภอ เพื่อขายให้กับสมาคมผู้ใช้น้ำอีกที ความจริงองค์กรประชาชนที่จัดการบริหารน้ำของเราก็มี จนต้องมี พ.ร.บ.ชลประทานราษฎร์ เพราะน้ำไม่มีการบริหารจัดการ ผู้อยู่ต้นน้ำก็จะได้เปรียบ ใช้น้ำมากเกินไปหรือปล่อยน้ำทิ้งสิ้นเปลืองไปเปล่า ๆ ในขณะที่ผู้อยู่ท้ายน้ำก็จะเสียเปรียบ จึงมีคณะกรรมการชลประทานราษฎร์ที่จะเป็นผู้ตัดสิน หากมีการโต้แย้งในการจัดการบริหารน้ำ โดยเฉพาะในหน้าแล้งที่มีการใช้น้ำในพื้นที่ต้นน้ำมากขึ้น ส่วนจะมีการเก็บค่าน้ำเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้เป็นทุนในการซ่อมแซมเหมือง ฝาย คูคลองระบายน้ำ ก็เป็นมติของคณะกรรมการโดยที่รัฐไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว

การจัดการบริหารน้ำทั้งโครงการราษฎร์และโครงการหลวงนั้น บัดนี้กลายเป็นวัฒนธรรมการปฏิบัติ เงินที่จะเก็บได้จากภาษีค่าน้ำก็คงจะไม่มาก ไม่คุ้ม ควรมุ่งไปในทางหางบประมาณมาลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่จะทำให้ภัยแล้งและอุทกภัยลดความรุนแรงลง น่าจะตรงกับความต้องการของทุกฝ่ายมากขึ้น

นอกจากนั้น การบริหารการจัดเก็บภาษีค่าน้ำก็คงหนีไม่พ้นการใช้ดุลพินิจของข้าราชการที่จะวินิจฉัยว่า พื้นที่แปลงใดเป็นแปลงใหญ่หรือแปลงเล็ก เพราะอาจจะไม่ใช่การใช้หนังสือสำคัญแสดงสิทธิหรือสิทธิครอบครอง หรือพื้นที่ใดเหมาะสำหรับใช้ผลิตพืชผลการเกษตรชนิดใด กลายเป็นการเพิ่มช่องทางให้เกิดทุจริตคอร์รัปชั่นอีก

สำหรับพื้นที่ที่เป็นที่ราบตามลุ่มน้ำ บริเวณที่มีน้ำหลากเป็นบริเวณกว้างใหญ่และน้ำแห้งน้ำแล้งในฤดูแล้ง ไม่อาจจะทำระบบชลประทานแบบชลประทานราษฎร์ในภาคเหนือและภาคตะวันตกบางพื้นที่ได้ เพราะจะต้องทำเป็นโครงการใหญ่ แต่ไม่มีโครงการย่อยของราษฎรชาวไร่ชาวนารวมกลุ่มกันเป็นสมาคมผู้ใช้น้ำอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน หรือคณะกรรมการชลประทานราษฎร์อย่างของเราได้ หากรัฐบาลคิดจะเก็บค่าน้ำก็ต้องคิดให้ดีว่าจะออกระเบียบการบริหารการจัดเก็บอย่างไรจึงจะเป็นธรรม ไม่เป็นปัญหา และที่สำคัญไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางการลงทุนพัฒนาโครงการกักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากล้นฝั่งแม่น้ำลำคลองแล้วไหลลงสู่แม่น้ำออกทะเลไป ควรจะส่งเสริมให้เอกชนสามารถลงทุนสร้างแหล่งกักเก็บน้ำฝนส่งให้การประปา ส่งให้เป็นน้ำใช้ในอุตสาหกรรม ใช้ในการทำการเกษตร ทำการประมงน้ำจืด เช่น ปลาช่อน ปลาดุก ปลาสลิด ปลาสวาย กุ้งก้ามกราม หรือการประมงน้ำกร่อย หรือเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอื่น ๆ กิจกรรมเหล่านี้ทางราชการคงจะรู้แต่ไม่เชี่ยวชาญเท่ากับความรู้ของเกษตรกรที่ได้สะสมมาเป็นเวลานาน มีความสามารถและร่วมมือกับกรมประมงพัฒนาให้เป็นสินค้าออกที่สำคัญของประเทศไทย จนประเทศนำเข้า เช่น ยุโรป และอเมริกา เริ่มเดือดร้อน เพราะเกษตรกรของเขาสู้เกษตรกรไทยไม่ได้ เขาต้องชดเชยการส่งออก เกษตรกรของเราไม่ได้รับการชดเชยแต่สามารถส่งออกสินค้าเกษตรและประมง ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และทะเลได้

การกีดกันการค้าคงมีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าเกษตรกรรม เพราะสินค้าเกษตรอยู่นอกเหนือการคุ้มครอง ให้มีการเปิดเสรีโดยองค์การการค้าโลก หรือ WTO เหมือนสินค้าอุตสาหกรรม เพราะประเทศที่ก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมทุกประเทศไม่ยอมเปิดเสรีทางด้านสินค้าเกษตรกรรม แต่บังคับผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนาเปิดเสรีทางการค้าสินค้าอุตสาหกรรมโลกก็เป็นอย่างนี้ ประเทศร่ำรวยย่อมได้เปรียบประเทศยากจนเสมอ เหมือนกับคนรวยย่อมได้เปรียบคนจน อย่างไรก็อย่างนั้น

เป็นของธรรมดา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ภาษีค่าน้ำ ได้ไม่คุ้มเสีย

view