สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บรรยากาศการซ้อมย่อย ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศฯ ริ้วที่ 6 ประชาชนเฝ้าชมสุดอาลัย

จากประชาชาติธุรกิจ

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 8 ตุลาคม คณะกรรมการอำนวยการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (กอร.ราชพิธีฯ) ได้จัดการซ้อมย่อยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 6 ซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่จริงในวันที่ 29 ตุลาคม โดยมีขบวนกองทหารม้าจำนวน 77 ม้า ใช้กำลังพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม2.รอ) และกำลังพลของกองบัญชาการตำรวจนครบาล อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง โดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เพื่ออัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารไปยังพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรสบรรจุลงในถ้ำศิลา และอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปยังบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ และบรรจุลงในถ้ำศิลา ณ วัดบวรนิเวศวรวิหาร

สำหรับริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วขบวนที่ 6 ใช้เส้นทางประตูวิเศษไชยศรี-ถนนหน้าพระลาน-เลี้ยวขวาถนนสนามไชย-เลี้ยวซ้ายถนนกัลยาณไมตรี-ข้ามสะพานช้างโรงสี-เลี้ยวขวาถนนอัษฎางค์-เลี้ยวซ้ายเทียบที่เกยหน้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม จากนั้นออกจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เลี้ยวขวาถนนอัษฎางค์-เลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานช้างโรงสี ไปตามถนนกัลยาณไมตรี-เลี้ยวขวาถนนสนามไชย-ถนนราชดำเนินใน-ข้ามสะพานพิภพลีลา-ถนนราชดำเนินกลาง-เลี้ยวซ้ายถนนพระสุเมรุ ไปเทียบหน้าประตูวัดบวรนิเวศวิหาร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 22 ตุลาคม พันโทหญิง พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ องค์ผู้บังคับการกองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ ทรงม้านำขบวนพระราชอิสริยยศ การนี้จะทรงมาร่วมการซักซ้อมริ้วขบวนที่ 6 ด้วย

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศประชาชนที่บริเวณโรงแรมรอยัลรัตนโกสินทร์ พบมีประชาชนมาจับจองพื้นที่เป็นระยะ เพื่อรอชมการซ้อมย่อยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ด้วยชุดสีดำสุภาพ รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติต่างหาจุดพักรอ ภายหลังได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ถึงการซ้อมย่อยริ้วขบวนฯ อันงดงาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันที่ 11 ตุลาคม เวลา 08.00-16.00 น. จะมีการซ้อมริ้วขบวนที่ 2 ในส่วนของราชสกุล บริเวณรอบพระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยในวันที่ 15 ตุลาคม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปทรงทอดพระเนตรการซักซ้อมริ้วขบวนที่ 1-3 ณ พื้นที่จริง และเสด็จฯ ทรงร่วมการซักซ้อมในการซ้อมใหญ่วันที่ 21 ตุลาคมนี้

นางบงกช ดวงทวีป อายุ 51 ปี ข้าราชการประจำกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางมาพร้อมสามี นายชญาณัทกฤษ ณ ถลาง อายุ 54 ปี เกษตรกร อ.แม้สอด จ.ตาก เล่าถึงความประทับใจภายหลังมาจับจองพื้นที่เพื่อรอชมการซ้อมย่อยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ริ้วขบวนที่ 6 โดยนางบงกช กล่าวว่า ได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับพระราชพิธีมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่องทางเฟซบุกและไลน์ เพื่ออยากทราบความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับพระราชพิธี ก่อนหน้านี้ตนได้ใช้เวลาหลังเลิกงานเกือบทุกวันเพื่อเดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รวม 130 ครั้งแล้ว เพราะอยากใกล้ชิดพระองค์ให้มากที่สุด ผ่านไปแล้วเกือบปีรู้สึกใจหายมาก เพราะแม้แต่การเคลื่อนพระบรมศพออกจากโรงพยาบาลศิริราชเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2559 ตนก็ได้ร่วมส่งในครั้งนั้น สำหรับความประทับใจในวันนี้ ตนรู้สึกว่ายิ่งเห็นการซ้อมริ้วขบวนก็รู้สึกตื้นตันใจและรำลึกถึงพระองค์เสมอ เพราะริ้วขบวนมีความสวยงามและสมพระเกียรติสูงสุด แต่แอบแฝงไปด้วยความเศร้าที่ปวงชนชาวไทยไม่อยากให้เกิดขึ้น หากสามารถสละชีพและร่างกายแทนพระองค์ได้ตนก็พร้อมที่จะทำ

นางพรรณทิพย์ จิระพันธุ อายุ 55 ปี ชาว กทม. เปิดเผยหลังได้ชมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศฯ ริ้วขบวนที่ 6 ว่า วันนี้เป็นเหตุบังเอิญที่ได้ชมริ้วขบวนม้าพอดี เพราะความตั้งใจแรกอยากจะมากราบสักการะพระบรมศพที่รอบกำแพงวัง แต่เมื่อวานได้มาชมการซักซ้อมริ้วขบวนที่ 1-3 แล้ว โดยมานั่งรออยู่ระหว่างเส้นทางท่าช้างกับท่าเตียน เมื่อริ้วขบวนที่ 1 เคลื่อนผ่านได้เดินไปเรื่อยๆ จนถึงริ้วขบวนที่ 2 ขณะที่อัญเชิญพระบรมโกศไปประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ และมีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี จู่ๆ น้ำตาก็รื้นขึ้นมารู้สึกได้ว่าเสมือนจริงมาก

“ตลอดระยะเวลาการเปิดให้กราบสักการะพระบรมศพ ตัวเองได้ไปกราบทั้งหมด 3 ครั้ง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำทุกอย่างเพื่อคนไทย ตั้งแต่เด็กได้ชมข่าวพระราชสำนักก็ซึมซับมาตลอด แต่ก็ไม่ซาบซึ้งเท่ากับวันที่เห็นว่าสิ่งที่พระองค์ทรงทำนั้นได้ผลจริง ทรงมีพระวิสัยทัศน์กว้างไกล เช่น น้ำมันจากไบโอดีเซลที่ทรงทดลองและคิดค้นในวังจิตรลดา อีกสิบปีต่อมาคนจะใช้น้ำมันจากไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทน” นางพรรณทิพย์กล่าว

บงกช ดวงทวีป

 

ที่มา : มติชนออนไลน์


ทภ.1 อบรมแต่งกายชุดโบราณ 16 แบบสำหรับริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ

จากประชาชาติธุรกิจ

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่กองทัพภาคที่ 1 พล.ต.กฤษณ์ดนัย อิทธิมณฑล เสนาธิการกองทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้อำนวยการ กองพระราชพิธีส่วนหน้า เป็นประธานเปิดการอบรมการฝึกการแต่งกายชุดโบราณ แก่กำลังพลและตัวแทนหน่วยงานต่างๆที่ร่วมอยู่ในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักพระราชวัง กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2รอ.) มณฑลทหารบกที่ 11 หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก (นปอ.) กรมการขนส่งทหารบก กรมพลาธิการทหารบก กรมสรรพาวุธทหารบก ผู้แทนจากโรงเรียนเตรียมทหาร ผู้แทนจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ การอบรมครั้งนี้มีคลังราชพัสดุพิธี กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง เป็นครูฝึกและสาธิตการแต่งกายชุดโบราณ จำนวน 16 แบบ อาทิ ชุดนำริ้ว ชุดธงสามชาย ชุดกลองชนะ ฉุดชัก พระพนักงานลากเกริน ชุดมหาดเล็กหลวง ชุดอินทร์ เชิญพุ่มเงิน ชุดพรหมเชิญ พุ่มทอง เป็นต้น โดยจะมีกำลังพลกว่า 1,700 นายที่จะเข้าร่วมในริ้วขบวนพระบรมศพ

พล.ต.กฤษณ์ดนัย กล่าวเปิดพิธีว่า การเปิดหลักสูตร ‘unit school แต่งชุดโบราณ’ ในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเพื่อให้สมพระเกียรติในพระราชพิธี การแต่งกายของผู้ปฏิบัติในริ้วขบวนต้องดูสง่างาม สมจริงตามโบราณราชประเพณีที่สุด จึงเป็นโอกาสที่ดีเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังมาให้ความรู้ความเข้าใจในการแต่งกายให้ถูกต้อง เพราะฉะนั้นทุกคนต้องให้ความสนใจ ทำความเข้าใจ เพื่อไปถ่ายทอดกับกำลังพลที่ต้องแต่งกายดังกล่าวด้วย

เสนาธิการกองทัพภาคที่ 1 กล่าวอีกว่า เพื่อให้การเตรียมการปฏิบัติของริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศและการควบคุมอำนวยการ การจัดพระราชพิธีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้องตามประเพณีและสมพระเกียรติทุกประการ วันนี้จึงให้แต่ละหน่วยได้ฝึกการแต่งกายชุดโบราณทั้ง 16 แบบ ซึ่งทุกหน่วยก็ส่งกำลังพลและตัวแทนมาทำการฝึกกับครู ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง โดยชุดที่ยากที่สุด คือชุดที่ต้องแต่งโจงกระเบนและต้องรัดประคต เนื่องจากไม่สามารถแต่งกายได้เพียงลำพัง ต้องมีคนช่วย

หลังจากที่ได้เรียนรู้วิธีการแต่งกายที่ถูกต้องตามพระราชประเพณีในวันนี้แล้ว ตัวแทนของแต่ละหน่วยก็จะไปฝึกสอนต่อให้กับกำลังพลที่เหลือ โดยจะมีการจับเวลาว่าแต่ละชุดใช้เวลาแต่งกายนานเท่าไหร่ เพื่อปรับปรุงวิธีการแต่งกายให้ถูกต้องและใช้เวลาน้อยที่สุด ทั้งนี้ ในวันพระราชพิธีจริงจะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังคอยตรวจตราความเรียบร้อยอีกครั้ง และคนที่ทำหน้าที่เป็นครูฝึกในวันนี้ ก็จะแปรสภาพไปเป็นชุดซ่อม ในการเตรียมอุปกรณ์สำหรับซ่อมแซมเครื่องแต่งกายเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและสง่างามมากที่สุด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บรรยากาศการซ้อมย่อย ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศฯ ริ้วที่ 6 ประชาชน เฝ้าชม สุดอาลัย

view