สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดตัวอย่าง รูปแบบบัญชีวัด แบบใหม่ ฉบับ ก.พ.ร. หลัง มส.ไฟเขียว 6 บัญชี เงินรายวัน-เงินฝาก-รายรับ-รายจ่าย-งบประจำปี-รายงานประจำปี

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

เปิดตัวอย่าง “รูปแบบบัญชีวัดแบบใหม่“ ฉบับ ก.พ.ร. หลัง มส.ไฟเขียว นำร่องที่วัดดาวดึงษาราม 6 บัญชี “รายรับรายจ่าย”เหมือนกับบัญชีครัวเรือน เผย 6 บัญชีระกอบด้วย สมุดบัญชีรายรับรายจ่ายรายวัน สมุดบัญชีเงินฝาก สมุดบัญชีแยกรายรับ สมุดบัญชีแยกรายจ่าย สมุดบัญชีงบประจำปี และ เล่มรายงานงบประจำปี

วันนี้( 10 ต.ค.) มีรายงานจากสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม (มส.) ว่า ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ได้เห็นชอบรูปแบบการจัดทำบัญชีวัด ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ โดยจะเป็นรูปแบบบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างง่าย เหมือนกับบัญชีครัวเรือน โดยทั่วไป

นายสมเกียรติ ธงศรี รักษาการผู้อำนวยการ มส. ระบุว่า วัดจะต้องทำบัญชี 6 ส่วน ได้แก่ 1.สมุดบัญชีรายรับรายจ่ายรายวัน 2. สมุดบัญชีเงินฝาก 3. สมุดบัญชีแยกรายรับ 4. สมุดบัญชีแยกรายจ่าย 5. สมุดบัญชีงบประจำปี และ 6. เล่มรายงานงบประจำปี ได้เริ่มนำร่องที่วัดดาวดึงษาราม กรุงเทพฯ ในปีงบประมาณ 2561 จากนั้นจะดำเนินการให้ครอบคลุมทุกวัดทั่วประเทศ โดย มส.ได้มอบให้ พศ. ไปดำเนินการจัดทำหนังสือคู่มือการจัดทำบัญชีวัดรูปแบบใหม่ พร้อมดำเนินการจัดอบรมถวายความรู้พระสังฆาธิการให้ครอบคลุมทั่วประเทศด้วย เพื่อจะได้มีความพร้อมและมีแนวทางปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน

หารือกับ ก.พ.ร.เพิ่มเติม เตรียมจัดอบรมเจ้าหน้าที่ พศ.จังหวัด จัดทำบัญชีวัด

มีรายงานว่า สำหรับบัญชีกำหนดตัวชี้วัดใหม่นั้น รักษาการผู้อำนวยการ มส. จะหารือกับ ก.พ.ร.เพิ่มเติม ในต้นปีงบประมาณ 2561 เพื่อให้วัดทั่วประเทศมีความพร้อมมากที่สุดก่อนประกาศใช้จริง

สำหรับ ข้อบังคับการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายวัดในประเทศไทย เริ่มขึ้นเมื่อปี 2511 กำหนดในกฎกระทรวงฉบับ 2 ออกความตามใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ให้วัดที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย โดยส่งข้อมูลให้เจ้าคณะปกครองปีละ 1 ครั้ง ก่อนปรับเปลี่ยนในปี 2550 เพิ่มข้อบังคับการส่งข้อมูลให้กับ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาพบปัญหาไวยาวัจกรและเจ้าอาวาสไม่มีความรู้เรื่องการจัดทำบัญชี ทำให้ขาดการนำส่งข้อมูล จาก 4 หมื่นวัดทั่วประเทศ มีเพียงร้อยละ30 เท่านั้นที่มีความพร้อมและเพื่อเป็นการถวายความรู้ให้กับเจ้าอาวาสวัด รวมถึงไวยาวัจกรทั่วประเทศเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีวัด พศ. เตรียมจัดอบรมเจ้าหน้าที่ พศ.จังหวัด รองรับรูปแบบบัญชีรายรับรายจ่ายวัดที่เป็นมาตรฐานและนำไปสู่การใช้ได้จริง

มีรายงานด้วยว่า ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดทำตัวชี้วัด โดยกำหนดให้วัดต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ส่งให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มานานเกือบ 10 ปีมาแล้ว ปัจจุบันมีวัดเข้าสู่ระบบการประเมินผลของ ก.พ.ร. แล้วประมาณ 39,000 แห่ง จากทั้งหมดเกือบ 40,000 แห่ง การจัดทำบัญชีของวัดเป็นบัญชีแบบง่ายๆ ไม่ต้องลงบันทึกว่ามีสินทรัพย์ หนี้สิน เหมือนกับบริษัทเอกชน โดยร่วมกันพัฒนาระบบการจัดทำบัญชีของวัดรูปแบบใหม่ ซึ่งต้องการให้ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายให้ดีกว่าแบบเดิมหรือบัญชีครัวเรือนเล็กน้อย กล่าวคือ ต้องมีการลงบันทึกรายการสินทรัพย์ หนี้สิน และทุน แบบง่ายๆ โดยการลงบันทึกบัญชีรายรับ-รายจ่ายของวัดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นแบบง่ายๆ ลงบันทึกบัญชีเป็นเงินสด รับมาเท่าไหร่ จ่ายออกไปเท่าไหร่ ยังไม่ได้ลงบันทึกรายการสินทรัพย์ว่ามีที่ดินเท่าไหร่ ศาสนสมบัติของวัดแต่ละแห่งมีเท่าใด

เปิดตัวอย่าง “ตัวชี้วัดที่ 1.5” บันทึกบัญชีรายรับ- รายจ่ายของวัด ฉบับ ก.พ.ร. 

มีรายงานว่า สำหรับตัวอย่าง บันทึกบัญชีรายรับ - รายจ่ายของวัด ของ ก.พ.ร. ที่มีการ กำหนดเป็นตัวชี้วัดที่ 1.5 โดยให้มีจำนวนวัดที่มีข้อมูลรายงานทางการเงินตามมาตรฐานที่กำหนด มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดูแล รักษา และการจัดการศาสนสมบัติวัดเป็นไปตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ และกฎกระทรวง โดยปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดให้มีระบบธรรมาภิบาล (Good govermance) ขึ้น ซึ่งระบบธรรมาภิบาล คือการบริหารของภาครัฐที่มุ่งความดีงาม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐและประชาชนอย่างทั่วถึงและยุติธรรม โดยมุ่งเน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ 

โดยที่วัดซึ่งถือเป็นนิติบุคคล มีเจ้าอาวาสเป็นพนักงานตามกฎหมาย ดังนั้น วัดจึงต้องดำเนินกิจการของวัดให้เป็นไปตามที่รัฐกำหนด ซึ่งบทบาทหน้าที่ของวัดที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมาภิบาล คือการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้

ตัวชี้วัด จัดทำรายงานการเงินของวัด (บัญชีรายรับ-รายจ่าย)

ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ โดยมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของงานตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 9 จึงกำหนดให้ส่วนราชการต้องจัดให้มีการติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติราชการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ส่วนราชการกำหนดขึ้น และให้จัดทำความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรในการกำหนดมาตรการกำกับการปฏิบัติราชการตามมาตรา 12 ซึ่ง สำนักงาน กพร. และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงการสร้างความโปร่งใสของวัดในด้านการเงิน จึงได้ร่วมกันกำหนดตัวชี้วัดเกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินของวัด ได้แก่

ตัวชี้วัดเรื่องการจัดทำรายงานการเงินของวัด (บัญชีรายรับ-รายจ่าย) ตามแบบที่กำหนด เรื่องการจัดทำรายงานการเงินของวัด (บัญชีรายรับ-รายจ่าย) และจำนวนวัดที่มีฐานข้อมูลศาสนสมบัติ โดยมอบหมายให้วัดทั่วประเทศได้จัดทำบัญชีวัด พร้อมทั้งจัดส่งบัญชีวัดให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดทำตัวชี้วัดบังเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด และเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล เรื่องการบริหารจัดการในระบบธรรมาภิบาล คือการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

สำหรับ วัตถุประสงค์ของการจัดทำบัญชีวัด 1.เพื่อให้วัดถือปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 พ.ศ. 2511 ว่าด้วย การดูแลรักษาจัดการศาสนสมบัติวัดให้เป็นไปด้วยดี 2.เพื่อให้การบริหารจัดการการเงินของวัด เกิดความโปร่งใส เป็นที่ยอมรับและศรัทธาของพุทธศาสนิกชน และ 3.เพื่อให้วัดเป็นต้นแบบขององค์การธรรมาภิบาล “การจัดทำบัญชี” (Accounting) หมายถึง การจดบันทึก การจำแนก การสรุปผล และการจัดทำรายงานทางการเงินโดยใช้หน่วยวัดเป็นเงินตรา การนำข้อมูลทางการเงินไปใช้ในการวางแผนหรือตัดสินใจในการ ดำเนินงานต่าง ๆจึงจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน

สำหรับตัวอย่าง เช่น กำหนดวันเดือนปี หมายถึง วัน เดือน ปี ที่บันทึกรายการรับ ,รายการรับ หมายถึง บันทึกชื่อรายการรับเงินที่วัดได้มา ,จำนวนเงิน หมายถึง บันทึกจำนวนเงินที่มีการรับตามเอกสารการรับเงิน ,รวมเงินหมายถึง รวมเงินที่ได้รับทั้งปี (ปีงบประมาณ ตุลาคม - กันยายน) ,วันเดือนปี หมายถึง วัน เดือน ปี ที่บันทึกรายการจ่าย ,รายการจ่าย หมายถึง บันทึกชื่อรายการจ่ายเงินที่วัดได้ดำเนินการจ่ายไป ,จำนวนเงิน หมายถึง บันทึกจำนวนเงินที่มีการจ่ายตามเอกสารการจ่ายเงิน ,รวมเงิน หมายถึง รวมเงินที่ได้จ่ายทั้งปี (ปีงบประมาณ ตุลาคม - กันยายน)

หมายเหตุ : ยอดคงเหลือ ณ วันที่ 30 กันยายน ให้นำไปตั้งเป็นยอดยกมาในวันที่ 1 ตุลาคม เมื่อบันทึกรายการบัญชี รับ - จ่าย ครบทั้ง 12 เดือน ให้รวมยอดจำนวนรายรับ และรายจ่ายทั้งหมด เมื่อรวมแล้วนำยอดเงินรายรับ หัก ยอดเงินรายจ่าย ได้ผลต่าง ให้บันทึกในช่องยอดคงเหลือ ณ 30 กันยายน (จะเป็นเงินคงเหลือยกไป) และเมื่อได้เงินคงเหลือยกไปแล้วในบรรทัดสุดท้ายให้รวมเงินทั้งสิ้น ทั้งทางด้านรายรับและรายจ่าย ยอดรวมทั้งสิ้น ทั้ง 2 ด้าน จะมีจำนวนเท่ากัน.




สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิดตัวอย่าง  รูปแบบบัญชีวัด แบบใหม่ ฉบับ ก.พ.ร. มส. ไฟเขียว บัญชี เงินรายวัน เงินฝาก รายรับ-รายจ่าย งบประจำปี รายงานประจำปี

view