สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิรไท ไขรหัส IMF เตือนปิดความเสี่ยงภาคการเงิน

จากประชาชาติธุรกิจ

การประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประจำปี 2560 ที่เพิ่งจบไป ประเทศไทยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าร่วมเวทีเช่นทุกครั้ง โดย “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท. ได้กลับมาสะท้อนเรื่องราวการประชุมครั้งนี้ โดยเล่าว่า ในสายตา IMF ขณะนี้ เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน โดยคาดปีนี้จะขยายตัว 3.7% และปีหน้าจะเติบโตที่ 3.8%

อย่างไรก็ดี มีประเด็นที่ต้องติดตาม ภายใต้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรอบนี้ อัตราเงินเฟ้อไม่ได้เพิ่มขึ้น ต่างจากอดีต ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย

“วิรไท” บอกว่า IMF ยังเตือนระวังความเสี่ยงในระยะข้างหน้า อย่างการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศหลัก ๆมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากอยู่ระดับต่ำมานาน จะกระทบราคาสินทรัพย์ และต้นทุนทางการเงิน รวมถึงอาจทำให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เคยพึ่งพา “เงินถูก” โดยกู้เงินต่างประเทศจำนวนมาก ถ้าไม่มีการเตรียมรับมือให้ดี ก็จะกระทบต่อสภาพคล่องในประเทศได้

ขณะที่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังต้องติดตามใกล้ชิด รวมถึงนโยบายกีดกันทางการค้าที่หลาายฝ่ายกังวลกันถึงบทบาทของอเมริกาในการเจรจาเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ซึ่งหากอเมริกามีมาตรการกีดกันที่รุนแรงออกมา ก็จะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในประเทศต่าง ๆ

ฟากเศรษฐกิจจีน ก็ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพราะมีขนาดใหญ่ โดยที่ผ่านมาจีนอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการเงิน หากปรับตัวรุนแรงจะกระทบวงกว้าง โดยเฉพาะภาคการเงินของจีนได้รับการจับตามาก เพราะจะมีผลต่อการเงินโลก นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่พูดถึงกันมากขึ้น คือ ภัยไซเบอร์

ส่วนความเสี่ยงในภาคธนาคารส่วนใหญ่ลดลง เพราะธนาคารขนาดใหญ่มีการปรับโครงสร้าง ทำให้ความเสี่ยงภาคการเงินย้ายไปสู่ผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) มากขึ้น

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ระดับต่ำมานาน ได้สะสมความเปราะบางในระบบการเงิน จากพฤติกรรมแสวงหาผลกำไร หรือ การล่าผลตอบแทนที่สูงขึ้น มีการเข้าไปลงทุนตราสารหนี้เรตติ้งต่ำ (Investment Grade) เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เชื่อว่าจะไม่นำไปสู่เหตุการณ์ซ้ำรอยกรณี “เลห์แมนบราเธอร์ส” เนื่องจากมีการปรับเกณฑ์กำกับดูแลที่ดีขึ้น

ในส่วนของประเทศไทย “วิรไท” ให้ภาพว่า แม้จะมีพฤติกรรมแสวงหากำไรอยู่บ้าง แต่เริ่มเห็นทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ ที่กังวลกันเรื่องการผิดนัดชำระตั๋วแลกเงิน (B/E) แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ลงทุนระวังมากขึ้น ขณะที่ผู้กำกับอย่างคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ได้ปรับเกณฑ์ใหม่เข้มงวดขึ้น ส่งผลปริมาณตราสารที่ออกใหม่ลดลง

“การที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ก็จะเหมือนน้ำที่จะไหลจากจุดที่มีกฏเกณฑ์หรือการกำกับดูแลที่เข้มไปหาเบา ไปในที่ไม่มีกฎเกณฑ์มาก เหมือนกับที่การเงินโลกมีการเคลื่อนย้ายความเสี่ยงจากแบงก์ไปน็อนแบงก์ ซึ่งจะต้องจับตาตรงนี้ด้วย โดยเฉพาะน็อนแบงก์ สหกรณ์ออมทรัพย์ ที่มีเงินฝากไหลเข้าเร็ว ซึ่งตอนนี้รัฐอยู่ระหว่างออกเกณฑ์กำกับดูแลสหกรณ์”

ผู้ว่าการ ธปท. ย้ำว่า ไทยมีหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลความเสี่ยงภาคการเงิน ทั้งกระทรวงการคลัง ก.ล.ต. ธปท. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ทำงานร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ใกล้ชิดขึ้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ามีการติดตามดูแล ป้องกัน “ไม่ให้น้ำไหลจากที่หนึ่งไปที่หนึ่งได้ง่าย”

เมื่อมองมาที่อัตราเงินเฟ้อของไทยที่ปัจจุบันต่ำกว่าเป้าหมาย “วิรไท” อธิบายว่า เกิดจาก 3 สาเหตุ คือ ด้านอุปทานที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เมื่อเทียบปีก่อนที่มีปัญหาภัยแล้ง การบริโภคยังฟื้นตัวช้า และ โครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนมีเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้น รวมถึงอีคอมเมิร์ซ ทั้งนี้ คาดเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 2.5% บวกลบที่ 1.5% ช่วงต้นปีถึงกลางปี 2561 จึงไม่ต้องทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่

“หลังประชุมรอบนี้ ทำให้เราและทุกประเทศ ต้องเตรียมรับมือเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น และ ที่สำคัญ ไม่ใช่เฉพาะ ธปท. รัฐบาล ธนาคารพาณิชย์ ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ เรื่องการบริหารความเสี่ยงให้ดี” ผู้ว่าการธปท.ย้ำ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิรไท ไขรหัส IMF เตือนปิดความเสี่ยง ภาคการเงิน

view