สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เทวินทร์ วงศ์วานิช สดุดี พระบิดาพลังงานไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

พระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานแผ่ไพศาล ถึงปวงพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ด้วยพระอัจฉริยภาพ และพระวิริยอุตสาหะ ทรงวิจัย-ค้นคว้าทางเลือกใหม่ ๆ ในทุกสรรพวิชา เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

1 ในนั้นคือ ข้อค้นพบเรื่องพลังงานทางเลือก-พลังงานทดแทน อันเป็นพลังสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล-มั่นคงในระยะยาว

พระบิดาพลังงานไทย

เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างหาที่สุดมิได้ว่า “ด้วยพระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาต่อพสกนิกรของพระองค์ ทรงทุ่มเทพระวรกายอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย มุ่งสร้างประโยชน์ส่วนรวม ทรงแสดงถึงเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา”

“คนใน ปตท.น้อมนำแนวคิดของพระองค์มาปรับใช้ ทั้งการดำรงชีวิต การทำงาน ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท”

เทวินทร์ วงศ์วานิช

ซีอีโอบริษัทพลังงานแห่งชาติ สดุดี-ยกย่องในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า เปรียบได้ดั่ง “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย”

“พระองค์มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลด้านพลังงานทดแทน เช่น น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล ก๊าซชีวภาพ ชีวมวล และพลังงานทดแทนอื่น ๆ ได้ถูกพัฒนาจนเป็นรูปธรรม และลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ จนประเทศไทยกลายเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนของเอเชีย”

“เทวินทร์” ขยายผลอภิปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินรอยตามพระยุคลบาท ทุกธุรกิจในแขนงของกิจการ “ปตท.”

“สำหรับองค์กรธุรกิจนั้น สามารถนำ 3 หลักการ บน 2 พื้นฐาน มาเป็นแนวทางกำหนดเป้าหมายได้ คือ มีเหตุผล ในกระบวนการตัดสินใจการดำเนินธุรกิจ ต้องผ่านกระบวนการการวิเคราะห์ที่รอบคอบรัดกุม มีจรรยาบรรณ และสมเหตุสมผล มีความพอเพียง/พอประมาณ ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายแต่เป็นไปได้ แต่ต้องสอดคล้องกับทรัพยากรที่มี สร้างกำไรในระดับที่เหมาะสมและไม่ผูกขาดธุรกิจ”

“มีหลักของการสร้างภูมิคุ้มกัน ต้องมีระบบสร้างความมั่นใจ การกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความโปร่งใส เป็นธรรม และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียครบทุกด้าน”

“พื้นฐานสำคัญที่ต้องมีควบคู่กันในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ การใช้องค์ความรู้ และปฏิบัติด้วยคุณธรรม โดยคำนึงถึงสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม”

“พื้นที่ปิโตรเลียมนวมินทร์”

ตัวอย่างโครงการเพื่อสังคมของ ปตท. ที่ใช้หลักทรงงาน แนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” อาทิ การนำแนวคิดการดำเนินธุรกิจแบบมีส่วนร่วม และการผลักดันการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Social Enterprise (SE) และต้องปรับจากการ “ให้” เพียงอย่างเดียว มาสู่การทำความเข้าใจว่าชุมชนและสังคมที่ ปตท.เข้าไปทำธุรกิจด้วย ต้องมีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ซึ่งท้ายที่สุดธุรกิจก็จะเติบโตไปพร้อมกับความเข้มแข็งของสังคม

แหล่งพลังงานที่เป็นฐานผลิตหลักของ ปตท. ทั้งแหล่งปิโตรเลียม โครงการบงกช และอาทิตย์ อยู่ในสายพระเนตรอันยาวไกลของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อ สำหรับพื้นที่ทั้ง 2 แหล่งปิโตรเลียมว่า “พื้นที่ปิโตรเลียมนวมินทร์” กิจการพัฒนาพลังงาน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ เช่น การลงทุนสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ จังหวัดระยอง เพื่อนำทรัพยากรของชาติขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาในพิธีเปิดโรงแยกก๊าซ เคยทรงรับสั่งว่า “ประเทศเรายังยากจนอยู่ ดังนั้น ควรใช้ผลผลิตในประเทศให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในประเทศให้เต็มที่มากที่สุด” จากวันนั้นเป็นต้นมา โรงแยกก๊าซดังกล่าว ได้ทำหน้าที่รองรับความต้องการใช้พลังงาน ทั้งก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ก๊าซอีเทนสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

หญ้าแฝกในแบรนด์ “ภัทรพัฒน์”

พระวิสัยทัศน์อันยาวไกลของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่อง “หญ้าแฝก” ถูกน้อมนำมาเป็น “พืชนวัตกรรม” ป้องกันการชะล้างพังทลายในพื้นที่ลาดชัน ในพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และต่อยอด-พัฒนาผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก สร้างโอกาสในการเสริมรายได้และพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชน และส่งเป็นสินค้าจำหน่ายภายใต้ตราสินค้า “ภัทรพัฒน์” ของมูลนิธิชัยพัฒนา

“พระองค์ยังได้พระราชทานหญ้าแฝก จากโครงการพัฒนาและส่งเสริมการปลูกและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่ง ปตท.มาต่อยอด ด้วยการนำหญ้าแฝกมาปลูกครั้งแรกในพื้นที่โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-เมียนมา และเนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ปตท.ร่วมกับเครือข่าย ปลูกและฟื้นฟูผืนป่าทั่วประเทศให้ได้ 1 ล้านไร่”

“เทวินทร์” บอกว่า วิถีชีวิตที่พอเพียงและการปลูกป่า ปตท.น้อมนำมาพัฒนาเป็น “สวนป่าสมุนไพร” ควบคู่โครงการ “รักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์คุ้งบางกระเจ้า” ก็เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระองค์ ในระหว่างที่ทรงประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ผ่านคุ้งบางกระเจ้า ในปี 2530 ทรงมีพระราชดำริว่า “สมควรสงวนพื้นที่แห่งนี้ไว้เป็นพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯและปริมณทล เนื่องจากลมมรสุมจากอ่าวไทยจะพัดเอาอากาศบริสุทธิ์เข้ามาไล่อากาศเสียในกรุงเทพฯ เป็นเวลากว่าปีละ 9 เดือน”

จนถึงวันนี้โครงการดังกล่าว ปตท.ได้ดำเนินการในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และคงความอุดมสมบูรณ์ พลิกฟื้นทั้งสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจชุมชนคุ้งบางกระเจ้า ให้สามารถดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่กับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เทวินทร์ วงศ์วานิช สดุดี พระบิดาพลังงานไทย

view