สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วางรากฐานเพื่อสานต่อ ธุรกิจครอบครัวให้ยั่งยืน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ธนาคารกรุงเทพ

ธุรกิจครอบครัวได้ชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของกำลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในระดับประเทศและระดับโลก ข้อมูลของหลาย ๆ สำนักระบุตรงกันว่า กว่าร้อยละ 80-90 ของธุรกิจทั้งหมดในกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ เป็นธุรกิจครอบครัว สำหรับในสหรัฐอเมริกา ธุรกิจครอบครัวมีสัดส่วนร้อยละ 64 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ขณะที่กว่าร้อยละ 60 ขององค์กรใหญ่ในทวีปเอเชียมีพื้นฐานมาจากธุรกิจครอบครัวด้วยเช่นกัน สำหรับในประเทศไทย กว่าร้อยละ 80 ของธุรกิจไทยเป็นธุรกิจครอบครัว โดยมีตั้งแต่ระดับเอสเอ็มอีไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ บางธุรกิจดำเนินกิจการมายาวนานไม่ต่ำกว่า 50 หรือ 100 ปีเลยทีเดียว

บทความในฉบับนี้ ผมต้องการนำเสนอสิ่งที่เจ้าของธุรกิจควรให้ความสำคัญในการรับช่วงต่อของธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากในระหว่างการเปลี่ยนผ่าน อาจทำให้เกิดช่องว่าง หรือภาวะชะงักงันของธุรกิจ อันเป็นผลมาจากความแตกแยกทางความคิดความเห็นของคนในครอบครัวที่ต่างกันด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ ซึ่งอาจนำไปสู่การบริหารงานที่ล้มเหลวได้

การดำเนินธุรกิจแบบครอบครัว หรือเรียกอีกอย่างว่า ธุรกิจกงสี มักจะเริ่มต้นจากยุคปู่ เป็นรุ่นหนึ่ง ยุคพ่อเป็นรุ่นที่สอง และลูกหรือหลานเป็นรุ่นสาม และรุ่นสี่ คนที่ขยายอาณาจักรของปู่ให้รุ่งเรือง คือรุ่นพ่อ ลุง ป้า น้า อา ซึ่งอาจจะสามารถขยายเครือข่ายธุรกิจ แต่เมื่อถึงมือของุร่นที่สาม รุ่นที่สี่ กลับพบว่าเงินกงสีที่สะสมมาช้านานกำลังลดน้อยลง เพราะทายาทไม่รู้จักบริหารการใช้จ่าย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นเกิดจากการขาดวิสัยทัศน์ร่วมกันระหว่างรุ่น และการขาดผู้นำทางธุรกิจ เกิดความขัดแย้งระหว่างญาติ ความแตกแยกที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดความไม่ยุติธรรมในองค์กร มีการจัดสรรเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่ไม่ถูกต้อง จนกระทั่งมาถึงยุคที่เงินทองหดหาย ผู้บริหารที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามารับช่วงต่อ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และไม่ต้องการแบกรับภาระการล้มละลาย คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ จึงหนีไปทำธุรกิจของตนเองทำให้ธุรกิจครอบครัวขาดผู้สืบทอดและต้องปิดกิจการไปในที่สุด บางธุรกิจอาจจะยังดำเนินกิจการอยู่แต่ธุรกิจก็อยู่ในสภาพของบอนไซ คือไม่สามารถเติบโตต่อไปได้

ปัญหาที่พบอีกอย่างหนึ่ง คือ แม้ธุรกิจยังสามารถเติบโตไปได้อีก แต่กลับมาตกม้าตายตอนนำธุรกิจเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ดังกรณีตัวอย่าง สินค้าแบรนด์หรู Louis Vuitton ของฝรั่งเศส ที่ดำเนินงานมายาวนานถึง 163 ปี จากเดิมนั้นได้รวมทุกอย่างไว้ในบริษัทเดียวของครอบครัว และเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์โดยไม่ได้วางแผนบริหารแบรนด์สินค้าไว้ล่วงหน้า ทำให้ถูกซื้อและควบรวมกิจการไปในปี 2530 และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท Moet Hennessy-Louis Vuitton(LVMH) ส่งผลให้ครอบครัวสูญเสียอำนาจควบคุมไป แม้แบรนด์ยังอยู่ แต่อำนาจการบริหารงานเปลี่ยนไป

ดังนั้นการจะสานต่อธุรกิจให้ยั่งยืน เจ้าของกิจการต้องมีการวางรากฐานด้านการบริหารงานให้มั่นคงไว้ตั้งแต่รุ่นหนึ่ง เพื่อทำให้การรับไม้ต่อไม่ก่อให้เกิดปัญหา ป้องกันไม่ให้ถูกซื้อกิจการ ไปพร้อมกับพันธกิจที่ต้องให้ทุกรุ่นตระหนัก คือ การดูแลกิจการอย่างโปร่งใส ต้องไม่แบ่งทรัพย์สินออกไปและไม่ใช้จ่ายเกินตัว นอกจากนี้ การจัดโครงสร้างของธุรกิจ (holding structure) ก็มีส่วนสำคัญ เพราะสามารถเข้ามาช่วยในด้านการลดภาษี มีการคุ้มครองทางกฎหมาย สามารถขยายธุรกิจให้มีความมั่งคั่งยิ่งขึ้น และช่วยวางกรอบการสืบทอดและพัฒนาธุรกิจได้อย่างยั่งยืนมากขึ้นด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่ธุรกิจครอบครัวยุคใหม่ควรให้ความสำคัญคือการจัดทำธรรมนูญครอบครัว (family bilble) แม้จะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่เพื่อป้องกันกรณีพิพาทในวงศาคณาญาติ เช่น การตั้งกฎไม่รับ “คนนอก” (เขย สะใภ้) เข้ามาบริหารงาน ไม่ขายหุ้น เว้นแต่ขายให้สมาชิกในครอบครัวก่อน หากสมาชิกในครอบครัวปฏิเสธ สามารถเสนอขายคนนอกได้ ที่ราคาไม่ด้อยกว่าเสนอขายให้คนในครอบครัว ไม่ขายกิจการ ไม่ขายทรัพย์สิน และไม่มองหาธุรกิจใหม่ที่ไม่ถนัด เป็นต้น

ในขณะเดียวกันก็ควรแบ่งกลุ่มธุรกิจและจัดสรรหน้าที่การบริหารงานของแต่ละกลุ่มธุรกิจให้ชัดเจน เช่น ใครจะรับหน้าที่บริหารธุรกิจหลัก และธุรกิจรอง หรือบริษัทเครือข่ายอื่น ๆ รวมไปถึงการดูแลต่อยอดทรัพย์สินทางปัญญาของกิจการครอบครัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ไม่ควรละเลย ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วางรากฐาน สานต่อ ธุรกิจครอบครัวให้ยั่งยืน

view