สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ยลความวิจิตร ราชรถ ราชยาน ในงานพระราชพิธี ที่ โรงราชรถ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โรงราชรถ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
โรงราชรถ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


ภายหลังงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีการเปิดให้เข้าชมนิทรรศการเกี่ยวกับพระเมรุมาศ (เปิดให้เข้าชมจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 60) ซึ่งจัดแสดงเป็นนิทรรศการ 3 ส่วน และยังสามารถชมความงดงามของพระเมรุมาศและเครื่องประกอบได้อย่างใกล้ชิด

อีกส่วนหนึ่งในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ประชาชนให้ความสนใจกันมากก็คือ ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ที่มีความงดงามจากทั้งราชรถ ราชยาน คานหาม รวมถึงกำลังพลฉุดชัก

โดยภายหลังงานพระราชพิธี ประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้าชมราชรถ ราชยาน และคานหาม ที่ใช้จริงในขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ได้ที่ “โรงราชรถ” ซึ่งตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ใกล้กับสนามหลวง ซึ่งหากว่าใครที่เดินทางมาชมนิทรรศการพระเมรุมาศ ก็สามารถมาชมราชรถ ราชยาน กันที่โรงราชรถกันต่อได้เลย

ด้านนอกอาคารโรงราชรถ
ด้านนอกอาคารโรงราชรถ


อาคารโรงราชรถเป็นอาคารหลังสีขาว หากมองภายนอกก็จะเห็นว่าทำเป็นประตูสูงจรดหลังคา เพื่อให้สามารถนำราชรถออกมาจากอาคารได้โดยสะดวก แต่ทางด้านหน้าโรงราชรถจะไม่ได้สร้างถนนไว้ ในยามปกติก็จะเป็นสนามหญ้าธรรมดา ส่วนกำแพงด้านหน้าโรงราชรถก็ไม่ได้ทำประตูทางออกไว้ เป็นเพียงรั้วกำแพงธรรมดา เพราะมีความเชื่อว่าราชรถไม่ควรพร้อมใช้งาน เนื่องจากงานที่ต้องใช้ราชรถอัญเชิญจะเป็นงานอวมงคล การที่ไม่มีถนนและประตูให้ราชรถออกไปได้ ก็เป็นเคล็ดที่เปรียบว่าจะไม่มีพระราชวงศ์องค์ใดสิ้นอีก (ยามที่ต้องใช้ราชรถในพิธีหรือพระราชพิธี จึงค่อยทำถนนและทุบกำแพงเพื่อให้สามารถนำราชรถออกไปได้ โดยเมื่อเสร็จงานแล้วก็จะก่ออิฐปิดให้เป็นกำแพง และรื้อถนนออก)

สำหรับโรงราชรถในยามปกตินั้น ก็จะจัดแสดงราชรถที่ใช้ในการพระบรมศพ อาทิ อาทิ พระมหาพิชัยราชรถ เวชยันตราชรถ ราชรถน้อย ฯลฯ และนอกจากนี้ก็ยังมีพระโกศจันทน์ทรงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระโกศจันทน์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ รวมถึง พระจิตกาธาน งานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

พระมหาพิชัยราชรถ
พระมหาพิชัยราชรถ


แต่ในช่วงหลังงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะเปิดให้ชมราชรถ ราชยาน ที่ใช้ในงานพระราชพิธีเท่านั้น โดยภายในโรงราชรถมีการจัดแสดงดังนี้

“พระมหาพิชัยราชรถ” เป็นราชรถสำคัญที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ใช้ในการอัญเชิญพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์ และพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อใช้ในการอัญเชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก สำหรับออกพระเมรุในการถวายพระเพลิงในปี พ.ศ.2339 โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นราชรถขนาดใหญ่ตามแบบพระราชประเพณีที่เคยมีมาครั้งกรุงศรีอยุธยา

พระมหาพิชัยราชรถ สร้างด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก
พระมหาพิชัยราชรถ สร้างด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก


ลักษณะเป็นราชรถทรงบุษบกขนาดใหญ่ มีขนาดกว้าง 4.85 เมตร ยาว 18 เมตร (เฉพาะตัวรถ 14.10 เมตร) สูง 11.20 เมตร หนัก 13.70 ตัน ใช้กำลังพลชักลาก 216 คน สร้างด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกตกแต่งด้วยชั้นเกรินประดับกระหนกเศียรนาค กระหนกท้ายเกรินและรูปเทพพนมโดยรอบ

สำหรับพระราชพิธีอัญเชิญพระโกศพระบรมศพครั้งนี้ได้จัดสร้างล้อประดับพระมหาพิชัยราชรถขึ้นใหม่ครั้งแรกในรอบ 200 ปี และประดับกระจกพระมหาพิชัยราชรถใหม่ทั้งองค์ ปิดทองในส่วนที่ชำรุด รวมทั้งยังมีการจัดสร้างฉัตร ผ้าลายทองแผ่ลวดธงสามชายประจำงอนราชรถ และผ้าวิสูตรใหม่ เพื่อให้ราชรถมีความงดงาม

เกรินบันไดนาค
เกรินบันไดนาค


“เกรินบันไดนาค” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้อัญเชิญพระโกศพระบรมศพขึ้นหรือลงจากราชรถ โดยใช้การหมุนกว้านเลื่อนแท่นที่วางพระโกศขึ้นไปตามรางเลื่อนไม้จำหลักรูปนาค (ลักษณะการใช้งานเหมือนลิฟท์ในปัจจุบัน) ซึ่งแท่นที่วางพระโกศมีลักษณะเป็นแท่นสี่เหลี่ยม ขอบฐานแกะสลักลายปิดทองประดับกระจก ท้ายเกรินเป็นพื้นลดระดับลงมา มีลักษณะคล้ายท้ายสำเภา สำหรับเจ้าพนักงานภูษามาลาขึ้นนั่งประคองพระโกศพระบรมศพ

ราชรถปืนใหญ่
ราชรถปืนใหญ่


“ราชรถปืนใหญ่” เป็นราชรถที่อัญเชิญพระโกศพระบรมศพ พระศพ ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงรับราชการทหารเมื่อครั้งดำรงพระชนม์ชีพ แทนพระยานมาศสามลำคานตามธรรมเนียมเดิมจากพระบรมมหาราชวังสู่พระเมรุมาศ หรือพระเมรุ และแห่อุตราวัฏ (เวียนซ้าย) รอบพระเมรุมาศ 3 รอบ ซึ่งธรรมเนียมใหม่นี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพจอมพลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช

ราชรถปืนใหญ่ประกอบด้วยราชรถส่วนหน้าสำหรับหีบบรรจุกระสุน และราชรถส่วนหลังสำหรับประดิษฐานพระบรมโกศขณะเวียนพระเมรุมาศโดยอุตราวัฏ ก่อนอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระเมรุมาศ โดยในพระราชพิธีครั้งนี้มีการออกแบบส่วนประกอบเพิ่มเติมคือ ล้อที่ 3 และมือจับประคองราชรถปืนใหญ่ส่วนหลัง

พระที่นั่งราเชนทรยาน และ พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย
พระที่นั่งราเชนทรยาน และ พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย


“พระที่นั่งราเชนทรยาน” เป็นพระราชยานที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ลักษณะเป็นทรงบุษบก ย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาซ้อน 5 ชั้น สร้างด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก พนักพิงและกระจังปฏิญาณแกะสลักเป็นภาพเทพพนมไว้ตรงกลาง และมีรูปครุฑยุดนาคประดับที่ฐาน 

“พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย” มีการจัดสร้างองค์ใหม่ในงานพระราชพิธีครั้งนี้ เพื่อใช้ในการอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร จากพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวงไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยปรับแบบจากพระที่นั่งราเชนทรยาน แต่มีขนาดเล็กลง ลงรักปิดทองประดับกระจกทั้งองค์ โครงสร้างไม้สักทองทรงบุษบก

พระยานมาศสามลำคาน
พระยานมาศสามลำคาน


“พระยานมาศสามลำคาน” เป็นยานที่มีคานหามขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้จำหลักลวดลายลงรักปิดทอง มีพนักโดยรอบ 3 ด้าน และมีคานหาม 3 คาน จึงเรียกว่า พระยานมาศสามลำคาน พระราชยานองค์นี้สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อใช้อัญเชิญพระบรมโกศพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นครั้งแรก

เวชยันตราชรถ
เวชยันตราชรถ


“เวชยันตราชรถ” สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 คราวเดียวกันกับพระมหาพิชัยราชรถ มีความกว้าง 4.85 เมตร ยาว 18 เมตร สูง 11.20 เมตร หนัก 12.25 ตัน สำหรับใช้เป็นราชรถสำรองในงานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ และเป็นราชรถทรงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงศักดิ์สูง เมื่อแรกเริ่มพระเวชยันตราชรถได้ใช้เป็นรถพระที่นั่งรองในงานถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกในปี พ.ศ. 2339 มีศักดิ์เป็นชั้นที่ 2 รองจากพระมหาพิชัยราชรถ ต่อมาได้ใช้ทรงพระโกศสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ คู่พระโกศสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ซึ่งทรงพระมหาพิชัยราชรถ ออกพระเมรุท้องสนามหลวงคราวเดียวกัน พ.ศ. 2342 

หลังจากนั้นจึงได้ใช้ราชรถองค์นี้เป็นราชรถรองในงานออกพระเมรุของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อๆ มา จนถึงงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต่อมาพระมหาพิชัยราชรถชำรุดจนไม่สามารถฉุดชักออกมาจากที่ตั้งได้ จึงได้มีการใช้พระเวชยันตราชรถเป็นราชรถทรงพระบรมศพ โดยออกนามในหมายเรียกว่า "พระมหาพิชัยราชรถ" เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแก่พระบรมศพตามราชประเพณี ทั้งนี้ พระเวชยันตราชรถได้อัญเชิญออกใช้ในราชการครั้งล่าสุดเมื่อคราวพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 2528

ราชรถน้อย
ราชรถน้อย


“ราชรถน้อย” ราชรถน้อยมีจำนวน 3 องค์ ลักษณะเป็นราชรถทรงบุษบก ขนาดเล็กกว่าพระมหาพิชัยราชรถ ทำด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทำหน้าที่เป็นรถพระนำ (อ่านพระอภิธรรมนำกระบวน) เรียกอย่างย่อว่า “รถสวด” ทำหน้าที่เป็นรถโปรยข้าวตอก เรียกอย่างย่อว่า “รถโปรย” และ สำหรับโยงภูษาโยงจากพระบรมโกศ เรียกอย่างย่อว่า “รถโยง”

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชม สามารถเดินทางเข้ามาชมความงดงามของราชรถ ราชยาน และคานหาม ได้ที่ “โรงราชรถ” ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยภายในสามารถถ่ายภาพนิ่งได้ (ไม่ใช้แฟลช และไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพเคลื่อนไหว) ซึ่งในช่วงเดือนธันวาคม 2560 จะเปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน 

โรงราชรถ เปิดให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้เข้าชม
โรงราชรถ เปิดให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้เข้าชม




“โรงราชรถ” ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ เขตพระนคร กทม. เปิดให้เข้าชมในวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. สำหรับในเดือนธันวาคม 2560 โรงราชรถเปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน เวลา 09.00-19.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม โทร. 0-2224-1402 www.facebook.com/nationalmuseumbangkok


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ยลความวิจิตร ราชรถ ราชยาน งานพระราชพิธี  โรงราชรถ

view