สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตามรอยอภิปรัชญารัชกาลที่ 9 โรงงานหลวงดอยคำ : พันธมิตรธุรกิจชุมชน

จากประชาชาติธุรกิจ

อภิปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่เพียงเป็นคัมภีร์ธุรกิจไทย แต่ยังเป็นหัวใจและเป้าหมายของการพัฒนาระดับโลกที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs)

ด้วยหลักการทรงงาน 23 ประการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ภายใต้ความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันความเสี่ยง ครอบคลุม-พ้องแนวทางไปกับ 17 ดัชนีเป้าหมายของการพัฒนาของสหประชาชาติ

ทั้งอภิปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงถูกกำหนดเป็นหลักชัย-นำทางในการดำเนินธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทย หยั่งลงไปถึงรากฐานเศรษฐกิจระดับชุมชน

ด้วยพระบรมราโชบาย และหลักการทรงงานที่เป็นหลักสากล ปฏิบัติง่าย-ปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังเช่นแนวการดำเนินงานธุรกิจดั้งเดิม-ต้นแบบ แห่ง “ธุรกิจเพื่อสังคม” หรือ social business อย่าง “บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด” ซึ่งก่อตั้งมาจากพระวิสัยทัศน์ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะพระองค์ ที่ทรงตั้งปณิธานเปลี่ยนเขตที่เสี่ยงต่อภัยความมั่นคง ให้มีความมั่งคั่งทางอาหาร

เมื่อ 4 ทศวรรษก่อน ทรงเห็นปัญหาการปลูกฝิ่น และการทำไร่เลื่อนลอย เปลี่ยนเป็นส่งเสริมการปลูกพืชผัก ผลไม้ หลากหลายชนิดทดแทน แต่เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับการส่งเสริม อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองและแหล่งรับซื้อ เกิดปัญหาการถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา เคราะห์ซ้ำในบางช่วงฤดูจะมีผลผลิตที่ล้นตลาด ผลผลิตไม่ได้ขนาดมาตรฐานที่ตลาดต้องการ จึงทรงเริ่มจัดตั้ง “โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” จากนั้นพัฒนาต่อยอดเป็น “สหกรณ์ชาวเขา” และ “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป” เพื่อช่วยเหลือรับซื้อผลผลิตจากพืชที่ส่งเสริมด้วย “ราคาเป็นธรรม” ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ดอยคำ” เป็นการตอบโจทย์-แก้ปมปัญหาทุกดงดอยที่อยู่ในกับดัก “พื้นที่สีแดง” เสี่ยงต่อภัยความมั่นคง

25 ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชกระแสให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จัดตั้งเป็นนิติบุคคลภายใต้ชื่อ “บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด” เพื่อดำเนินกิจการในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม ดำเนินการส่งเสริม รับซื้อ พัฒนา และแปรรูปผลผลิตให้เป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพ

ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน เกิดเครือข่ายธุรกิจในบริษัทดอยคำฯ บริหาร “โรงงานหลวง” 4 แห่ง ประกอบด้วย โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่, โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 2 (แม่จัน) จ.เชียงราย, โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) จ.สกลนคร ปัจจุบันทั้ง 3 โรงงานเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต

ขณะที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 4 (ละหานทราย) จ.บุรีรัมย์ อยู่ระหว่างการพิจารณาลงทุนจัดตั้งเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้า ไปสู่ท่าเรือแหลมฉบัง เชื่อมกับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

ปัจจุบันร้านดอยคำมีทั้งหมด 30 สาขาทั่วประเทศ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สานต่อพระราชปณิธาน “เกษตรเพื่อชุมชน ผลิตผลเพื่อคนไทย” และต่อยอด-จับมือกับพันธมิตรผู้ผลิตในระดับชาวบ้าน-ชุมชน ด้วยแนวคิด”ชุมชนได้ประโยชน์ และธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้”

ดอกผล-ของดอยคำ ภายใต้การบริหารของ “พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด อธิบายหัวใจของการขับเคลื่อนแบรนด์ “ดอยคำ” นอกจากผู้บริโภคจะได้สินค้าที่มีคุณภาพ ยังได้ช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย

ภายใต้หลักการทรงงาน ข้อที่ว่า “ขาดทุน คือกำไร” การบริหารโรงงานหลวง ในบางช่วงที่ผลผลิตออกเต็มที่ โรงงานจะมีการคัดซื้อผลผลิตคุณภาพดี “ในราคานำตลาด” หรือสูงกว่าตลาดประมาณ 10-15% เพราะต้องการให้เกษตรกรได้กำไร มีหน่วยที่ให้คำปรึกษาการดำเนินธุรกิจ และการเพาะกล้า รวมทั้งการจัดการเรื่องปัจจัยการผลิต ช่วยวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์

แนวคิดในการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม ตรงไป-ตรงมา สะท้อนผ่านการบริหารในช่วงที่ราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญในการผลิตและขนส่งลดลง บริษัทดอยคำประกาศปรับลดราคาสินค้าลดลงทันที 69 รายการ จาก 113 รายการ เพื่อให้สอดคล้องต้นทุน

“การเป็นโครงการจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายลดลง ต้องทำให้เกิดนโยบายคืนกำไรสู่ผู้บริโภค” คือคำตอบที่ผู้บริหารโรงงานหลวงดอยคำ ถือเป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินกิจการ

บริษัทในโมเดล “ธุรกิจเพื่อสังคม-ดอยคำ” ไม่หยุดยั้งการขยายกิจการ เตรียมความพร้อมในเรื่องจัดหาวัตถุดิบหลัก คือ มะเขือเทศ เพื่อรองรับดีมานด์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพิ่มนวัตกรรม โดยมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารให้เกิดความยั่งยืนกับชุมชนท้องถิ่น

นอกจากนี้จะยังคงนโยบาย “ประกันราคารับซื้อ” เพิ่มเกษตรกรที่เป็นพันธมิตร-คู่ค้ากับโรงงานหลวง จาก 3,000 ครัวเรือน เป็น 7,000 ครัวเรือน

ในขณะที่กิจการของบริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดด จากยอดขาย 600 ล้าน เข้าสู่ยอดขายหลัก 1,700 ล้านในปี 2559 ในปี 2560 คาดการณ์เติบโต 20 % ส่งผลให้ชาวบ้าน-เกษตรกรที่เป็นคู่ค้ากับโรงงานหลวง ก็ได้รับการส่งต่อรายได้เช่นกัน จึงตั้งเป้าหมายสูงสุดของการทำธุรกิจ คือนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม

ดังที่ ยุภาภรณ์ เจริญสุข ผู้จัดการโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 จ.สกลนคร กล่าวว่า “โรงงานหลวงที่จัดการภายใต้ระบบธุรกิจที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน ตามแบบฉบับธุรกิจเพื่อสังคม ได้ส่งต่อกำไรให้ชาวบ้านที่เป็นคู่ค้ากับโรงงานหลวง มีฐานะทางเศรษฐกิจพออยู่พอกิน สามารถปลดหนี้ได้ และมีกิจกรรมร่วมกัน ในกิจกรรมบ้าน-วัด-โรงเรียน และชุมชน”

ทั้งนี้ รอบโรงงานหลวงเต่างอยนั้น มีพื้นที่ส่งเสริมการปลูกมะเขือเทศกว่า 23,000 ไร่ ทำให้พื้นที่ตลอดฝั่งแม่น้ำมูล ถูกเรียกว่า “เส้นทางสายมะเขือเทศ” หรือ tomato belt ซึ่งชาวบ้านที่มีสัญญาซื้อ-ขายผลิตผลกับโรงงานหลวง สามารถนำสัญญาไปเป็นหลักประกันในการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้

ด้วยพระปณิธานที่จะต่อสู้กับความอดอยาก-หิวโหย ทรงมีพระราชดำริให้สร้างโครงการพื้นฐานด้านแหล่งน้ำ พัฒนาเป็นแปลงเกษตร ทรงแนะนำให้เกษตรกร-ชาวเขา เปลี่ยนวิถีการเพาะปลูกจากฝิ่นและพืชเชิงเดี่ยว สู่ผลิตผลที่สร้างราคา-มูลค่าทางเศรษฐกิจ

และภายใต้อภิปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่เพียงหล่อเลี้ยงธุรกิจระดับยักษ์ใหญ่ ให้ผ่านพ้นจากมรสุมเศรษฐกิจล่มสลายในปี 2540 มาได้ แต่ด้วยหลักการทรงงานที่เข้าใจง่าย ยังสามารถทำให้เกษตรกร-ชาวบ้าน ที่อยู่ในพื้นที่ชนบทกันดาร-อยู่ในสายพระเนตร ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ทั้งการเป็นคู่ค้าทางตรงกับโรงงานหลวง ชุมชนรอบ ๆ พื้นที่ทรงงานทั่วประเทศ ได้ก้าวพ้นจากกับดักหนี้นอกระบบ มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างยั่งยืน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ตามรอยอภิปรัชญา รัชกาลที่ 9 โรงงานหลวงดอยคำ พันธมิตรธุรกิจชุมชน

view