สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สวทช.เดินหน้ารุก 5 วิจัยมุ่งเน้น ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0

จากประชาชาติธุรกิจ

1 ปี กับการเน้นหนักพัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ เพื่อเป็นกลไกลขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และวาระ 25 ปี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการขึ้นมา

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำคณะผู้บริหาร สวทช. ประกอบด้วย ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และ ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) แถลงผลงาน สวทช. ภายใต้แนวคิด NSTDA Beyond Limits หรือ “นวัตกรรมเหนือคาดหมาย พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย 4.0”

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า โดยตลอด 1 ปี ที่บริหารงาน สวทช. เป็นช่วงที่ สวทช. ได้รับโอกาสในการทำงานหลายๆ เรื่องจากรัฐบาล โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมผลักดันระบบวิจัยของประเทศอย่างเข้มข้น จนเกิดแผนยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี และเป็นที่น่ายินดีว่าในรอบปีที่ผ่านมา ผลงานที่ สวทช. ทำมาอย่างต่อเนื่องมีผลงานและตอบสนองความต้องการของภาคเกษตร บริการ และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เป็นที่น่าพอใจ เกิดเป็นผลงานที่จับต้องได้ และพร้อมใช้ ดังนี้

1.การสนับสนุนการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาของประเทศ บริหารงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพ โดยเชื่อมโยงกับภาคเอกชน ซึ่งในปี 2560 สวทช. มีเป้าหมายการสร้างรายได้จากการวิจัยที่ 1,830 ล้านบาท เป็นที่น่ายินดีว่าผลการทำงานอย่างหนัก ทำให้ สวทช. สามารถสร้างรายได้จากการวิจัย ได้ถึง 1,961 ล้านบาท โดยมีที่มาที่ไปของรายได้จากการวิจัยหลายประเด็น ได้แก่

ด้านการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ในปีงบประมาณ 2560 สวทช. มีการยื่นขอจดสิทธิบัตร 301 รายการ และมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ จำนวน 578 ฉบับ ซึ่งในจำนวนนี้มีผลงานตีพิมพ์ที่มี Impact Factor ระดับ 34 ที่ถือว่าสูงมาก จำนวน 1 ฉบับ ทั้งนี้หากนับรวม 4 ปี ที่ผ่านมา สวทช. มีบทความตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติแล้ว 2,035 ฉบับ โดยผลงาน 1 ใน 3 ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติชั้นนำของโลก รวมถึงได้รับการนำไปใช้อ้างอิงในทางวิชาการสูงกว่าค่าเฉลี่ยภาพรวมของประเทศ

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล

สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี สวทช. มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่การใช้ประโยชน์จำนวน 255 โครงการ ให้กับ 311 หน่วยงาน สร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม 27,546 ล้านบาท เกิดการลงทุนด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของภาคการผลิตและบริการ จำนวน 9,456 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งการรับจ้างวิจัย การร่วมวิจัย การขาย IP รวมทั้งการให้คำปรึกษาต่างๆ ด้วย

ด้านการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย โดย สวทช. ใช้ศักยภาพของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP ส่งผู้เชี่ยวชาญทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ เสมือนหนึ่งเป็นแผนกวิจัยของผู้ประกอบการบริษัทนั้นๆ พร้อมมีทีมวิจัยร่วมประเมินผล ซึ่งโครงการทั้งหมดจะได้รับการอนุมัติโดยผู้ประกอบการ โปรแกรม ITAP สนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายสูงสุด 50 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณโครงการ ในวงเงิน 400,000 บาท

ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง

ทั้งนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โปรแกรม ITAP ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาล และมีตัวเลขโครงการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ในปี 2558 จำนวน 406 โครงการ ปี 2559 จำนวน 1,032 โครงการ และ ปี 2560 จำนวน 1,551 โครงการ มูลค่าผลกระทบ 2,573 ล้านบาท และตั้งเป้าในอนาคตจะทำให้ได้ 3,000 โครงการต่อปี โดยทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน ทั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และหน่วยงานสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทั้ง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ สถาบันมาตรวิทยา (มว.) ที่ทำงานร่วมกัน

อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มุ่งเน้นลงทุนกับการวิจัย มีตัวเลขที่น่าสนใจ แบ่งเป็นใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปรับปรุงคุณภาพการผลิต (Improvement) ประมาณ 43% รองลงมาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับด้านสถิติ (Stat) ประมาณ 18% โครงการ R&D Project ประมาณ 20% ทั้งนี้มีการประมาณการตัวเลขผลกระทบด้านการลงทุน โดย มหาวิทยาลัยหอการค้า เมื่อปี 2559 ระบุว่าทุก 1 บาท ที่ภาคเอกชนลงทุนก่อให้เกิดผลกระทบประมาณ 7.64 บาท หรือ 7 เท่า ในระยะเวลา 1 ปี

โครงการหิ้งสู่ห้าง 30,000 บาท ทุก IP โครงการนี้ สวทช. ดำเนินการมาเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อนำทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ผลงานวัตกรรมของนักวิจัยไทย ทั้งจากหน่วยงานวิจัยของรัฐและมหาวิทยาลัย ออกมาให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงได้โดยง่าย ลดขั้นตอนต่างๆ ลง และตกลงราคาที่ 30,000 บาท ราคาเดียว มีเงื่อนไขจ่ายให้เจ้าของผลงานเพียง 2% ของยอดขาย ซึ่งโครงการนี้ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ปี 2560 มีผู้ขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีกว่า 306 รายการ

ดร.สุธี ผู้เจริญชนะชัย

โครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ หรือ Start-up Voucher สวทช. เข้าไปช่วย สตาร์ทอัพ โดยสร้างหลักสูตร E-learning ให้กลุ่มสตาร์ทอัพเข้ามาเรียนได้ รวมถึงการส่งเสริม National Event ต่างๆ ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) และนำกลุ่มสตาร์ทอัพเหล่านี้ไปสร้างความร่วมมือในต่างประเทศในเวทีนานาชาติ ซึ่ง สวทช. ให้ Voucher ประมาณ 800,000 บาทต่อโครงการ ได้สนับสนุนเงินด้านการตลาด 82 ราย มูลค่า 60 ล้านบาท สร้างรายได้ 80 ล้านบาท

ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ในส่วนที่ 2. การปฏิรูประบบการให้สิ่งจูงใจ ระเบียบ และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการนำงานวิจัยและพัฒนาไปต่อยอดหรือใช้ประโยชน์ โดย สวทช. ผลักดันงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ได้แก่

การกำหนดมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา หรือ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยี และนวัตกรรม 300% สำหรับโครงการภาษี 300% นี้ ในช่วงปีที่ผ่านมา สวทช. ได้รับการตอบรับจากภาคเอกชนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา ได้รับรองไปแล้ว 2,800 โครงการ ทั้งนี้เกณฑ์ 2 ปี (2558 – 2560) รับรองไป 1,206 โครงการ โดยในปี 2560 รับรอง 400 โครงการ ซึ่งได้การตอบรับอย่างดีจากภาคเอกชน

การส่งเสริมนวัตกรรมสู่การใช้งานจริงใช้ในเชิงพาณิชย์ และบัญชีนวัตกรรม ปัจจุบัน โครงการบัญชีนวัตกรรมไทย ได้มีการปรับปรุงระบบการขึ้นทะเบียนได้ค่อนข้างรวดเร็ว เฉลี่ยขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมได้ประมาณ 30 – 40 รายการต่อเดือน คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติผลงานนวัตกรรมที่ขอขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย โดยมีผู้ยื่นขอขึ้นบัญชีนวัตกรรมรวมทั้งสิ้น จำนวน 326 รายการ รับรองโดยคณะกรรมการฯ 136 รายการ โดย สำนักงบประมาณ ได้ประกาศขึ้นบัญชีนวัตกรรม แล้วจำนวนทั้งสิ้น 105 โครงการ โดยสินค้าที่ได้รับการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยได้รับการยอมรับจาก regulators ทั้งประเทศ มียอดการจัดซื้อจัดจ้างทั้งสิ้น 487 ล้านบาท (สำรวจ ณ เดือนมกราคม 2559 – พฤษภาคม 2560)

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล

สำหรับตัวอย่างผลงานวิจัยเด่นของ สวทช. ในปีงบประมาณ 2560 ในด้านต่างๆ มีดังนี้ Smart Farm: ข้าวพันธุ์ไรซ์ เบอรี่ ข้าวมูลค่าสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ส่งเสริมให้ปลูกบนพื้นที่ 3,100 ไร่ จำหน่ายเป็นข้าวเปลือก 1,800,000 กิโลกรัม ราคาขายเฉลี่ย 15 บาทต่อกิโลกรัม สร้างผลกระทบมากกว่า 29 ล้านบาท ข้าวพันธุ์หอมชลสิทธิ์ ข้าวทนน้ำท่วมฉับพลันเพื่อชุมชน ส่งเสริมเกษตรกรปลูกบนพื้นที่ 8,500 ไร่ ใน 5 จังหวัด จำหน่ายเป็นข้าวเปลือก 6,700,000 กิโลกรัม ราคาขายเฉลี่ย 6 บาทต่อกิโลกรัม สร้างผลกระทบมากกว่า 41 ล้านบาท

ชุดโครงการศึกษาตรวจโรคกุ้ง ช่วยลดความเสี่ยง เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร สร้างผลกระทบมากกว่า 1,000 ล้านบาท และ ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ หรือ Agrimap online และ Agrimap Mobile มีผู้เข้าใช้งานจำนวน 110,000 ครั้ง เบื้องต้นช่วยลดค่าใช้จ่ายมูลค่า 1,300,000 บาท

Smart Food: ไข่ออกแบบได้ นวัตกรรมระบบนำส่งยาสมุนไพรสำหรับสัตว์ปีกเพื่อไข่คุณภาพดี มีการผลิตและจำหน่าย มูลค่า 20 ล้านบาท ไส้กรอกไขมันต่ำ อาหารเพื่อสุขภาพทางเลือกใหม่ สร้างรายได้มูลค่า 17 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุน 10 ล้านบาท และ Active Pack บรรจุภัณฑ์เพื่อการเก็บรักษาและยืดอายุผลิตผลสด ลดการสูญเสียของเหลือทิ้งทางการเกษตร และสร้างผลกระทบมูลค่า 92 ล้านบาท

Smart Health: เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรมและศัลยกรรมใบหน้าและขากรรไกร หรือ Dentii Scan 2.0 ติดตั้งในโรงพยาบาล 7 แห่ง สร้างผลกระทบมูลค่า 2,600,000 บาท รถพยาบาลปกป้องการพลิกคว่ำ เพิ่มความแข็งแรง ลดการสูญเสียชีวิตและความเสียหายของอุปกรณ์ทางการแพทย์ ผลิตรถและจำหน่ายแล้วมากกว่า 50 คัน สร้างมูลค่า 196 ล้านบาท และ ระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ หรือ Thai School Lunch ช่วยให้นักเรียนได้รับสารอาหารครบถ้วน สุขภาพดี ในราคาที่เหมาะสม ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายงบประมาณด้านอาหารและบุคลากรของโรงเรียนมูลค่า 1,700 ล้านบาท

Smart Energy: การใช้วัสดุนาโนและเทคนิคการเคลือบผิวบนวัสดุสแตนเลส สำหรับแผงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงาน มีบริษัทนำผลงานวิจัยไปใช้ปรับปรุง solar farm ช่วยลดการนำเข้าและจ้างแรงงานต่างประเทศมูลค่า 157 ล้านบาท

Smart Industry: NETPIE แพลตฟอร์มสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อทุกสรรพสิ่ง ช่วยรองรับการขยายตัวของระบบสื่อสารสำหรับอุตสาหกรรมได้อย่างไร้ขีดจำกัด มีการลงทุนเพิ่มมากกว่า 233 ล้านบาท และลดค่าใช้จ่ายมูลค่ามากกว่า 14 ล้านบาท

เอนบลีช (ENZBleach) เอนไซม์ทนด่างจากปลวกสำหรับฟอกเยื่อกระดาษ และเอนอีซ (ENZease) เอนไซม์ดูโอสำหรับการลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายแบบขั้นตอนเดียว ใช้แทนสารเคมีได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท เอเชีย สตาร์ เทรด จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่ายภายในสิ้นปี 2560 นี้ และมีการนำไปใช้จริงในโรงงานสิ่งทอธนไพศาลและวิสาหกิจชุมชน ช่วยลดการใช้น้ำ พลังงาน และลดต้นทุนการผลิต

นอกจากนี้อีกพันธกิจหนึ่ง ในปีงบประมาณ 2560 สวทช. มีหน่วยงานน้องใหม่ คือ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ซึ่งปีที่ผ่านมาได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร 220 ชุมชน ใน 45 จังหวัด โดยครอบคลุมเทคโนโลยีหลัก 36 เรื่อง เช่น โครงการข้าวอินทรีย์ จ.ยโสธร ส่งเสริมผู้ผลิตข้าวอินทรีย์จำนวน 4,000 ราย สร้างผลกระทบมูลค่า 104 ล้านบาท โรงเรือนพลาสติกคัดเลือกแสง ขยายผลเทคโนโลยีจำนวน 24 โรงเรือนใน 12 จังหวัด เกษตรกรสร้างรายได้จากการปลูกผัก 7,500,000 บาท และเทคโนโลยีการผลิตบิวเวอเรียหัวเชื้อสดและก้อนเชื้อระดับมาตรฐาน โดยร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตหัวเชื้อให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) 9 แห่ง และศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน 882 แห่งทั่วประเทศ

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า สำหรับปี 2561 สวทช. มีนโยบายในการขับเคลื่อนด้วยประเด็นมุ่งเน้น 5 ด้าน ตามแผนกลยุทธ์ฉบับที่ 6 (2560 – 2564) โดยกำหนดประเด็นมุ่งเน้นที่ สวทช. จะมุ่งดำเนินการเพื่อสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นที่ประจักษ์ 5 ด้าน ได้แก่ 1. อาหารเพื่ออนาคต 2. ระบบขนส่งสมัยใหม่ 3. การสร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตคนไทย 4. เคมีชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ และ 5. นวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน

โดยในปี 2560 สวทช. ได้สร้างกลไกเทคโนโลยีฐานแบบบูรณาการ (Integrated technology Platform) ให้มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดจากการควบรวมเทคโนโลยีหลากหลายสาขาและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในอนาคต และได้สร้างแพลตฟอร์ม (Platform) ขึ้นมาใหม่ 3 เรื่อง ได้แก่

1. Sensors เป็นการนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านเซนเซอร์ (sensors) ของแต่ละศูนย์แห่งชาติ มาทำงานวิจัยร่วมกัน ในห่วงโซ่คุณค่าของการพัฒนาเซนเซอร์ตั้งแต่ สารวัสดุตั้งต้น กระบวนการแยกสาร สาร/วัสดุขยายสัญญาณ ระบบวัด/ตรวจจับจัดการข้อมูล เพื่อเน้นพัฒนาเซนเซอร์ที่มีความสามารถ ความแม่นยำสูงขึ้น นำไปใช้เสริมประเด็นมุ่งเน้นในด้านการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร การแพทย์ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

2. High-performance computing & data analytics (HPC & DA) เทคโนโลยีที่นำข้อมูลที่มีการเก็บรวบรวม เช่น ข้อมูลทางชีวภาพ ข้อมูลเสียงและภาพ ข้อมูลสภาพแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ มาวิเคราะห์ประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการตัดสินใจ แปลความหมาย ทำนาย เตือนภัย แทนการใช้มนุษย์วิเคราะห์ การรู้จำ การสร้างแบบจำลอง และการเพิ่มประสิทธิภาพ (optimization) เป็นต้น

3. Bio-based materials สวทช. นำเอาองค์ความรู้ในเทคโนโลยีฐานชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology) ในการควบคุมการทำงานของสิ่งมีชีวิตได้อย่างจำเพาะและมีประสิทธิภาพ ไปขยายขนาดการผลิตสารที่ต้องการ และองค์ความรู้ในการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาผลิต Biomaterials เช่น เซลลูโลส (Cellulose) ไซโลส (Xylose) ลิกนิน (Lignin) ร่วมกับเทคโนโลยีการสังเคราะห์วัสดุ การขึ้นรูปชิ้นงานวัสดุ การผลิตให้มีสมบัติตามความต้องการ เพื่อประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยต่อยอดจากฐานความเชี่ยวชาญของ 4 ศูนย์แห่งชาติ ของ สวทช. ทั้งด้าน ไบโอเทคโนโลยี ดิจิทัลเทคโนโลยี เทคโนโลยีวัสดุ และนาโนเทคโนโลยี

มีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมให้ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศ ได้ใช้ประโยชน์จากผลการศึกษาวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของไทย อาทิ โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) ซึ่งมี Focus Industry อยู่ 6 อุตสาหกรรม โดยมี 3 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่

1. ARIPOLIS: ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านระบบอัติโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ 2. BIOPOLIS: ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ ตั้งอยู่ที่ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ดำเนินการโดย สวทช. และ บริษัท ปตท. 3. SPACE KRENOVAPOLIS: ศูนย์กลางและฐานในการรังสรรค์นวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ อยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ดำเนินการโดย GISDA

ปัจจุบันโครงการ EECi ได้มีการลงนามร่วมกันแล้วทั้งสิ้น 63 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันพัฒนา EECi บนพื้นที่ดังกล่าว ประกอบด้วยพื้นที่สีเขียว 40% พื้นที่วิจัย 40% และส่วนสนับสนุนการวิจัย (Incubation) 20% ทั้งนี้มีแผนการพัฒนาโครงการ EECi ในปี 2561 อาทิ การออกแบบอาคาร การใช้ศักยภาพของโปรแกรม ITAP ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับเอสเอ็มอีในพื้นที่ นอกจากนี้ยังนำงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเกษตรของ หน่วยงาน สท. ลงพื้นที่ 50 ชุมชนทันที ทำงานร่วมกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทั้ง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) โดย สวทช. ลงพื้นที่ทำงานในรูปแบบ Area base สำรวจพื้นที่ และนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงไปจัดกลุ่ม พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับเกษตรกร รุ่นใหม่ ซึ่งเริ่มเข้าไปทำงานกับชุมชนในพื้นที่แล้ว และพยายามผลักดันพื้นที่ในระยะยาวต่อไป

อย่างไรก็ตามสิ่งต่างๆ ที่ สวทช. ขับเคลื่อนด้วยการบริหารงาน ยังได้ปรับปรุงและจัดเตรียมให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม ควบคู่กันไปด้วย พร้อมกันนี้ สวทช. ได้สนับสนุนพื้นที่บริการ ของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ปัจจุบันมีเอกชนอยู่ 90 ราย มีบุคลากรวิจัยของเอกชน ประมาณ 1,000 ราย เงินลงทุนวิจัยประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี รายได้ของภาคเอกชนประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี มีงานวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 84%

ที่สำคัญนอกเหนือจากการวิจัยและพัฒนาแล้ว สวทช. ยังพร้อมเป็นองค์กรเปิด (Open NSTDA) ให้ภาคเอกชนและหน่วยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยให้บริการ ด้านการบริการวิเคราะห์ทดสอบ ซึ่ง สวทช. มีศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ ให้บริการ 7 วัน 24 ชั่วโมง ให้บริการวิเคราะห์/ทดสอบมากกว่า 43,000 รายการ คิดเป็นมูลค่า 100 ล้านบาท และยังไม่หยุดที่จะพัฒนามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับรองมาตรฐาน ISO 17025 แล้วทั้งสิ้นจำนวน 47 รายการทดสอบ ในปี 2560 จะเพิ่มอีกจำนวน 34 รายการทดสอบ เพื่อรองรับภาคเอกชน และเป็นกลไกขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงและการทดสอบแบตเตอรี่

ทั้งหมดนี้ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร พร้อมที่จะ Go Beyond Limits โดยใช้ศักยภาพของ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ขับเคลื่อนทุกภาคส่วนเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ และผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวพ้นคำว่า “ประเทศกับดักรายได้ปานกลาง” ไปสู่ ประเทศไทย 4.0 อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สวทช. เดินหน้ารุก วิจัยมุ่งเน้น ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0

view