สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แก้ปัญหาเอสเอ็มอีตีโจทย์ให้แตก

จากประชาชาติธุรกิจ

บทบรรณาธิการ

ระหว่างเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ช่วยเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อยให้มีอาชีพ มีรายได้สามารถพึ่งพาตนเองในระยะยาว ภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของทีมเศรษฐกิจรัฐบาล “ประยุทธ์ 5” คือ การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหามาตั้งแต่ครั้งน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554

ก่อนจะกลายเป็นวิกฤตธุรกิจเอสเอ็มอี หลังมีการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เฟสแรก ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล กับภูเก็ต ช่วงต้นปี 2555 และบังคับใช้ทั่วประเทศ เมื่อ 1 ม.ค. 2556 ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เอสเอ็มอีมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น หลายรายมีหนี้สินล้นพ้นตัวถึงขั้นต้องปิดกิจการ ที่เหลือรอดก็ย่ำแย่หนัก มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยืนหยัดดำเนินธุรกิจได้ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจผันผวน

ผ่านไปหลายปี วิกฤตเอสเอ็มอียิ่งขยายวงกว้าง และด้วยเหตุที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีจำนวนมากถึง 2.7 ล้านราย ทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 99% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งระบบ มีการจ้างงานกว่า 10 ล้านคน หรือคิดเป็น 80% ของการจ้างงานทั้งประเทศ เมื่อเอสเอ็มอีตกอยู่ในสถานะลำบาก จึงกระทบเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางตรงกันข้าม หากธุรกิจเอสเอ็มอีมีความเข้มแข็ง ยอดขาย ผลกำไรเติบโตขยายตัวได้ต่อเนื่อง ก็จะเป็นปัจจัยบวกเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจ และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวเติบโตตามไปด้วย การอยู่รอดหรือล้มตายของเอสเอ็มอีจึงมีส่วนอย่างยิ่งที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยให้ถอยหลัง หรือเป็นแรงช่วยขับเคลื่อนผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้า

การวางนโยบายเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี ควบคู่กับแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเร่งฟื้นฟูเยียวยา จึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและจริงจัง ให้ผลในทางปฏิบัติเป็นรูปธรรมก่อนสายเกินแก้

หลังสารพัดมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ออกมาก่อนหน้านี้ยังไม่สัมฤทธิผล ผู้ประกอบการจำนวนมากยังมีปัญหา หรือเข้าไม่ถึง ทีมเศรษฐกิจ ครม.ชุดใหม่ จึงหันมาโฟกัสกลุ่มเป้าหมายเอสเอ็มอีให้ตรงจุดมากขึ้น

ล่าสุด จะให้ธนาคารรัฐ และกองทุนที่รัฐจัดตั้งขึ้นเป็นแหล่งให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2 แสนล้านบาท ในปี 2561 รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการใช้ทคโนโลยี และนวัตกรรม ยกระดับคุณภาพเอสเอ็มอีไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

ที่สำคัญแทนที่จะรอความช่วยเหลือเพียงถ่ายเดียว เอสเอ็มอีต้องพลิกวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาส ด้วยการพัฒนาตนเองเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ การผลิตสินค้า และปรับตัวให้สอดรับกับกระแสโลก มิฉะนั้นจะฟันฝ่ามรสุมที่รุมล้อมรอบทิศได้ยาก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แก้ปัญหาเอสเอ็มอี ตีโจทย์ให้แตก

view