สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สานต่อ ศาสตร์พระราชา หยุดท่วม-หยุดแล้งอย่างยั่งยืน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชูหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้แนวคิด “โคก หนอง นา” โมเดลแก้ปัญหา หยุดท่วม-หยุดแล้งอย่างยั่งยืนทั่วประเทศ 

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2556ได้รับแรงบันดาลใจจากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยต่อปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก จึงเกิดการร่วมมือกันของ 7 ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคศาสนา และสื่อมวลชน เพื่อรณรงค์ให้ความรู้และสร้างความตระหนักแก่ประชาชนถึงความสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก ด้วยแนวทางศาสตร์พระราชาทั้งในเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้แนวคิดโคก หนอง นา โมเดล ตามลักษณะภูมิสังคมและภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่การแก้ปัญหา หยุดท่วม-หยุดแล้งในลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน



อีกทั้งยังมุ่งหวังให้ลุ่มน้ำป่าสักเป็นต้นแบบในการจัดการดิน น้ำ ป่า ให้เกิดการขยายผลไปยังลุ่มน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถรณรงค์เผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาออกไปตามพลวัตการขับเคลื่อนของโครงการฯ สร้างคนมีใจ สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง จนสามารถสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชาในหลายภูมิภาคมากขึ้นเรื่อยๆ และขยายเครือข่ายออกไปถึง 24 ลุ่มน้ำแล้ว เป้าหมายคือ ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันผลักดันต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการหยุดท่วม-หยุดแล้งอย่างยั่งยืนทั่วประเทศ 

แหล่งเรียนรู้การทำเกษตร

ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล.กล่าวว่า แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันกันชัดเจน ทั้งด้านสภาพดิน น้ำ อากาศ และสภาพภูมิสังคมโดยรอบ รวมถึงเจ้าของพื้นที่ต้นแบบเองก็มีอาชีพและพื้นฐานทางการเกษตรที่แตกต่างกัน แต่ทุกๆ พื้นที่สามารถใช้ศาสตร์พระราชาเข้าไปประยุกต์ เพื่อแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม เริ่มจากที่กรุงเทพฯ ณ แปลงเกษตรสาธิต สจล.ด้วยแนวคิด ‘เพลิน แอเรีย’ มาจากคำว่า PLAY+ LEARN คือ เล่นให้สนุกหรือทำกิจกรรมต่างๆ และเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการทำเกษตรในเมืองตามศาสตร์พระราชาแก่ประชาชน โดยอนาคตจะให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยของสจล. และจัดอบรมระยะสั้นๆ ด้วย


ส่วนเป้าหมายที่ 2 คือ ไร่สุขกลางใจ ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ของครูสุขะชัย ออกแบบโดยใช้แนวคิด คนเบื่อเมือง สู่วิถีกสิกรรมธรรมชาติ เนื่องจากกลุ่มลุ่มน้ำแม่กลองเป็นคนที่ทำมาหากินอยู่ในเมือง แต่เบื่อเมืองและอยากจะกลับสู่วิถีธรรมชาติ โดยพื้นที่นี้ส่วนใหญ่เป็นดินทราย แต่แปลงด้านล่างมีป่ากักเก็บน้ำดี จึงออกแบบดึงน้ำจากป่ากลับไปบนที่สูง นอกจากนั้น จะพิสูจน์ด้วยการสร้างแหล่งอาหารในพื้นที่ดินทราย โดยพื้นที่นาปลูกข้าวด้วยการหมักดองดิน ถ้าทำพื้นที่ตรงนี้ให้เห็นเป็นตัวอย่างได้ ที่อื่นก็ฟื้นได้ และการที่เป็นครูทำให้มีทักษะถ่ายทอดความรู้ได้ดี สามารถสอนคนอื่นในแง่การฟื้นฟูพื้นที่ที่เสื่อมโทรมได้

เป้าหมายที่ 3 คือที่นาข้าวดินปนหินของลุงแสวง เครือข่ายสภาคริสตจักรนาเรียง ต.ตาดทอง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ใช้แนวคิดการสร้างต้นแบบชาวบ้าน ซึ่งกลุ่มคริสตจักรนาเรียงมีความเข้มแข็งร่วมกันต่อสู้กับความแห้งแล้งของธรรมชาติด้วยศาสตร์พระราชาในการจัดการน้ำ จนพื้นที่เกษตรที่เขียวชอุ่มอุดมสมบูรณ์ และนำเสนอคนต้นแบบในลุ่มน้ำชี ซึ่งการปลูกเกษตรเชิงเดี่ยวในพื้นที่นาเรียง ก็เป็นปัญหาส่วนใหญ่ของอีสาน จึงออกแบบเพื่อเปลี่ยนกระบวนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวให้เป็นโคก หนอง นา โมเดล ด้วยทำเกษตรเชิงเดี่ยวแบบผสมผสาน พิสูจน์ให้เห็นว่า ผลผลิตที่ได้จากไร่นาผสมผสานกลับมากกว่ากว่าพืชเชิงเดี่ยว

ต่อยอดสร้างพื้นที่ต้นแบบ

เป้าหมายสุดท้าย คือ ที่ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราช ดำริ (บวร.) วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม จ.เชียงใหม่ มีแนวคิดการต่อยอดสร้างพื้นที่ต้นแบบหลุมขนมครกบนพื้นที่สูง คนอยู่ ป่ายัง อย่างยั่งยืน โดยสร้างต้นแบบบนพื้นที่สูงขนาด 5 ไร่ เพราะเดิมชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ ใช้พื้นที่หลายแปลงในการทำไร่หมุนเวียน แต่ปัจจุบันถูกจำกัดให้มีพื้นที่เหลือเพียงแปลงเดียว จึงต้องออกแบบเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าบนพื้นที่จำกัดก็สามารถทำให้ครอบครัวพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น ให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน และแก้ปัญหารุกล้ำพื้นที่ป่า 

ขณะที่ครูสุขะชัย ศุภศิริ แห่งไร่สุขกลางใจ ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ต้นแบบเครือข่ายลุ่มน้ำแม่กลอง กล่าวว่า “บนที่ดิน 32 ไร่ เริ่มปลูกไม้ผล แต่ตายหมด จึงเน้นการสร้างป่าด้วยพันธุ์ไม้หลายประเภท เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ จากนั้นก็ซื้อแปลงที่ 2 จำนวน 23 ไร่ เพื่อทำตามความฝันของตัวเอง เป็นพื้นที่อยู่ท่ามกลางเกษตรเชิงเดี่ยว ทำให้สภาพดินเสียปนเปื้อนสารเคมี หลังจากได้เข้าอบรมความรู้เรื่องศาสตร์พระราชา จึงอยากพิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็นว่าศาสตร์พระราชาสามารถพลิกฟื้นผืนดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหารได้” 

ส่วนนายแสวง ศรีธรรมบุตร เครือข่ายคริสตจักรนาเรียง บ้านนาเรียง ต.ตาดทอง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ต้นแบบเครือข่ายลุ่มน้ำชี กล่าวว่า ที่ดินของตัวเอง เพราะเป็นดินลูกรัง ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ประกาศขายที่ราคาถูกก็ไม่มีใครซื้อ จึงไปอบรมเรื่องศาสตร์พระราชาที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง พอดีมีคนต้องการดินลูกรังเพื่อไปทำถนน เลยให้เขาขุดดินไปฟรีๆ แลกกับขุดบ่อน้ำให้ 9 บ่อ เพราะแต่ก่อนไม่รู้ว่าต้องเก็บน้ำอย่างไร เวลาฝนตกได้แต่มองดูน้ำไหลไปหมดภายในเวลาแค่ 30 นาที หลังจากนั้นเริ่มทำตามศาสตร์พระราชา ใช้เวลาแค่ปีกว่าจากผืนดินที่เป็นหินปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น สามารถปลูกพืชผักผลไม้ได้อุดมสมบูรณ์ มีปลาเต็มบ่อ และในอนาคตพื้นที่แห่งนี้จะพัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาการเกษตร เพื่อแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้ให้แก่ผู้สนใจต่อไป

ลดการใช้สารเคมี

ด้านพระวีระยุทธ์ อภิวีโร (ครูบาจ๊อก) วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม บ.อมลอง ต.แม่สาบ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ผู้นำหลักแนวความคิด “บวร” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาใช้ โดยเริ่มจากวัดเข้มแข็งก่อน จึงชวนชาวบ้านมาตั้งเป็นศูนย์ฯ ชวนราชการ มหาวิทยาลัย โรงเรียนมาเรียนรู้ร่วมกันเพื่อเผยแพร่ศาสตร์พระราชา พระนักพัฒนา กล่าวว่า “ในปี 2551 วัดเริ่มนำศาสตร์พระราชามาใช้แก้ปัญหาปากท้องและปลดหนี้ของชาวบ้านที่เกิดจากการปลูกสตรอเบอรี่แล้วตายหมดทั้งหมู่บ้าน ก็มีเอกชนและหน่วยงานต่างๆ สนใจ ลงมาดูพื้นที่ทำวิจัยร่วมกันเพื่อลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมี ประกอบกับได้นำความรู้จากการอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องและอีกหลายๆ ที่มาใช้ เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน จนชาวบ้านเริ่มปลดหนี้ได้ เมื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ก็มาทำเรื่องการศึกษาพอเพียง ทำโรงเรียนเพื่อให้ชาวบ้านอยู่รอดในพื้นที่ของเขา ตอนนี้ชุมชนเป็นที่พึ่งพาให้กับหมู่บ้านอื่นจาก 1 เป็น 20 หมู่บ้านแล้ว 

นอกจากนี้ยังจัดตั้งศูนย์ราษฎรหรือศูนย์ของชาวบ้าน ให้ชุมชนลุกขึ้นมาบริหารจัดการกันเองทุกเรื่อง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนใน 10 ปีที่ทำมา ได้แก่ ป่าฟื้นกลับมา มีน้ำใช้ตลอดปี ดินมีชีวิตปลูกอะไรก็งอกงาม ชาวบ้านมีรายได้ สามารถปลดหนี้ได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สานต่อ ศาสตร์พระราชา หยุดท่วม-หยุดแล้ง อย่างยั่งยืน

view