สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เหลียวหลัง คสช. ปฏิรูปภาษี แลหน้า… โจทย์หินภารกิจคลัง

จากประชาชาติธุรกิจ

การปฏิรูป “ด้านภาษี” เป็น 1 ในหลายเรื่องสำคัญที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หยิบยกขึ้นมาประกาศเป็นนโยบายสำคัญ

ขณะนี้ผ่านมาแล้วกว่า 3 ปีครึ่ง เมื่อย้อนกลับไปดูจะเห็นว่า มาตรการด้านภาษีหลายมาตรการดำเนินการไปแล้วอาทิ การลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20%, ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ปรับปรุงภาษีส่งเสริมการลงทุน, การปรับปรุงภาษีคณะบุคคล, มาตรการบัญชีชุดเดียว, การบังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่, การบังคับใช้พระราชบัญญัติศุลกากรฉบับใหม่

ส่วนใหญ่เรื่องที่ทำไปแล้ว เป็นการปรับปรุงภาษีด้านการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่ประเทศเป็นหลักซึ่งยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังต้องผลักดัน โดยเฉพาะการปฏิรูปภาษี “เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” รวมถึงการ “เพิ่มรายได้” ให้แก่รัฐ

เมื่อย้อนกลับไปดูข้อเสนอ “แนวทางปฏิรูปโครงสร้างภาษีและระบบบริหารการจัดเก็บ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน” ซึ่งคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน

และการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี “พลอากาศเอก ชนะ อยู่สถาพร” เป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เคยเสนอไว้ข้อเสนอดังกล่าวได้มุ่งตอบโจทย์ 2 วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ 1) ขยายฐานภาษี โดยเสนอให้กำหนดให้ผู้ที่มีรายได้ แม้จะยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงิน เพื่อเป็นฐานข้อมูลเข้าสู่ระบบภาษีในอนาคต 2) เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดเก็บภาษี โดยหน่วยงานจัดเก็บต้องปฏิรูปโครงสร้างองค์กร และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้จัดเก็บภาษีด้วย

โดยข้อเสนอในส่วน “ภาษีเงินได้นิติบุคคล” นั้น กมธ.เสนอให้กรมสรรพากรพิจารณากำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลรายเดียวกันที่ประกอบธุรกิจในสาขาต่าง ๆ หลายแห่ง ต้องแยกบัญชีรายได้และรายจ่ายของแต่ละสาขาออกจากกัน เพื่อเสียภาษีในเขตพื้นที่สาขานั้น ๆ ที่ตั้งอยู่โดยตรง ไม่ให้มีการรวมบัญชีเดียวกันเพื่อเสียภาษีอีกต่อไป นอกจากนี้ยังเสนอให้เก็บภาษีจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ของนิติบุคคลต่างประเทศที่มีรายได้ในประเทศไทยด้วย

ขณะที่ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” กมธ.เสนอให้ปรับเพิ่มอัตราเก็บภาษี VAT อีก 1% ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มทันที 70,000 ล้านบาท รวมถึงเสนอให้จัดเก็บภาษี VAT ในรูปแบบที่มีหลายอัตรา แตกต่างกันไปตามประเภทสินค้า

ทั้งนี้ กมธ.ยังได้เสนอให้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษาการจัดเก็บ “ภาษีลาภลอย” จากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการที่รัฐบาลลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขณะเดียวกันก็มีการเสนอให้ปรับปรุงเกี่ยวกับ “อากรศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม” ที่เดิมการนำเข้าสินค้าราคาไม่เกิน 1,500 บาท ผ่านไปรษณีย์ได้รับการยกเว้นอากร และภาษี VAT

นอกจากนี้ กมธ.ยังเสนอให้กรมศุลกากร เข้มงวดกับการขอคืนภาษีที่ใช้สิทธิตามมาตรา 19 ทวิ เพื่อปิดช่องโหว่ที่มีผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกบางรายอาศัยช่องว่างของกฎหมายขอคืนภาษี ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวนมาก

ยังมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ถูกกล่าวถึงอย่างมาก และถือว่าเป็น “ภาษีเพื่อการปฏิรูป” ที่มีความคืบหน้าค่อนข้างมาก ล่าสุดคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มี “วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ” รมช.คลัง เป็นประธาน ได้ปรับปรุงรายละเอียด และเตรียมเสนอ สนช. วาระ 2 วาระ 3 ในต้นปี 2561 นี้

“ประสงค์ พูนธเนศ” อธิบดีกรมสรรพากรระบุว่า กรมสรรพากรจะแยกร่างกฎหมายในส่วนที่จะกำหนดให้จัดเก็บภาษี VAT จากการนำเข้าสินค้าผ่านไปรษณีย์ตั้งแต่บาทแรก ออกจากร่างกฎหมายส่วนที่เป็นเรื่องการจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ และจะจัดให้มีการประชาพิจารณ์อีกครั้งในเดือน ม.ค. 2561 นี้ ซึ่งหลังจากนั้นหากได้คำตอบที่ชัดเจนก็จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ขณะที่”สมชัย สัจจพงษ์” ปลัดกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า ข้อเสนอของ กมธ.ต้องดูว่า มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติหรือไม่ หากเป็นไม่ได้ก็อาจทำไม่ได้ เช่น เสนอให้จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แบบอัตราก้าวหน้า

“เขา (กมธ.) เสนอมาให้เราศึกษาดู อย่างเรื่องภาษีลาภลอย เราก็ทำอยู่ หรือเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็มีเสนอให้ขยับเพดานจากปัจจุบันกำหนดว่า รายได้ 1.8 ล้านบาทขึ้นไป ต้องจดทะเบียนเสีย VAT ก็กำลังดูอยู่ หรือที่เขาเสนอให้เก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ เราก็ทำ ทั้งหมดนี้ขึ้นกับความเหมาะสม ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็จะต้องทำในปี 2561 ต่อ” นายสมชัยกล่าว

ดูแล้วหนทาง “ปฏิรูปภาษี” ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงการคลัง ต้องออกแรงผลักดันต่อไปในปี 2561 นี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เหลียวหลัง คสช. ปฏิรูปภาษี แลหน้า โจทย์หิน ภารกิจคลัง

view