สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Smart City IOT และปัญหาน้ำท่วม

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Redpillz

โดย พงศ์พีระ ชวาลาธวัช www.facebook.com/Redpillzdotcom

จากบทความตอนก่อน ๆ ของผมที่ได้เขียนลงไปเกี่ยวกับ IOT ถ้าใครที่ยังไม่ได้อ่านผมแนะนำให้ไปอ่านปูพื้นเสียก่อนเกี่ยวกับ IOT ครับ ซึ่งในวันนี้เรามาคุยกันในเรื่องตัวอย่างของการนำ IOT ไปใช้ใน smart city

เริ่มกันที่เรื่อง hot ที่สุดในเวลานี้คือเรื่องของ smart city สิ่งที่ผมเห็นกับสิ่งที่ควรจะเป็นนั้นมันช่างดูจะยาวไกลและต้องใช้การร่วมแรงร่วมใจกันอย่างมาก

เพราะ smart city นั้นไม่ใช่แค่เมืองที่มี internet ครอบคลุมหรือเมืองที่มีรถไฟฟ้าวิ่งผ่านแล้วเราจะเรียกว่า smart city ได้ แต่มันต้องเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยสารสนเทศและ IOT ประกอบเข้าด้วยกันอย่างลงตัวตามลักษณะและปัญหาของแต่ละเมืองนั้น ๆ

ซึ่งจะมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละเมืองไป

เท่าที่ผมทราบมา ขอนแก่น ภูเก็ต และกรุงเทพฯเองก็มีแผนกันอยู่แล้ว

เพียงแต่ว่าจะเดินไปได้ถึงขั้นตอนการพัฒนาที่เท่าไหร่นั้นเป็นเรื่องของความสามารถในการรวมกลุ่มในแต่ละจังหวัด

ผมมักจะเชียร์การทำงานของกรุงเทพมหานครตลอด ไม่ว่าใครจะมาเป็นพ่อเมือง แต่สิ่งที่ผมแอบเศร้าคงจะเป็นเรื่องที่บางครั้งไม่ได้ทำการวิจัยถึงพฤติกรรมผู้บริโภค+ผู้ใช้งานมาดีพอ ยกตัวอย่างเช่น e-Payment บนรถเมล์ และ smart taxi ซึ่งจริง ๆ แล้วมันตรงกับคอนเซ็ปต์ของ smart city เลย

แต่อาจจะด้วยพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯและสภาพท้องถนนบ้านเราอาจจะไม่เอื้อในการใช้งานเท่าไหร่ โครงการเลยต้องเงียบ ๆ ไป หลงเหลือแต่ส่วนเว้าของถนนและป้ายกับปุ่มกด ซึ่งถ้ายังอยากทำอยู่ผมขอเสนอว่าให้ใช้ช่วงเวลานี้ที่ taxi กับ uber มีช่องว่างถือโอกาสต่อ smart taxi ภาคสองด้วยการกรอง taxi ดี ๆ จับเข้าโครงการแล้วจับลง application เหมือน uber แล้วทำ fleet management ด้วย IOT

เช่นการดูสถานะของรถยนต์ในแต่ละคันทั้งกรุงเทพฯ ถ้าคันไหนมันจะไม่รอดก็มีคนแจ้งให้ไปซ่อมบำรุง ดูพฤติกรรมการขับรถทั้งหลายเลยก็ได้ ผมว่าผู้โดยสารอาจจะอุ่นใจกว่าใช้ uber ด้วยซ้ำ เพราะถูกกฎหมายและมีคนคุมกฎหมายคอยดูแลความปลอดภัยตลอดเวลา แถมเงินค่าบริการก็ไม่รั่วไหลออกนอกประเทศด้วย จะติดกังวลอยู่ก็แค่ทีมงานบริหารควรจะต้องเป็นเอกชน, องค์กรมหาชนหรือการลงทุนร่วมจะดีกว่าจะได้มีความต่อเนื่องในการให้บริการ

เนื่องจากคำว่า smart city แบบ Bangkok smart city นั้นมันมีหลายส่วนมาก

ผมขอยกหนึ่งส่วนมาพูดแล้วกัน เพราะเป็นส่วนที่ผมฝันอยากจะให้เกิดจริง ๆ นั่นคือเรื่องน้ำท่วม ซึ่งคิดว่า IOT น่าจะมีส่วนช่วยในเรื่องปัญหาน้ำท่วมและการจราจรมิใช่น้อย ผมจึงหาข้อมูลก่อนที่จะเสนอแนะ และก็ได้ข้อมูลมาว่า กรุงเทพฯนั้นมีแผนการจัดการน้ำในกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2560 พออ่านไปทั้งหมด 33 หน้า รวมเอกสารอื่น ๆ เช่น การลงทุนในระบบ เครื่องจักร อุโมงค์น้ำทั้งหมดแล้ว ก็ทำให้เห็นว่า กทม.เองได้รู้ถึงปัญหาและสาเหตุดีอยู่แล้ว เท่าที่ทราบมาหลาย ๆ เรื่องเองก็ยากอยู่มาก เช่น เรื่องของการอุดตันของขยะ และเรื่องขนาดของท่อระบายที่เล็กเกินไปจนมีปัญหาคอขวด ต้องขยายท่อระบายจาก 1 เมตรเป็น 2 เมตร เพื่อที่จะเพิ่มการไหลของน้ำลงมาที่อุโมงค์ได้ดีขึ้น

ทาง กทม.เองก็มีระบบ SCADA ที่ศูนย์อยู่ที่ชั้น 6 สำนักการระบายน้ำ กทม. ดินแดง ซึ่งศูนย์นี้มีการดึงข้อมูลเข้าสู่ศูนย์กลางทั้งหมดมาอยู่ในห้องเดียวกับหน้าจอใหญ่ ๆ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดนี้มาสนับสนุนในการตัดสินใจการสั่งการช่วยเหลือเรื่องน้ำระบายไม่ทัน และทั้ง EGA และอีก 34 หน่วยงานได้ร่วมมือทำ applica-tion ชื่อ Thaiwater เพื่อเป็นศูนย์รวมเรื่องน้องน้ำ เพื่อประชาชนจะได้รับรู้สถานการณ์น้ำ ส่วนใครถนัด LINE ท่านสามารถติดตามข่าวด่วนอัพเดตเรื่องน้ำได้ ค้นหาคำว่า “ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม” ได้เช่นกัน

จากข้อมูลที่ได้กล่าวข้างต้นนั้น ผมแอบคิดว่ามันคงจะดีถ้ามีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือ data scientist เก่ง ๆ น่าจะมีข้อมูลของทางการไฟฟ้า (น้ำเขื่อน)+ข้อมูลน้ำหนุน+น้ำทุ่ง+พยากรณ์อากาศ+ค่าของสิ่งที่ไม่คาดคิด เช่น การอุดตันของขยะในท่อ+ข้อมูลระดับน้ำท่วมในอดีตในแต่ละเขตที่เกิดขึ้นจากข้อมูลต้นเหตุ นำทั้งหมดนี้มาเพื่อสร้างโมเดลวิเคราะห์ทาง big data analytic ของน้ำที่จะท่วมกรุงเทพฯ (และจังหวัดอื่น ๆ) เวลาไหน ที่ใด

ทั้งนี้การแจ้งควรจะแจ้งเป็นสองนัย ผ่านทาง application บนมือถือ หนึ่ง คือแจ้งในลักษณะการพยากรณ์ ที่ไม่เป็นเพียงแค่การพยากรณ์ฟ้าฝน แต่เป็นพยากรณ์ไปถึงการอาจจะมีน้ำท่วม+ระดับการท่วมซึ่งอาจจะมี notification บอกไปเบา ๆ ตามจุดที่บ้านหรือทรัพย์ของคนใช้มือถือท่านนั้น ซึ่งใน app Thaiwater ผมเห็นแล้วว่ามีการขอใช้ location ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะใช้เพื่อการเตือนอะไรซักอย่าง แต่ไม่แน่ใจว่าเตือนตามพิกัดหรือไม่ แต่ถ้าได้อย่างที่บอกจะดีมาก

สอง คือการแจ้งแบบ real time กับ IOT เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ตามจุดสำคัญเพื่อแจ้งและเตือนไปยังพิกัดมือถือที่อยู่ในเขตน้ำท่วม เพื่อการทำ alert notification ให้ประชาชนที่อยู่บริเวณที่เกี่ยวข้องนั้นทราบ ก่อนที่จะกลายเป็นว่า ตื่นมาอีกวันแล้วน้ำท่วมรถไปครึ่งคันแล้ว อย่างที่เห็น ๆ กันจากหน้าโซเชียลต่าง ๆ

ส่วนเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรต่าง ๆ น่าจะมีการทำ predictive maintenance+remote ที่สั่งการและรับรู้ได้ เพื่อบอกทั้งสถานะในเวลาปัจจุบันและอายุการใช้งานในอนาคตแทนที่จะเป็นการซ่อมบำรุงตามตาราง โดยระบบที่ว่ามานี้คือการใช้ IOT เข้าไปทำงานแทนคน ช่วยลดข้อผิดพลาดและรู้ได้ทันทีอย่างรวดเร็ว เพราะบางครั้งทางทีมงานที่ควบคุมเครื่องบางทีก็ไม่ได้อยู่หน้าเครื่องตลอดเวลา อาจไม่ทราบว่าเครื่องสถานะเป็นอย่างไรในตอนนี้ ทั้งนี้ สิ่งที่ผมเสนอเป็นเพียงแค่เสี้ยวเดียวของคำว่า smart city ซึ่งยังมีมุมอื่นอีกมากมาย เพราะในการพัฒนา smart city ด้วยข้อมูลและ IOT นั้น

เราสามารถที่จะประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์หรือสถานการณ์เพื่อให้เกิดการแจ้งเตือนหรือพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่าในขณะนี้ทาง กทม.เองคงจะมีการวางแผนในการพัฒนาระบบให้ฉลาดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Smart City IOT ปัญหาน้ำท่วม

view