สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ร่วมตอกฝาโลง! ศิวะ ชี้ กยท.ประมูลปุ๋ยยางส่อตุกติกทุกขั้นตอน แถมบอร์ด-ผู้บริหารออกอาการโลเล

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

 ศูนย์ข่าวภาคใต้ - “ศิวะ ศรีชาย” ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง จ.พัทลุง ยันเป็นตามที่สังคมสงสัยจริง “กยท.” ส่อมีทุจริตจัดหาปุ๋ยยาง ชี้ชัดกระบวนการประมูลสุดแสนจะตุกติก ประกาศช้า แต่เร่งขายซอง และให้ยื่นซอง ผู้ร่วมประมูลน้อย แต่ชนะถ้วนหน้า ตั้งราคากลางสูง แต่ราคาที่ได้ต่ำลงนิดเดียว แถมบอร์ด และผู้บริหารก็มีอาการโลเล

จากกรณีที่มีข่าวสะพัดข้ามปีในทำนอง ว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ส่อจะมีเกิดทุจริตในการจัดหาปุ๋ยให้เกษตรกรชาวสวนยาง ประกอบกับ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) ได้มีการเดินสายร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปยังหลายหน่วยงานมาตั้งแต่ปี 2560 และล่าสุด สัปดาห์นี้ได้ทำหนังสือจี้ไปยังผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำเนินการปิดกั้นกรณีอาจจะเกิดการทุจริตปุ๋ยใน กยท. ด้วยการเสนอให้มีการอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง พร้อมให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดประมูล และส่งมอบแทน กยท.นั้น

นายศิวะ ศรีชาย ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง จังหวัดพัทลุง เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า กยท.มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการปลูกแทน ส่วนเรื่องการจัดหาพันธุ์กล้ายาง อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ ปุ๋ย และยาเคมีที่ใช้ในการดูแลสวนยาง และกำจัดวัชพืชเป็นหน้าที่ของเจ้าของสวนยาง ภายใต้การแนะนำ และติดตามดูแลของ กยท.

“ในเรื่องการจัดหาปุ๋ยให้ชาวสวนยาง กยท.ทำเกินอำนาจหน้าที่ที่ไปจัดซื้อปุ๋ยเสียเอง และอาจจะมีการบังคับยัดเยียดให้ชาวสวนยางต้องใช้ปุ๋ยที่จัดซื้อให้ เรื่องนี้ถ้าบอร์ด กยท.ที่อ้างว่ามาจากตัวแทนชาวสวนยางมีความเห็นด้วยกับความนี้ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าใจ ชาวสวนยางเคยเรียกร้องให้ลาออกเพื่อแสดงสปิริตรับผิดชอบต่อการบริหารที่ล้มเหลวของ กยท.มาแล้ว แต่ก็ยังทนอยู่ได้จนทุกวันนี้”


นายศิวะ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กยท.ได้เปิดประมูลปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 64,724.20 ตัน สำหรับพื้นที่ภาคใต้ และภาคตะวันออก ผลการประมูลสังคมได้ตั้งเครื่องหมายคำถามหลายด้าน โดยเฉพาะราคาประมูลสูงกว่าท้องตลาด และขั้นตอนไม่โปร่งใส แต่บอร์ด กยท.สายภาคตะวันออก ชี้แจงว่า ราคาประมูลต่ำกว่าราคากลาง โดยทุกขั้นตอนอยู่ในกรอบ และระเบียบของกฎหมาย และเร่งให้ทันต่อฤดูใส่ปุ๋ยของเกษตรกร

กยท.เปิดประมูลปุ๋ยตามโครงการดำเนินการจัดหาปุ๋ยบำรุงให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อดำเนินการจัดหาปุ๋ยให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในไตรมาสที่ 3 หรือระหว่าง 1 เม.ย.-30 มิ.ย.2560 โดยให้หน่วยธุรกิจ (Business Unit : BU) ที่จัดตั้งขึ้นโดย กยท.เป็นผู้ดำเนินการจัดหาปุ๋ย 2 ประเภท คือ 1.ปุ๋ยเคมี จำนวน 34,724.20 ตัน และ 2.ปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 30,000 ตัน ด้วยวิธีการประมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งภายหลังการประมูลเกิดความสงสัยในวงการยางพาราหลายด้าน

นายศิวะ ยืนยันว่า ตนเองคือผู้ที่ออกมาเปิดประเด็นเรื่องนี้เป็นคนแรกๆ ทั้งเขียนโพสต์ลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก และกลุ่มไลน์ โดยระบุว่า ผลการประมูลที่ออกมาชาวสวนยางส่วนใหญ่ หรือแม้แต่ชาว กยท.เองก็ยังมีความเห็นตรงกันว่า 1.ทำให้ได้ปุ๋ยราคาแพง 2.กยท.สูญเสียรายได้จากค่าดำเนินการ 3.สังคมเกิดความสงสัยว่าจะมีการจัดฮั้วการประมูล และมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนเกิดขึ้นหรือไม่ โดยมีข้อสังเกตประกอบด้วย

1.มีการประกาศที่ล่าช้า ณ วันที่ 30 มี.ค.2560 2.แต่กลับขายซองเร็ว โดยขายซองประมูลราคาวันที่ 30 มี.ค.-3 เม.ย.2560 แล้วให้ยื่นซองเสนอราคาประมูลเร็วมากในวันที่ 7 เม.ย.2560 รวมระยะเวลาจัดประมูลสั้นมาก และมีการถ่วง หรือประวิงเวลาดำเนินการ โดยอ้างมีการแก้ไขคุณสมบัติผู้ร่วมประมูลในวันที่ 31 มี.ค.2560 ดูแล้วเหมือนจงใจให้คร่อมวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย 3.มีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยมาก และต่างได้เป็นผู้ชนะประมูลกันถ้วนหน้า

4.มีการตั้งราคากลางไว้สูงมาก และราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางเพียงเล็กน้อย และ 5.แนวทางนโยบาย และวิธีปฏิบัติที่กำหนดโดยบอร์ด กยท.และผู้บริหาร กยท.ไม่มีความชัดเจนแน่นอน กลับไปกลับมา จนดูเหมือนว่าคล้ายจะจงใจไม่รักษาประโยชน์ให้แก่ชาวสวนยางเท่าที่ควร ที่สำคัญกว่านั้น ราคาดูจะสูงกว่าปกติของการประมูลทั่วไปอย่างที่ควรจะเป็น
จึงเกิดข้อสงสัย และคำถามค้างคาใจของชาวสวนยางทั่วทั้งประเทศ ว่า การเปิดประมูลทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ของ กยท.จะมีปัญหา หรือมีช่องโหว่หรือไม่ ในการยื่นซองประมูลเปิดโอกาสให้แต่ละรายสามารถเลือกยื่นซองเฉพาะรายการที่ตัวเองต้องการได้ เพื่อเป็นการช่วยเลี่ยงปัญหาการวางเงินค้ำประกันซอง ทำให้แต่ละรายการมีผู้เข้าร่วมยื่นประมูลกี่ราย ซึ่งอาจเชื่อได้ว่าไม่ใช่ยื่นประมูลทุกรายการครบทั้ง 5 รายอย่างที่พยายามให้สังคมเข้าใจ

“ข้อมูลรายละเอียดตรงนี้ กยท.ควรจะต้องเปิดเผยให้สังคมได้รับทราบ โดยเฉพาะแต่ละรายการมีผู้ซื้อซองประมูลกี่ราย แล้วมีผู้เข้ายื่นซองประมูลจริงกี่ราย และที่สำคัญมีความแตกต่างในการเสนอราคาแต่ละรายการอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ ก็เพื่อไม่ให้โดนกล่าวหาว่าจัดให้มีการฮั้วการประมูลเกิดขึ้น เรื่องราวเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ กยท.จะต้องตอบคำถามต่อสังคม และชี้แจงต่อชาวสวนยางทั้งประเทศให้ทราบข้อมูล” แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางกล่าว

นายศิวะ กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านๆ มา โครงการจัดหาปุ๋ยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีปัญหามาโดยตลอด ตอนที่ยังไม่แจ้งเกิด กยท. สมัยนั้นมีสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ก็ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูต่อเนื่องมาหลายยุคหลายสมัย และมีข่าวว่า มีการส่งมอบปุ๋ยไม่เต็มสูตร หรือปุ๋ยปลอม ที่สำคัญเกษตรกรชาวสวนยางที่รับปุ๋ยก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเป็นปุ๋ยจริง หรือปุ๋ยปลอม

 

 


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ร่วมตอกฝาโลง ศิวะ  กยท. ประมูลปุ๋ยยาง ส่อตุกติก ทุกขั้นตอน บอร์ด ผู้บริหาร ออกอาการโลเล

view