สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อาเซียน กับอนาคตขนส่งมวลชน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ รู้จักอาเซียน

โดย มัธธาณะ รอดยิ้ม


สภาพจราจรทั่วไปในหลายประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่เลวร้ายสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง

อย่างในกรุงเทพฯเองกับชั่วโมงเร่งด่วนที่สุดแสนจะสาหัส แม้ว่าจะมีระบบรางหนักเข้ามาเสริมแล้ว แต่ก็ยังไม่ครอบคลุม กรุงจาการ์ตาเองกับระบบทรานส์จาการ์ตา แต่ผู้ใช้ก็ต้องเข้าแถวยาวเหยียดรอขึ้นรถเมล์เร็วในชั่วโมงเร่งด่วน

ไม่เพียงส่งผลต่อคนเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ยันปลายน้ำ อย่างเรื่องการผลิต ที่จราจรคับคั่งกระทบต่อความล่าช้าในการป้อนวัตถุ และส่งสินค้าออกสู่ตลาด เป็นต้น

จากรายงานของ “เอเชีย นิกเคอิ” ที่เปิดเผยตัวเลขจากนัมเบโอ (Numbeo) ถึง 10 เมืองในอาเซียน ที่มีการจราจรคับคั่งที่สุด ประกอบด้วย 1.กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ 2.กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย 3.กรุงเทพฯเมืองฟ้าอมรแห่งนี้ 4.กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย 5.สิงคโปร์ 6.นครสุราบายา ประเทศอินโดนีเซีย 7.เชียงใหม่ 8.นครดาเวา ประเทศฟิลิปปินส์ 9.นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม และนครเมดัน ประเทศอินโดนีเซีย ในอันดับที่ 10 โดยการจัดอันดับมีการวัดค่าจากการปล่อยค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เวลาที่ใช้บนท้องถนน และความไร้ประสิทธิภาพของระบบการจราจร

หลายเมืองใหญ่ในอาเซียนเองกำลังเร่งขยับขยายเครือข่ายการขนส่งมวลชน อย่างที่นครโฮจิมินห์ เริ่มมีการก่อสร้างรถไฟใต้ดินสลับวิ่งยกระดับไปแล้ว จาการ์ตาเองก็วางเสารถไฟฟ้าไปบ้าง และมีการเปิดใช้รถไฟเชื่อมระหว่างสนามบินกับตัวเมือง ช่วยผ่อนคลายความเครียดการเดินทาง

เริ่มเห็นแสงสว่างกับระบบรางในการเดินทางฝ่าความวุ่นวายของการจราจร โดยเฉพาะในกรุงจาการ์ตาเอง ที่ผู้คนใช้เวลากว่าหลายชั่วโมงเพื่อเดินทางไม่กี่กิโลเมตร ยังไม่นับรวมกรณีฝนตกที่อาจทวีคูณเวลาการเดินทาง หรือกระทั่งนครโฮจิมินห์ที่ท้องถนนเต็มไปด้วยรถจักรยานยนต์ปล่อยควันพิษทำร้ายสุขภาพประชากร

ต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารพัฒนาเอเชียหรือ เอดีบี คาดการณ์ตัวเลขเจ็ดประเทศในอาเซียน ยกเว้น บรูไน ลาว และสิงคโปร์ ที่จะต้องใช้เม็ดเงินจำนวน 147,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ในการขยายระบบขนส่งมวลชนจนถึงปี 2573

และภายในปี 2578 ชาวอาเซียนในหลายเมืองสำคัญอาจจะได้ใช้ขนส่งมวลชนทางราง หากไม่มีอะไรติดขัด

แต่ที่น่าสนใจว่าในบรรดาโปรเจ็กต์ระบบขนส่ง จะมีพระเอกที่เข้ามาฉีดทุนดอกเบี้ยต่ำ อย่างไจก้า หรือองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น เข้ามาร่วมวงพัฒนา ไม่ว่าจะในมะนิลา หรือจาการ์ตา และโฮจิมินห์ แม้กระทั่งไทยเองก็ได้รับการช่วยเหลือจากญี่ปุ่นเช่นกัน

ไม่เพียงแค่พัฒนาระบบขนส่งมวลชนเท่านั้น รัฐบาลแต่ละประเทศต้องหามาตรการจูงใจ ความสะดวกให้กับผู้ใช้ด้วย มิเช่นนั้นการลงทุนจะสูญเปล่าเสีย


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อาเซียน อนาคตขนส่งมวลชน

view