สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หมอธี สั่งสอบเพิ่มอีก 4 ร.ร. หลังผู้ปกครองร้องรับแป๊ะเจี๊ยะ ผู้ตรวจฯชี้ชัดเงินแผ่นดินต้องมีใบเสร็จ

จากประชาชาติธุรกิจ

เมื่อวันที่ 17 มกราคม นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาทุจริต ว่าที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการตรวจสอบปัญหาทุจริต ซึ่งมีเรื่องใหญ่ที่ต้องติดตามกว่า 20 เรื่อง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เรื่องภายในซึ่ง ศธ.ต้องดำเนินการเอง เช่น การเรียกรับเงินเพื่อแลกเข้าเรียน หรือแป๊ะเจี๊ยะ ซึ่งที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าในส่วนของการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงนายวิโรฒ สำรวล ผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย จากกรณีผู้ปกครองเผยแพร่คลิปผู้บริหารโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กล่าวหาเรียกรับเงิน 4 แสนบาท เพื่อรับเด็กเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เมื่อปีการศึกษา 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมีรองผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนฯ และครู เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น ขณะนี้รอผลสรุปอย่างเป็นทางการประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ เบื้องต้นผิดวินัยร้ายแรง แต่เพื่อความเป็นธรรม ต้องให้สิทธิทั้ง 3 คนได้โต้แย้ง

“นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบโรงเรียนอื่น ซึ่งมีผู้ปกครองร้องเรียนเรื่องการเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะอีกประมาณ 3-4 แห่ง ทั้งนี้ อีกประมาณ 2 เดือน จะถึงช่วงการรับเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่ง สพฐ.และตนมีนโยบายชัดเจน ปีนี้การดำเนินการจะต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ อย่างกรณีโรงเรียนสามเสนฯ ผู้ตรวจการแผ่นดินรายงานชัดเจนว่าเงินที่รับมาเป็นเงินแผ่นดิน ต้องมีใบเสร็จ มีคณะกรรมการรับ มีวัตถุประสงค์การรับเงิน และการนำไปใช้ ซึ่งยุคนี้ใครที่คิดจะไปทำอะไรลับหลังเป็นเรื่องยาก” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

นพ.ธีระเกียรติกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้หารือกรณีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งเรื่องให้ ศธ.ตรวจสอบ กรณีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 15 (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) ใช้เงินงบประมาณเหลือจ่ายประจำปีงบ 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 62 ล้านบาท ก่อสร้างหลังคาคลุมลานอเนกประสงค์ของ 11 โรงเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส และยังมีโรงเรียนในโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้อีก 4 แห่งนั้น สตง.แจ้งเพิ่มเติมว่า น่าจะมีโครงการอื่นที่ผิดปกติด้วย ดังนั้น จึงขอให้ตรวจสอบโครงการอื่นที่ไม่ได้อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โดย สตง.รายงานข้อมูลใน 2 ประเด็น คือ ราคากลางสูงกว่าปกติ 2 เท่า และบริษัทก่อสร้างไม่เหมาะสม ซึ่ง สพฐ.และคณะกรรมการอำนวยการฯ รับทราบ และจะเข้าไปดู

นพ.ธีระเกียรติกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังรายงานความคืบหน้าการตรวจสอบปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงราชการ กับโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล ซึ่งสาเหตุที่ล่าช้าเพราะมีความเกี่ยวพันธ์กับหลายฝ่าย ทั้งนักการเมือง และผู้บริหารระดับสูง เบื้องต้นในระดับ สพฐ.นั้น ครูที่ตรวจรับถือว่าผิดวินัยไม่ร้ายแรง ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปข้อมูลได้ เพราะส่วนใหญ่ยังอยู่ในกระบวนการสืบสวนซึ่งยังไม่จบ ที่ประชุมจึงได้เร่งรัดให้ติดตามเรื่องดังกล่าว

“เพื่อให้การดำเนินการสอบสวนเรื่องต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว ผมมีนโยบายว่าต่อไปสิ่งที่ต้องทำเป็นอัตโนมัติ เวลามีการตรวจสอบการทุจริต หรือข้าราชการทำผิดระเบียบ เช่น การรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ การทุจริตสอบครูผู้ช่วย เป็นต้น จะส่งเรื่องให้ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการสอบสวนคู่ขนานกันไป ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าไม่มีการแจ้งโดยอัตโนมัติ แต่รอให้กระบวนการสอบสวนวินัยเสร็จสิ้น จึงส่งเรื่องให้ดำเนินการ ทำให้เกิดความล่าช้า ทั้งนี้ ในส่วนของทางผู้แทนของ ป.ป.ช.แจ้งว่าสามารถดำเนินการได้โดยอัตโนมัติ แต่ในส่วนของ ปปง.ถ้ามีการสอบสวนแล้วพบว่ามีการเรียกรับเงิน หรือมีโครงการใดๆ เกิดขึ้น แล้วมีมูลในขั้นการสืบสวนข้อเท็จจริง สามารถส่งให้ ปปง.เข้ามาสืบสวนได้ทันที โดยทาง ศธ.จะทำสัญญาข้อตกลง หรือเอ็มโอยู และผมจะไปพบกับเลขาธิการ ปปง.ด้วยตัวเอง รวมถึง จะขอให้ออกระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจนว่ากรณีที่มีการสอบสวนแล้ว ปปง.จะเข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร” นพ.ธีระกียรติ กล่าว

นพ.ธีระเกียรติกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเสนอจากหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมทั้ง สตง., ป.ป.ช., ปปง.และผู้ตรวจการแผ่นดินในภาพรวม ว่าถ้าเป็นเรื่องสำคัญควรจะมีคนเกาะติด ซึ่งเป็นเรื่องที่ ศธ.ดำเนินการอยู่แล้ว โดยมี พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ.เป็นคณะทำงาน คอยลงไปตรวจสอบเรื่องต่างๆ และเนื่องจากเราดำเนินการแบบนี้ ทำให้การสอบสวนต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว เช่น กรณี ตรวจสอบการดำเนินโครงการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด หรือซีซีทีวี ในโครงการ Safe Zone School 12 เขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้ส่งเรื่องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้ว เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน

“ที่ประชุมยังรายงานเรื่องการดำเนินการปรับปรุงห้องเรียน (e-Classroom) และห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล (e-Library) งบแปรญัตติ ปีงบ 2555 ของ สพฐ.ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองเก่า ผ่านมานานกว่า 5 ปี 300 กว่าโรงเรียน สอบเสร็จไปเพียง 5 โรงเรียน คิดเป็น 5% ซึ่งผมต่อว่าไปแล้วว่าล่าช้า และได้มอบหมายให้ พล.ท.โกศลลงไปตรวจสอบ รวมถึง ทุกงาน จะเข้าไปตรวจสอบการจัดหาอินเตอร์เน็ตผ่าน Monet ของ ศธ.ด้วย” นพ.ธีระเกียรติกล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : หมอธี สั่งสอบ เพิ่มอีก 4 ร.ร. หลังผู้ปกครองร้อง รับแป๊ะเจี๊ยะ ผู้ตรวจฯ ชี้ชัดเงินแผ่นดิน ต้องมีใบเสร็จ

view