สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อย่ามองน้องใหม่เป็น เหยื่อ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

ในปัจจุบันนี้ ด้วยความเจริญทางเทคโนโลยี ทำให้คนเรามีช่องทางและโอกาสทำมาหากินได้หลายรูปแบบ โดยไม่จำเป็นจะต้องมาเป็นลูกจ้างเพียงอย่างเดียวเหมือนสมัยก่อน ทำให้เกิดปัญหายอดนิยมในบริษัทต่าง ๆ

และที่เป็นปัญหาอันดับต้น ๆ คือ หาคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งงานมาทำงานด้วยยาก (อันนี้ไม่ได้พูดถึงบริษัทระดับบิ๊กเนมนะครับ เพราะบริษัทใหญ่ ๆ ดัง ๆ จะมีแรงดึงดูดให้น้อง ๆ ที่เพิ่งจบใหม่ หรือแม้แต่คนที่มีประสบการณ์ทำงานอยากไปร่วมงานด้วยอยู่แล้ว)

แถมเกิดปัญหาต่อมาอีกว่า หาคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งว่ายากแล้ว การรักษาคนที่เราหามาได้นั้นยากยิ่งกว่าขึ้นไปอีก

ที่แย่กว่านั้นคือ พนักงานที่เพิ่งเข้ามาใหม่ (ไม่ว่าจะเพิ่งจบใหม่หรือมีประสบการณ์ทำงานมาก็ตาม) ทำงานอยู่ได้แป๊บเดียวก็เซย์กู๊ดบายไปซะแล้ว !

ผู้บริหารบางท่านก็ไปเพ่งเล็งแถมต่อว่าซะอีกว่า…นี่แหละคือสไตล์ของพวกเจนวาย ทำงานจับจด ไม่สู้งาน ทำงานไม่นานก็ลาออกไปเสียแล้ว ฯลฯ

แน่ะ…ไปดราม่าเรื่องของเจเนอเรชั่นกันเสียนี่

ผมว่าอย่าเพิ่งไปมองเรื่องเจเนอเรชั่น แล้วลองย้อนกลับมามองต้นตอต้นเหตุของปัญหาของการลาออกกันก่อนเรื่องเจเนอเรชั่นจะดีไหมครับ

ปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่งที่ทำให้พนักงานใหม่ตัดสินใจลาออกที่ผมมักจะเจอมาคือ…

เมื่อฝ่ายบุคคลส่งตัวพนักงานใหม่เข้ามาในหน่วยงานแทนที่หัวหน้างานจะสร้าง first impression ให้กับพนักงานใหม่เกิดความประทับใจ ก็กลับต้อนรับพนักงานใหม่ด้วยการโยนงาน (หรือโอนงาน) ที่คั่งค้างอยู่ของพนักงานเดิมที่ลาออกไปมาให้พนักงานใหม่ทำทันทีโดยไม่มีการสอนงาน โดยหัวหน้างานก็จะบอกให้ใครสักคนในแผนกที่รู้งานดีมา “สอนงาน” น้องใหม่

แล้วคิดเอาเองว่านั่นแหละคือการ “สอนงาน” พนักงานใหม่แล้ว ! ไม่มีการพูดจาโอภาปราศรัยปรับสภาพจิตใจพนักงานใหม่อะไรกัน มากไปกว่าการรับไหว้พนักงานใหม่ แล้วก็ให้ใครสักคน (ซึ่งก็คือคนเก่าที่ทำงานมาก่อน) เอางานมากองให้ พนักงานใหม่ทำพร้อมกับการบอก ๆ ชี้ ๆ สั่ง ๆ ให้น้องใหม่ทำงานตามบอกตามสั่ง เรียกว่ามองน้องใหม่เหมือนเหยื่อที่จะต้องเข้ามาเป็นตัวตายตัวแทนคนเก่าที่ลาออกไป และบริษัทกำลังรอจะให้เหยื่อรายนี้เข้ามาเคลียร์งานที่คั่งค้างเหล่านี้ให้เร็วที่สุด

ไม่มีแผนการสอนงาน ไม่มีการเตรียมผู้สอนให้รู้ศาสตร์ในการสอนงานการเป็นพี่เลี้ยง แถมคนสอนงานก็ไม่ค่อยอยากจะสอนเพราะงานของตัวเองก็เยอะอยู่แล้ว

มองน้องใหม่เหมือนมาเป็นภาระเพิ่มให้กับตัวเอง แถมพูดจากับพนักงานใหม่แบบห้วน ๆ ดุ ๆ หรือเย็น ๆ ชา ๆ ลองถามตัวเองดูสิครับว่า ถ้าเราเป็นน้องใหม่เข้ามาแล้วเจอการรับน้องแบบนี้ เรายังอยากจะทำงานที่บริษัทนี้ต่อไปไหม

โดยตัวหัวหน้าเองก็อาจจะลืมความรู้สึกของตัวเองในวันแรกเมื่อมาเริ่มงานในที่ทำงานใหม่ว่าตัวเองก็มาแบบคนแปลกหน้า ด้วยความรู้สึกว่าคนรอบข้างรวมไปถึงสภาพรอบข้างในที่ทำงานก็แปลกใหม่ ต้องการเวลาในการปรับตัวปรับสภาพจิตใจกันบ้าง แต่พอก้าวเข้ามาในที่ทำงานเป็นวันแรกแล้วเจอการ “โยนงาน” มาเป็นกองแบบนี้จะรู้สึกยังไง ลืมคำว่า “ใจเขา-ใจเรา” ไปสนิทใจ

ผมไม่ได้บอกว่าการสอนงานของทุกแห่งเป็นอย่างนี้นะครับ แต่กำลังพูดว่าปัญหาที่ทำให้น้องใหม่ลาออกในหลาย ๆ บริษัทมักจะมีลักษณะเป็นแบบที่บอกมานี่ตะหาก !

และถ้าเป็นแบบนี้ผมไม่เรียกว่าการสอนงานหรอกนะครับ นี่คือการสั่ง ๆ บอก ๆ ให้ทำแบบมั่ว ๆ ต่างหาก ! หรือจะเรียกว่าเป็นการสอนงานแบบองค์ลงประทับหรือสอนงานแบบเทพดลใจก็ได้มั้งครับ

งั้นควรจะแก้ปัญหานี้ยังไงดี ?

1.ทุกหน่วยงานควรมีแผนการสอนงานที่ชัดเจน

2.”ผู้รับผิดชอบ” หรือ “ผู้สอนงาน” ควรจะมีการเตรียมความพร้อมให้เป็นผู้สอนงาน เช่น ควรส่งเข้าอบรมหลักสูตร train the trainer หรือหลักสูตรเทคนิคการสอนงาน เพื่อให้ผู้สอนหรือคนที่เป็นพี่เลี้ยงได้เข้าใจศาสตร์และศิลป์ของการสอนงาน โดยสร้างความคุ้นเคยเป็นกันเองรวมถึงการให้ทดลองสอนงานโดยหัวหน้างานควรจะสังเกตการสอน และให้ feedback จนแน่ใจว่าพนักงานคนนั้น ๆ สามารถเป็นผู้สอนงานที่ดีได้จริง แผนการสอนงานจะแสดงถึงความเป็นมืออาชีพของหน่วยงานนั้น ๆ และมีมาตรฐานในการทำงานที่ชัดเจนตั้งแต่พนักงานแรกเข้าอีกด้วยครับ ผู้สอนงานไม่ควรจะเร่งรัดเอาเป็นเอาตายหรือสอนงานด้วยความซีเรียสเอาเป็นเอาตายมากจนเกินไป ควรมีจิตวิทยาการสอนงาน การใช้คำพูดในเชิงให้กระตุ้นให้กำลังใจน้องใหม่เป็นระยะระหว่างการสอนงาน

3.ไม่ควรมอบหมายให้คนที่เก่งงานแต่ขาดทักษะการสอน หรือเก่งงานแต่มีวาจาเป็นอาวุธดาวพุธ เป็นวินาศ EQ ต่ำ ทัศนคติไม่ดี ฯลฯ มาเป็นผู้สอนงาน เพราะนั่นจะยิ่งเป็นตัวเร่งทำให้พนักงานเข้าใหม่ลาออกให้เร็วมากยิ่งขึ้นไปอีก

หวังว่าข้อแนะนำของผมคงจะเป็นประโยชน์ทำให้จำนวนน้องใหม่ที่เป็น “เหยื่อ” ในองค์กรลดลง ลดการลาออกและทำงานกับองค์กรได้นานมากขึ้นบ้างแล้วนะครับ


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อย่ามอง น้องใหม่ เหยื่อ

view