สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คิดแบบ บัฟเฟตต์

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Market-think

โดย สรกล อดุลยานนท์

วันก่อน “วอร์เรน บัฟเฟตต์” จัดการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2018

เป็นการประชุมที่นักลงทุนทั่วโลกจับตามอง

ผมชอบการตอบคำถามนักลงทุนของ “บัฟเฟตต์” มาก

เพราะไม่ใช่เพียงแค่บอกว่าเขาสนใจธุรกิจไหน ด้วยเหตุผลใด

แต่ยังแสดงถึง “มุมคิด” และ “วิธีคิด” ที่น่าสนใจ

อย่างเช่น เรื่องการลงทุนหุ้น Apple แบบจัดหนัก

“บัฟเฟตต์” บอกว่า Apple เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจกับผู้บริโภคได้ดีมาก

และผลกำไรก็น่าทึ่งมาก

“คุณลองคิดดูสิว่า Apple ทำกำไรได้มากกว่าบริษัทที่ทำกำไรสูงที่สุดในสหรัฐอเมริกาถึง 2 เท่า”

ถามความเห็นถึงกรณี Apple ซื้อหุ้นตัวเองคืนกว่า 6 หมื่นล้านบาท

เขาเห็นด้วย เพราะถ้าราคาหุ้นบนกระดานต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง

บริษัทควรซื้อหุ้นคืน

หรือถ้ามีเงินสดมาก ๆ แต่ไม่รู้จะลงทุนในหุ้นตัวไหนดี

การเสี่ยงลงทุนจำนวนมากในบริษัทที่ไม่มั่นใจ

สู้เอาเงินมาซื้อบริษัทตัวเองดีกว่า

เพราะรู้แน่ ๆ ว่ากำไรดี

มีคำถามหนึ่งที่เรียกเสียงฮือจากคนในห้องประชุม

“ทำไมซื้อแต่หุ้น Apple ไม่ซื้อหุ้น Microsoft”

ที่ฮือฮาเพราะ “บิล เกตส์” อยู่ในห้องประชุมด้วย

“เป็นเพราะความโง่เขลาของผมเอง”

มุขนี้ผ่าน…

แต่คำตอบแท้จริงที่แสดงถึง “วิธีคิด” ที่น่าชื่นชมก็คือ เพราะใคร ๆ ก็รู้ว่าเขาสนิทกับ “บิล เกตส์”

ถ้าไปยุ่งกับการซื้อขายหุ้น Microsoft อาจมีข้อครหาได้ว่าเขารู้ข้อมูลภายในของบริษัทนี้

“บัฟเฟตต์” ระมัดระวังและมี “จริยธรรม” ในการลงทุนมาก

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การลาออกจากบอร์ดบริหาร Kraft Heinz เจ้าของซอสมะเขือเทศ Heinz

มีคนสงสัยว่าเป็นเพราะบริษัทนี้พยายามไปเข้าซื้อกิจการ Unilever แบบไม่เป็นมิตรหรือเปล่า

ตอนแรกเขาก็ตอบแบบรักษาน้ำใจว่าอายุตอนนี้ 87 ปีแล้ว ไม่อยากนั่งบอร์ดบริหารหลายแห่ง

และการซื้อกิจการแบบไม่เป็นมิตรไม่ใช่สิ่งเลวร้าย”แต่คงดีกว่าถ้าซื้ออย่างเป็นมิตร”

อีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เรื่องเงินดิจิทัล

“บัฟเฟตต์” ไม่เห็นด้วยเลย

หลักคิดเรื่องนี้ของเขาไม่ได้เริ่มต้นว่ามีโอกาสทำกำไรแค่ไหน

แต่คิดจากหลักการง่าย ๆ ว่าเงินดิจิทัลเป็นสินทรัพย์ที่ nonproductive asset

ผิดตรรกะการลงทุนของเขา

เพราะมูลค่าของเงินดิจิทัล อยู่ที่ว่าใครจะซื้อต่อจากเราที่ราคาเท่าไร

…แค่นั้น

เหมือนกับบอกว่าเงินดิจิทัลเป็นการเก็งกำไร ไม่ใช่การลงทุน

“สกุลเงินพวกนี้จะจบไม่สวย”

เรื่องนี้คงสรุปไม่ได้ว่าใครผิดหรือถูกครับ

เพราะอยู่ที่หลักคิดของแต่ละคน

“อนาคต” จะให้คำตอบเอง

แต่เรื่องนี้สะท้อนถึงวิธีคิดของ “บัฟเฟตต์” ได้ชัดเจน

อะไรที่ผิดจากหลักการของเขา

เขาไม่สนใจ

เช่นเดียวกับการลงทุนใน Amazon และ Google

“บัฟเฟตต์” บอกว่าการไม่ซื้อหุ้น Google เป็นความผิดพลาดในชีวิต

และชื่นชม “เจฟฟ์ เบซอส” ในการสร้างอาณาจักร Amazon ว่าเหมือนปาฏิหาริย์

แต่เขาไม่ได้เสียใจอะไร แม้จะพลาดโอกาสทำกำไรจากหุ้น 2 ตัวนี้

เพราะหลักการของเขาชัดเจน

คือ ไม่ลงทุนกับธุรกิจที่ไม่เข้าใจ

สังเกตไหมครับว่าหลักคิดของ “บัฟเฟตต์” ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย

อะไรที่เข้าใจและเห็นโอกาสก็ลงทุน

อะไรที่ไม่เข้าใจ ต่อให้เห็นโอกาสก็ไม่ลงทุน

อะไรที่ขัดกับจริยธรรมก็พยายามอยู่ห่าง ๆ

“วอร์เรน บัฟเฟตต์” เป็นคนที่มีหลักคิดที่เรียบง่าย

แต่ “รวย”


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คิดแบบ บัฟเฟตต์

view