สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บล็อกเชน (Blockchain) การขับเคลื่อนการทำงานภาครัฐ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย www.lawreform.go.th

ในชั่วโมงนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งเป็นพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่าง cryptocurrency และ digital token น่าจะเป็นประเด็นร้อนที่กำลังได้รับความสนใจมากที่สุดประเด็นหนึ่ง

ผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีการเงินส่วนมากเชื่อว่า จุดแข็งหรือประโยชน์ของการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายส่วน (distributed ledger) ทั้งในแง่ความปลอดภัย ประสิทธิภาพการดำเนินการจัดเก็บข้อมูล และความรวดเร็วของการทำธุรกรรมโดยปราศจากตัวกลาง ซึ่งเหนือกว่าระบบเทคโนโลยีแบบรวมศูนย์ (Centralized server-based system) ที่กำลังใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน จะทำให้โฉมหน้าของระบบการประกอบธุรกิจและระบบการเงินของโลกเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในภาคธุรกิจการเงินแล้ว ก็ได้เริ่มมีแนวคิดของการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐเพื่อให้ตอบสนองกับพันธกิจและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

1.ตัวอย่างโครงการนำร่องระบบบล็อกเชนในต่างประเทศ ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐในหลายประเทศ อาทิ แคนาดา สหราชอาณาจักร บราซิล จีน และอินเดีย เริ่มทดลองนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ขับเคลื่อนการทำงานของภาครัฐในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบการให้บริการแก่ประชาชน ระบบการประมูลโครงการลงทุนภาครัฐ หรือแม้กระทั่งการพัฒนาระบบโครงสร้างการทำงานภายในองค์กร หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในภาครัฐ

ยกตัวอย่างดังนี้ นับตั้งแต่เอสโตเนียเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองจากระบบคอมมิวนิสต์เป็นระบบเสรีประชาธิปไตย รัฐบาลทุกสมัยก็ได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางเทคโนโลยีให้แก่ประชาชนและการพัฒนาระบบการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-service) มาโดยตลอด และในปัจจุบันก็มีโครงการนำร่องในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการเลือกตั้ง การระบุตัวตนและอัตลักษณ์บุคคลของประชาชน และการพัฒนาระบบสาธารณสุข

นอกจากนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็ได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการทำงานของภาครัฐในการจดทะเบียนบริษัท การขนส่ง และการดำเนินการของธนาคารกลาง

สหรัฐอเมริกาก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เป็นผู้บุกเบิก โดยรัฐบาลระดับมลรัฐที่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการทำงานของรัฐมากที่สุดคือ มลรัฐเดลาแวร์ (Delaware) ซึ่งเป็นรัฐที่บริษัทเอกชนขนาดใหญ่นิยมเลือกไปจดทะเบียนจัดตั้งที่ทำการสำนักงานใหญ่มากที่สุด จนเรียกได้ว่าเป็นเมืองหลวงแห่งบริษัทเอกชนของประเทศเลยทีเดียว (Cor-porate Capital of America)

มลรัฐเดลาแวร์ได้ริเริ่มโครงการนำร่องโดยการให้บริการจดทะเบียนบริษัทผ่านระบบบล็อกเชน และอยู่ระหว่างศึกษาและวิจัยความเป็นไปได้ในการสร้างระบบการเสนอขายหุ้นด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนอีกด้วย รัฐบาลมลรัฐเดลาแวร์สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนและแสดงความตั้งใจในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลบริษัทผ่านบล็อกเชน โดยการออกกฎหมายระดับมลรัฐอนุญาตให้บริษัทเอกชนที่อยู่ในกำกับดูแลสามารถออกเสนอขายหุ้นได้โดยไม่ต้องออกใบหุ้น แต่ให้ยืนยันธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านระบบบล็อกเชน นอกจากนี้ มลรัฐนิวยอร์ก มลรัฐอิลลินอยส์ และมลรัฐเท็กซัสก็เริ่มมีการทำโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาระบบการทำงานของภาครัฐด้วยบล็อกเชนแล้ว เช่นเดียวกันกับหน่วยงานในระดับรัฐบาลกลาง อาทิ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Department of Homeland Security) กระทรวงสาธารณสุข (Health and Human Services Department) และสำนักงานการบริการทั่วไป (General Services Administration)

พัฒนาการเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวของภาครัฐในหลายประเทศทั่วโลกที่มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบการดำเนินการอยู่ตลอดเวลาเพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อนึ่ง ความท้าทายของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาปรับใช้ในการบริหารจัดการของภาครัฐไม่ได้อยู่ที่การลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ หากแต่เป็นเรื่องของการสร้างความตระหนักรู้และความตื่นตัวกับความท้าทายรูปแบบใหม่ ๆ เสียมากกว่า

ที่สำคัญไปกว่านั้น รัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ภาครัฐตั้งแต่ระดับบริหารลงมาจนถึงระดับปฏิบัติการในการสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและนวัตกรรมอื่น ๆ เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

2.แนวคิดเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการขับเคลื่อนของภาครัฐภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือส่วนท้องถิ่น ย่อมต้องมีการเก็บข้อมูลหรือมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลที่มีความสำคัญ ซึ่งจะใช้เป็นพื้นฐานในการกำหนดนโยบายสาธารณะและการดำเนินการอื่น ๆ ของรัฐบาลจำนวนมาก แม้ว่าประเทศไทยจะเริ่มใช้ระบบการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศส่วนกลาง และนำระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมาให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการบริหารจัดการอยู่บ้างแล้ว แต่ก็ยังประสบปัญหาต่าง ๆ ในการดำเนินการ โดยปัญหาหลักคือการเข้าถึงข้อมูลประการหนึ่ง และความโปร่งใสในการจัดเก็บข้อมูลอีกประการหนึ่ง

หน้าที่หลักที่สำคัญของภาครัฐคือ “การสร้างแรงจูงใจ” ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับการหาจุดสมประโยชน์ระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง หรือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่มีการตรวจสอบการประพฤติมิชอบและการใช้ทรัพยากรของรัฐเกินจำเป็นหรือไม่เหมาะสมอย่างเข้มงวดด้วยแล้ว หากมีเทคโนโลยีใดก็ตามที่สามารถเสนอทางออกให้ภาครัฐโดยการลดต้นทุนการทำงานของภาครัฐและการจัดการกับความไม่มีประสิทธิภาพของการทำงาน (administrative frictions) ได้จริง ก็เป็นเรื่องที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับสูงควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ความท้าทายอีกประการหนึ่งของผู้ตัดสินใจด้านนโยบายของภาครัฐคือ การค้นหาหน่วยงานหรือโครงการที่เหมาะสมที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่โดยเฉพาะบล็อกเชนมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งก่อนตัดสินใจควรทำการวิเคราะห์ต้นทุนและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับอย่างถี่ถ้วนเสียก่อน

ในส่วนของประโยชน์ ควรพิจารณาโดยเน้นการวิเคราะห์ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนมาใช้ระบบการบริหารจัดการข้อมูล และระบบรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์ที่เข้มแข็งขึ้น และความสามารถในการให้บริการประชาชนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ตารางข้างต้นได้จำแนกข้อได้เปรียบของเทคโนโลยีบล็อกเชนแต่ละด้านเอาไว้ ซึ่งสามารถใช้ประกอบการพิจารณาแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ อาทิ การเก็บรักษาข้อมูลแบบกระจายส่วนเพื่อลดความเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมข้อมูล และการเข้ารหัส (cryptography) เพื่อตรวจสอบและยืนยันการทำธุรกรรมในแต่ละครั้ง ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในระบบการให้บริการต่าง ๆ ของภาครัฐได้ดี เช่น การจดทะเบียนบริษัทและการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

3. ตัวอย่างการนำบล็อกเชนมาปรับใช้กับการขับเคลื่อนของภาครัฐ 

1.1 การบริหารจัดการอัตลักษณ์บุคคล (identity management) การสร้างอัตลักษณ์ดิจิทัล หรือการยืนยันตัวตนผ่านระบบดิจิทัลเป็นทั้งกรณีตัวอย่างการใช้บล็อกเชนและเป็นพื้นฐานของการทำธุรกรรมระหว่างบุคคลด้วยกันเอง และระหว่างบุคคลกับรัฐในโลกดิจิทัล ดังนั้น การสร้างอัตลักษณ์ดิจิทัลที่ปลอดภัยจากอาชญากรรมทางไซเบอร์และได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐจะเป็นการสนับสนุนการทำธุรกรรมดิจิทัลในเชิงโครงสร้าง

นอกจากนี้ การจัดทำอัตลักษณ์บุคคลด้วยระบบบล็อกเชนสามารถกำหนดได้ว่า ข้อมูลส่วนบุคคลใดเปิดเผยต่อสาธารณะได้ เช่น รูปถ่ายใบหน้า ชื่อและนามสกุลจริง เป็นต้น และข้อมูลใดที่จะเก็บเป็นความลับ เช่น ข้อมูลสุขภาพ ที่อยู่ หรือข้อมูลทางการเงิน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การสร้างอัตลักษณ์บุคคลในรูปแบบดิจิทัลในปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานสากล ซึ่งอาจทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงยังทำให้มีความไม่แน่นอนในเรื่องวิธีการยืนยันตัวตน และยืนยันสิทธิ ดังนั้น อาจต้องรอให้เทคโนโลยีในด้านนี้พัฒนาจนถึงจุดอิ่มตัวก่อนที่ภาครัฐจะพิจารณานำมาใช้งานจริง หรืออาจดำเนินการผ่านโครงการนำร่องเฉพาะในวงจำกัดไปก่อนเพื่อศึกษาข้อดีข้อเสียของการใช้ระบบบล็อกเชนในการบริหารจัดการข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล

1.2 การจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ ระบบการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์และการยืนยันสิทธิถือครองที่ดินเป็นส่วนสำคัญของการส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ หากผู้ประกอบการหรือนักลงทุนมีความไม่มั่นใจในสิทธิในการครอบครองที่ดินของตนเอง เนื่องจากระบบการลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงอยู่ในรูปแบบกระดาษเป็นหลัก ซึ่งง่ายต่อการถูกปลอมแปลงหรือเสี่ยงต่อการสูญหายของข้อมูล นักลงทุนเหล่านั้นก็จะไม่กล้าตัดสินใจลงทุนเพราะไม่แน่ใจว่าจะสามารถปกป้องหรือแสดงสิทธิความเป็นเจ้าของของตนได้หรือไม่ ซึ่งการใช้บล็อกเชนเข้ามาจัดการระบบการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์จะลดตัวกลางหรือสื่อกลางการเชื่อมต่อสายข้อมูลที่ไม่จำเป็นและเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนในการยืนยันสิทธิความเป็นเจ้าของหรือสิทธิอื่นใดในที่ดิน เพราะข้อมูลต่าง ๆ ที่มีการจัดเก็บในระบบบล็อกเชนไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย

ในประเทศสหรัฐอเมริกาผู้เชี่ยวชาญหลายรายประเมินไว้ว่า การใช้ระบบบล็อกเชนในการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการยืนยันกรรมสิทธิ์ เช่น ค่าใช้จ่ายจากการทำประกันความเสี่ยงจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ประมาณ 2 ถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

1.3 การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นหนึ่งในการดำเนินงานของภาครัฐที่ประชาชนให้ความไว้วางใจน้อยที่สุด ทั้งนี้ก็เพราะในช่วงหลังการเลือกตั้งเกือบทุกครั้ง สื่อมักรายงานข่าวเกี่ยวกับการโกงการเลือกตั้งด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การปลอมบัตรเลือกตั้ง การสวมสิทธิเลือกตั้ง และการทำลายบัตรเลือกตั้ง เป็นต้น

การนำเทคโนโลยีการบริหารจัดการข้อมูลรูปแบบใหม่เข้ามาใช้เพื่อยืนยันตัวบุคคลและตรวจสอบสิทธิของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือการใช้ระบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยไม่เปิดเผยตัวตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (เช่นเดียวกับการใช้เทคโนโลยีของอีเธอเรียม (ethereum) ซึ่งจะกำหนดให้การลงคะแนนเสียงหนึ่งเสียงถูกจัดเก็บให้อยู่ในรูปของโทเคน (token)) จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของภาครัฐได้อย่างแน่นอน ยิ่งไปกว่านั้น การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวจะสามารถป้องกันการแทรกแซงและการบิดเบือนผลการเลือกตั้งโดยมิชอบ ก่อให้เกิดความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งเป็นหัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

4. บทสรุป

การดำเนินการของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ มีความคุ้มทุน รวดเร็วและตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของการบริหารงานภาครัฐ ที่ผ่านมามีการนำนวัตกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและอินเทอร์เน็ต มาใช้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประสิทธิภาพ

ในการทำงานของภาครัฐ และระบบบล็อกเชนก็ถือเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าของนวัตกรรมที่ใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น ที่จะนำมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานของรัฐเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเช่นนี้ต้องใช้เวลาและต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบและเป็นระบบ แม้กระทั่งประเทศที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของโลกเองก็ยังใช้ระบบบล็อกเชนด้วยความระมัดระวัง โดยการทำโครงการนำร่องก่อนหรือการทดลองดำเนินการผ่าน regulatory sandbox ในกรณีที่ต้องการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการสาธารณะก่อนที่จะเริ่มใช้จริงและเริ่มมีการกำกับดูแล เหตุผลก็เพราะว่า การตัดสินใจลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานในลักษณะนี้จะต้องใช้เงินภาษีของประชาชนจำนวนมหาศาล นอกจากต้นทุนทางการเงินแล้ว การตัดสินใจวางนโยบายสาธารณะที่หละหลวมจะสร้างความเสียหายต่อประชาชนทั้งประเทศในแง่อื่น ๆ ตามมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : บล็อกเชน Blockchain การขับเคลื่อนการทำงานภาครัฐ

view