สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Thucydides Trap : กับดักโค่นแชมป์ สู่บทเรียนสงครามการค้าโลก

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย รัชดา เจียสกุล โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี

ดิฉันได้รู้จักคำว่า “Thucydides Trap” (อ่านว่า ทู-สิ-ดี-ดิส แทร็ป) ครั้งแรกจากการเข้าฟัง WEF Session เรื่อง “Averting a Future World War” ในการประชุมประจำปีของแชมเปี้ยนใหม่ (annual meeting of the new champions) ที่เมืองต้าเหลียน ประเทศจีน เมื่อปีที่แล้ว ต้องยอมรับว่าเพิ่งได้ยินคำนี้เป็นครั้งแรก แต่สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ คงรู้จักคำนี้มานาน

ทูสิดีดิส เป็นนักประวัติศาสตร์ยุคกรีกโบราณ ตั้งแต่ 2,500 ปีที่แล้ว ที่ศึกษาสาเหตุสงครามว่าทำไม สปาร์ตา ในฐานะมหาอำนาจดั้งเดิมจึงเลือกตัดสินใจประกาศสงครามกับเอเธนส์ซึ่งเป็นมหาอำนาจเกิดใหม่ ทูสิดีดิสเสนอว่า เมื่อมีการผงาดขึ้นมาชิงอำนาจของมหาอำนาจใหม่จะสร้างความหวาดกลัวให้แก่มหาอำนาจเดิม ทำให้สงครามเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงมีการนิยามสถานการณ์การผงาดขึ้นมาโค่นแชมป์ของมหาอำนาจใหม่แบบนี้ว่า “Thucydides Trap”

คำว่า Thucydides Trap กลายเป็นคำฮิตขึ้นมา ? เพราะ ศ. Graham Allison จาก John F. Kennedy School of Government แห่ง Harvard University โปรโมตหนังสือเล่มใหม่ ชื่อ Destined for War : Can America and China Escape Thucydides’s Trap ? (2017) ซึ่งเปรียบเปรยการผงาดขึ้นสู่อำนาจของจีนว่า กำลังข่มขวัญมหาอำนาจเดิมซึ่งคือสหรัฐ ประหนึ่งเอเธนส์ผงาดขึ้นสีสปาร์ตาเมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว ต่างกันตรงที่ยุคนี้เริ่มต้นทำ “สงครามการค้า”

ถามว่าจีนกำลังผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่จริงไหม ?… คงไม่มีใครสงสัย ทั้งขนาดประเทศ ขนาดเศรษฐกิจ จำนวนประชากร มูลค่าการค้า มูลค่าและปริมาณการผลิตภาคอุตสาหกรรม เป็นที่ 1 ของโลกไปเรียบร้อยโรงเรียนจีนแล้ว แถมยังมี supercomputer เร็วที่สุด และมี AI Research Center ที่ advance ที่สุดในโลกด้วย

แล้วสหรัฐเลือกประกาศ “สงครามทางการค้า” กับจีนอย่างไร ? ยุทโธปกรณ์ครั้งนี้ เริ่มเห็นงัดออกมาโชว์กันตั้งแต่เมื่อต้นปีนี้ค่ะ เห็นอันแรกชัด ๆ คือ

(1) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามคำสั่งขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้า 25% และอะลูมิเนียม 10% โดยคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ภายใน 15 วัน ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการใช้มาตรา 232 ของกฎหมาย Trade Expansion Act of 1962 เพื่อสอบสวนการนำเข้าเหล็ก (steel) และอะลูมิเนียม (aluminium) ของกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ ที่เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2017 และ 26 เมษายน 2017 ตามลำดับ

(2) ตามมาด้วยระเบิดลูกใหญ่เป็นประกาศคำสั่งพิเศษ (executive order) 2 ฉบับของประธานาธิบดีทรัมป์ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2561 เพื่อสอบสวน และจัดทำรายงานสำหรับประเทศที่สหรัฐมีการขาดดุลการค้าระดับสูง และประเทศที่มีการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐ 16 ประเทศ (unfair currency) และเพื่อให้กรมศุลกากรของสหรัฐกำหนดยุทธศาสตร์การใช้กฎหมายมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และการอุดหนุน (AD/CVD) ที่สหรัฐมีอยู่ โดยให้ผู้นำเข้ารายใหม่ หรือรายที่เคยมีประวัติการทุ่มตลาด วางหลักประกันต่อศุลกากรสหรัฐก่อนที่จะอนุญาตให้ผ่านด่านเข้า

และ (3) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ประกาศเริ่มกระบวนการไต่สวนตามมาตรา 232 ของกฎหมาย Trade Expansion Act ปี 1962 อีก เพื่อขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนจากต่างประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายใน ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงสหรัฐ โดยหากผลการไต่สวนมีมูล ประธานาธิบดีสหรัฐอาจตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้านี้เช่นเดียวกับที่ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมไปแล้ว (4) ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งเพิ่มกำแพงภาษีศุลกากรจีน 25% มูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ ลอตแรก 818 รายการ และลอตที่สองอีก 284 รายการ ระเบิดลูกล่าสุดนี้ ไม่ได้ใช้มาตรา 232 แต่เป็นมาตรการตอบโต้ สืบเนื่องมาจากการตรวจสอบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐ (Trade Act of 1947) นอกจากนี้สหรัฐยังประกาศสงครามทั้งยุโรป แคนาดา เม็กซิโก ด้วย

ด้านรัฐบาลจีนก็ประกาศตอบโต้ทันทีด้วยการขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐ 25% มูลค่า 50,000 ล้านบาทเท่า ๆ กัน

ถามว่าสงครามการค้านี้จะกระทบไทยอย่างไร ? มีคำตอบ 4 ค่ายค่ะ

(1) แบบแรกแนวโลกสวยหากสหรัฐขึ้นภาษีสินค้าจีน สินค้าที่ไทยส่งไปสหรัฐกลุ่มเดียวกันก็ส่งออกได้มากขึ้นน่ะสิ แถมถ้าจีนขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐ เราก็ส่งออกไปจีนได้มากขึ้นเช่นกัน (2) แบบไทยต้องระวังหนัก ๆ คุณสหรัฐประกาศสงครามรอบด้าน เราเองก็โดนทุก shot ต้องหมั่นติดตาม และหากมีการประกาศไต่สวน และเปิดช่องขอยกเว้นการถูกใช้มาตรการขึ้นภาษีต่าง ๆ เราต้องรีบส่งการบ้าน ควรเร่งหาแนวทางลดความรุนแรงของมาตรการที่สหรัฐอาจใช้กับไทย (3) แบบหวั่นผลกระทบต่อตลาดในประเทศไทย เมื่อสินค้าจีนเข้าสหรัฐไม่ได้ และเมื่อสินค้าสหรัฐเข้าจีนยาก สินค้าเหล่านั้นจะเข้ามา dump ในไทย เพิ่มความกดดันการแข่งขันด้านราคาในประเทศไปใหญ่ ไทยพร้อมรับไหม ? และ (4) แนวพิมพ์นิยม ตั้งแต่ IMF ยัน WEF ชี้ว่าผลการขึ้นภาษีของสหรัฐจะทำให้ต้นทุนการผลิตในสหรัฐเพิ่มขึ้น ทำให้แข่งขันไม่ได้ และส่งผล

กระทบต่อการจ้างงานในสหรัฐเอง แถมยังขู่ว่า ในช่วงปี 1930 ก่อนเกิด great depression สงครามการค้าที่เกิดจากการเพิ่มกำแพงภาษีตอบโต้กันไปมานั้น ทำให้การค้าโลกหดตัวไปครึ่งหนึ่งทีเดียว นี่คงเป็นสาเหตุที่หุ้นทั่วโลกตกอย่างหนักหน่วงในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ค่ะ

ขอพาทุกท่านกลับไปที่ Thucydides นักปราชญ์โบราณกล่าวไว้ว่า สิ่งที่ผลักดันมนุษย์หรือรัฐให้ตัดสินใจทำสงครามหรือสร้างสันติภาพนั้น มาจากความจำเป็น ตามมาด้วยผลประโยชน์ (interest) ความหวาดกลัว (fear) และศักดิ์ศรี (honor) ดังนั้น หากต้องการหลีกเลี่ยงสงคราม สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง คือ ผู้นำพึงพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เหล่านั้นให้เป็นอย่างดี


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Thucydides Trap กับดักโค่นแชมป์ บทเรียน สงครามการค้าโลก

view