สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คำต่อคำ! เปิดบทสัมภาษณ์ “บิ๊กตู่” บนนิตยสาร TIME

จากประชาชาติธุรกิจ

เว็บไซต์รัฐบาล www.thaigov.go.th ได้ถอดเทปคำให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์ (Time) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. เวลา 14.30 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีใจความดังนี้

TIME :   นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนตนเองจากการเป็นทหารสู่งานการเมืองอย่างไร ?

นรม. : ในขณะที่ยังเป็นผู้นำทางทหาร ก็พัฒนาตนเองอยู่เสมอ เรียนรู้มิใช่เฉพาะงานด้านทหาร เพราะว่าทหารมีความสำคัญในการช่วยเหลือบ้านเมืองทางด้านการพัฒนา มิใช่เพียงแค่เพื่อการสู้รบ แต่ทหารยังต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนา และในรัฐธรรมนูญไทยได้กำหนดว่า ทหารไทยมีบทบาทสำคัญที่สุดคือ การป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงภายใน และในเรื่องการพัฒนาประเทศ รวมไปถึงให้ความช่วยเหลือส่วนราชการต่างๆ และแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ เนื่องจากพวกเราเป็นทหารของประชาชน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นทหารของประเทศ เป็นทหารของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ตาม ทหารทุกคนมีบทบาทในเชิงสร้างสรรค์ และในช่วงที่ผ่านมา ผมได้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ทุกอย่างกับทุกรัฐบาล ซึ่งผมเป็นทหารยาวนานกว่า 40 ปี โดยเป็น ผบ.ทบ. 4 ปี  เพราะฉะนั้นผมได้มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ พัฒนาองค์กรของผมด้วย เพื่อพร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาลในทุกอย่าง

TIME : รัฐธรรมนูญฉบับปี ๖๐ ของประเทศไทย จะช่วยให้ประเทศไทยกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างไร?  

นรม. : ที่ผ่านมา เรามีรัฐธรรมนูญหลายฉบับด้วยกัน ประเด็นสำคัญคือ เราจะทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญของเรามีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น มีการพัฒนาในเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน และที่สำคัญคือ เปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วม เราต้องสร้างคนให้ได้แบบนั้น เพื่อไม่ให้มีการแก้ไขอยู่ตลอดเวลา อันเป็นบ่อเกิดแห่งความขัดแย้งที่ผ่านมา

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ควรเป็นความคาดหวังของคนไทยทั้งประเทศ และสร้างความไว้เนื้อ
เชื่อใจให้กับต่างประเทศด้วย ดังนั้นต้องมีบริบทของความเป็นไทยเข้าไป เพิ่มเติมลงไปด้วยในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญปัจจุบันได้ผ่านการประชามติตามกระบวนการประชาธิปไตย โดยมีคนมาลงคะแนนเสียงสนับสนุนคิดเป็น 60% และมีจำนวนคนกว่า 16 ล้านคน ที่มาออกเสียงทำประชามติ ผมถือว่ารัฐธรรมนูญที่ได้มาฉบับนี้น่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ในการที่จะใช้เป็นรัฐธรรมนูญดำเนินการปกครองและบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้

ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ตอบโจทย์หลายอย่าง ได้แก่ การมีส่วนร่วม ตรงตามความต้องการของประชาชน ป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น การขัดกันของผลประโยชน์ มีกลไกต่าง ๆ ครบถ้วน เพราะไม่อยากให้ประเทศมีความขัดแย้งอีกต่อไป จึงต้องบริหารประเทศตามแนวทางของรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกฉบับต่าง ๆ ที่ประกอบกัน ต้องสอดคล้องกัน เพราะฉะนั้นจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นที่จะใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน

ข้อสำคัญที่สุดก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราจะต้องจัดการกฎหมายลูกให้ครบถ้วน และเราก็มี พรบ. หลายตัวที่เราต้องทำขึ้นมาใหม่ ซึ่งเดิมในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ อาจจะจัดทำกฎหมายลูกได้ไม่ครบถ้วน เลยทำให้การบังคับใช้การบริหารราชการแผ่นดินเกิดปัญหาขึ้น จึงมีกฎหมายลูกตามมาอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเรากำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะพูดถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งประเทศไทยไม่เคยเขียนไว้ วันนี้ก็มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีแผนการปฏิรูป ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแผนของสภาพัฒน์และนโยบายความมั่นคงของชาติ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราทำให้ครบถ้วนทั้งหมด ในกระบวนการของรัฐธรรมนูญทั้งหมดไปจนถึงกฏหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เพราะฉะนั้น 20 ปี ไม่ได้หมายความว่า เราจะไปผูกขาดอำนาจตลอดไป 20 ปี หรือแก้ไขอะไรเลยไม่ได้ 20 ปี เพราะว่ามันเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว มีการประเมินทุก 5 ปี ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ตามปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบกับการทำงานของเรา ทุกรัฐบาลก็สามารถดำเนินการได้ ไม่ได้มองว่าผมต้องการจะสืบทอดอำนาจต่าง ๆ ไม่เลย

เรามีประชาธิปไตยในประเทศไทยมากว่า 80 ปี แล้ว เพราะฉะนั้นอันนี้ ผมมองว่าเป็นยุคใหม่ของการเมืองไทย
ที่กำลังมี New Political Era เรามุ่งสู่อนาคต มีเป้าหมาย มีวิสัยทัศน์ คือ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ประเด็นเด่นสำคัญก็คือ การมีธรรมาภิบาลในระยะยาว ป้องกันการทุจริต และประชาชนมีส่วนร่วมในการเมืองให้มากยิ่งขึ้น ในช่องทาง ในวิถีทางที่มันถูกต้อง

Time: นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐธรรมนูญจะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในอดีตได้  แต่ผมได้คุยกับกลุ่มสนับสนุนตระกูลชินวัตรว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบมาเพื่อปิดกั้นตระกูลชินวัตร  นายกรัฐมนตรีมีความกังวลหรือไม่ว่า หลังการเลือกตั้ง จะเกิดความขัดแย้งแบบเดิมขึ้นมาอีกครั้ง?

นรม. : ในเรื่องดังกล่าวผมก็มีความกังวลอยู่บ้าง เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงยุคใหม่ของการเมืองไทย
ของประชาธิปไตยไทย ซึ่งคนไทยได้ทำมาเป็นเวลากว่า 80 ปีแล้ว ไม่เคยเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในเรื่องของการขัดแย้งเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนยังไม่ให้ความสนใจกับกฎหมายลูกและพรบ.ที่เกี่ยวข้องเลย ซึ่งการกระทำเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้นในประเทศฝั่งตะวันตกและตะวันออกที่มีการพัฒนาสูงแล้ว ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ในขั้นตอนดังกล่าวอยู่ หรือเรียกว่า “ระยะเปลี่ยนผ่าน” เพราะฉะนั้น ผมก็ยังคงกังวลอยู่ แต่ต้องมีการผลักดันความเข้าใจ การอธิบาย การเข้าถึง การมีส่วนร่วมให้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงต้องมีอุปสรรค

การไม่เคารพกฎหมาย ก็มีกลุ่มคนแค่บางกลุ่มที่ไม่เคารพกฎหมาย ได้พยายามใช้กฎหมายเป็นตัวกลางในการสร้างความขัดแย้ง ไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา และเป็นช่วงการตัดสินใจที่ยากที่สุดในชีวิตของผม ก่อนที่ผมจะเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งใช้เวลาในการตัดสินใจไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยมิได้เป็นการตัดสินใจมาก่อนล่วงหน้า แต่เป็นไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และผมไม่สามารถยอมรับได้หากประเทศเกิดความเสียหายไปมากกว่านี้หรือประชาชนสูญเสียและบาดเจ็บไปมากกว่านี้ ผมจึงตัดสินใจในขณะนั้น และผมก็ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด และผมรับฟังปัญหาทุกอย่างที่สะสมในอดีต รับฟังความคิดเห็นของประชาชนจากสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ รวมไปถึงข้าราชการ ผมรับฟังทั้งหมดมาประยุกต์ และประมวลผลว่า จะต้องทำงานไปในทิศทางใด ซึ่งอยากให้เข้าใจถึงเหตุผลและความเป็นมาที่ผมต้องเข้ามารับตำแหน่งนี้

ผมเองไม่ได้ต้องการเข้ามาสู่อำนาจในลักษณะนี้ ไม่เคยคิดจะเป็นนายกรัฐมนตรีแบบนี้ แต่เนื่องด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังที่กล่าวไปแล้วว่าจะให้ประเทศชาติล่มสลายไม่ได้ เพราะผมได้ให้เวลาเพื่อปรับเปลี่ยนตามกลไกประชาธิปไตยแบบปกติ ให้มีการเลือกตั้งใหม่ ให้มีการพูดคุยกัน ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่ขัดแย้ง แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะว่ามีการบาดเจ็บสูญเสีย ใช้อาวุธสงคราม ผมในฐานะเป็นทหารของประชาชนจึงยอมรับไม่ได้ และคนส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น นั่นคือการตัดสินใจของผม ตอนนี้ผมต้องการให้ประเทศกลับไปสู่การเป็นประชาธิปไตย หากผมต้องการอำนาจ ผมคงไม่เสนอร่างรัฐธรรมนูญ วาง Roadmap การเลือกตั้ง เพื่อที่จะอยู่ในอำนาจได้ยาวนาน
แต่ผมไม่ได้ต้องการแบบนั้น

Time: หากนายกรัฐมนตรีไม่รู้สึกเสียใจต่อการตัดสินใจครั้งนั้น , ท่านคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างนั้นหรือ?

นรม. : ทุกวันนี้ก็ยังไม่เสียใจ เพราะไม่มีการบาดเจ็บสูญเสียจากการที่ผมเข้ามาเลย ซึ่งก่อนหน้าผมจะเข้ามา ซึ่งเป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลที่ผ่านมา มีการบาดเจ็บสูญเสียมากพอสมควร ตั้งแต่ผมเข้ามายังไม่มีการบาดเจ็บสูญเสียในเรื่องนี้เลย ประชาชนก็ยังสนับสนุน ยังให้ผมทำงานมาถึง 4 ปี นี่คือสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง ถ้าผมทำไม่ดีเลย ผมคงอยู่ไม่ได้ ปีเดียวก็คงอยู่ไม่ได้ แสดงว่าผมก็ต้องทำอะไรที่มันเกิดผลสัมฤทธิ์มาได้บ้าง

4 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่ 4 ปี แห่งการใช้อำนาจ เป็น 4 ปีแห่งการแก้ปัญหาเดิมและอุปสรรคเดิม พร้อมกับสร้างความมีเสถียรภาพและเดินไปข้างหน้า มองถึงอนาคต ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดมาตลอด และได้ดำเนินการตามนี้มาโดยตลอด และวันนี้มันก็ถึงเวลาแล้วว่า จะต้องเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งอันเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ผมก็ได้กำหนดวิธีทางไว้ทั้งหมดแล้ว เมื่อรัฐธรรมนูญพร้อม กฎหมายลูกพร้อม ก็สามารถเลือกตั้งได้ ผมไม่เคยหวงหรือยึดอำนาจไว้

Time : ในห้วง 4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้กลับมามีเสถียรภาพทั้งในด้านการค้า การส่งออก รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น  นายกรัฐมนตรีจะยังคงบริหารด้วยระบบรัฐบาลแบบปัจจุบัน หรือให้คำมั่นที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตย ?

นรม. : ทุกอย่างผมคิดว่าจะดีกว่านี้ถ้าเป็นประชาธิปไตยแบบสากลโดยรัฐบาลที่เป็นสากล นำไปสู่การเลือกตั้ง โดยรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล เป็นรัฐบาลที่ ซื่อตรง ซื่อสัตย์ ทำเพื่อประชาชนทั้งประเทศ ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำทุกวันนี้ สิ่งที่ผมเริ่มวันนี้ จะต่อยอดไปข้างหน้าจะทำให้อนาคตดีขึ้นต่อไปได้อีกหลายรัฐบาล แต่ถ้าทุกคนย้อนกลับไปทำแบบเดิม ก่อนที่ผมจะเข้ามา สถานการณ์ก็จะกลับไปเป็นแบบเดิม ระหว่างนี้ ที่ผมดำรงตำแหน่ง 4 ปี ผมอาจจะต้องมีอำนาจพิเศษ มีกฎหมายพิเศษของผมบ้าง ของรัฐบาลบ้าง เพื่อเสถียรภาพ มิฉะนั้นจะวุ่นวายมีความขัดแย้ง สิ่งที่มีปัญหาในรัฐบาลก่อน ก็จะยังมีปัญหาในรัฐบาลนี้ ประเทศชาติจะเดินหน้าไม่ได้ ขอให้เชื่อ การใช้กฎหมายของผม ผมใช้อย่างระมัดระวังประเทศของเรา ตามที่ท่านได้พูดเรื่องเศรษฐกิจดีขึ้น การท่องเที่ยวดีขึ้น สิ่งเหล่านี้คือศักยภาพของไทยอยู่แล้ว รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องนำศักยภาพเหล่านี้มาขับเคลื่อนให้ได้จริง ตอบให้ตรงความต้องการของประชาชน นี่คือสิ่งสำคัญ

ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง ติดอยู่ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ใช้เครื่องจักรขนาดเล็ก
ขนาดใหญ่ มาประมาณ 40 ปีแล้ว ตอนนี้โลกก้าวไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ 4 เราจึงมีนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อผลักประเทศไทยให้มีรายได้สูงขึ้น มีหลายมาตรการ เช่น EEC เพิ่มการลงทุนใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ต่อยอดจากการพัฒนาเมื่อ 40 ที่แล้ว ในโครงการ Eastern Sea Board มาสู่โครงการ EEC  IEECD การวิจัยพัฒนา เมืองอัจฉริยะ พัฒนาดิจิทัลให้สอดคล้องกับการเติบโตของโลก ด้านเทคโนโลยี และดิจิทัล  เพราฉะนั้น นโยบายของไทยส่วนนี้จะสอดคล้องกับการพัฒนาของต่างประเทศด้วย เช่นของ อินโด แปซิฟิก และนโยบาย One Belt One Road เป็นนโยบายในภูมิภาคนี้ทั้งนั้น ส่วนสำคัญคือต้องมีความพร้อมของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน มีการพัฒนาตัวเอง เราจึงไปร่วมกับการพัฒนาเหล่านี้ โดยไทยจะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นทั้ง 10 และอุตสาหกรรมเดิม 5 จะเพิ่มรายได้ให้ประเทศ จะนำรายได้นี้มาดูแล ช่วยพัฒนาประชาชนที่มีรายได้ต่ำ โดยเฉพาะเกษตรกร เมื่อ EEC ได้รับความสำเร็จ ก็จะเป็นโมเดลไปพัฒนาพื้นที่อื่นของประเทศ จะเป็นแผนในอนาคต ในอีก 20 ปีข้างหน้า และเราต้องนำโครงการนี้ไปต่อยอดเป็น East-West Corridor และ North South Corridor ไปยังภาคอื่นๆ ในอนาคต

Time :  นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (the Belt and Road Initiative )ซึ่งจะเชื่อมต่อกับโครงการ EEC  อยากทราบว่าการลงทุนจากจีนและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับจีนมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนความเจริญรุ่งเรืองของไทยอย่างไร?

 นรม. : ในส่วนของจีน ในฐานะที่เป็นคู่ค้าอันดับแรก อันดับหนึ่งของประเทศไทย มีอเมริกาและก็มีอีกหลายประเทศเป็น อันดับสอง อันดับสาม อเมริกาเป็นลำดับสาม ถือเป็นมิตรประเทศของเราทั้งคู่ ทุกประเทศเป็นมิตรประเทศไทยไทยเป็นประเทศเล็ก ไทยต้องสร้างสมดุลให้ได้ทั้งทางการเมือง การต่างประเทศ สร้างสัมพันธ์ที่ดี เพราะทุกประเทศเป็นมิตรกับเรามายาวนาน อย่างจีนมีประวัติศาสตร์กับเราเป็นพันปี ของอเมริกาก็กว่า 200 ปี และมีสิทธิประโยชน์ เหมือนกับคนไทยทุกประการ  มีหลายประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่ ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องปรับรูปแบบของการทำงานตรงนี้ เพราะว่าประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางภูมิรัฐศาสตร์ในอาเซียน ไม่ว่าจะลากเส้นมาจากไหนก็ตาม ต้องผ่านประเทศไทย  ต้องเอาศักยภาพตรงนี้ขึ้นมา เพื่อไปเชื่อมโยงกับอินโดแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็น One Belt One Road ในกลุ่ม BIMSEC ในกลุ่มของ IORA  กลุ่มของ AMECES มันเชื่อมกันหมด เพราะไทยอยู่ตรงกลางของทวีป

ทุกๆประเทศ มีความสำคัญต่อไทยทั้งหมด เราต้องสร้างสมดุลให้ได้ทั้งด้านความมั่นคง การค้า การลงทุน สังคมเศรษฐกิจ ต่างๆ เพราะเราอยู่ในโลกใบเดียวกัน อากาศเดียวกัน อยู่บนพื้นดินที่ติดต่อกันทั้งโลก  น้ำ เกาะ มหาสมุทร ติดต่อกันทั้งหมด  เราล้วนเป็นมนุษยชาติ ถือว่าประเทศไทยมีส่วนร่วมกับทุกคนในการที่จะดูแลมนุษย์ชาติ ให้สงบ สันติ อย่างยั่งยืน ผมคิดอย่างนี้

เราต้องสร้างสมดุลให้ได้ในทุกมิติ อันที่ 1 ก็ คือ สร้างสมดุลกับประเทศมหาอำนาจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น EU ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ เราก็ให้ความสำคัญกับประเทศหมู่เกาะ ประเทศมุสลิม ประเทศ CLMV,  ASEAN,  Africa  เราให้ความสำคัญกับทุกกลุ่ม ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  Stronger Together นี้คือ วิสัยทัศน์ของผม ผมไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อคนไทย ผมทำหน้าที่เพื่อคนอื่นไปด้วย

ถามว่า EEC ผมมั่นใจไหม ไม่ใช่อยู่ดีๆ คิดทำ EEC ขึ้นมา โดยไม่มีการประเมินว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ สิ่งสำคัญที่กลับมาให้กับประเทศเราจะมากน้อยอย่างไร สิ่งที่เราประเมินไว้ 5 ปีแรก เศรษฐกิจจะมีการขยายตัวขึ้นอย่างน้อย ร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา เกิดการจ้างงานแสนอัตราต่อปี สร้างฐานภาษีใหม่ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 10 ล้านคนต่อปี วันนี้ก็ 30 กว่าล้านแล้วนะครับ ก็ต้องเพิ่มให้ได้อีก ลดรายจ่ายได้ 2 แสนล้านบาท สร้างฐานรายได้ให้เพิ่มไม่น้อยกว่า 4.5 แสนล้านบาท พูดถึงการลงทุน มูลค่าส่งเสริมการลงทุน ใน EEC สูงถึง 9.6 พันล้านดอลลาห์สหรัฐ ฯ ในปี 60 นะ ในปี 61 ตั้งไว้ 1.5 หมื่นล้านสหรัฐ ฯ จะช่วยกระจายรายได้ เพิ่มงาน เพิ่มการท่องเที่ยว ข้อสำคัญ คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วย เพิ่มฝีมือแรงงาน และตอบรับสังคมผู้สูงวัย ที่จะมาภายใน 5 ปี 10 ปี ข้างหน้า จะสูงขึ้นในอนาคต มองไปข้างหน้าด้วยซึ่ง EEC จะตอบปัญหาเหล่านี้ได้

ที่บอกว่าต้องให้มี GDP สูงขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ เพราะตอนนี้ที่เราทำมา 4 ปีที่ทำมา เราทำได้ 4 เปอร์เซ็นต์ แล้ว เพราะฉะนั้นถ้า EEC มาเสริมอีกอาจจะทำให้ขึ้นเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสิ่งนี้เป็นความหวังของเราหรืออาจจะมากกว่านั้นก็ได้

Time: นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า ไทยเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาในเอเชีย แต่การลงทุนในประเทศไทยของสหรัฐฯ มีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับการลงทุนจากจีนและญี่ปุ่นในขณะนี้ รวมทั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯก็มีนโยบายในลักษณะชาตินิยม และ “อเมริกาต้องมาก่อน” (American First)  นายกรัฐมนตรีมีความเห็นว่า ในห้วงเวลานี้ความเป็นพันธมิตรระหว่างไทย-สหรัฐฯ ลดน้อยลงหรือไม่?           

นรม. : ผมคิดว่าในช่วงที่ผ่านมานั้น สหรัฐอเมริกาจะมีภาระมากมายในพื้นที่ส่วนอื่นของโลก อาจจะห่างจากทางอาเซียนไปบ้าง แต่วันนี้เท่าที่ผมติดตามดูและได้พูดคุยกับประธานาธิบดีทรัมป์ ผมก็เห็นว่าท่านให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้น ท่านเข้าใจบริบทของความประเทศไทย ท่านบอกว่าไม่เคยมาประเทศไทย แต่ท่านก็ศึกษา อ่านหนังสือ ท่านก็เห็นประเทศไทยมีธรรมชาติสวยงาม มีอาหารอร่อย และมีประชาชนที่มีน้ำใจไมตรี ยิ้มแย้มแจ่มใส ท่านก็อยากมาเยี่ยมเยือน สิ่งที่ผมได้คุยกับท่านคือ เราจะหาความร่วมมือที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ ทางเราก็สนับสนุนคนไทยไปลงทุนที่สหรัฐอเมริกา และในช่วงที่ผมไปก็ไปลงทุนมากขึ้นในเรื่องของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องพลังงานหลายร้อยล้านเหรียญและคงจะเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมลรัฐโอไฮโอ รวมทั้งมีแผนที่จะไปพัฒนาส่วนอื่น ๆ มีการซื้อของ แลกเปลี่ยนกันทั้งเครื่องบินและอื่น ๆ ซึ่งมีการพูดคุยกันในเรื่องเหล่านี้ เป็นการหารือในเชิงสร้างสรรค์ และผมคิดว่าท่านเข้าใจ เราไม่ได้ลืมสหรัฐอเมริกา และยิ่งสหรัฐอเมริกามีนโยบายในเรื่องอินโด – แปซิฟิก เข้ามาด้วย ผมจึงคิดว่ามันสอดคล้องกันหมด ไม่ว่าจะเป็นอินโด – แปซิฟิก มาประเทศไทย หรือไม่ว่า one belt one road มา ก็เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของทุกประเทศ ไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวหรือประเทศอื่นประเทศเดียว

ในส่วนของไทย – จีน วันนี้ เราร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ มีความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน ฉบับที่ 3 ซึ่งเป็นความร่วมมือในทุกมิติ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องของไทยกับจีน ในส่วนของสหรัฐอเมริกา เราเป็นมิตรประเทศ หรือ ที่เรียกว่า Good Friends มีความสัมพันธ์ที่ดีมายาวนาน ตอนนี้ก็เพิ่งจัดงานในไทยไป ภายใต้ชื่อ Great and Good Friends เราเข้าใจดีว่าทั้งสหรัฐฯ และจีน อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นไทยที่เป็นมิตรกับทุกประเทศ ก็พร้อมยินดีร่วมมือกับทั้งสหรัฐฯ และจีน บนพื้นฐานของ 3M คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ การเคารพซึ่งกันและกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม

Time: จีนมีระบอบการปกครองที่แตกต่างจากประเทศตะวันตก กล่าวคือระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประเทศไทยและอีกหลายประเทศในภูมิภาคดูเหมือนว่ามีแนวโน้มจะมาใช้แนวทางดังกล่าว ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร?

นรม. : แนวทางมันก็มีส่วนดี ทุกอย่างก็ต้องมีส่วนดีส่วนไม่ดี เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่แต่ละประเทศจะเลือกใช้ ไม่ใช่ใช้อย่างนี้แล้วมันจะดีที่สุด อย่างเช่นการเป็นประชาธิปไตย เราก็มีประชาธิปไตยเป็นพื้นฐานและหลักเกณฑ์ ในส่วนปลีกย่อยที่ต้องให้เหมาะสมและของแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างอยู่บ้าง ไม่ใช่นำมาแล้วจะดีและเหมาะสมทั้งหมด ต้องมีการประยุกต์และใช้ให้ได้ ไทยเองยืนยันว่าเราเป็นประชาธิปไตยที่เป็นสากลแบบตะวันตก เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราก็ต้องทำในแบบของเรา แต่เราก็ต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความร่วมมือได้ ไม่ว่าจะปกครองอย่างไรก็ตาม ต้องร่วมมือกันให้ได้ หาจุดที่จะมาสานสัมพันธ์กันให้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะปกครองแบบใดก็แล้วแต่

Time: ผมอยากทราบถึง แนวทางประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่เหมาะสมกับไทย?

 นรม. : ประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่เหมาะสมกับไทย คือ การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน สร้างกลไกเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในขั้นตอนต่าง ๆ ที่ถูกต้อง และในเรื่องของการมีสิทธิและเสรีภาพต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และการละเมิดสิทธิต่าง ๆ ถึงแม้จะเป็นสิทธิของประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น เพราะเส้นแบ่งระหว่างสิทธิมนุษยชนและเส้นแบ่งของการทำผิดกฎหมายเป็นเส้นเดียวกัน สิ่งนี้ผมคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญ

เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุดของ หลักการประชาธิปไตย คือ หลักการที่เคารพเสียงส่วนใหญ่ และต้องดูแลเสียงส่วนน้อยด้วย แต่ที่ผ่านมา ประชาธิปไตยของประเทศไทยสมัยก่อน เป็นแบบเคารพเสียงส่วนใหญ่เท่านั้น มิได้ดูแลเสียงส่วนน้อย ดังนั้นผมจึงเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ เพื่อให้เกิดการรับฟังความคิดเห็น 2 ทาง การสื่อสาร 2 ทาง มีการใช้ Big Data ในการบริหารราชการแผ่นดิน มีการใช้ช่องทางออนไลน์ เพื่อเปิดช่องทางการเข้าถึงรัฐบาลได้ตลอดเวลา เรามีศูนย์ดำรงธรรม ที่รับฟังและแก้ไขปัญหาของประชาชน มากกว่า 2 ล้านเรื่อง ตลอดระยะเวลา 4 ปี และรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาไปได้ร้อยละ 90 ของปัญหาทั้งหมด ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ได้รับการแก้ไข เราแก้ไขไปมากกว่าล้านกว่าเรื่อง

เราต้องพิจารณาเจตนาของคนส่วนน้อยเหล่านี้ว่ามีเจตนาบริสุทธิ์หรือไม่ หากมีเจตนาบริสุทธิ์ รัฐบาลก็ต้องรับฟัง แต่หากเจตนาดังกล่าวไม่บริสุทธิ์ จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย วันนี้ก็กำลังมีปัญหาอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ ต้องไปดูเจตนารมณ์ของเสียงส่วนน้อย ฝ่ายใดเป็นคนกระทำ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนอลม่าน มิให้คนส่วนใหญ่เสียผลประโยชน์ไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้

Time: ในกรุงเทพฯ ยังคงมีการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งจากกลุ่มนักศึกษา ซึ่งมีบางคนถูกดำเนินคดี  อยากทราบว่า ในขณะนี้ควรอนุญาตให้มีการชุมนุมหรือไม่?

นรม. :รัฐบาลมีช่องทางให้กลุ่มผู้ชุมนุมสามารถเรียกร้องได้ มีการขออนุญาตและรับฟังความคิดเห็นและความต้องการดังกล่าวเพื่อนำมาแก้ไข เพราะหากรัฐบาลปล่อยให้มีการเคลื่อนไหวอย่างอิสระเสรีทั้งหมด อาจจะทำให้การเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยเป็นไปได้ยาก รัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยไปสู่ประชาธิปไตยให้ได้ ต้องไปดูว่าเด็กนักเรียนต่าง ๆ ที่มาประท้วง ถ้าเราเข้าใจจริง ๆ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลไม่ได้อยากบังคับใช้กฎหมาย มีการผ่อนผัน และไม่ได้จับกุมหลายครั้ง แต่เด็กกลุ่มนี้ก็ยังทำเหมือนเดิม เพราะเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้อาจริงเอาจัง มองว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นเด็ก เพราะฉะนั้นหากมีความจำเป็น ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิด ขณะเดียวกันคนส่วนใหญ่ของประเทศก็ไม่ชอบเพราะทำให้บุคคลอื่นเกิดความเดือดร้อน รัฐบาลก็พยายามรับฟังว่าเขาต้องการอะไร วันนี้เขาต้องการให้มีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องยังเสร็จ  กฎหมายเหล่านี้เสร็จ ก็จะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า จะเรียกร้องได้อย่างไรให้เลือกตั้งเร็วกว่านี้ ในเมื่อกฎหมายยังไม่เสร็จ แลรัฐบาลก็ไม่ได้เป็นคนไปดึงกฎหมาย หากมีความขัดแย้งก็ส่งศาลพิจารณา ไม่ได้มีการสั่งศาลว่าให้ออกเมื่อไหร่ ถ้ากฎหมายลูกออกครบ 10 ฉบับ กฎหมายที่สำคัญออกมาครบถ้วน มันก็จะดำเนินไปตามนั้น จะเลือกตั้งได้ไม่เกินต้นปีหน้า จะมาขอให้รัฐบาลทำให้เร็วขึ้น มาต่อต้านไม่ได้ เด็กกลุ่มนี้ หนังสือก็ไม่เรียน อยู่ในกลุ่มเคลื่อนไหวมาโดยตลอด แต่ผมเห็นเค้าเป็นเด็ก ผมก็เมตตาเขาอยู่เลย หากไม่บังคับใช้กฎหมายเลย คนที่เหลือก็จะมาเล่นงานรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ว่าปล่อยปะละเลยให้บ้านเมืองสับสนอลม่าน นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

วันนี้เราเปิดช่องทาง มี พรบ.การชุมนุม ถ้าชุมนุมโดยปกติ มาเรียกร้องอะไร รัฐบาลก็อนุญาตและพิจารณาให้ตลอด แต่หากสร้างความขัดแย้งในที่สาธารณะ เดี๋ยวก็จะมีอีกกลุ่มมาต่อต้าน ก็จะตีกันเหมือนเดิม กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่มาจากการเมือง มีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย อีกกลุ่มที่ต้องการความสงบสันติสุข เขาก็จะเตรียมรวมกลุ่มออกมาเพื่อต่อต้านกลุ่มนี้ ก็จะกลับไปที่เดิม จึงต้องมีการบังคับใช่กฎหมายบ้าง

TIMES : นายกรัฐมนตรียังคงยึดมั่นในเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือไม่?

นรม. : ใช่ ตอนที่ให้ติดตามทั้งหมดมีเรื่องอะไร เรื่องสิทธิมนุษยชน แต่สิทธิมนุษยชนก็ต้องดูว่ามันมี… มันก็เหมือนกัน มันมีคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามจับประเด็นเรื่องนี้มาเพื่อจะสร้างความไม่เข้าใจในเวทีโลกให้กับประเทศไทย คนเหล่านี้ก็รู้อยู่ว่าเป็นคนกลุ่มไหน ผมไม่กล่าวถึง แล้วมันก็มีกลุ่มที่จะเคลื่อนไหวไปพร้อมๆกับกลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้ ซึ่งจริงๆแล้วเราพยายาม ต้องดูว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนคืออะไร การละเมิดสิทธิมนุษยชนก็คือการที่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเกินเลย ใช้ความรุนแรง มีการซ้อม มีการทรมาน รัฐบาลลงโทษทุกอัน ไม่ให้มีการทำแบบนี้ เพราะฉะนั้นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องดูว่าคนเหล่านี้ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่นหรือเปล่า ทำคนอื่นเดือนร้อนไหม ทำการจราจรติดขัดไหม หรือคนที่ต้องการค้าขายทำมาหากิน แล้วพวกนี้ไปละเมิดเขาจนกระทั่งต้องปิดเมือง แล้วผมถามว่าไปละเมิดสิทธิมนุษยชน แล้วกฎหมายอยู่ตรงไหน ท่านคงเข้าใจอยู่แล้วล่ะ

เรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่ในสมัยรัฐบาลนี้ลงโทษหมด ไม่ว่าการบังคับใช้กฎหมายอะไรในปัจจุบัน ลงโทษหมด เจ้าหน้าที่ก็ลงโทษ ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ มีการกล่าวอ้างว่ามีการทำร้ายร่างกาย ก็ลงโทษหมดหลายอย่าง ถือว่ารัฐบาลนี้แก้ไขได้มากที่สุด แต่เรื่องการละเมิดที่เค้าอ้างกันมา ที่เด็กๆไปละเมิดทางการเมืองอะไรทำนองนี้ก็ต้องไปดูว่า จะทำให้บ้านเมืองสงบสุขได้อย่างไร

เขาต้องการให้มีการจับกุม เราก็ปล่อย แล้วก็มีการดำเนินการให้หยุดการชุมนุม แล้วก็เลิกหลายครั้งแล้ว แล้วก็มาใหม่ มาใหม่ ต้องการให้ภาพการจับกุม การใช้ความรุนแรง เพื่อจะไปข้างนอก อันนี้อาจจะเป็นกระบวนการทำของใครซักคน ผมไม่อยากไปกล่าวถึง

TIMES: ขอถามถึงความเป็นมาก่อนที่ท่านจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทำไมท่านจึงตัดสินใจเลือกที่จะมารับราชการทหาร?

นรม: เพราะว่าอันที่หนึ่งคือ ครอบครัวผมเป็นทหาร ตอนเด็กๆบ้านผมอยู่ในค่ายทหาร ผมเห็นการมีระเบียบวินัย เห็นความเข้มแข็ง ความอดทนของเค้า เห็นถึงความรักชาติ  ไปประจำอยู่ชายแดน ไปรบต่างประเทศ ก็นึกในใจไว้ว่าเรามาเป็นทหาร เราต้องเสียสละ เราต้องทำเพื่อสถาบัน สิ่งที่เกิดกับผมมาตั้งแต่เด็ก ไม่เคยคิดเป็นอย่างอื่นตั้งแต่เด็ก แต่ไม่ได้คิดว่าจะเป็น ผบ.ทบ. จะเป็นใหญ่เป็นโต ขอแค่เป็นทหาร นั่นคือความคิดเด็กๆของผมนะ แล้วก็ไม่เคยคิดที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย

TIMES: ผมทราบว่านายกรัฐมนตรีชอบการร้องเพลง และแต่งเพลงหลายเพลง  ท่านจะเป็นนักร้องอาชีพหรือไม่?

 นรม: ผมชอบฟังเพลง อาจจะร้องเพลงไม่เก่ง แต่ชอบฟังเพลง และแต่งเพลง หลายอย่าง ทั้งเพลงไทย เพลงสากล สิ่งที่ผมฝึกตัวเองมาตั้งแต่เด็กคือการอ่านหนังสือมากๆ แล้วนิสัยคนไทยก็เจ้าบทเจ้ากลอน เพราะฉะนั้นการพูดอะไรที่คล้องจอง แล้วผมชอบเขียนหนังสือ การเขียนหนังสือก็ต้องใช้จิตวิญญาณในการเขียน มาร้อยเรียงให้สอดคล้องต้องกัน ร่างหนังสือก็สำคัญ เพราะฉะนั้นผมก็ใช้ประสบการณ์ผมในการเขียนหนังสือ ในการอ่านหนังสือ เอาคำต่างๆมาผสมผสานกัน แล้วคิดว่าการที่เขียนเพลง จริงๆผมเขียนเป็นบทกวี บทกลอนออกมา ที่อาจจะไม่เพราะมากแต่ต้องการจะถ่ายทอดความรู้สึกของผมภายในออกมา ผมคิดว่าเป็นวิธีการสื่อสารอีกวิธีหนึ่งที่ให้คนไทยได้รับรู้รับทราบว่าผมคิดอะไร ทำอะไร มีความตั้งใจอะไร อย่างที่บอกคนไทยเจ้าบทเจ้ากลอน เพราะฉะนั้นอาจจะเป็นการสื่อสารที่ดีก็ได้ ผมก็แต่งออกมา

บทกวีบางบท คำบางคำ สามารถทดแทน คำพูดหลายหมื่นคำ ไม่ต้องสิ้นเปลืองเสียเวลา ผมอาจใช้บทกวีแทนคำพูดซัก 5 หน้ากระดาษก็ได้ แสดงให้เห็นว่าความคิดผมไม่เคยหยุดนิ่ง ผมจะร้อยเรียงทุกอย่างหมดในหัวผม เรื่องการบรูณาการ การบริหารจัดการ 20 กระทรวง ทุกอย่างอยู่ในหัวผมทั้งนั้น แล้วผมต้องจัดระเบียบสมองผมให้ได้ เพราะฉะนั้นการเขียนบทกวี บทกลอน ช่วยให้ผมเรียบเรียงได้ในหัวผม ช่วยตัวผมเองด้วย และการถ่ายทอดไปยังคนอื่นด้วย

TIME: นายกรัฐมนตรีจะทำอะไร เมื่อท่านพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว?

นรม: ผมจะกลับบ้านไปพักผ่อนกับครอบครัว ผมต้องให้เวลากับครอบครัวให้มากขึ้น ผมมีชีวิตในการเป็นทหารมา 40 ปี ในช่วงเวลา 40 ปี ผมได้อยู่กับครอบครัวมาช่วง 10 ปีสุดท้าย และลูกผมก็เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว เพราะผมอยู่ต่างจังหวัดมาโดยตลอด และเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เมื่อรับตำแหน่งผู้บัญชาการระดับสูง วันนี้ผมยังติดค้างลูกอยู่ว่า หากผมเกษียณอายุราชการทหารแล้ว ผมจะพาลูกไปพักผ่อน ไปสถานที่ต่างๆ ซึ่งผมไม่เคยไปกับลูก ส่วนใหญ่ก็เป็นหน้าที่ของภรรยาที่พาลูกไป ผมถือว่าเป็นการเสียสละของครอบครัวอย่างยิ่ง และช่วง 4 ปีทีผ่านมา ความเป็นอิสระของคนในครอบครัวลดลง เนื่องจากการเดินทางที่สาธารณะต้องมีความมัดระวัง  ซึ่งผมไม่อยากให้เป็นภาระของคนในครอบครัว เพราะฉะนั้นผมถือว่าครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญในสังคมไทย รวมไปถึงทุกประเทศก็เป็นเช่นเดียวกัน ในการให้ความสำคัญกับครอบครัว เพราฉะนั้นผมจึงต้องให้เวลากับคนในครอบครัว หากวันหนึ่งผมไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีผมก็จะไปพักผ่อน อย่างไรก็ตาม ผมไม่สามารถระบุตรงนี้ได้ ผมได้แค่บอกคนในครอบครัวผมว่า ประเทศชาติต้องสำคัญกว่าทุกอย่าง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ประเทศชาติต้องมาก่อนเสมอ โดยเฉพาะประเทศชาติ และประชาชน อันมีสถาบันอันเป็นที่รักยิ่ง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน นั่นคือหัวใจผมของลูกๆ

TIME: หลังจาก ก.พ.๖๒ ท่านจะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ? หรือจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่?

นรม: ผมคิดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสถานการณ์ในวันข้างหน้า ว่า เราต้องการสิ่งใด รวมไปถึงการสานต่อการทำงาน ผมยังไม่ได้คิดนอกเหนือจากเรื่องดังกล่าว ซึ่งผมไม่สามารถกำหนดว่าผมจะอยู่ในฐานะใด โดยขึ้นอยู่กับประชาชน และสถานการณ์ในวันข้างหน้า ผมไม่สามารถกำหนดเองได้ เมื่อถึงเวลานั้นก็จะเป็นเรื่องของประชาธิปไตย รวมถึงการเลือกตั้ง และเป็นสถานการณ์ที่เราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ซึ่งต้องรอดูต่อไป

TIME: การที่ท่านเกิดที่จังหวัดนครราชสีมา ท่านคิดว่า ท่านเป็นคนอีสาน ? หรือเป็นคนไทย? หรือ เป็นทหารมากที่สุด?

นรม: พ่อของผมเป็นคนกรุงเทพฯ แม่ของผมเป็นคนภาคอีสาน และวันนี้ผมเป็นทหารมา 40 ปี ผมเป็นทหารให้กองทัพบก ดูแลคนทั้งประเทศ ในวันนี้ผมมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่การเป็นทหารในแต่ละภูมิภาค แต่เป็นนายกรัฐมนตรีของคนทั้งประเทศ โดยมีจำนวน 70 ล้านคน ทั้ง 77 จังหวัด นี่คือตัวตนของผม

TIME: ผมได้คุยกับกลุ่มเห็นต่างทางการเมืองจำนวนหนึ่ง ท่านคิดว่าการบริหารประเทศของท่านในปัจจุปัน  เป็นการยุติความรุนแรงทางการเมืองหรือไม่?

นรม: ในวันนี้ต้องการที่จะทำให้คนมีความสุข เกิดการปรองดองกัน ไม่แค่ผมรักแค่คนเดียว แต่ขึ้นอยู่กับจิตใจของคนไทยทุกคน รวมไปถึงนักการเมือง และทุกอาชีพ ต้องมีจิตใจมาก่อน ในเรื่องปรองดองสมานฉันท์ ไม่แบ่งฝ่าย ในตอนแรกผมคิดว่าคนไทยในทั้งประเทศมีความพร้อมในเรื่องดังกล่าว  แต่ก็มีบางคนที่พยายามแบ่งฝ่าย ซึ่งปัญหาดังกล่าวเราก็จะต้องใช้วิธีการที่เหมาะสม โดยปราศจากความรุนแรง ซึ่งผมมีความเป็นห่วงตรงจุดนี้ แต่สิ่งที่ผมได้ทำไป ผมไม่ได้คิดเอง เพราะได้มีการคิดวิเคราะห์ มีกระบวนการต่างๆ ที่นำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ด้วยความเข้าใจของคนไทยทุกคนต้องไม่เลือกกฎหมาย ไม่เลือกการบังคับ ซึ่งที่ผ่านมาผมบังคับคนในกองทัพบกรักษาวินัยควบคุมหน่วยทหารมา 40 ปี และเป็นผบ.ทบ. 4 ปี ทำให้ผมเบื่อในการใช้กฎหมาย แต่ก็จำเป็นต้องทำในสถานการณ์ขณะนี้ นอกจากนี้ การปฏิรูปต้องเริ่มจากทุกคน มาจากหัวใจของคนไทยทุกคน


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คำต่อคำ เปิดบทสัมภาษณ์ บิ๊กตู่ นิตยสาร TIME

view