สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พิพิธภัณฑ์ถ้ำหลวง ต้องบันทึกให้เกลี้ยง-อย่าทำแบบราชการ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน ด้วยเงื่อนไขของเวลาและธรรมชาติของความสนใจต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่แปรเปลี่ยนไปอย่างไม่หยุดยั้ง อีกไม่นานภารกิจช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ 13 ชีวิต ออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย หลังจากติดอยู่ในถ้ำ 18 วัน ก็จะค่อยๆ จางไปจากความสนใจของผู้คน เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ

แต่เหตุการณ์นี้ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ถึงพลังความสามัคคีจากทั่วโลก ทุกชาติศาสนา ได้แสดงให้เห็นถึงพลังอัน ดีงามผ่านช่องทางต่างๆ จนเรียกได้ว่าปรากฏการณ์นี้กลายเป็นแบบอย่าง ครั้งสำคัญของโลกด้านความรัก ความสามัคคี การช่วยเหลือของเพื่อนมวลมนุษยชาติ ยามที่ตกอยู่ในภาวะอันตรายต่อชีวิต นี่เป็นเหตุการณ์สำคัญของประเทศไทยและของโลกที่จะต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์

ด้วยเหตุนี้ การบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ในรูปแบบต่างๆ อย่างครบถ้วน ก็นับเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ นักเขียนชื่อดัง ที่ปรึกษาสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) ระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลกรณีที่จะสร้าง สถานที่เพื่อรำลึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ จะได้พิพิธภัณฑ์ในรูปแบบราชการ ที่อาจจะไม่น่าสนใจ ซึ่งสิ่งที่ควรรวบรวมไว้ก็คือ การบันทึกเหตุการณ์จริงไว้ ให้ได้ครบถ้วนที่สุด

"เสียดายที่จบภารกิจช่วยเหลือ หลายสิ่งอาจจะไม่ได้ถูกเก็บไว้ ชุดของเด็ก จักรยาน หรือสิ่งของส่วนตัวของแต่ละคน รัฐควรขอเก็บไว้แบบคงสภาพเดิม หลายประเทศเมื่อต้องจัดสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกเหตุการณ์ จะต้องมีของจริงที่ใช้ในเหตุการณ์มาแสดงก่อน เทคโนโลยีสมัยใหม่อาจจะเอื้อเรื่องการออกแบบ สร้างภาพเคลื่อนไหวต่างๆ ก็จริง แต่ก็น่าสนใจสู้ของจริงไม่ได้ หรือเรื่องราวของคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น กรณีที่มี นพ.ริชาร์ด แฮร์ริส วิสัญญีแพทย์และนักดำน้ำชาวออสเตรเลีย เซ็นเอกสารรับรองการช่วยเหลือในที่จริง

...เรื่องราวทั้งหมด ต้องถูกเรียงร้อยอย่างละเอียด หากเป็นไปได้ก็ควรสร้างสถานที่รำลึกใกล้ที่จริงและบางส่วนในที่จริง หาวิธีนำเสนอที่น่าสนใจ ซึ่งเชื่อว่ามีผู้มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้พร้อมจะเสนอแนะมากมาย ต้องตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะเดือนหน้าคนก็อาจจะลืมเรื่องนี้หมดแล้ว" ที่ปรึกษามิวเซียมสยาม กล่าว

เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศ ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งที่ควรสร้างขึ้นอย่างยิ่งก็คือ หาสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ที่อาจจะ เป็นทั้งการระบุถึงบุคคลสำคัญใน ช่วงเวลานั้น และเป็นสัญลักษณ์ที่ระบุถึงเหตุการณ์ แต่ไม่เน้นตัวบุคคล แต่จะต้องหลีกเลี่ยงเรื่องการตอกย้ำถึงชะตากรรมของเด็กๆ ผู้ประสบภัย

"ก่อนอื่นต้องยึดหลักการว่า ทำอย่างไรก็ได้เพื่อจะคืนชีวิตปกติให้เด็กๆ ให้มากที่สุด เราสามารถถอดบทเรียนเรื่องความสามัคคีได้ แต่ควรเลี่ยงตอกย้ำความทรงจำด้านไม่ดี ผมอยู่ญี่ปุ่นมาหลายปี เห็นตัวอย่างด้านที่น่าสนใจในการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับภัยพิบัติ"

เจษฎา กล่าวว่า ที่เคยพบเห็นอย่างกรณีแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิสูงกว่า 7 เมตร โถมถล่มเมืองเซนได เมื่อปี 2554 นอกจากมีเนื้อหาเรื่องการเตือนภัยพิบัติแล้ว ยังมีการเก็บสถานที่เกิดเหตุการณ์ไว้ในสภาพเดิม เช่น ดาดฟ้าอาคารเรียนของโรงเรียนประถมศึกษาอะระฮามะ เมืองเซนได ที่เปิดให้ชมอาคารโรงเรียนที่ถูกคลื่นยักษ์สึนามิ

โถมถล่มขึ้นไปถึงชั้น 2 ของอาคารมีการรวบรวมข้อมูลสิ่งที่จัดแสดงและภาพสารคดีต่างๆ รวมถึงคงสภาพของช่วงที่เกิดเหตุไว้ เมื่อขับรถผ่านอาคารดังกล่าวก็จะเห็นป้ายบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ของเราแค่รวมหน้าหนึ่งหรือเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ทั้งโลก ที่นำเสนอข่าวการช่วยเหลือทีมหมูป่ามาได้อย่างครบถ้วน เห็นว่าทั้งโลกพูดถึงเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ก็น่าสนใจอย่างยิ่ง

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ส่งที่ควรรวบรวมก็คือ ข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับถ้ำ รวบรวมเรื่องระดับน้ำ ปริมาณน้ำฝน การจัดการน้ำในช่วงที่มีสถานการณ์ของทีมหมูป่า ควรจะมีข้อมูลการสำรวจถ้ำช่วงที่เกิดเหตุการณ์และมีการบันทึกเอาไว้ เมื่อรวมกับที่เคยมีการสำรวจมาแล้วก็น่าจะมีข้อมูลทั้งในถ้ำและนอกถ้ำเพิ่มขึ้นอย่างละเอียด ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกคนโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในอนาคตอีกด้วย

"ที่สำคัญ คือเรื่องของเหตุการณ์ ควรจะมีเรื่องราวของทีมช่วยเหลืออย่างละเอียด ลงลึกไปถึงทีมช่วยเหลือในทุกมิติ ทุกหน้าที่ เช่น การดำน้ำ ข้อมูลวิชาการ โรงครัว บริการของ จิตอาสา ฯลฯ นี่เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เรายังเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ ที่ยังมี ความดี ความงาม ความจริง เป็นช่วงเวลาที่จะได้เห็นว่าสปิริตของเราที่ไม่มีวันสูญหายไป และครั้งหนึ่งได้เกิดขึ้นแล้วและถูกจารึกไว้ที่นี่"ประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าว

https://www.posttoday.com/politic/report/558572


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พิพิธภัณฑ์ถ้ำหลวง  บันทึกให้เกลี้ยง อย่าทำแบบราชการ

view