สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มุมมองเชิงมหภาค : การผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ? (จบ)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ TDRI

อีกปัญหาที่ต้องเผชิญคือ ถึงแม้ครูอาจารย์จะปรับตัวได้ดี แต่ไม่มีเด็กนักเรียนนักศึกษาให้สอน เพราะเด็กเข้าเรียนลดลง จากที่เคยเข้าเรียนชั้น ป.1 ไม่ต่ำกว่า 1.4 ล้านคน ปัจจุบันเหลือเพียง 0.7 ล้านคนเศษเท่านั้น ผลต่อเนื่องก็คือจำนวนเด็กต่อชั้นเรียนในระดับ สพฐ. หรือนักศึกษาที่เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย บางสาขาวิชามีเด็กลดลง และ/หรือไม่จำเป็นต้องเข้ามาเรียนแบบเดิม ๆ แต่ปรับเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์ (ในอนาคต) ผลคือปริมาณค่าเล่าเรียนและเงินอุดหนุนมีไม่พอจ่ายเงินเดือนครูอาจารย์ และค่าดูแลอาคารสถานที่ในภาวะการแข่งขันสูง ในที่สุดผู้แพ้ก็ต้องปิดสาขาวิชา และ/หรือต้องปิดสถานศึกษา ยกเลิกการจ้างครู ซึ่งน่าจะเกิดก่อนกับการศึกษาเอกชนที่ปรับตัวเองไม่ได้ในทุกระดับการศึกษา

ส่วนสาขาอุตสาหกรรม ที่เป็นความหวังของประเทศต้องเผชิญการแข่งขันทั้งภายนอกและภายในประเทศ โดยภาพรวมมีความสำคัญต่อประเทศที่มีผลต่อปริมาณ GDP คิดเป็น 3.67 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.6 เน้นเฉพาะสาขาย่อยที่สำคัญที่สุด คือ อุตสาหกรรมการผลิต มีมูลค่า GDP 2.82 ล้านล้านบาท ในปี 2560 และมีแรงงานประมาณ 6.3 ล้านคน ในต้นปี 2561 ภูมิหลังการศึกษาระดับล่าง (ม.ต้น หรือต่ำกว่า) ถึง 3.47 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 55.2 ระดับกลาง (ปวช. ม.ปลาย ปวส.) จำนวน 1.83 ล้านคน หรือร้อยละ 29.0 และระดับสูง (ป.ตรีขึ้นไป) จำนวน 1 ล้านคน หรือร้อยละ 15.8 อย่างไรก็ตาม เมื่อคิดเป็นมูลค่าเพิ่มต่อหัว สาขาการผลิตนี้มีค่า 447,619 บาทต่อคนต่อปี เปรียบเทียบกับสาขาบริการ และสาขาเกษตร คือ 354,706 บาท และ 51,758 บาทตามลำดับ การมุ่งเป้าไปที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับรายได้ โดยภาพรวมจาก 276,300 เป็น 480,000 บาทต่อคนต่อปี เพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยอาศัยอุตสาหกรรมการผลิต (เน้นไป 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย) จึงเป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาประเทศที่เป็นไปได้ จากการศึกษาของทีดีอาร์ไอพบว่า การขยายตัวของผลิตภาพควรเกินร้อยละ 4 หรือ 5 ต่อเนื่องกันนับ 10 ปี จึงจะทำให้ประเทศไทยพ้นกับดักของประเทศกำลังพัฒนาได้

ทางออกของประเทศไทย นอกจากจะต้องปรับเปลี่ยนประเทศไทยด้วยอุตสาหกรรม 4.0 การที่ประเทศไทยจะมุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยให้น้ำหนักกับอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งปัจจุบันมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่มากนักที่ได้พัฒนาตัวเองมาถึงอุตสาหกรรม 3.5 การที่มีจำนวนอุตสาหกรรมที่มีขีดความสามารถสูงพร้อมที่จะปรับตัวไปใช้เทคโนโลยีชั้นสูงจำนวนไม่มาก จึงต้องการแรงงานเลือดใหม่มากกว่าแรงงานเดิมที่มีอยู่ในระบบ ซึ่งมีเพียงร้อยละ 45 ที่จะพัฒนาผ่านระบบการฝึกอบรมที่เข้มข้น เพื่อให้เป็นแรงงานผลิตภาพสูง ส่วนของแรงงานรุ่นใหม่ที่มีสมรรถนะสูงพอที่จะทำงานในอนาคตได้ ต้องเป็นแรงงานที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ มีความรอบรู้ โดยผ่านการศึกษาในระบบ STEAM education หรือผ่านการฝึกฝนภายใต้กรอบของ twenty first century skills มาแล้ว สามารถทำงานที่ต้องใช้สมรรถนะด้าน problem solving skills, critical thinking skills, communication skills เป็นต้น เพื่อให้สามารถทำงานสร้างสรรค์ ทำสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ จนเกิดเป็น creative workforce จำนวนมาก และกลายเป็น innovative workforce ในที่สุด

การทำงานในอุตสาหกรรมรุ่นใหม่นี้ มี 2 กลุ่มหลักที่มีความต้องการสูงมาก คือ แรงงานระดับ technicians ที่ผ่านการเรียนรู้จากสถาบันอาชีวศึกษาที่น่าเชื่อถือ ทำงานร่วมกับสถานประกอบการอย่างใกล้ชิด 5 แสนคน ใน 10 ปีข้างหน้า โดยการคัดเลือกจากสถาบันอาชีวศึกษาเกือบ 850 แห่ง ทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ จากนักศึกษาทุกชั้นปีเกือบล้านคน โดยรัฐการันตีว่าเรียนจบแล้วได้งานทำแน่นอน และมีเงินเดือนมากกว่าผู้จบที่ไม่ได้ศึกษาในสถาบันที่รัฐส่งเสริม

อีกกลุ่มคือ ผู้เรียนในระดับปริญญาตรีขึ้นไป โดยเฉพาะสาขา S&T ควรสนับสนุนทุนให้ไปเรียนที่ต่างประเทศ ระหว่างนี้อาจต้องนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาก่อน เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้นักวิจัยไทย หรือส่งคนไทยที่จบ ป.โท และ ป.เอก ไปเรียนเพิ่มเติมหลังจบปริญญาเพื่อเพิ่มเติมความรู้และประสบการณ์กลับมาพัฒนาประเทศในระยะสั้น 1-3 ปีข้างหน้า ในสาขาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

สำหรับอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี (SMEs) ที่มีจำนวนมาก ต้องปรับตัวให้ทันกับการปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โดยเน้นการเพิ่มผลิตภาพเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ความอยู่รอดเกิดจากการบริหารความเสี่ยงที่ดี โดยมีการตัดสินใจอันเกิดจากการวิเคราะห์และสังเคราะห์จากข้อมูลรอบด้าน (ข้อมูล big data) ทุกขั้นตอน ต้องตื่นตัวและรู้เท่าทันการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ กติกา ตามบรรทัดฐานโลกยุคใหม่ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญที่สุด คือ อย่าลืมเรื่องทรัพยากรมนุษย์ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ท้ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นสาขาการเกษตร บริการ หรืออุตสาหกรรม หากผู้ประกอบการอยู่ในความประมาท ไม่คิดปรับตัวให้รู้เท่าทันโลกยุคใหม่(ภายใต้ digital era) ในที่สุดคงจะไม่สามารถอยู่รอดได้ ผลที่ตามมา ประเทศชาติก็คงไม่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ดังที่คาดหวังไว้


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มุมมองเชิงมหภาค การผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ยุคไทยแลนด์ 4.0

view