สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การเข้าสู่วัย ผู้สูงอายุ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Healthy Aging

โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เมื่อเราแก่ตัวจนเกษียณจากการทำงานแล้ว ผมเพิ่งเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า ช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงที่ชีวิตมีความสุขได้มากที่สุด หากสุขภาพยังดีและแข็งแรงอยู่ เพราะภาระการงานลดลง และมีเวลาทำอะไรตามใจตัวเองได้มากขึ้น และได้ทำงานหาเงินและเก็บเงินมาเพียงพอในระดับหนึ่งแล้ว กล่าวคือ ผ่อนซื้อบ้าน และมีสิ่งที่จำเป็นเพียงพอแล้ว

ที่สำคัญคือ ลูกก็โต มีงานทำ สามารถสร้างฐานะของตัวเองได้แล้ว นอกจากนั้นก็มีความพึงพอใจในตัวเอง ยอมรับว่าตัวเองแก่ตัวลง (ไม่ต้องพยายามปกปิดความแก่) รู้จักตัวเอง และยอมรับตัวเองจึงไม่แปลกอะไรที่การสำรวจความเห็นโดย Center for Economic Performance ของ National Academy of Science พบว่า คนส่วนใหญ่มีความสุขมากที่สุด ตอนอายุ 60 ปลาย ๆ (BusinessInsider 7 ธันวาคม 2017) คนอายุเกิน 55 จะมีความสุขมากที่สุดใน 3 ด้าน คือ สถานะทางการเงิน รูปร่างหน้าตาของตัวเอง (ยอมรับสังขารของตัวเอง) และความสุขสบายโดยทั่วไป

ในทางตรงกันข้าม คนอายุ 44-55 จะมีความสุขน้อยที่สุดใน 3 ด้านดังกล่าวข้างต้น แปลว่า เป็นช่วงที่ต้องสร้างฐานะทางการเงินและมีความรับผิดชอบสูงสุด ในขณะที่เริ่มเห็นการแก่ตัวลงและยังคงทำใจไม่ได้

ทั้งนี้ ในส่วนของรูปร่างหน้าตา (physical appearance) นั้น คนอายุ 70 ขึ้นไปจะมีความพึงพอใจมากที่สุด (ไม่ใช่คนที่อายุ 20-25 ปี) กล่าวโดยสรุป ผลการสำรวจความพึงพอใจ พบว่า คนเราจะมีความสุขสูงสุดตอนอายุ 23 ปี และอีกครั้งตอนอายุ 69 ปี และจะรู้สึกมีความสุขน้อยที่สุด ตอนอายุ 55 ปี

แบงก์ออฟอเมริกา พันธมิตรของ บล.ภัทรฯ สรุปว่า มีหลักทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถอธิบายว่า ทำไมคนแก่จึงมีความสุข กล่าวคือ คนแก่จะยอมรับในความแก่ตัว จึงเกิดความพึงพอใจในตัวเอง “an acceptance of aging promotes contentedness”

แต่ผมมีข้อแม้ว่าการแก่ตัวลงนั้น จะต้องเป็นการแก่ตัวอย่างมีคุณภาพ คือ สุขภาพจะต้องดี และร่างกายจะต้องแข็งแรงด้วย จึงจะสามารถท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่อยากทำ โดยเฉพาะการทำกิจกรรมต่าง ๆ กับลูกหลานได้ โดยไม่มีข้อจำกัด

ที่สำคัญคือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้น จากข้อมูลแหล่งต่าง ๆ พบว่า สูงมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับผู้สูงอายุ ตัวอย่าง เช่น นสพ.นิวยอร์กไทม์ (24 ธันวาคม 2018) นำเสนอข้อมูลว่า คนอเมริกันนั้นในช่วงหลังเกษียณอายุ คือ ประมาณ 20% ของอายุทั้งชีวิต (เช่น อายุยืน 80 ปี ก็จะมีชีวิตหลังเกษียณ ประมาณ 15 ปี) จะเป็นช่วงที่ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลสูงถึงครึ่งหนึ่งของค่ารักษาพยาบาลทั้งชีวิตของตัวเอง

เมื่อปี 2016 ได้มีการเก็บข้อมูลจาก 6 ประเทศว่า ค่ารักษาพยาบาลในช่วงก่อนตาย 6 เดือนนั้น ต้องใช้เงินมากเพียงใด โดยเก็บข้อมูลจาก 6 ประเทศ ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตลง 389,073 คน พบค่าใช้จ่ายเป็นรายประเทศในช่วงปี 2010-2012 ดังนี้

-อังกฤษ $ 9,342 (298,944 บาท)

-เนเธอร์แลนด์ $10,936 (349,952 บาท)

-เบลเยียม $15,669 (502,368 บาท)

-สหรัฐ $18,500 (502,368 บาท)

-นอร์เวย์ $19,783 (633,056 บาท)

-แคนาดา $21,840 (698,880 บาท)

(อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ)

ผมเชื่อว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าว คงจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 6-8 ปีที่ผ่านมา เพราะโดยทั่วไป ผมเข้าใจว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้นน่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3-5% ต่อปี ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แต่เมื่อมาหาข้อมูลในประเทศไทยกลับพบว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล จากข้อมูลดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค (CPI) นั้น เพิ่มขึ้นต่อไปน้อยมากกล่าวคือ เพียงประมาณ 0.5-0.6% ต่อปี ซึ่งน่าจะขัดกับความเข้าใจของคนหลายคน ทั้งนี้ หมวดดังกล่าวให้น้ำหนักเพียง 1.15% ของการใช้จ่ายทั้งหมดของผู้บริโภค ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลนั้น น่าจะใกล้กับ 5-10% ของจีดีพี มากกว่า (ในกรณีของสหรัฐ) นั้น ประเมินว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมด ประมาณเกือบ 18% ของจีดีพี

สำหรับผมนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง (โดยการออกกำลังกายมากขึ้น ลดการกิน และนอนอย่างมีคุณภาพ) เป็นการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต เพื่อให้สุขภาพดีในยามแก่ตัว ซึ่งจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของตัวเอง และลดการเป็นภาระให้กับลูกหลานอีกด้วย

เพราะข้อมูลที่รวบรวมมา (ดังปรากฏในตาราง) พบว่า คนส่วนใหญ่แม้ในประเทศพัฒนาแล้ว ที่อายุยืนก็มีปัญหาว่า มีช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่แต่สุขภาพไม่สมบูรณ์ยาวนานมาก คือ ประมาณ 5.3 ปี ถึง 11.1 ปี

แม้คนญี่ปุ่นจะมีอายุยืนยาวที่สุด แต่ก็จะมีช่วงที่สุขภาพไม่สมบูรณ์นานถึง 7.9 ปี สำหรับผู้ชาย และ 9.9 ปี สำหรับผู้หญิง ประเทศที่คนมีอายุสุขภาพกาย (health adjusted life expectancy หรือ HALE) ยืนยาวที่สุด คือ คนสิงคโปร์ คือ ชาย อายุ HALE ยาวถึง 74.7 ปี และหญิง เท่ากับ 77.6 ปี แต่ก็ยังมีช่วงที่สุขภาพไม่สมบูรณ์นานถึง 5.3 ปี และ 8.5 ปี ตามลำดับ (2.95 ล้านบาทต่อคน)

ข้อมูลทั้งหมดนี้ ทำให้ยิ่งควรจะมีความพยายามมากขึ้น ที่จะรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรงตลอดชีวิตครับ

ดังนั้น สิ่งที่ท้าทายสำหรับคนที่กำลังเข้าวัยชรา คือทำอย่างไรให้ช่วงที่สุขภาพไม่ดี (morbidity) นั้น เป็นช่วงที่สั้นที่สุดและปราศจากการคุกคามของโรคภัยต่าง ๆ ที่นอกจากจะทำให้ตายอย่างทรมานแล้ว ยังอาจทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงอย่างไม่น่าเชื่อได้เช่น นิตยสาร Forbes (28 มิ.ย. 2018) อ้างรายงานของ Lifetime Medical Spending of Retirees ว่า โดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของคนที่อายุ 70 ปี จนถึงวันตายนั้น เฉลี่ยเท่ากับ 122,000 เหรียญ (3.9 ล้านบาท) แต่คนที่โชคไม่ดี ประมาณ 5% จะมีค่าใช้จ่าย 300,000 เหรียญ (9.6 ล้านบาท) และคนที่โชคไม่ดีที่สุด 1% จะต้องใช้จ่ายมากถึง 600,000 เหรียญ (19.2 ล้านบาท)

นอกจากนั้นก็ได้เคยมีการประเมินโดย Center for Social Dynamics and Policy ร่วมกับมหาวิทยาลัย California Davis เมื่อปี 2015 ว่า คนที่เป็นโรคอ้วน (obesity) นั้น จะมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (ทั้งทางตรงคือ การเพิ่มของค่ารักษาพยาบาล และทางอ้อม คือ การขาดงาน และผลผลิตต่ำลง) คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 92,235 เหรียญ


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : #การเข้าสู่วัย ผู้สูงอายุ # #สำนักงานสอบบัญชี พี แอนด์ อี #สำนักงานบัญชี พี เอ็ม เอส  #คณะบุคคลที่ปรึกษา พี.เอ.ที. #สอบบัญชี #ทำบัญชี #วางระบบบัญชี #ที่ปรึกษาบัญชี #ภาษีอากร #วางแผนภาษี  #สำนักงานบัญชี #สำนักงานสอบบัญชี#ที่ปรึกษา# การจัดการ เศรษฐกิจการล

view