สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฅ หายไปไหน

จากประชาชาติธุรกิจ

Thai laborer work on a steel structure at a commercial construction site in downtown Bangkok, 15 September 2004. Thailand's economic growth forecast for 2004 was cut by half a percentage point to 6.0-6.5 percent after expansion slowed to 6.3 percent in the second quarter due to bird flu and high oil prices. AFP PHOTO/ Saeed KHAN

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

โดย ดร.อนันตโชค โอแสงธรรมนนท์ ผช.ผอ.สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

ตอนสมัยที่เรายังเป็นเด็ก ทุกคนจะได้รับการสอนว่าอักษรไทยมีทั้งหมด 44 ตัว หลายคนคงจะคิด สงสัยว่า แล้วทำไมเราใช้จริง ๆ แค่ 42 ตัว อีก 2 ตัว คือ ฃ และ ฅ หายไปไหน

ศ.ดร.คุณหญิงสุริยา รัตนกุล ได้อธิบายว่า ตอนที่พัฒนาเครื่องพิมพ์ดีดไทยครั้งแรก จำเป็นต้องตัดอักษร ฃ และ ฅ ออก เนื่องจากจำนวนก้านอักษรไม่พอ และเหตุผลที่เลือกตัดอักษรทั้งสองตัวนี้ เพราะเป็นอักษรที่ไม่ได้ถูกใช้เป็นประจำ และสามารถทดแทนด้วยอักษรอื่นได้จนในที่สุดได้มีการประกาศเลิกใช้อักษรทั้งสองตัวนี้ในปทานุกรมและพจนานุกรมอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา

ในปัจจุบันนี้ทั้ง ฃ และ ฅ ได้กลับมาปรากฏอยู่บนคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์และมือถือ แต่แทบจะไม่มีใครได้ใช้เลย จึงนับเป็นการกลับมาของ ฃ และ ฅ แบบไม่ถูกที่ ไม่ถูกเวลา

ฅ คนไม่ได้หายไปจากภาษาไทยเท่านั้น แต่คนหรือบุคลากรยังดูเหมือนจะหายไปจากระบบเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันด้วย ประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ แรงงานต่างด้าวได้เข้ามาแทนที่แรงงานไทยในสาขาที่ต้องใช้แรงงานมาก หรือมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ยากลำบาก เช่น แรงงานก่อสร้าง ประมง และแม่บ้าน ในขณะเดียวกัน ไทยก็ขาดแคลนบุคลากรในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบวิชาชีพ และผู้บริหาร ซึ่งเป็นเสาหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าสูง

ปี 2561 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมร่วมกับสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม S-curve หรืออุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย (เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และอากาศยาน เป็นต้น)

ผลจากการศึกษาพบว่า บุคลากรที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่มีความสำคัญมากในทุกอุตสาหกรรมที่เราทำการศึกษาและผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังให้ความเห็นว่า นักศึกษาที่จบมาใหม่ไม่ได้รับการศึกษาและฝึกอบรมที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมายาวนานและได้เริ่มมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรมภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นอกจากนี้ ความสามารถในการสรรหาบุคลากรที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมอย่างเพียงพอ ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญในการตัดสินใจลงทุนในไทยของนักลงทุนจากต่างประเทศเช่นกัน

ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานและเพิ่มผลิตภาพการผลิต (productivity) โดยระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ AI หรือการเข้าสู่กระบวนการ digital transformation ในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน

แม้ว่าการลงทุนในเทคโนโลยีเหล่านี้จะคุ้มค่า เรายังต้องการกลุ่มคนที่จะช่วยออกแบบและติดตั้งให้ระบบเหล่านี้สามารถใช้งานได้ ตามความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละราย หรือที่รู้จักกันว่ากลุ่ม system integrator นั่นหมายถึงเราต้องสร้างคนกลุ่มใหม่ก่อน เพื่อที่จะสามารถสร้างระบบที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ และทดแทนแรงงานที่จะลดลงในอนาคตได้ ในขณะเดียวกัน เราต้องให้ความรู้และเพิ่มทักษะของกลุ่มผู้ใช้แรงงานด้วย

จากโครงสร้างสัดส่วนแรงงานของไทยในปี พ.ศ. 2561 จำนวนแรงงานไทยมีทั้งหมด 37.8 ล้านคน อยู่ในภาคการเกษตร 32% ภาคอุตสาหกรรม 23% ส่วนที่เหลืออยู่ในภาคบริการ และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 ภาคเกษตรได้มีส่วนในการสร้างอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียง 0.1% จากอัตราการเจริญเติบโต 2.8% ส่วนภาคการผลิตหรือภาคอุตสาหกรรมทำได้ดีกว่าเล็กน้อยที่ 0.2% นอกนั้นมาจากภาคบริการ

นอกจากนี้ แรงงานภาคการเกษตรในช่วงอายุ 40-60 ปี ได้เพิ่มขึ้นเป็น 49% ของแรงงานภาคเกษตรทั้งหมดในปี พ.ศ. 2556 แสดงว่าแรงงานเกือบ 1 ใน 3 อยู่ในภาคเกษตร ซึ่งสามารถสร้างรายได้ได้น้อย และกว่าครึ่งของแรงงานกลุ่มนี้มีอายุมาก การพัฒนาทักษะหรือความพร้อมที่จะรับเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้จึงยาก ซึ่งทำให้จำนวนแรงงานไทยสำหรับภาคอุตสาหกรรมและบริการที่เป็นไปได้ของไทยลดลง

เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ว่างงานของไทยในปี พ.ศ. 2561 เป็นที่น่ากังวลอย่างมากว่า กลุ่มผู้ว่างงานที่มีจำนวนมากที่สุด คือ กลุ่มผู้ที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีซึ่งคิดเป็น 39% ของผู้ว่างงานทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 23% ในปี พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการลงทุนด้านการศึกษาทั้งในแง่ของเงินทุนและเวลาสูงที่สุด จึงถือเป็นความสูญเสียของประเทศอย่างยิ่ง

และสะท้อนถึงปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกัน จะต้องเร่งสร้างบุคลากรคนไทยที่มีทักษะที่จำเป็นให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดควบคู่กันไปด้วย โดยจะต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ สถานศึกษา และภาครัฐ

ขณะที่เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องการบุคลากรจำนวนมาก สำหรับการสร้างอุตสาหกรรม S-curve และการยกระดับผลิตภาพการผลิตของประเทศ แต่ระบบการศึกษายังไม่สามารถสร้างบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้เพียงพอ การฝึกและเพิ่มทักษะของบุคลากรยังไม่ได้ทำในวงกว้าง และการโยกย้ายแรงงานจากภาคการเกษตรหรือภาคบริการมายังอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องที่เป็นได้ยาก

นอกจากนี้ การสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมก็ต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี ดังนั้น การอาศัยบุคลากรจากต่างประเทศจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากกว่าที่คิด ถ้าหากเราต้องการมีบุคลากรที่พร้อมใช้ได้ทันที

ที่ผ่านมาไทยได้มีการพึ่งพาบุคลากรจากต่างประเทศทั้งที่เป็นแรงงานที่ไม่มีทักษะ จนไปถึงผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหาร แต่ ณ ปัจจุบันเราต้องการแรงงานที่มีทักษะ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ประกอบวิชาชีพจากต่างประเทศจำนวนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมมาก เพื่อเข้ามาทำงานร่วมกับผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรม S-curve มากขึ้น

ดังนั้น ควรลดอุปสรรคของบุคลากรต่างชาติที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญเหล่านี้ในการเข้ามาทำงานในไทย เช่น ลดกระบวนการขอและต่ออายุ visa ของบุคลากรต่างชาติกลุ่มนี้ให้มีความสะดวกสบายได้มากขึ้น และปรับให้การขอใบอนุญาตทำงานให้เอื้อต่อการเข้ามาทำงานของบุคลากรต่างชาติมากขึ้น

บุคลากรต่างชาติเหล่านี้ไม่ได้มาแย่งงานคนไทยทำ แต่มาช่วยเติมเต็มในส่วนที่เราต้องการอย่างเร่งด่วนในปัจจุบัน เพื่อปรับฐานเศรษฐกิจไทย และสร้างงานที่มีรายได้สูงให้คนไทยเพิ่มมากขึ้นในระยะยาว ซึ่งสิงคโปร์และมาเลเซียมีนโยบายทางด้านนี้ชัดเจนและทำได้ดีกว่าไทยมาก ทั้ง ๆ ที่ไทยมีข้อได้เปรียบที่ชาวต่างชาติพอใจที่จะเข้ามาอยู่และทำงานในไทย

การที่ภาคอุตสาหกรรมและบริการขาดแคลนบุคลากรที่ต้องการ ไม่ได้หมายความว่าคนไทยหายไปไหน แต่เป็นเรื่องของการอยู่ไม่ถูกที่และไม่ถูกเวลามากกว่า ทำให้เราไม่สามารถใช้คนของเราได้เต็มศักยภาพ นอกจากนี้ การปรับตัวของบุคลากรที่มีอยู่นี้ต้องใช้เวลา ไม่สามารถที่จะทำได้อย่างรวดเร็ว อาจจะต้องพึ่งพาบุคลากรชาวต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้

เมื่อพูดถึงเรื่องการอยู่ไม่ถูกที่ ไม่ถูกเวลา ทำให้ผมนึกถึงประโยคที่น่าประทับใจในภาพยนตร์ฮ่องกงเรื่อง 2046 ของผู้กำกับ Wong Kar-Wai ที่ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2547 ว่า “Love is all a matter of timing. It’s no good meeting the right person too soon or too late.” หรือแปลไทยได้ว่า ความรักขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา มันเปล่าประโยชน์ที่จะเจอ “คนที่ใช่” เร็วเกินไป หรือช้าเกินไป แต่ในแง่ของการพัฒนาตนเอง เราจะต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ให้เป็น “คนที่ใช่” ในทุกที่และทุกเวลาครับ

#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ฅ หายไปไหน

view