สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชำแหละ หลุมดำของสื่อทีวีไทยมสุนัขเฝ้าบ้านมสุนัขบนหน้าตักเจ้านาย

จากประชาชาติธุรกิจ


ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่แบ่งแยกสอง ขั้วฝั่งชัดเจน สื่อจึงไม่ต่างอะไรกับตัวกลางประสานรอยร้าวในสังคม ชี้ทางสว่างด้วยการให้ความรู้ด้วยปัญญา แต่ในความเป็นจริง ถ้ามองสื่อไทยในเวลานี้ ถามว่าเป็นจริงเช่นนั้นไหม คงตอบได้ไม่เต็มปากเต็มคำนัก เพราะอะไร ?

นายธาม  เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม และเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ คือนักวิจัยที่เฝ้าศึกษาข่าวเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในสื่อโทรทัศน์ไทย อย่างเกาะติดทุกช่อง

       ความเห็นต่าง -ธุรกิจ- เครื่องมือทางการเมือง ปลุกระดมมวลชน นี่คือหน้าที่หลักของสื่อทีวีในปัจจุบัน !!!
     ผลพวงที่ตามมาคือ ผู้เสพสื่อจึงเลือกที่จะต่าง เลือกเสพเพราะความชื่นชม ชื่นชอบ แต่ไม่ใช่เพราะความน่าเชื่อถือของข่าว
      แล้วถามว่า เมื่อสื่อทำแบบนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือข้อเท็จจริง เพราะต่างคนต่างเชื่อว่าของตัวเองคือข้อเท็จจริง
        แต่บทสัมภาษณ์ที่ประชาชาติธุรกิจต่อไปนี้   จะเป็นการชำแหละ  สื่อทีวีไทยว่า เป็น สุนัขเฝ้าบ้าน หรือสุนัขบนหน้าตักเจ้านาย  กันแน่ !!!  


  @ ทุกวันนี้สื่อของรัฐนำเสนอข่าวในช่วงที่เหตุการณ์ทางการเมืองเหมาะสมหรือ ไม่  
         ถ้าสื่อของรัฐจริงๆ ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2550 ต้องหมายถึงช่อง 11 ช่อง 5
         จากการศึกษา จะเห็นว่าช่อง 11 ถูกแทรกแซงโดยหน่วยงานของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยมาตลอด หน้าที่ของช่อง 11 คือการเป็นช่องโทรทัศน์ของรัฐ ช่อง 5 ถูกควบคุมโดยกองทัพเป็นหลัก เพราะฉะนั้นทิศทางข่าวของช่อง 5 จึงเน้นเรื่องของความมั่นคง เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่ของช่อง 11 ในช่วง 4 นายกฯ หลังสุดจึงแสดงให้เห็นว่าเป็นเครื่องมือทางกระบอกเสียงของรัฐบาล เพียงแต่มีข้อแตกต่างก็คือ ระดับของการแทรกแซงแตกต่างกัน หรือรูปแบบเนื้อหารายการข่าวมีความแตกต่างกัน
 


@  แล้วรัฐบาลไหนมีการแทรกแซงมากกว่ากัน
         จากการศึกษาของ มีเดียโมนิเตอร์ ถ้าดูรายการข่าวของช่อง 11 ภายใต้รัฐบาลคุณทักษิณ คุณสมัคร คุณสมชาย ช่วงเวลานั้นการรายงานข่าวมีแนวโน้มไปในลักษณะของการปลุกระดมมากกว่าที่จะ ให้ความรู้หรือข้อเท็จจริง หรือการให้ข้อเท็จจริงก็เป็นการให้เพียงด้านเดียว ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลชัดเจนกว่ารัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ ถามว่าอะไรคือหลักฐานยืนยัน

         ช่อง 11 ปัจจุบันมีรายการประเภทข่าวซึ่งชัดเจนว่าไม่มีเจตนาปลุกเร้าอารมณ์ อย่างรายการทางออกประเทศไทย เกาะติดสถานการณ์ชุมนุม มีแคมเปญรณรงค์เรื่องสันติภาพ โครงการของคุณกรณ์ เรื่อง we love thai ก็เป็นโครงการหนึ่งซึ่งถามว่าเป็นกระบอกเสียงของรัฐไหม ใช่ เป็นกระบอกเสียงเรื่องการรณรงค์เรื่องสันติภาพไหม ถูก เพราะฉะนั้นเราไม่อาจพูดได้ว่าการแทรกแซงสื่อแล้วสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่แย่
 

  @ แล้วจุดบกพร่องของสื่อของรัฐภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์   
         แม้จะใช้เวทีเพื่อการสร้างสันติภาพ แต่ว่าพิจารณาเรื่องคุณภาพของพื้นที่นั้น ยังเน้นไปที่กระบอกเสียงของรัฐบาลมากกว่า ทำให้คุณภาพของเนื้อหานั้นกลับถูกตั้งคำถาม เพราะเน้นแหล่งข่าวเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลอย่างเดียว กล่าวง่ายๆ คือยังไม่ไปถึงขั้นการเป็นสื่อของรัฐที่ดี
 


 @ แล้วฟรีทีวีช่องอื่นๆ ที่เหลือ
         การรายงานข่าวช่อง 3 ช่อง 7 เป็นการรายงานข่าวตามผังรายการข่าวปกติที่มีอยู่ เช่นช่อง 3 อาจจะมีรายการข่าวประมาณ 30-35% พื้นที่ข่าวจะไม่มากไปกว่านี้ ขณะที่ช่อง 7 อาจจะอยู่ที่ 25% ไม่เกิน 30% เป็นพื้นที่ๆ ถูกกำหนดสัดส่วนแล้วทางธุรกิจ ต้องถามว่าพื้นที่ๆ ให้ ให้อย่างมีคุณภาพหรือไม่ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า 2 ช่องนี้จะให้น้ำหนักก็ต่อเมื่อมีอะไรที่พิเศษจริงๆ สะท้อนให้เห็นว่าการให้ความสำคัญยังไม่ดีเท่าไร ไม่มีนัยยะสำคัญที่เหมาะสม ทั้งๆ ที่เป็น 2 ช่องที่รวมกันแล้ว มีผู้ชมมากกว่า 70%

         ที่สำคัญทิศทางข่าวของทั้ง 2 ช่องนี้ ค่อนข้างเป็นข่าวในลักษณะเชิงสินค้ามากกว่า เป็นการรายงานข่าวในลักษณะเปลือกผิว ภายนอกของเหตุการณ์ ถ้าจะมองในข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ จะต้องทำข่าวเชิงลึกมากกว่านี้ กองบรรณาธิการข่าวจะต้องทุ่มเทให้ทีมนักข่าวทำข่าวเชิงเจาะลึก เชิงสืบสวน เชิงเฝ้าระวังมากกว่านี้ เท่าที่เป็นอยู่นี้ แค่มุ่งไปที่การสร้างคอนเซ็ปต์ข่าวให้เป็นลักษณะเชิงสินค้าที่มี ความดึงดูดใจ มีความเร้าอารมณ์

         ช่อง 9 คล้ายรัฐวิสาหกิจ รัฐถือหุ้นค่อนข้างเยอะก็คือ 67% บทบาทการรายงานข่าวช่อง 9 ครั้งนี้ ค่อนข้างที่จะเกร็งๆ เล็กน้อย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ บทบาทของช่อง 9 ที่ทำมาค่อนข้างจะให้ความรู้ โดดเด่นเรื่องมีเวทีสาธารณะ น่าจะเป็นเพราะการเปลี่ยนนโยบายของช่อง 9 ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนรายการเวทีสาธารณะ สัดส่วนในรายการเกาะติดสถานณการณ์พวกนี้หายไปเกือบหมด ทั้งที่ก่อนนี้ ช่อง 9 จะเป็นช่องที่คาดเดาได้ว่าจะมีเวทีพูดคุยของนักวิชาการแน่ๆ ยามที่มีเหตุการณ์สำคัญ อาจจะบอกได้ว่า ช่อง 9 คงเน้นธุรกิจมากขึ้น มุ่งแข่งกับช่อง 3 ช่อง 7 แต่เรื่องการแทรกแซงนั้นต้องบอกว่ารัฐไม่เข้ามาแทรกแซงช่อง 9 เลย สังเกตจากผังรรายการนะ
 


 @ มาที่สื่อตัวแรงอย่าง ASTV และ ดีสเตชั่นบ้าง บทบาทเป็นอย่างไร
         ASTV เป็นสื่อเครือผู้จัดการมาก่อน แต่จุดยืนของเขาชัดเจนคือ ตรวจสอบ ให้ข้อเท็จจริง และถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มพรรคการเมืองใหม่ เป้าหมายทางการเมืองกับการรายงานข่าว แทบจะแยกกันไม่ออก แต่ข้อดีของเขาที่สำคัญมากๆ จากผลการศึกษาคือ ASTV มีพื้นฐานที่เกิดจากองค์กรสื่อ ฉะนั้นเนื้อหาข่าวสารของเขาจึงไม่ใช่ถูกใช้ไปในลักษณะการโจมตีทางการเมือง โดยปราศจากข้อเท็จจริง หลักฐานที่สนับสนุนจุดนี้คือ รายการข่าว รายการสารคดี รายการสนทนา ยังคงมีอยู่ ยังคงพบลักษณะของการทำข่าวอยู่

         แตกต่างกับดีสเตชั่น ตรงที่ว่า พื้นฐานเขาเกิดจากนักการเมือง จากคนที่ทำงานด้านการเมืองมาก่อน ขาดคนที่ทำงานด้านข่าวสาร เนื้อหายังมุ่งเน้นไปที่การโจมตีทางการเมือง และปลุกระดม มีการใช้ข้อเท็จจริง ใช้การกล่าวหา การโต้แย้ง อารมณ์ทั้งหลาย ฉะนั้นความน่าเชื่อถือของดีสเตชั่นจึงต่างกับ ASTV

         ทั้งเวลานี้ ดีสเตชั่นปลุกระดมมาก ถ่ายทอดสดตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีการทำช่วงรายการข่าว สรุปประเด็นข่าวประจำวัน แม้กระทั่งการติดตามข่าวของแกนนำ หรือว่าของบุคคลที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่มี พูดง่ายๆ ว่า ดีสเตชั่นไม่มีภาพสะท้อนของการเป็นสื่อเลย
 


  @ จุดยืนของสื่อ(ทั้งหมด) ทุกวันนี้เป็นอย่างไร   
         ยังคงเชื่อมั่นในเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการที่จะมองเห็นต่างได้ เรามีสื่อที่ทำข่าว ผลิตข่าวสารตามความคิดความเชื่อขององค์กรนั้นๆ มากขึ้นอย่างชัดเจน แต่ข้อเสียก็คือว่า เมื่อชัดเจนมากเกินไปอย่างนี้ จึงขาดแนวคิดร่วมในการแก้ปัญหา เรามีองค์กรวิชาชีพข่าวรณรงค์เรื่องคิดต่างได้ แต่ไม่ใช้ความรุนแรง คิดต่างได้แต่ต้องไม่แตกแยก ประเด็นก็คือ  เราแตกต่างจนเราลืมความคิดร่วมในสังคม กลายเป็นว่าทิศทางการรายงานข่าวขององค์กรสื่อทั้งหมดในประเทศเต็มไปด้วยความ ขัดแย้งความแตกต่าง คือมันไม่มีจุดร่วมเลย เหมือนที่เราพยายามบอกว่า สงวนจุดต่าง แสวงจุดร่วม แต่ที่เป็นอยู่จึงทำให้การรายงานข่าวไม่มีวาระแห่งชาติ
 


  @ คิดต่างกับเลือกข้าง เหมือนกันไหมหรือเปล่า 
         สื่อเลือกข้างไม่ได้ สื่อเลือกข้างได้อย่างเดียวคือ ตามข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือถ้าจะเลือกข้างก็ต้องเลือกข้างประชาชน เลือกข้างสาธารณะเท่านั้น การเลือกข้างทางการเมืองมักจะมีอิทธิพลคือทำให้การเลือกข้างประชาชนและการ เลือกข้างความถูกต้องไม่เกิดขึ้น

         เวลาเราพูดถึงการเลือกข้าง ต้องแยกให้ออกว่า เลือกข้างทางการเมือง หรือเลือกข้างการรายงานข่าว คอลัมนิสต์ นักวิชาการ ใครก็ตามที่เขียนบทความในหนังสือพิมพ์อาจจะเลือกข้างทางการเมืองได้ แต่รายงานข่าว ข่าวไม่เลือกข้าง  ข้อเท็จจริงไม่เลือกข้าง ความคิดเห็นเลือกข้างได้ ปัญหาปัจจุบันคือ มันปะปนกันระหว่างความคิดเห็นกับข้อเท็จจริงในรายการข่าว หรือแม้กระทั่งวิธีการคัดกรองประเด็นข่าวของสถานีโทรทัศน์แต่ละช่องก็อาจมี อคติแฝงเร้น เพื่อรับใช้ความเชื่อความคิดทางการเมือง นี่เป็นวิธีการทำข่าวที่ผิด
 


   @ สื่อได้รับการขนานนามว่า Watch dog แต่วันนี้ ดูจะกลายเป็น Eager Dog เสียมากกว่า มีข่าวอะไรพุ่งเข้าใส่ทันที ไม่ตรวจสอบ  
         ณ เวลาที่เหตุการณ์เกิดขึ้น จำเป็นที่จะต้องรายงานออกไปก่อน เหตุการณ์มีควมสำคัญเรื่องมิติเวลา ความรวดเร็ว ฉะนั้นการตรวจสอบ จริงๆ อาจจะทำได้ยาก ถ้าสื่อเน้นทำข่าวมุ่งเน้นความเร็วเกินไป สื่อจะขาดวิธีการทำข่าวในลักษณะเชิงรุก ข่าวอย่างนี้คือเหตุการณ์เชิงรับ รอให้เหตุการณ์เกิด แล้วรีบรายงาน ปัญหาคือ สื่อบ้านเราคุ้นชินกับการทำข่าวเชิงรับมากเกินไปจนขาดผู้สื่อข่าวที่ทำข่าว เชิงรุก เมื่อความไม่สมดุลเกิดขึ้น จึงถูกมองว่า ทำหน้าที่ไม่เป็น Watch dog เป็น Eager Dog อย่างที่คุณบอก

         การเป็น Watch dog นั้นไม่ได้หมายความว่าต้องเฝ้าระวังรัฐบาลเท่านั้น รอบบ้านตัวเองก็ต้องเฝ้าระวัง บ้านข้างเคียงก็ต้องระวัง แต่กับบ้านเราพอไม่เฝ้าแมลงวัน แมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวัน ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ผิด ปัจจุบันจะมีคำอีกคำคือ Lap Dog สุนัขที่อยู่บนหน้าตัก ก็คือเชื่อฟังคำสั่งของคนที่เป็นเจ้าของ ทั้งจากรัฐบาล อำนาจทุน หรือทั้งจากกลุ่มความคิดความเชื่อทางการเมือง กลายเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเองไป
 


  @ สังคมไทยจะมุ่งหน้าไปทางใด ตราบที่สื่อยังเป็นอย่างทุกวันนี้ 
         สังคมไทยก็จะดำเนินไปจนถึงจุดที่ล้มเหลวทางข้อมูลข่าวสาร ทุกๆ คนต่างมีช่องทางสื่อ ซึ่งทุกคนต่างเชื่อว่ามันเป็นจริง ทุกคนจะไม่เปิดรับข้อมูลข่าวสารใดๆ เพราะทุกคนเลือกที่จะต่าง เลือกเสพสื่อตามความเชื่อที่ตรงกัน ดำเนินไปถึงจุดที่ว่าประชาชน ผู้รับสาร จะเสพเพราะความชื่นชม ชื่นชอบ แต่ไม่ใช่เพราะความน่าเชื่อถือของข่าว ถึงจุดนี้เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าอะไรคือข้อเท็จจริง เพราะต่างคนต่างเชื่อว่าของตัวเองคือข้อเท็จจริง การทำงานแบบนี้ไม่เป็นองค์รวมของสังคม สังคมจะขาดจุดร่วม ตัวอย่างง่ายๆ ในอเมริกา ทันทีที่มีการปฏิวัติดิจิทัล มีโทรทัศน์เป็นร้อยช่อง ทำให้เกิด นิช มาร์เก็ต ซึ่งทำให้เกิดความคิดสาธารณะค่อนข้างยาก เพราะคนไม่สามารถรวมกลุ่มกันได้เลย สังคมที่ไม่สามารถรวมกลุ่มความคิดสาธารณะได้ สังคมนั้นล้มเหลวในการที่จะขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะ ถ้ายังไม่ปรับเปลี่ยน เชื่อว่าอีกไม่นาน จะถึงภาวะล้มเหลวทางด้านข้อมูลข่าวสาร
 


   @ ทางออกสำหรับปัญหานี้ สื่อต้องมุ่งหน้าอย่างไร  
         จรรยาบรรณ ความรับผิดชอบ กำหนดแนววิธีการทำงาน สำนึกว่าสิ่งที่คุณรายงาน คุณกำลังรายงานในฐานะที่คุณเป็นสมาชิกหนึ่งของสังคม ตราบใดที่สื่อขาดสองสิ่งนี้ สังคมก็จะล้มเหลว องค์กรสื่อก็จะล้มเหลว เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะช่วยได้ก็คือ จรรยาบรรณและความรับผิดชอบ

         นอกจากนี้สื่อต้องปฏิรูปการทำงานของตัวเอง ประเด็นสำคัญถ้าสื่อจะเลือกข้างทางการเมือง อะไรก็แล้วแต่ ทำได้ ทำไป แต่ข่าวมันไม่เลือกข้าง เพราะหลักสำคัญของข่าว คือความเป็นวัตถุวิสัย การไม่ฝักฝ่าย ไม่มีอคติ ทำได้อย่างนี้ไม่มีปัญหา แต่ตอนนี้ยังไม่ใช่ ข่าวกลับมีสาระซ่อนเร้นทางการเมืองตลอด และขณะเดียวกันก็ต้องถามว่า แล้วสื่อรู้เท่าทันตัวเองหรือเปล่า ตกเป็นเครื่องมือของบางสิ่งบางอย่างหรือไม่

 

view