สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

6 นักคิด ปลิดขั้วความรุนแรง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : ทีมข่าวจุดประกาย





การเปิดโต๊ะ เจรจาอาจจะดูไกลเกินไปแล้ว แต่อย่างน้อยๆ การได้ทรุดตัวลงนั่งฟัง จากคนที่เรา "ควรฟัง" ก็อาจจะยับยั้งสิ่งร้ายๆ ให้เกิดน้อยที่สุด

พระไพศาล  วิสาโล
 

สันติวิธีจะได้ผลก็ต่อเมื่อผู้คนเห็นโทษของความรุนแรงว่า ไม่ใช่คำตอบ ไม่ใช่ทางลัดไปสู่ความสงบ อันนี้เป็นบทเรียนสำหรับคนในเมืองที่เรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรการเด็ดขาด กับผู้ชุมนุมเพื่อบ้านเมืองจะสงบโดยเร็ว อาตมาอยากจะย้ำว่าไม่มีทางลัดสู่ความสงบ มันต้องใช้เวลา


 ถ้าต้องการใช้ความสงบโดยเร็ว ผลที่ได้จะกลับตรงข้ามคือความสงบยิ่งหลุดลอยจากมือเราไป เกิดความวุ่นวายมากขึ้น นี่เป็นบทเรียนว่าทุกฝ่ายอยากปิดเกมเร็ว ๆ ฝ่ายประชาชนจำนวนไม่น้อยก็กดดันคุณอภิสิทธิ์ให้ใช้มาตรการรุนแรง ฝ่ายผู้ชุมนุมก็อยากให้แกนนำรีบเผด็จศึกเร็ว ๆ มันจึงลงเอยแบบนี้

 อาตมาอยากให้ทุกฝ่าย รวมทั้งคนที่ไม่อยู่ฝ่ายใดด้วย พึงตระหนักว่าทางลัดสู่ความสงบไม่มี สันติวิธีต้องใช้เวลา แต่มันก็เป็นหลักประกันแห่งความสงบที่แท้จริง แต่เราต้องอดทน ยอมรอคอยเวลา

 อยากย้ำว่าสิ่งสำคัญตอนนี้ไม่ใช่ขอคืนพื้นที่ แต่เป็นการคืนความเป็นมนุษย์ให้แก่กันและกัน คืนความเป็นมนุษย์ให้แก่คนสีเหลือง คืนความเป็นมนุษย์ให้แก่คนเสื้อแดง คืนความเป็นมนุษย์ให้แก่ทหารตำรวจ แล้วเราถึงจะอยู่ด้วยกันได้อย่างสันติ

 ยังไม่สายที่เราจะมาตั้งหลักกันใหม่ ความสูญเสียที่ผ่านมาแม้จะมาก แต่ก็ยังมีโอกาสสูญเสียมากกว่านี้อีก หากเราตั้งสติ เก็บเกี่ยวบทเรียน ทบทวนตัวเอง อย่าไปเพ่งโทษผู้อื่นหรือคิดแต่จะแก้แค้น เราก็จะมีทางหันหน้าเข้าหากัน และทิ้งความสูญเสียไว้เบื้องหลัง หรือไม่มีความสูญเสียมากไปกว่านี้

 

อาตมาคิดว่าวันนี้คือจุดเริ่มต้นที่เราจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไป วันนี้เป็นเวลาที่ไม่นานเลย
................................................................

(ที่มา : บทความ คืนความเป็นมนุษย์ให้แก่กันและกัน  ปรับปรุงจากการสัมภาษณ์ของพระไพศาล วิสาโล ณ สถานีวิทยุ 101 MHz เช้าวันที่ 11 เมษายน 2553 จาก www.visalo.org)

 

 

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล


 สังคมก็เป็นอย่างนี้มานาน ผมคิดว่าคนหมู่มากอยู่ร่วมกันนั้นมันก็ต้องมีโง่มีฉลาด มีคนที่มีธรรมะ คนที่ใฝ่ไปในทางเสื่อมปนกันเต็มไปหมด การที่เราคิดอะไรแล้วถูกเข้าใจผิดนั้น มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักคิดมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เป็นแบบนี้ทั้งในโลกตะวันออกและโลกตะวันตก


 ในส่วนของผมนั้น ...ด้านที่ผมเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ผมก็ต้องแสดงความห่วงใยสังคมด้วยการแสดงความคิดเห็น แต่ในด้านที่ผมเป็นปัจเจกบุคคลนั้น สังคมยังไม่เห็นด้วยผมก็ต้องวาง ต้องยอมรับว่ามันเป็นโลกของเขา เขาอยากอยู่อย่างนั้นก็ต้องให้เขาอยู่ในโลกของเขาไป ผมไม่ต้องไปเดือดร้อนด้วย

 ...ในสังคมของปุถุชน ความไม่เข้าใจผู้อื่นหรือไม่อยากเข้าใจผู้อื่นมันช่วยผลิตอาหารป้อนอัตตา เพราะมันเปิดโอกาสให้เราได้ด่าทอคนตามใจชอบ เพราะฉะนั้นเมื่อสังคมมีจริตในความคิดเชิงลบ มีจริตในเรื่องที่จะด่าทอ การด่าผู้อื่นเพื่อให้ตนเองรู้สึกสูงส่งจึงเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นอาหารป้อนอัตตา ซึ่งก็เหมือนอาหารทางกายคือต้องกินเป็นประจำ

 ตราบใดที่คนเรายังไม่หลุดพ้นจากวงวัฏแบบนั้น มันก็จำเป็นต้องหาคนชั่วมาให้ตนเองประณาม เมื่อประณามเสร็จแล้วก็รู้สึกดี หนึ่ง รู้สึกว่าตนเองสูงส่ง สอง รู้สึกตนเองไม่ต้องแก้ไขตัวเองเพราะมีคนชั่วกว่าตนเองเยอะแยะ อันนี้เป็นจริตของมนุษย์จำนวนมาก

 ผมถูกด่าโดยบางกลุ่มบางฝ่ายมาตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ จนถึงอายุมากๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่ว่าในระยะแรกนั้นผมอาจจะอดทนกับมันไม่ค่อยได้ ผมก็อาจจะถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางที่โต้ตอบด้วยความรุนแรง แต่ในระยะหลัง ผมรู้สึกว่ามันไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นผมหรือเป็นคนอื่นเขาก็ต้องหาคนมาเป็นเป้าหมายในการด่า เพื่อที่จะทำให้เขามีความสุขไปวันๆ need ที่จะเข้าใจผิด need ที่จะด่าทอผู้อื่นนั้นมันเป็นจริตของคนที่ยังไม่ตื่นรู้ เขายังหมุนวนอยู่กับสิ่งที่พระท่านเรียกว่า ทวิภาวะ หรือ ทวิลักษณะ แบ่งโลกเป็นขาวเป็นดำแล้วก็จับคู่ขัดแย้งกัน

 ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราก็ปลงได้ว่าปุถุชนนั้นต้องการสิ่งที่ตนเองเกลียดพอๆ กับสิ่งที่ตนเองรัก เพื่อจะได้ป้อนอัตตา

.......................................................................

(ที่มา : เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ นิตยสาร way ฉบับที่ 29 )

 

 

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

 "คำถามสำคัญ หลังจากลาออกหรือยุบสภา แล้วอย่างไร สมมติว่ายุบสภา เลือกตั้งใหม่  การเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ยุติธรรมไหม จะปลอดความรุนแรงไหม ผมคิดว่าเรื่องสำคัญเหมือนกันนะ เพราะอันนี้เป็นเรื่องของเราทุกคน ในที่สุดก็ต้องหันมาคิดเรื่องการแก้กติกา ... "


 "คนแต่ละส่วนมีหน้าที่เขา ผมคิดว่าจะประหลาดมาก หากเราบอกรัฐบาลว่าอย่าปกครอง อย่ารักษากฎหมาย เป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐบาลมีหน้าที่อย่างนั้น ถามว่าเขามีคนที่สนับสนุนไหม เขามีคนเป็นล้าน รวมถึงคนที่สนับสนุนพรรคร่วมรัฐบาลด้วย คนเหล่านั้นก็มีความสำคัญ ไม่ใช่ฝั่งผู้ชุมนุมอย่างเดียว ต้องเข้าใจว่าฐานของมัน มีความชอบธรรมทั้งคู่ คนเหล่านั้นเขาก็คิดว่าชอบธรรมจริงๆ ใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันและก็ลงคะแนนเสียงให้พรรคร่วมรัฐบาล เขาก็คิดว่ามันชอบธรรมจริงๆ ตอนนี้สิ่งสำคัญคืออยู่กับความขัดแย้ง ระวังไม่ให้เกิดความรุนแรง

 แต่หากไม่ให้เกิดความรุนแรงหรือลดความรุนแรงได้ สังคมไทยก็ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง  สังคมไทยน่าสนใจเจอการทดสอบหนักมาก แต่ก็ก้าวข้ามไปได้

 "สังคมไทยคือเราทุกคน สังคมไทยไม่ตายไปหรอก แต่เปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าทำอย่างไรไม่ให้เราตกอยู่ในความหวาดกลัวจนเกินไป เมื่อเราอยู่ในความกลัวเราก็จะตอบโต้อีกแบบหนึ่ง ผมคิดว่ารัฐบาลควรมี ไม่ใช่ความกลัว แต่คือความรอบคอบ ข้อแตกต่างระหว่างความกลัวกับความรอบคอบคืออะไร...

 ...ความรอบคอบทำให้มนุษยมีสติ ความกลัวทำให้คนขาดสติ"

..........................................................................................

(ที่มา : เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ในรายการ คมชัดลึก โดย จอมขวัญ หลาวเพชร)

 

 

อานันท์ ปันยารชุน

 ชีวิตของเราในสังคม ก็เหมือนกัน มีการปะทะ การทะเลาะเบาะแว้ง ความเห็นไม่ตรงกัน เราต้องมองว่าคนเราอยู่ในโลกที่ไม่ใช่ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ ทุกสิ่งทุกอย่างมีองค์ประกอบของมัน มีจุดสมดุล ทุกประเทศมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว มีปัญหาเช่นเดียวกัน เป็นปัญหาที่ไม่มีสังคมใดที่จะแก้ปัญหาได้หมดไป


 การแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่แก้ปัญหาชั่วครู่ ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่ที่เรามองประเทศไทยอย่างไร เรามองเพื่อนคนไทยกันอย่างไร ผมมองว่าเป็นปัญหาของความไม่เชื่อใจซึ่งกันและกัน เป็นความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ประเด็นที่ผมอยากพูดคือ ผมเป็นคนหนึ่งที่มองว่ารัฐธรรมนูญเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนในโลกที่มีความสมบูรณ์ในตัว มีประสิทธิผลอย่างที่ผมคิด

 สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าขาดมาก คือการไม่มองว่าเพื่อนคนไทยด้วยกันมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ต้องลืมว่าเขาสีอะไร ต้องฟังด้วยความสนใจ ฟังแล้วคิด คิดแล้วถึงพูด พูดแล้วถึงทำ ต้องเริ่มสร้างจากการความเข้าใจซึ่งกันและกัน ฟังซึ่งกันและกัน สร้างความร่วมมือซึ่งกันและกัน ความไว้ใจซึ่งกันและกัน ในความเชื่อมั่น ในความดีของมนุษย์

 หากเราติดตามประวัติศาสตร์ ที่เกิดวิปริตในทางจิตใจ วิปริตทางความคิด วิปริตในการกระทำ ไม่ใช่เป็นของแปลก เมืองไทยกำลังผ่านวิกฤตอันนั้น ทุกประเทศสามารถดำเนินผ่านมาได้ โดยจำความหลัง จำความยากลำบาก และจำวิกฤตนั้นได้ดี

 แต่คงไม่มีสังคมไหนที่เจริญแล้ว ที่จะทำให้สถานการณ์วิกฤตในอดีต หรือแม้แต่ปัจจุบัน เป็นเครื่องบั่นทอนจิตใจประชาชน โดยทั่วไป เขาจะแก้ไขปัญหา ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่ความสงบ ความสันติ ที่ยั่งยืนและยืนนาน

..........................................................................

(ที่มา : ส่วนหนึ่งจากปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ธุรกิจกับสังคม : การอยู่ร่วมกันด้วยความห่วงใย” เนื่องในโอกาสที่เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social Venture Network Asia (Thailand) : SVN) ประชุมประจำปี และมอบรางวัล SVN Awards ปี 2552)

 

 

ศ.ระพี สาคริก

 ขณะ นี้บ้านเมืองต้องการความเป็นเหตุเป็นผลมาก เหตุอยู่ในใจคน ส่วนผลคือสิ่งที่ได้รับหรือเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ ดังนั้น ควรเปิดใจกันให้ว่างพร้อมรับฟังปัญหา และอย่าดื้อดึงซึ่งตรงนี้เป็นจุดสำคัญ เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของส่วนรวม จึงต้องละกิเลสถึงจะพูดกันได้ อย่าคิดแบบทางเดียว ต้องคิด 2 ทางคือต้องคำนึงถึงอกเขาอกเรา


 อยากตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ว่า ฝ่ายหนึ่งมีกฎหมาย มีกำลังพลอยู่ในมือ แต่อีกฝ่ายหนึ่งมาโดยธรรมชาติ ทำให้น้ำหนักของทั้ง 2 ฝ่ายไม่เท่ากัน เมื่อขาดความสมดุลเช่นนี้ พอใครพูดอะไรมาก็มักถูกมองว่าไม่เป็นกลาง จริงๆ แล้วหากยึดหลักธรรมชาติแล้วจะแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง

 ที่พูดกันว่าให้มีคนกลางมาเจรจานั้น ไม่จำเป็นเลย ถ้าละกิเลสกันได้ และเปิดใจเข้าหากัน แต่ไม่ทำกันจึงต้องหาคนกลาง แต่หากยังเป็นอย่างนี้ถึงมีคนกลางก็ไม่สำเร็จ ปัญหาจึงไม่ใช่อยู่ที่มีคนกลางหรือไม่ เพราะตอนนี้ด้านหนึ่งมันเอียง ถ้ากลับคืนได้ก็ไม่ต้องมีคนกลาง การปฏิบัติให้หายเอียงคือ ต้องยึดหลักธรรมเป็นตัวตั้ง อย่ายึดว่าตัวกูของกู

 ถ้าจิตใจคนมันไม่เป็นกลางแล้ว ก็มักมองคนอื่นไม่เป็นกลางเสมอไป จริงๆ แล้วการมีกฎหมาย หรือมีอำนาจ ถ้าไม่ยึดว่าเป็นเรื่องสำคัญ และให้คิดว่าเป็นสิ่งที่สมมุติขึ้นหรือเป็นสิ่งที่สร้างกันขึ้นมาซึ่งไม่ สำคัญเท่ากับจิตใจ ก็จะละวางข้ออ้างต่างๆ นี้ได้ ถ้าเรากล้าหาญ กล้าเอาชนะใจตนเอง คนที่เคยตำหนิก็จะหันมานับถือ

....................................................................................

(ที่มา : 3 ผู้อาวุโส "ระพี-ไพบูลย์-เสน่ห์"แนะผ่าทางตันวิกฤติการเมืองไทย เลี่ยงสงครามกลางเมือง)

 

 

ศ.นพ.ประเวศ วะสี

 
 ในยามวิกฤตมีข้อดีอย่างหนึ่งคือ มีความตื่นตัวของผู้คน กลุ่ม องค์กรต่างๆ ที่จะเสนอทางออกของประเทศไทย มีข้อเสนอที่สร้างสรรค์มากมาย สำหรับเรื่องเฉพาะหน้าเท่าที่ผมจับได้มีข้อเสนอ 3 เรื่อง คือ

 1.ข้อเสนอเชิงนโยบายของกลุ่มคนเสื้อแดงเกี่ยวกับคนจนเป็นที่ยอม รับ เสียงเรียกร้องจากการชุมนุมของคนเสื้อแดงมีหลายอย่าง แต่ถูกกลบด้วยเสียงด่าทอ ที่จริงมีข้อเสนอที่สร้างสรรค์ ที่ประสบความสำเร็จอย่างไม่เคยมีมาก่อนคือ “เสียงของคนจน” การทำเพื่อคนจนได้รับการตอบรับ การทำเพื่อทักษิณไม่ได้รับการเห็นพ้อง การปรับโครงสร้างเพื่อคนจนเป็นเรื่องรีบด่วนที่ควรร่วมกันทำ ควรจัดการประชุมร่วมกันอย่างรีบด่วน เพื่อพิจารณาข้อเสนอของคนเสื้อแดงเกี่ยวกับนโยบายเพื่อปรับโครงสร้างเพื่อลด ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง โดยเชิญคนไทยทุกสีร่วมประชุม


 2.ปฏิบัติตามกฎหมาย ใครที่ทำผิดกฎหมายก็ควรได้รับการปฏิบัติตามกฎหมาย และป้องกันการทำผิดกฎหมายต่อไปอีก แต่อย่าลืมความยุติธรรมเชิงฟื้นฟู ( Restorative Justice )


 3.กระบวนการสัจจะและคืนดี (Truth and Reconciliation ) อย่างไรในที่สุดคนไทยก็ต้องกลับมาคืนดี และอยู่ร่วมกันด้วยดีต่อไป จึงควรมีกระบวนการค้นหาและใช้ความจริง มีการขอโทษ มีการให้อภัย มนุษย์สามารถมีอภัยวิถีที่ยิ่งใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อ ที่ทำให้ทุกคนหลั่งน้ำตาได้ สังคมไทยจะต้องใช้กระบวนการสัจจะและการคืนดี ความเมตตากรุณา ปัญญาและสันติวิธี ไปสร้างโครงสร้างที่เป็นธรรม แล้วเราจะสร้างสังคมสันติสุขที่น่าอยู่ที่สุดได้

........................................................................

(ที่มา : บทความเผยแพร่ข้อเสนอ 3 ประการ เพื่อถอดสลักความรุนแรง)

view