สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เหลียว มองบทเรียนโลก Failed State สงครามกลางเมือง ประเทศไทยจะไปทางไหน !

จากประชาชาติธุรกิจ



นับจาก การรวมตัวกันของกลุ่มคนเรือนแสน เมื่อ 22 มีนาคม จวบจนพัฒนาการไปสู่เหตุการณ์ปะทะนองเลือดครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบเกือบ 20 ปี สูญเสียเลือดเนื้อคนไทยด้วยกัน ทั้งฟากฝั่งของทหาร สมาชิกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดง และประชาชนผู้อาศัยในบริเวณสมรภูมิเดือด "สี่แยกคอกวัว" เมื่อ 10 เมษายน 2553

25 ชีวิตจากไป หลาย 100 คนบาดเจ็บ

เหตุ สะเทือนขวัญหาได้จบลงในเร็ววัน แต่กลับเติมเชื้อปะทุความแตกแยก เมื่อมีรายงานว่า การยิงระเบิดเอ็ม 79 ไม่ต่ำกว่า 5 ลูก เข้าใส่รถไฟฟ้า และพื้นที่อื่น ๆ บริเวณแยกศาลาแดง แนวประจันหน้าระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงและกลุ่มคนสีลม ที่ชุมนุมต่อต้านเมื่อ 22 เมษายน

คนไทยบริสุทธิ์ และกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสีลม เสียชีวิต 5 ราย และอาการสาหัสอีกจำนวนหนึ่ง

เวลายิ่งผ่าน ความขัดแย้งและความแตกแยกยิ่งทวีอุณหภูมิขึ้นตามลำดับ 25 เมษายน กลุ่มคนเสื้อแดงในต่างจังหวัด อย่างน้อย 5 จังหวัด รวมตัวตั้งด่านสกัดการเคลื่อนย้ายกำลังพล ทหาร และตำรวจ เข้าสับเปลี่ยน หรือเสริมกำลังพลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

มีรายงานข่าวทางสถานี โทรทัศน์ และเว็บหนังสือพิมพ์ออนไลน์ บอกเล่าการเลียนแบบจากจังหวัดหนึ่ง สู่อีกจังหวัดหนึ่ง ในวันต่อมา (26 เมษายน) ท่ามกลางการเพิ่มจำนวนขึ้นของกลุ่มต่อต้านข้อเรียกร้องและการกระทำของ นปช. จากกลุ่มเสื้อสีชมพู สู่กลุ่มคนเสื้อหลากสี และเมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา ได้เพิ่มตัวแปรใหม่ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง สมทบเข้ามาอย่างเป็นทางการ

แสดงจุดยืนและกด ดันรัฐบาล และกองทัพไทย ด้วยการทวงถามถึงความชัดเจนทั้งนโยบายและแนวทางปฏิบัติ กรณีการชุมนุมทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย และการแก้ปัญหากระบวนการก่อการร้าย แสดงพลังผ่านเครือข่าย ในทุกจังหวัดที่มี

อุณหภูมิความขัดแย้งที่ รุนแรงมากขึ้นทุกที ๆ ทำให้ นักวิชาการจำนวนไม่น้อย วิตกกังวลต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ใน 2 ลักษณะ

ลักษณะแรก การใช้อำนาจรัฐ ที่ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า และยังไม่สามารถจัดการ "คืนความสงบสู่บ้านเมือง" ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการยึดพื้นที่เศรษฐกิจ "ราชประสงค์" มานานเกินเดือน บวกกับพฤติกรรมท้าทายอำนาจรัฐที่ขยายวงจากจังหวัดสู่จังหวัดของกลุ่มคนเสื้อ แดง กำลังผลักรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าใกล้ รัฐล่มสลาย หรือ failed state แล้วหรือไม่

ผลพวงจากความเป็นไปได้ที่เกิดภาวะ failed state และการเพิ่มจำนวนของกลุ่มต่าง ๆ ที่ยืนฝั่งตรงข้ามกับ นปช. กำลังสร้างความกังวลว่า จะเกิดสถานการณ์ในลักษณะที่สองขึ้นตามมา นั่นคือ ความเป็นไปได้ของสงครามกลางเมือง (civil war)

หากสถานการณ์ของ ประเทศยังไร้ทางออก และความแตกแยกเบ่งบานไปทั่วทุกหัวระแหง

สงคราม กลางเมืองไม่เคยปรานีใคร และไม่เคยจบลง โดยไม่หลงเหลือบาดแผลจากอดีตไว้เป็นความทรงจำที่เจ็บปวด ให้กับผู้คนร่วมสมัย

"ประชาชาติธุรกิจ" ได้พยายามรวบรวม "ต้นทุน" ของความขัดแย้งรุนแรง และสงครามกลางเมือง ทั้งในแง่ของเลือดเนื้อมนุษย์ด้วยกัน ความยับเยินที่เป็นตัวเงิน และความเสียหายในรูปแบบอื่น ๆ จาก บางประเทศในอดีต มาเป็นเครื่องเตือนสติทุกฝ่าย ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินการณ์

สหรัฐ บันทึกบทเรียนอันทรงคุณค่าเอาไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง สงครามกลางเมืองใน บ้านเขา เสียต้นทุนชีวิตมนุษย์มากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 600,000 คน บาดเจ็บราว 500,000 คน

ทั้งหมด คิดเป็น 9% ของจำนวนประชากรผู้ชายของประเทศ ที่มีวัยระหว่าง 15-39 ปี

ใน แง่ต้นทุนทางเศรษฐกิจ อยู่ที่ระดับประมาณ 6.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 4 เท่าขอลงบประมาณระหว่างปี 1789-1860 รวมกัน

บท เรียนซ้ำซากไม่เคยหมดไปจากโลก ความขัดแย้ง และสงครามกลางเมืองในแอฟริกา สะท้อนต้นทุนมนุษย์ออกมาอย่าง ชัดแจ้ง เอธิโอเปีย ไลบีเรีย โมซัมบิก เซียร์ราลีโอน และโซมาเลีย ซึ่งผ่านประสบการณ์ความขัดแย้งรุนแรง เผชิญกับวิกฤตอาหาร ชาวซูดานและชาวเอธิโอเปีย ต้องจบชีวิตลงด้วยความหิวโหย ไร้อาหารประทังชีวิต ในปีช่วงปี 1980-1998 หลายล้านคน

หลาย รัฐบาลในประเทศเหล่านี้ ลดงบประมาณในด้านสาธารณสุขและการศึกษา แพทย์เกือบ 50% และเภสัชกร 80% พากันทิ้งประเทศ หนีออกมาในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ในโมซัมบิก ความขัดแย้งได้นำไปสู่การทำลายเขื่อนกักเก็บน้ำ เกือบ 2 ใน 3 ขณะที่โรงเรียนชั้นประถมถูกสั่งปิดหรือทำลายประมาณ 60% ของประเทศ

ความ ขัดแย้งที่ใช้อาวุธเข้าห้ำหั่นกันในหลายประเทศของทวีปแอฟริกา สร้างต้นทุนทางเศรษฐกิจโดยรวมประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี ทำลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจลงประมาณ 15% ของจีดีพี และทำให้การพัฒนาในด้านต่าง ๆ เพื่อคนหมู่มากหยุดชะงัก มีการประเมินกันว่า ด้วยเงินจำนวนขนาดนี้ สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์ได้ในหลาย ๆ กรณี อาทิ การควบคุมวิกฤตการณ์โรคเอดส์ การส่งเสริมและพัฒนาด้านการศึกษา การจัดหาแหล่งน้ำ และการป้องกัน โรคระบาดประจำถิ่นต่าง ๆ อาทิ วัณโรคและมาลาเรีย

แต่เพราะเงินจำนวนดังกล่าว หมดไปกับการทำสงครามและความขัดแย้ง งบประมาณสำหรับการก่อสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน และถนนหนทาง หรือแม้กระทั่งการแก้ไขปัญหา ความยากจน จึงถูกดึงไปใช้เพื่อการจัดซื้ออาวุธห้ำหั่นกันแทน

ในโคลอมเบีย สงครามกลางเมืองที่กินเวลายาวนาน ได้สร้างต้นทุนทางการเงินไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งตัวเลข ดังกล่าวมีสัดส่วนเกือบ 11.4% ของ รายได้ประชาชาติของประเทศ ขณะที่ต้นทุนความขัดแย้งตลอดระยะเวลา 6 ปีในยูกันดา สร้างความเสียหายที่เป็นตัวเงินเกือบ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ประเทศเพื่อนบ้านในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบันทึกต้นทุนสงครามกลางเมืองและความขัดแย้งไว้เช่นกัน สำหรับฟิลิปปินส์พบว่ามีการเพิ่มงบประมาณใช้จ่ายได้กำลังทหารมากถึง 40% ของงบประมาณในแต่ละปี ความขัดแย้งที่มินดาเนา ได้สร้างความเสียหายระหว่างปี 1970-2001 เป็นมูลค่าระหว่าง 2-3 พันล้านดอลลาร์

ขณะที่อินโดนีเซีย ใช้จ่ายเงินเกือบ 1 ล้านดอลลาร์ต่อวัน ในการยึดครองติมอร์ตะวันออก

ความ ขัดแย้งในอัฟกานิสถานสร้างต้นทุนให้กับประเทศในรูปของการจัดหาอาวุธ ยุทโธปกรณ์ การให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม และความเสียหายทางเศรษฐกิจในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาทั้งสิ้นประมาณ 2.4 แสนล้านดอลลาร์

ต้นทุนมนุษย์ในเอริเทรีย

เอริเทรีย เป็นรัฐที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา บริเวณที่เรียกว่า จงอยแอฟริกา มีชายฝั่งทะเลติดทะเลแดงเกือบ 1,000 ก.ม. ทิศเหนือและทิศตะวันออกติดทะเลแดง ทิศตะวันตกติดซูดาน ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดจิบูตี ทิศใต้ติดเอธิโอเปีย

ในปี 2505 เอธิโอเปียได้ผนวกดินแดนเอริเทรียเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ระหว่างชาวเอริเทรียกับ ฝ่ายเอธิโอเปียเพื่อเรียกร้องเอกราชตลอดมาในปี 2534 กลุ่ม แนวร่วมปลดปล่อยประชาชนเอริเทรีย (EPLF : Eritrean People"s Liberation Front) ได้ร่วมกับกลุ่ม Ethiopian People"s Revolutionary Democratic Front (EPRDF) ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏ ต่อต้านรัฐบาลเอธิโอเปีย ล้มล้างรัฐบาลสังคมนิยมเอธิโอเปียได้สำเร็จ และสามารถยึดพื้นที่ดินแดนเอริเทรียได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แม้เอริเทรียจะสามารถแยกตัวเองออกมาเป็นอิสระจากเอธิโอเปียได้สำเร็จ แต่ความขัดแย้งยังคงดำเนินอยู่ เอริเทรียยังคงมีปัญหาขัดแย้งตามแนวชายแดนกับเอธิโอเปียมาโดยตลอด โดยเฉพาะปัญหาการปักปันเขตแดน จนเกิดการสู้รบแย่งชิงดินแดนในระหว่างปี 2541-2543 ส่งผลให้ผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ประชาคมโลกและ องค์การระหว่างประเทศ ทั้งสหประชาชาติและสหภาพแอฟริกาได้เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้ง ดังกล่าว จนกระทั่งนำไปสู่การยินยอมถอนกำลังของทั้ง 2 ฝ่ายออกในเดือนกรกฎาคม 2542 โดยเอริเทรียและเอธิโอเปียเห็นชอบ ร่วมกันในข้อตกลงการยุติความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน (Agreement of Cessation of Hostilities) นอกจากนี้ ได้ร้องขอให้สหประชาชาติเข้าวางกองกำลังรักษาสันติภาพเพื่อสนับสนุนให้ทั้ง 2 ฝ่ายดำเนินการตามข้อตกลง และร่วมกันกำหนดเขตปลอดภัยชั่วคราว (Temporary Security Zone : TSZ) ขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ทั้ง 2 ฝ่ายใช้ความรุนแรงต่อกัน

จากสงครามปลดแอกของเอริเทรีย ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ถึงปี 1991 ผลกระทบในแง่ของต้นทุนมนุษย์นั้นมหาศาลมาก สำหรับประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ นับจากปี 1984 มีผู้คนถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร 53,300 คน ประชาชนถูกฆ่า 8,400 คน ถูกจองจำ 14,200 คน การเข้ายึดอาหารและทำลาย 44,200 ตัน การทำลายที่ดินและเหมืองไปไม่ต่ำกว่า 70,000 เอเคอร์ บ้านเรือนที่พักอาศัยถูกทำลาย 52,000 หลัง ตลอดจนสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ถูกยึดหรือไม่ก็ฆ่าทิ้งเป็นจำนวนมากทั้งอูฐ วัว แกะและแพะ

บทเรียนโลกสู่ไทย

ประเทศไทยจะเผชิญภาวะที่โหดร้าย เยี่ยงเอริเทรีย หรือเลวร้ายกว่า ดังกรณีของเหตุการณ์ฆ่าล้างเผาพันธุ์ในรวันดาหรือไม่ เป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการ

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีบทเรียนของการห้ำหั่นกันมาแต่อดีต ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 จนถึงพฤษภาทมิฬ 2535 ชีวิตผู้คนล้มตาย และเศรษฐกิจถอยหลัง ล้วนมีบันทึกให้อ่านกันทั้งสิ้น

แต่ประวัติ ศาสตร์ของประเทศไทย ยังคงย่ำรอยเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า

หน้าประวัติ ศาสตร์ร่วมสมัย ตั้งแต่เหตุการณ์การรวมตัวประท้วงกลุ่มคนเสื้อเหลือง จนถึงจุดขมวดตึงของการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ครั้งนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ของกระทรวงการคลังประเมินผลกระทบ ตีออกมาเป็นตัวเงิน โดยคาดการณ์ภายใต้สมมติฐานว่า การปิดสนามบินสุวรรณภูมิ อาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 3 แสนคน จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเฉลี่ยปีละ 14.5 ล้านคน ซึ่งประเมินว่า ได้ทำให้ประเทศสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 15.3 พันล้านบาท และ ส่งผลต่อเนื่องต่อดุลบัญชีเดินสะพัดให้ลดลงคิดเป็นร้อยละ -0.08 ต่อ GDP

ต่อเนื่องด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนเมษายน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการชุมนุมประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองระหว่างวันที่ 8-14 เมษายน 2552 คิดเป็นมูลค่าความเสียหายนับแสนล้านล้านบาท

นับจากวัน ที่ นปช.เคลื่อนมวลชนเข้ายึดราชประสงค์ จนถึงสถานการณ์ที่เข้าใกล้สงครามกลางเมืองอยู่ร่อมร่อ ไม่มีใครตอบได้ว่า ประเทศไทยจะลงเอยไปในลักษณะใด ไปสู่จุดจบ หรือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ระหว่างคนร่วมชาติ

แต่สงครามกลางเมือง ไม่เคยปรานี ระวัง ! ต้นทุน เลือดเนื้อมนุษย์ และความเสียหายทางเศรษฐกิจ จะสร้างบทเรียนหน้าใหม่ในประวัติศาสตร์โลก และไทยกลายเป็นตัวอย่างที่คนหยิบยกไปพูดถึงแทนรวันดา เมื่อมีการพูดถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเอง

view