สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มาร์ค ลั่น ถ้าผมอยากสบายลาออกไปแล้ว เผยนั่งทำงานกับ เหล่าทัพและตำรวจ วันละ 10 ชั่วโมง

จากประชาชาติธุรกิจ

มาร์ค เผยเบื้องหลังแผนปรองดอง คิดถึงสถาบันหลักของชาติเป็นสำคัญ เผยมีขบวนการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ลั่นไม่ต้องการที่จะให้มีการนิรโทษกรรมกลุ่มผู้ก่อการร้าย โพล่ง ทักษิณ-เสธ.แดง ไม่รับโรดแมป ยกเลิกชุมนุมเสื้อแดง 15 พ.ค. ช้าเกินไป เปิดอก ถ้าอยากสบายลาออกไปแล้ว กลบข่าวร้าว บอก ประชุมเหล่าทัพ ตำรวจ วันละ 10 ชั่วโมงทุกวัน


    มาร์ค เผยเบื้องหลังแผนปรองดอง คิดถึงสถาบันหลักของชาติเป็นสำคัญ  เผยมีขบวนการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์  ลั่นไม่ต้องการที่จะให้มีการนิรโทษกรรมกลุ่มผู้ก่อการร้าย  โพล่ง ทักษิณ-เสธ.แดง ไม่รับโรดแมป   ยกเลิกชุมนุมเสื้อแดง 15 พ.ค. ช้าเกินไป  เปิดอก ถ้าอยากสบายลาออกไปแล้ว กลบข่าวร้าว บอก ประชุมเหล่าทัพ ตำรวจ วันละ 10 ชั่วโมงทุกวัน
       วันนี้ (8 พ.ค.) เวลา 09.00 น.  ณ  ศาลากิตติสุข  กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี  กล่าวกับพี่น้องประชาชนในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เป็นครั้งที่ 67 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย  และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย  มีเนื้อหาที่สำคัญ  ดังนี้
  @ เบื้องหลังแผนปรองดอง
    นายกฯ กล่าวถึงแผนปรองดองหรือกระบวนการปรองดองว่า    แผนการปรองดองนั้นเป็นแผนที่ผมได้สดับตรับฟังมาจากพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม พยายามที่จะคิดค้นหาคำตอบว่าบ้านเมืองของเราที่มีปัญหาอยู่ทุกวันนี้  มีความแตกแยกนั้นมีสาเหตุมาจากตรงไหนอย่างไรบ้าง และพยายามที่จะดูว่าอะไรที่จะทำให้สังคมไทยนั้น กลับมามีความสมัครสมานสามัคคีปรองดองสมานฉันท์เหมือนเดิม  แผนนี้เป็นสิ่งที่ผมได้ใช้เวลาในการคิดทั้งในช่วงระยะเวลาของวิกฤตการณ์ที่ เกิดขึ้น และรวมไปถึงการสะสมความคิดความเห็นจากประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่บ้านเมืองของเรานั้นมีความขัดแย้ง แผนนี้ได้นำเสนอไปเมื่อวันจันทร์  และบอกว่าเป็นแผนที่ผมได้มองดูว่าอะไรบ้างคือปัจจัยที่จะช่วยทำให้บ้าน เมืองกลับมามีความสงบสุข อะไรบ้างคือสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ความแตกแยกที่ร้าวลึกจนถึงในปัจจุบัน แล้วเราจะแก้ไขกันอย่างไร 
 แผนนี้มี 5 องค์ประกอบ องค์ประกอบที่ 1 ผมมาคิดถึงเรื่องของการที่เรามีสถาบันหลักของชาติ ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจหลอมรวมพี่น้องประชาชนคนไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผมถือว่าประเทศไทย คนไทยโชคดีครับ มีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ได้เป็นหลักชัยให้กับพี่น้องประชาชนคนทั้งประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงทุ่มเทพระวรกาย กำลังพระราชทรัพย์ และทรงอุทิศเวลาในการที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด  และที่สำคัญก็คือได้พระราชทานแนวพระราชดำริที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือความรู้รักสามัคคีและความพอเพียง ตรงนี้ครับคือจุดที่เป็นที่มาในส่วนองค์ประกอบแรกของแผน ที่ผมได้เรียนว่าถึงเวลาแล้วครับที่พี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศจะต้องมา ร่วมกันทำอย่างไรไม่ให้สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพเทิดทูนของพี่ น้องประชาชนนั้นถูกล่วงละเมิด และให้พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้ตระหนักได้เข้าใจถึงบทบาทอัน สำคัญยิ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์  
  @ ขบวนการซึ่งเข้ามาล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์
   จริงอยู่ ขณะนี้มีขบวนการซึ่งเข้ามาล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังที่ได้มีการบอกกล่าวให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ และขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ  ก็ได้รับเรื่องของคดีที่เกี่ยวข้องกับขบวนการนี้เข้าไปไว้ในการดูแลของกรม สอบสวนคดีพิเศษ  เมื่อมีการจับกุมบุคคลที่กระทำความผิด และได้มีการดำเนินการไปตามกฎหมาย  ขณะเดียวกันเครือข่ายที่เราค้นพบที่เกี่ยวข้องกับขบวนการนี้ก็เริ่มมีความ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น  หลายคนสอบถามครับว่าการดำเนินการไปตามกฎหมายเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอยู่แล้ว เหตุใดจะต้องมีเรื่องนี้เข้ามาในส่วนของกระบวนการของการปรองดอง เหตุใดจะต้องมีเรื่องนี้เข้ามาเป็นกระบวนการซึ่งน่าจะเป็นหน้าที่ของฝ่าย กฎหมายของบ้านเมือง ผมอยากทำความเข้าใจอย่างนี้ครับ กระบวนการตามกฎหมายก็ต้องเดินไปครับ แต่กระบวนการตามกฎหมายนั้นจะเดินไปโดยหวังพึ่งเฉพาะเจ้าหน้าที่อย่างเดียว ผมคิดว่าไม่เพียงพอ  
   @ บางครั้งเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้เท่าที่ควร
   วันนี้สิ่งที่ผมอยากจะเห็นเกิดขึ้นก็คือว่าพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม กลุ่มการเมืองทุกกลุ่มไม่ว่าจะบอกว่าตัวเองสีอะไรนั้น ต้องเข้ามามีบทบาทในเชิงรุกต่อเรื่องนี้ เชิงรุกทั้งสองด้านครับ ด้านที่ 1 ก็คือช่วยกันทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวข้องกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ใน สังคมของเรา  ซึ่งที่ผ่านมาเรามีขบวนการที่จะล่วงละเมิด และมักจะแพร่ขยายไปยังต่างประเทศบ้าง หรือที่อื่นบ้าง ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบางครั้งเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ เท่าที่ควร 
   สิ่งที่ผมอยากจะเรียกร้องคือว่าทุกฝ่ายต้องมาช่วยกันทำหน้าที่ในการเผยแพร่ และทำความเข้าใจที่ถูกต้อง  พร้อม ๆ กันนั้นครับการบังคับใช้กฎหมายที่ได้ผลนั้น วันนี้เราจะต้องไม่ให้ใครมาบอกเพียงแค่ว่าปัญหาการล่วงละเมิดกฎหมายในเรื่อง นี้ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับผม ไม่เกี่ยวข้องกับฉัน ไม่ได้ครับ เราจะได้เอาข้อมูลซึ่งปัจจุบันนั้นทางการมีอยู่แล้ว และกรมสอบสวนคดีพิเศษมีอยู่เกี่ยวกับเครือข่ายต่าง ๆ แล้วใครก็ตามซึ่งมีความคุ้นเคย มีความสัมพันธ์กับบุคคลที่อยู่ในเครือข่ายนี้ต้องมาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ของรัฐ เพื่อที่จะทำให้กระบวนการในเรื่องนี้นั้นสามารถดำเนินการได้อย่างมี ประสิทธิภาพ     ผมคิดว่าถ้าเราได้แสดงออกตรงนี้ร่วมกัน พี่น้องประชาชนจะสบายใจครับ เพราะส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาของความแตกแยกคือว่าพี่น้องประชาชนคนส่วนใหญ่ของ ประเทศยอมไม่ได้ที่จะเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นถูกล่วงละเมิด เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็มีการพูดกันและนำมาสู่ประเด็นที่เป็นส่วนหนึ่งของ ความขัดแย้งทางการเมือง  ซึ่งผมไม่ประสงค์จะให้เป็นเช่นนั้น  จึงจะต้องมีกระบวนการพิเศษที่ดึงทุกฝ่ายมาร่วมกันทำงานในเรื่องนี้ เพื่อปรากฏต่อสาธารณะให้เห็นชัดเจนครับว่าพวกเราทุกคนนั้น ไม่ว่าจะมีความคิดความอ่านความเชื่อในทางการเมือง หรือในเรื่องอื่น ๆ อย่างไรนั้น  ก็จะมาทำงานนี้ด้วยกัน  นั่นคือองค์ประกอบที่ 1 ของแผนของการปรองดอง 
   @ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ต้องสะสาง เป็นระบบ
  องค์ประกอบที่ 2 เป็นเรื่องของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน โครงสร้างของสังคมที่ทำให้พี่น้องประชาชนจำนวนมากมักจะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ มีความรู้สึกว่าตัวเองด้อยโอกาส และประชาชนกลุ่มนี้ล่ะครับ เมื่อไหร่ก็ตามซึ่งมีการเคลื่อนไหว มีการชุมนุมทางการเมือง ก็จะถูกดึงเข้าไปร่วมกระบวนการต่าง ๆ เพราะมีความรู้สึกว่าจะเป็นการได้โอกาสในการที่จะแสดงออกถึงการมีสิทธิมี เสียง ถึงจะได้มีบุคคลที่จะได้ยินข้อเรียกร้องความเดือดร้อน ความทุกข์ร้อนต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชน 

  ตรงนี้ อยากจะย้ำว่าแม้ว่ารัฐบาลทุกชุดพยายามแก้ไขปัญหาในเรื่องของความยากจน ทุกรัฐบาลจะมีโครงการ  รัฐบาลนี้ก็มีครับที่เราทำตั้งแต่เด็กเล็กมาจนถึงพูดง่าย ๆ ตั้งแต่เกิดจนตายเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศูนย์เด็กเล็ก การเรียนฟรี การฝึกอาชีพ การเข้ามาดูแลในเรื่องของสวัสดิการของผู้สูงอายุ ไปจนถึงการช่วยเหลือในเรื่องของภัยพิบัติต่าง ๆ รวมไปถึงการมีกลไกพิเศษมาดูแลเรื่องที่ทำกิน เรื่องหนี้สิน ไปจนถึงการที่จะพยายามดูแลพี่น้องเกษตรกรในชนบทว่าด้วยโครงการประกันรายได้ เราทำสิ่งเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง  แต่กระนั้นก็ตามครับความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ความยากจนที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางเรื่องอาจจะไม่ใช่ในเรื่องของรายได้อย่างเดียว แต่ความรู้สึกว่าการได้รับการปฏิบัติจากทางการ จากราชการ กฎระเบียบ การใช้อำนาจนั้นทำให้พี่น้องประชาชนมีความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม  ตรงนี้ครับต้องสะสางแบบเป็นระบบ 
 @  จัดสมัชชาระดมความคิดเห็นภาคประชาชน
   สิ่งที่เราจะดำเนินการในองค์ประกอบที่ 2 ของแผนการปรองดอง คือการปฏิรูป  สิ่งที่เรียกว่าการปฏิรูปประเทศไทย  ซึ่งหลายหน่วยงานภาคประชาสังคมเขาทำอยู่แล้ว ผมได้มีโอกาสเชิญองค์กรต่าง ๆ เข้ามาเพื่อปรึกษาหารือในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง  ขณะนี้สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปก็คือในวันที่ 12 และ 13 พฤษภาคม คณะกรรมการซึ่งทำงานที่ดูแลในเรื่องของการพัฒนาชุมชนนั้น จะมีการประชุมเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรต่าง ๆ ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อแผนในส่วนนี้ และในวันที่ 13 พฤษภาคมจะได้มีการนำข้อเสนอเบื้องต้นยื่นให้กับผม  และหลังจากนั้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ คือวันที่ 20 พฤษภาคมจะได้มีการจัดประชุมสมัชชาเพื่อเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนในภาคส่วน ต่าง ๆ นั้นได้มาระดมความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่ง 
 แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาซึ่งผมอยากจะเรียนว่า ต้องใช้เวลาในการแก้ไข อย่าว่าแต่ 4 เดือน 6 เดือนหรือ 1 ปี 8 เดือน 9 เดือนเลยครับ เวลาเหล่านั้นไม่พอหรอกครับ  แต่สิ่งที่เราจะทำหลังวันที่ 20 คือเราควรจะมีข้อยุติในเรื่องของการมีกลไกพิเศษขึ้นมา  เป็นกลไกซึ่งจะอยู่และก็ทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องข้ามรัฐบาลหลังจากที่ มีการเลือกตั้งไปแล้ว  ซึ่งบุคคลที่จะเข้ามานั้นก็จะต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากสังคม มีความหลากหลาย ไม่ถูกชี้นำโดยภาคราชการ ขณะเดียวกันกลไกนี้ก็จะเป็นกลไกที่ราชการนั้นจะต้องให้การสนับสนุนอย่างเต็ม ที่ นั่นก็คือเป็นกลไกที่รัฐบาลให้การรับรองจะโดยคำสั่งซึ่งออกเป็นระเบียบสำนัก นายกรัฐมนตรีหรืออะไรก็แล้วแต่ พร้อม ๆ กันนั้นหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานกลางของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ หรือกระทรวงการคลัง นั้นก็ต้องเข้ามาช่วยทั้งในงานทางด้านธุรการ ทั้งในการสนับสนุนทางด้านงบประมาณ ซึ่งจะได้มีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป 
  @ อีก 10 วันข้างหน้า มีความชัดเจน
  ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมอยากให้ความมั่นใจ ว่าแผนในส่วนที่ 2 นี้เริ่มต้นเดินแล้ว มีความชัดเจนตามสมควร และภายในระยะเวลาประมาณ 10 วันข้างหน้า ก็จะมีความชัดเจนครับว่าจะสามารถเดินบรรลุวัตถุประสงค์เป้าหมายตรงนี้ได้ อย่างไร ปัญหาทั้งหมดจะต้องถูกนำมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในแง่ของโครงสร้าง ความยากจน ความไม่เป็นธรรมโดยทั่ว ๆ  ไป หรือปัญหาที่เป็นปัญหาเฉพาะของคนชายขอบ ของคนไร้ที่ทำกิน ของคนหนี้สินท่วมตัว และกลุ่มอื่น ๆ ทั้งหมดนี้จะต้องเข้ามาสู่กระบวนการตรงนี้ เพื่อมิให้พี่น้องประชาชนคนไทยคนใดเลยมีความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการเหลียวแล ไม่ได้รับความเป็นธรรม และในที่สุดก็จะต้องเข้ามาชุมนุมเคลื่อนไหว เรียกร้อง จะเป็นทางการเมือง หรือทางอื่นก็ตาม อันนี้ก็คือส่วนที่ 2 ที่เราจำเป็นจะต้องแก้ไขเพื่อนำไปสู่ความปรองดอง 
 @ ปฎิรูปสื่อมีความจำเป็นเร่งด่วน
    องค์ประกอบที่ 3 เป็นเรื่องของสื่อสารมวลชน ตรงนี้ก็อยากจะบอกตรงไปตรงมาล่ะครับว่าประเทศไทยนั้นที่จริงแล้วเราก็ให้ สิทธิเสรีภาพกับสื่อสารมวลชนมากที่สุดประเทศหนึ่ง แต่ว่าในระยะหลังต้องยอมรับครับว่าการต่อสู้ในทางการเมืองนั้น เรื่องของข่าวสารเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นเครื่องมือที่ใช้ต่อสู้ในทางการเมืองนั้น ก็จะก้าวล่วงเข้ามาสู่เรื่องของสื่อต่าง ๆ ค่อนข้างชัดเจน มีการใช้สื่อ ด้านหนึ่งก็บอกว่าเป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่พึงจะกระทำได้
    แต่อีกด้านหนึ่งนั้นสื่อหลายส่วนก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการ เมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้  ยิ่งไปกว่านั้นในโลกปัจจุบันครับที่เทคโนโลยีก้าวไกลไป ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของโทรทัศน์ดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของวิทยุชุมชน และรูปแบบอื่น ๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ๆ เราปฏิเสธไม่ได้ครับว่ามีการใช้สื่อหลายประเภททำให้เกิดความเกลียดชัง ทำให้เกิดความรู้สึกที่มีความรุนแรง และบางครั้งก็มีการใช้สื่อเหล่านี้พูดง่าย ๆ เหมือนกับเป็นศูนย์บัญชาการการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เป็นการยั่วยุเป็นการปลุกระดม ซึ่งตรงนี้ต้องแก้ไข  
   ผมจึงได้นำเสนอว่าการปฏิรูปสื่อ เพื่อที่จะให้สื่อสารมวลชนต่าง ๆ นั้นมามีบทบาทในลักษณะที่สร้างสรรค์มากขึ้นนั้นมีความจำเป็นเร่งด่วน การดำเนินการนั้นจะประกอบไปด้วย 2-3 แนวทาง แนวทางแรกนั้นคงจะต้องเป็นเรื่องของกฎหมาย  ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนั้นในภาวะปกติ  กฎหมายที่จะเอื้อมเข้าไปดูแลจัดการตรงนี้นั้นยังมีข้อจำกัดมาก เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าการที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้จะทำได้เป็นใน ลักษณะของชั่วครู่ชั่วยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือช่วงที่มีการประกาศฉุกเฉิน หรือภาวะฉุกเฉินร้ายแรง ซึ่งเมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองสงบลง เราคงไม่ประสงค์จะให้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินหรือภาวะฉุกเฉินร้ายแรงต่อ เนื่องไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นขณะนี้ผมได้ให้มีการยกร่างกฎหมาย ซึ่งจะต้องนำไปสู่การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่าจะทำอย่างไรที่จะให้เรา สามารถที่จะมีการเข้าไปควบคุมดูแลในเรื่องของสื่อต่าง ๆ ไม่ให้มีบทบาทในการยั่วยุ ปลุกระดม หรือนำไปสู่การสร้างความเกลียดชัง และความรุนแรงในสังคม  
   @ องค์กรอิสระ กลไกในการติดตามเพื่อตรวจสอบการทำงานของสื่อ
   ตรงนี้ก็จะเชื่อมโยงมาในส่วนที่ 2 คือบทบาทขององค์กรที่จะต้องเข้ามาทำงานในเรื่องนี้  ซึ่งขณะนี้ในเบื้องต้นผมมองเห็นว่าคณะกรรมการซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระกำกับ ดูแลในเรื่องนี้  ก็คือ กทช. ในปัจจุบัน และจะเป็น กสทช. ในอนาคต น่าจะต้องมีบทบาทเป็นหลักในเรื่องนี้ที่จะเข้ามากำกับดูแลเป็นกลไกในการที่ จะไม่ให้สื่อต่าง ๆ นั้นถูกนำไปใช้ในลักษณะที่ทำให้เกิดความแตกแยก และความรุนแรงในสังคม หน่วยงานนี้คงจะต้องทำงานใกล้ชิดด้วยกับบรรดาองค์กรวิชาชีพของสื่อ  ซึ่งปัจจุบันนั้นก็เริ่มมีการพัฒนาเพื่อที่จะดูแลตัวเองอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันนั้นก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมาทำงานร่วมกับภาครัฐส่วนใด ส่วนหนึ่ง เพื่อที่จะสามารถที่จะแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ และในส่วนสุดท้ายคือจะต้องมีองค์กรอิสระที่ประกอบไปด้วยภาคประชาชนที่จะมา เป็นกลไกในการติดตามเพื่อตรวจสอบการทำงานของสื่ออย่างชัดเจนมากขึ้น  ทั้งหมดนี้ผมยืนยันครับว่าจะต้องเดินไปสู่จุดที่ไม่ใช่เปิดโอกาสให้รัฐ หรือฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงสื่อ  แต่จะต้องมีกติกาของสังคมที่ดี ที่ขีดขอบเขตที่จำกัดสำหรับการที่จะมีการนำสื่อไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งกระบวนการนี้ก็เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญมาก เพราะว่าเราต้องยอมรับว่าระยะหลังความรุนแรงที่เกิดขึ้น ความขัดแย้งที่ดูจะบานปลายได้ง่ายนั้น  บทบาทของการใช้สื่อมีไม่น้อยเลยครับในการนำสังคมมาสู่จุดที่เป็นอยู่ใน ปัจจุบันนี้
   @ ไม่ต้องการที่จะให้มีการนิรโทษกรรมกลุ่มผู้ก่อการร้าย
   องค์ประกอบที่ 4 เข้ามาสู่ตัวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากตัวเหตุการณ์ที่เป็นวิกฤตการณ์ในช่วง ระยะเวลาประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมานี้เอง ตรงนี้ก็เป็นปัญหาในเรื่องของความคลางแคลงใจต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่ทำให้มีการสูญเสียชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น 10 เมษายน ไม่ว่าจะเป็น 22 เมษายน  28 เมษายน หรือล่าสุดก็คือคืนเมื่อวานซืนที่มีการสูญเสียอีก
   ขณะนี้ รัฐบาลเองได้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาประมวลเหตุการณ์ เพื่อทำหน้าที่ในการเก็บรวบรวมข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพื่อให้สามารถใช้ในการอ้างอิงได้  ขณะเดียวกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่เป็นองค์กรอิสระก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อ เริ่มต้นในการที่จะสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหล่านี้  ตรงนี้ครับจะต้องมีการหารือว่าถ้ามีความเชื่อมั่นในองค์กรอิสระ คือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ดำเนินการอยู่  ผมก็คิดว่าก็เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบข้อเท็จ จริงอย่างตรงไปตรงมากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ถ้าหากเห็นว่ากลไกนี้จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุง ยังไม่ครบถ้วน ยังไม่รอบด้วย ยังไม่สมดุล ก็เป็นเรื่องที่จะต้องมาปรึกษาหารือเพื่อเดินหน้าในการทำเรื่องนี้ให้เป็น ที่ยอมรับของสังคมต่อไป  
ผมเพียงแต่ให้ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งครับว่า ในส่วนของภาครัฐเองนั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลและกองทัพ สิ่งหนึ่งที่เราได้ยืนยันครับก็คือเราพร้อมที่จะให้การร่วมมือกับการตรวจสอบ ทั้งหมด  จะเห็นได้ว่าเวลาเกิดเหตุการณ์ของการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในอดีตนั้น มักจะมีการนิรโทษกรรม ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้ชุมนุมหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง แต่ครั้งนี้รัฐบาลและกองทัพนั้นมีความมั่นใจครับว่า สิ่งที่ได้ปฏิบัติไปทั้งหมดนั้นเป็นไปตามระเบียบแบบแผนและกฎหมายทั้งสิ้น และเราไม่ต้องการที่จะให้มีการนิรโทษกรรมกลุ่มผู้ก่อการร้าย  ซึ่งเป็นชนวนและเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดความสูญเสียอย่างต่อ เนื่อง เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นการบ่งบอกถึงความบริสุทธิ์ใจของรัฐบาลเอง พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและทำให้ความจริงในเรื่องนี้มีความกระจ่างชัดออกมา
   @ ความขัดแย้งที่บานปลายมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากความขัดแย้งในหมู่นักการเมืองด้วยกันเอง
ประเด็น สุดท้าย องค์ประกอบสุดท้ายข้อที่ 5 ผมอยากจะเรียนว่าเป็นเรื่องซึ่งหลายคนก็ตั้งคำถาม ซึ่งผมอาจจะได้พูดในรายละเอียดในช่วงท้ายของรายการ คือเป็นเรื่องของการเมืองล้วน ๆ ครับ หลายคนอาจจะบอกประเด็นนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชนมากนัก แต่ผมก็อยากจะเรียนครับว่าโดยข้อเท็จจริงแล้ว  นักการเมืองแม้จะถูกมองว่าเป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ  แต่ก็เป็นคนซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในกระบวนการของการเลือกตั้ง  ที่สำคัญคือว่านักการเมืองทุกคนมีมวลชนที่มีความผูกพันกับตัวเองอยู่ไม่มาก ก็น้อย ความขัดแย้งที่บานปลายมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากความขัดแย้งในหมู่นักการเมืองด้วยกันเอง  เกี่ยวข้องกับกติกา เกี่ยวข้องกับความไม่เป็นธรรมที่เขามองว่าเกิดขึ้นจากหลายเหตุการณ์ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ถ้าเราจะบอกว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ต้องหยิบยกมาพูดกัน ผมคิดว่าเราไม่อยู่กับความไม่เป็นจริง  ดังนั้นข้อขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับกติกาทางการเมือง ความไม่เป็นธรรมทางการเมืองนั้น  สมควรที่จะได้ถูกหยิบยกขึ้นมา เพื่อหาข้อยุติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมตอบไม่ได้หรอกครับว่าจะต้องนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร
  @ ยืนยันว่าจะไม่มีการแก้กติกาอะไรใด ๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง
    แต่สิ่งหนึ่งซึ่งผมขอยืนยันก็คือว่าในกระบวนการในแผนในองค์ประกอบที่ 5 นี้  ซึ่งผมจะได้มีการปรึกษาหารือกับหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งที่เป็นองค์กรกลาง ทั้งที่เป็นกลุ่ม ส.ว. หรือแม้กระทั่งท่านประธานกรรมาธิการสมานฉันท์ฯ ซึ่งถูกตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้ว หรือกรรมการสมานฉันท์ที่ถูกตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ตั้งใจจะพบกับท่านอยู่ในวันอังคารนี้  ก็คือกระบวนการที่จะหาข้อยุติตรงนี้ต้องไม่ใช่เรื่องที่นักการเมืองตกลงกัน เอง  ต้องมีรูปแบบวิธีการที่จะฟังความคิดเห็นจากคนที่ไม่ใช่นักการเมือง และในส่วนตัวของผมของรัฐบาลหรือพรรคที่ผมสังกัด  ผมขอยืนยันว่าจะไม่มีการแก้กติกาอะไรใด ๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง อันนี้เป็นสิ่งซึ่งผมอยากให้ความมั่นใจ 5 ข้อนี้ล่ะครับคือองค์ประกอบของแผนของการปรองดอง  ซึ่งตรงนี้หลายคนก็เอาไปผูกกับเรื่องยุบสภา ไม่ยุบสภา ผมขอย้ำครับเฉพาะแผนปรองดอง 5 ข้อนี้  ไม่ว่าเหตุการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันจะคลี่คลายไปในทางใด เป็นงานซึ่ง     ผมยืนยันว่าพวกเราทุกคนควรจะทำ รัฐบาลจะเป็นผู้นำในเรื่องนี้ และได้เริ่มต้นแล้ว และขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มให้เข้ามาร่วมในกระบวนการปรองดองนี้  อันนี้คือสาระสำคัญของ 5 ข้อที่ผมมั่นใจว่าคือคำตอบของประเทศไทยในปัจจุบัน เดี๋ยวเราพักกันสักครู่นะครับ  และผมจะมาพูดต่อว่าแผนนี้กับเรื่องของการยุบสภามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร และนำไปสู่การตอบคำถามหลายคำถามและข้อสงสัยของอีกหลายกลุ่มบุคคลที่ได้มาพบ กับผมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ 
 
 @   ไม่ ปรองดองกับผู้ก่อการร้ายหรือผู้ที่กระทำการที่ผิดกฎหมาย
  นายกฯ กล่าวว่า   มีหลายคนสอบถามมามากว่า ในเมื่อรัฐบาลบอกว่าในขณะนี้มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายอยู่ เหตุใดจึงจะไปปรองดองกับผู้ก่อการร้าย ขอเรียนให้ชัดนะครับว่า แผนทั้ง 5 ข้อซึ่งผมได้เล่าให้ฟังไปเมื่อสักครู่นี้ ไม่มีตรงไหนเลยครับที่เราจะไปปรองดองกับผู้ก่อการร้ายหรือผู้ที่กระทำการที่ ผิดกฎหมาย เพราะในแผนทั้ง 5 ข้อนั้นไม่มีส่วนใดทั้งสิ้นครับ ที่จะไปเป็นการนิรโทษกรรมในคดีอาญาต่าง ๆ ผู้ที่กระทำความผิดมีความผิดเหมือนเดิม จะต้องถูกดำเนินคดีเหมือนเดิม เป้าหมายของเราก็คือการจับกุมดำเนินคดี ซึ่งในขณะนี้ก็จะเห็นครับว่าหน่วยงานต่าง ๆ ก็ทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือกรมสอบสวนคดีพิเศษ และดีเอสไอนั้นสามารถที่จะดำเนินการหรือดำเนินคดีในเรื่องนี้ มีความก้าวหน้าไปมาก เพราะว่าได้มีการจับกุมทั้งคน ทั้งมีการยึดอาวุธ มีการสอบสวนแล้วสามารถที่จะขยายผลมองเห็นภาพของเครือข่ายของการก่อการร้าย ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นตรงนี้ขอย้ำนะครับ ไม่มีตรงไหนเลยในแผนของการปรองดองที่บอกว่า เราไปจับมือไปสมยอมไปปรองดองกับผู้ก่อการร้าย พี่น้องประชาชนจะได้มีความมั่นใจ
    @  ไม่ใช่เป็นเรื่องของการจำนนต่อการเรียกร้องโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง
  ก็มีคำถามต่อไปครับว่า แล้วมีการพูดถึงเรื่องการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายนนั้นเพราะอะไร ผมก็ได้เรียนกับพี่น้องประชาชนมาโดยตลอดนะครับว่าการแก้ไขปัญหาความแตกแยกใน สังคมนั้น เราจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาในทางการเมืองด้วย ก่อนหน้านี้ผมใช้คำว่าเราจะต้องมีคำตอบทางการเมือง ซึ่งเดินคู่ขนานและแยกออกจากการทำงานทางด้านกฎหมายและความมั่นคง ตั้งแต่ไหนแต่ไรครับ ตั้งแต่ผมมาเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เคยปฏิเสธแนวคิดในเรื่องของการยุบสภา เพราะทราบว่ามันมีความขัดแย้งทางการเมือง มีการวิพากษ์วิจารณ์ที่บอกว่า อยากจะเห็นประชาชนนั้นมีโอกาสที่จะตัดสินใจในการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง ปลายปีที่แล้ว ตั้งแต่กลางปีที่แล้วครับ ผมได้พูดว่าการยุบสภาน่าจะเกิดขึ้นได้ถ้าเรามีเงื่อนไข 3 เงื่อนไข 1. เศรษฐกิจฟื้น 2. เราตกลงกันเรื่องกติกาได้ และ 3. บรรยากาศของบ้านเมืองนั้นเอื้ออำนวยให้มีความสงบสุข ทำให้การเลือกตั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งที่เสรีเป็นธรรม และไม่มีความรุนแรง หรือปราศจากความรุนแรง ปลายปีประมาณเดือนธันวาคมครับ ผมยังเคยตกลงกับวิปฝ่ายค้าน วิปวุฒิสภาผ่านวิปรัฐบาล ว่าถ้านำเอา 6 ประเด็นซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์พูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาทำประชามติ และรัฐสภาเคารพผลของการทำประชามตินั้น เสร็จสิ้นเรียบร้อยเมื่อไร ก็จะจัดให้มีการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นการที่ผมพูดถึงเรื่องของการที่จะมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายนนั้น ยังอยู่บนพื้นฐานหลักคิดเดิม ไม่ใช่เป็นเรื่องของการจำนนต่อการเรียกร้องโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเขาเรียกร้องหมายถึงว่า ยุบสภากันวันนี้ พรุ่งนี้ 15 วัน 30 วัน ไม่ใช่ครับ
  @ นักการเมืองทุกฝ่ายต้องมาประสานกัน ว่าไปลงพื้นที่ได้ไม่มีการขัดขวาง ไม่มีความรุนแรง
   แต่สิ่งที่ผมพูดว่าจะมีการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤศจิกายน ผมได้บอกว่าจะมีการเลือกตั้งก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมในการ เข้ามาร่วมในกระบวนการปรองดอง และรูปธรรมที่เราต้องการจะเห็นก็คือ 1. การชุมนุมเคลื่อนไหวในทางการเมือง ซึ่งผิดกฎหมายในขณะนี้ต้องยุติลง นอกจากนั้นในระยะเวลาจากวันนี้ไปจนถึงการยุบสภาหรือการเลือกตั้งนั้น จะต้องมีรูปธรรมชัดเจนของการร่วมกันทำงานกัน ให้รัฐบาล ให้รัฐสภา ให้พรรคการเมือง ให้กลุ่มการเมืองต่าง ๆ นั้นสามารถทำหน้าที่ของตัวเองตามกฎหมายได้โดยไม่มีการขัดขวาง คงไม่ใช่เรื่องที่จะมาพูดกันลอย ๆ ครับ แต่ความหมายก็คือว่าการไปลงพื้นที่ของนักการเมืองต่อจากนี้ไป นักการเมืองทุกฝ่ายต้องมาประสานกัน ว่าไปลงพื้นที่ได้ไม่มีการขัดขวาง ไม่มีความรุนแรง ถ้าทำได้ ผมก็บอกว่ารัฐบาลก็พร้อมที่จะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน แต่ว่าถ้าทำไม่ได้นั่นก็หมายความว่าการเลือกตั้งก็เกิดขึ้นไม่ได้ครับ
  @ ถ้าไม่สงบก็เลือกตั้งไม่ได้
    เพราะฉะนั้นหลายคนที่ทักท้วงมา นอกจากจะบอกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจุดยืนหรือไม่ หรือที่บอกว่าเป็นการจำนนต่อกลุ่มที่ทำผิดกฎหมาย ไม่ใช่ และหลายคนที่ห่วงใยบอกว่าจะเลือกตั้งได้หรือถ้าบ้านเมืองไม่สงบ แผนที่ผมเสนอก็ชัดเจนครับว่าถ้าไม่สงบก็เลือกตั้งไม่ได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมคิดว่า น่าจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นพูดง่าย ๆ 5 ข้อนี้ครับ ถ้าสมมติว่ามีการยุติการชุมนุม และมาทำกันอย่างจริงจัง และมีความราบรื่น มีความสงบนี้นะครับ ผมอยากจะเรียนว่าจะเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองของเราสงบมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ซึ่งก็น่าจะเป็นบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเลือกตั้งได้ แต่ว่าถ้าหากว่ามันไม่เป็นอย่างนี้ แน่นอนครับ 5 ข้อนั้นผมก็จะร่วมทำกับทุกคน ทุกกลุ่มที่เข้ามาช่วยกันทำงาน แต่ก็จะไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งหรือให้มีการยุบสภาได้ ซึ่งตรงนี้น่าจะทำให้พี่น้องประชาชนชัดเจนมากยิ่งขึ้นนะครับว่า แผนปรองดองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการยุบสภานั้นมันเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้ครับผมอยากจะถือโอกาสได้ทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่องต่อไปว่า นับตั้งแต่มีการประกาศแผนการปรองดองนั้น ปฏิกิริยาจากกลุ่มต่าง ๆ และความพยายามในการทำความเข้าใจกับกลุ่มต่าง ๆ นั้นเป็นอย่างไร
  สัปดาห์ที่ผ่านมานั้นผมเปิดโอกาสให้กลุ่มต่าง ๆ ซึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับแผนของการปรองดองหรือการประกาศแผน ปรองดองนั้นได้เข้ามาพบ กลุ่มแรกคือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และก็มีตัวแทน เข้าใจว่าเป็นของพรรคการเมืองใหม่ด้วยครับ กลุ่มนี้เขาบอกว่า 1. ไม่ค่อยแน่ใจว่าที่มาที่ไปของแผนปรองดองเป็นอย่างไร เป็นการสมคบ บางทีก็ใช้คำว่าเป็นการซูเอี๋ยของนักการเมืองหรือไม่ เป็นการทรยศต่อพี่น้องประชาชน ประเทศชาติ หลักการและสถาบันหลักของชาติบ้านเมืองหรือไม่ ตรงนี้ได้คุยกันยาวครับ และผมก็ยืนยันครับว่า แผนทั้งหมดนั้นมาจากหลักคิดอย่างที่ผมได้บอกกับพี่น้องประชาชนไปแล้ว ผมคิดและเขียนด้วยตัวเองครับ ผ่านกระบวนการของการรับฟังทุกฝ่าย ไม่ใช่เรื่องไปเจรจาต่อรอง และแผนนี้ที่ผมวางลงไปนั้นก็ไม่มีการต่อรองแล้วครับ เพราะฉะนั้นจะมามีการตั้งเงื่อนไขอะไรจากกลุ่มใดอีกไม่ได้ แผนนี้เป็นแผนซึ่งประกาศไปแล้ว และถ้าหากว่าใครขานรับก็มาช่วยกันทำงาน ใครไม่ขานรับโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นกลุ่มคนที่ทำผิดกฎหมายอยู่เราก็ต้อง ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งก็จะต้องพับไป เกิดขึ้นไม่ได้ อันนี้ทำความเข้าใจนะครับ
  @  กลุ่มพันธมิตรจะเชื่อมากน้อยแค่ไหนนั้นก็สุดแล้วแต่
     ส่วนกลุ่มพันธมิตรจะเชื่อมากน้อยแค่ไหนนั้นก็สุดแล้วแต่ แต่ผมได้ตอบข้อซักถามที่เป็นความคลางแคลงใจว่า วัตถุประสงค์หรือเจตนาแอบแฝงมีหรือไม่นี้ หมดครับ ได้ชี้แจงพูดคุยกันอย่างละเอียด แต่ความคิดเห็นที่ยังแตกต่างกันอยู่นั้นก็ย่อมมีได้ ในแง่ของจุดยืนของแต่ละกลุ่มนะครับ ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องซึ่งเป็นสิทธิของแต่ละฝ่าย ผมเพียงแต่บอกว่า ไม่ควรจะมีการกล่าวหากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรจะมีการกล่าวหาผมว่าไม่มีความคิดในการที่จะทำเพื่อ ประโยชน์ของส่วนรวม เพราะแผนนี้ครับ ผมโดยส่วนตัวไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ทำงานก็ต้องทำหนักขึ้นครับ และถ้ามีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน นั่นก็หมายความว่าตัดวาระการดำรงตำแหน่งของตัวเองให้สั้นลง  ต้องทำงานแข่งขันกับเวลา ต้องเตรียมในการที่จะต่อสู้แข่งขันทางการเมือง ส่วนตัวไม่ได้อะไรเลยครับ แต่เป็นแนวคิดและเป็นแผนที่ผมคิดว่าจะช่วยทำให้บ้านเมืองมีความสงบสุข  ซึ่งความสำคัญมากกว่าผลประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดทั้งสิ้นนะครับ อันนี้ก็คือสิ่งที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับกลุ่มพันธมิตร
   @ เสื้อหลากสี  พวกเขาผิดหวังในตัวผม
    ขณะเดียวกันครับ กลุ่มของคนที่ใช้ชื่อว่าเสื้อหลากสีก็ได้มาพบเช่นเดียวกัน กลุ่มนี้ผมเข้าใจความรู้สึกดีครับ เขาคือกลุ่มซึ่งออกมาแสดงออกในการสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ของทหาร ของเจ้าหน้าที่ และที่สำคัญก็คือว่าอยากจะเห็นความถูกต้องในบ้านเมือง ต้องการที่จะเห็นบ้านเมืองสงบ มีความรู้สึกว่าแผนนี้เป็นการถอยหรือเป็นการไปจำนน เป็นการไปยอมกับสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ เขาก็รู้สึกผิดหวังถ้าพูดกันแรงหน่อยก็อาจจะบอกว่าเหมือนกับอกหัก ว่าทำไมรัฐบาลไม่ยืนหยัดประกาศครบให้อยู่ครบวาระนะครับ และเดินหน้าในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียว ก็พูดคุยกันครับ
  
   ในส่วนของแผนปรองดอง 5 ข้อนั้น กลุ่มนี้ก็เห็นด้วยครับ แต่บอกว่าขอดูการกระทำ ก็คือการทำงานในช่วงเดือน - 2 เดือนจากนี้ไปว่ามีผลเป็นรูปธรรมมากน้อยแค่ไหน แล้วนำไปสู่ความปรองดองอย่างแท้จริงหรือไม่ ผู้นำกลุ่มนั้นก็บอกว่าความจริงก็บอกว่าแม้แต่เรื่องของการเลือกตั้งนั้นก็ บอกว่าสามารถเลือกตั้งก่อนกำหนดได้ เพียงแต่มองว่าวันที่ 14 พฤศจิกายนนั้นเร็วเกินไป อันนี้ก็เป็นสิ่งซึ่งผมคิดว่าก็เป็นความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย และการแลกเปลี่ยนพูดคุยก็จะต้องมีการดำเนินต่อไป อย่างไรก็ตามครับผมอยากจะเรียนครับว่า จากที่ได้มีการสดับตรับฟังแล้วก็มีการประเมินโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีโพลหรือ สำนักต่าง ๆ ที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ทำให้ผมมั่นใจตามสมควรครับว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเห็นกระบวนการปรองดอง และก็สนับสนุนแผนนี้ มีบางกลุ่มคัดค้าน มีบางกลุ่มยังไม่แน่ใจ แต่ผมเรียนว่าถ้าระดับการสนับสนุนเป็นอย่างที่โพลบ่งบอก ผมคิดว่าเราสามารถที่จะเดินหน้าได้ และก็ตอบคำถามให้กับคนทุกกลุ่มได้
  @   กลุ่มเขาจะเป็นกลุ่มคนซึ่งแปลกแยกอยู่ในสังคม ถูกโดดเดี่ยว
   ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์ และกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อ 2 คืนก่อนครับ เอาในส่วนของเหตุการณ์ 2 คืนก่อน ผมอยากจะเรียนว่ามีหลายคนพอเกิดเหตุการณ์ขึ้น ก็มาพูดหรือสื่อสารมาถึงผมว่านี่หละคือความล้มเหลวของแผนปรองดอง นี่หละคือสิ่งที่ทำให้เราต้องยกเลิกแผนของการปรองดอง ผมอยากจะเรียนนะครับว่าผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่ เกิดขึ้น แต่ผมยืนยันได้เลยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตัวบ่งบอกครับว่า ผู้ที่ไม่สนับสนุนแผนการปรองดองที่ชัดเจนที่สุดกลุ่มหนึ่ง ก็คือกลุ่มผู้ก่อการร้ายครับ เพราะเขารู้ว่าถ้าเมื่อไรก็ตามการชุมนุมยุติลง และแผนปรองดองเดินหน้าได้แบบเต็มที่ กลุ่มเขาจะเป็นกลุ่มคนซึ่งแปลกแยกอยู่ในสังคม ถูกโดดเดี่ยว และจะต้องมีการดำเนินการถูกจับกุมดำเนินคดี เพราะเขาจะไม่สามารถเอามวลชนมาเป็นโล่มนุษย์ มาเป็นกลุ่มที่ล้อมเขาได้อีกต่อไป เพราะฉะนั้นอย่าได้แปลกใจนะครับว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย แล้วก็จะต้องมีความพยายามในการที่จะสร้างความรุนแรง เพื่อที่จะล้มแผนของการปรองดอง
  @  คุณทักษิณ ไม่พอใจแผนปรองดอง
   แน่นอนครับขณะเดียวกันมีคนเขาบอกว่า พอเราทำแผนปรองดอง ก็เลยไม่ดูแลเรื่องความมั่นคงใช่ไหม เหตุการณ์จึงเกิดขึ้น ก็ต้องตอบว่าไม่ใช่ครับ จุดเกิดเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 คืนก่อนนั้นก็คือ ด่านของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกำลังกระชับกำลังเข้าไปเพื่อที่จะทำการในการที่จะปิดล้อมการชุมนุม เพื่อที่จะสามารถที่จะดำเนินการเพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยได้ ถ้าตำรวจ ทหาร ไม่ทำอะไร คงไม่ไปอยู่ตรงนั้นละครับ และก็ไม่ไปเป็นเป้าไปเป็นเหยื่อของกลุ่มผู้ที่ใช้ความรุนแรงตรงนั้น เพราะฉะนั้นตรงนี้ครับเป็นสิ่งที่ผมอยากจะเรียนว่า ต้องวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนว่า แผนการปรองดองกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2 คืนก่อนนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ผมเอ่ยชื่อบุคคลก็ได้ครับ คนที่แสดงตัวชัดเจนไม่เอาแผนปรองดองก็คือเสธ.แดงครับ แล้วก็มีความพยายามอย่างยิ่งยวดในขณะนี้ที่จะไม่ให้การชุมนุมยุติลง และที่สำคัญก็คือว่า เสธ.แดง ก็พูดอย่างชัดเจนด้วยว่าขณะนี้ ก็พยายามที่จะไปติดต่อประสานงานกับแกนนำในภูมิภาค เพื่อมาคัดค้านแกนนำในส่วนกลาง ซึ่งในเบื้องต้นบอกว่าตอบรับกระบวนการของการปรองดอง และที่สำคัญก็คือเสธ.แดงบอกด้วยครับว่า เขาก็จะฟังจากคุณทักษิณ ซึ่งผมก็กล้าพูดได้เช่นเดียวกันครับว่า คุณทักษิณนั้นไม่พอใจแผนปรองดองครับ เพราะในแผนปรองดองนั้นไม่มีอะไรที่เป็นคำตอบในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ส่วน ตัวของคุณทักษิณเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคดีความและเรื่องอื่น ๆ
   เพราะฉะนั้นตรงนี้ครับคือจุดที่ผมอยากจะเรียนยืนยันนะครับว่า แผนปรองดองต้องเดินหน้าครับ แต่เมื่อต้องเดินหน้า วันนี้ผมก็ต้องพูดกับกลุ่มที่ยังชุมนุมอยู่อย่างชัดเจน ทุกวันเวลาที่ผ่านไปในขณะนี้ เมื่อตอบรับกระบวนการปรองดองแล้ว แต่กลับยังไม่ยุติการชุมนุมนี้ครับ ความเสี่ยงจะมีสูงมาก กลุ่มผู้ก่อการร้ายนั่นแหละครับ เขาอาจจะใช้ความรุนแรงอีก และที่สำคัญก็คืออาจจะใช้ความรุนแรงกับตัวผู้ชุมนุมหรือแกนนำผู้ชุมนุม อย่าลังเลเลยครับ
    @  15 พฤษภาคม ช้าไปครับ
   ถ้ายืนยันว่าจะเข้าร่วมกระบวนการปรองดอง รีบยุติการชุมนุมเสีย เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของพี่น้องประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องจะต้องเอาชนะ อย่าไปคิดเป็นเรื่องว่าจะเสียหน้า อย่าไปคิดถึงประโยชน์ของส่วนตัวเลยครับ ถ้าเป็นผู้ที่จะต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในครั้งนี้ บ้านเมืองเสียหายมามากแล้ว รัฐบาลเองเสนอแผนนี้ก็ถูกต่อว่าต่อขานจากผู้สนับสนุนเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าถ้ามีความจริงใจ ต้องสามารถที่จะประกาศยกเลิกการชุมนุมได้โดยเร็ว ที่พูดมาวันที่ 15 พฤษภาคม ช้าไปครับ เพราะนอกจากจะมีความเสี่ยงในเรื่องของความปลอดภัยของชีวิตของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นของผู้ชุมนุมเอง ของเจ้าหน้าที่หรือประชาชนบริสุทธิ์ทั่วไป อย่าลืมว่าการชุมนุมในปัจจุบันทำให้เกิดความเสียหายอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางเศรษฐกิจ และยิ่งไปกว่านั้นครับ โรงเรียนก็กำลังจะเปิดเทอมครับ พ่อแม่ผู้ปกครองนั้นไม่มีใครหรอกครับที่จะไม่รักลูก ห่วงลูก ถ้าบรรยากาศการชุมนุมยังอยู่ ความเสี่ยงต่อความรุนแรงยังอยู่ พ่อแม่จำนวนมากเขาจะทุกข์มากครับ กับการที่จะให้ลูกต้องไปโรงเรียนในสถานการณ์เช่นนี้
      เพราะฉะนั้นถ้ามีความจริงใจ และอยากจะมาร่วมในกระบวนการปรองดอง อย่ารอช้าครับ อย่ารอช้า ถ้าช้าไปมีแต่ความเสียหาย และมีแต่ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และแน่นอนครับถ้ายิ่งช้าไปครับ รัฐบาลเองก็ไม่สามารถที่จะตอบคำถามกับสังคมได้ว่า จะสามารถจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายนได้ เพราะฉะนั้นวันนี้ พรุ่งนี้ครับ ควรจะมีคำตอบที่ชัดเจน เพื่อที่เราจะได้ทำงานร่วมกันต่อไป เดินหน้าในการบังคับใช้กฎหมาย แยกผู้ก่อการร้ายดำเนินดคี แล้วก็ร่วมกันสร้างคำคอบทางการเมืองและบรรยากาศของบ้านเมืองที่นำไปสู่การ ปรองดองอย่างแท้จริง
    @  เอาเบอร์โทรศัพท์ผมไปประกาศนั้น ไม่ค่อยจะถูกต้อง เป็นการละเมิดสิทธิ์
   พี่น้องที่เคารพครับ ผมคิดว่าผมได้พยายามที่จะอธิบาย เรื่องของแผนปรองดองอย่างครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ช่วงสุดท้ายนี้ครับที่ขอถือโอกาสนี้ได้ตอบหรือได้สะท้อนกลับไปยังพี่น้อง ประชาชนที่สะท้อนความคิดเห็นความรู้สึก อารมณ์ต่าง ๆ มาที่ผม ส่วนใหญ่ก็จะผ่านทางโทรศัพท์บ้าง SMS บ้าง ความจริงต้องบอกนะครับว่าบรรดารายการวิทยุโทรทัศน์ที่เอาเบอร์โทรศัพท์ผมไป ประกาศนั้น ไม่ค่อยจะถูกต้องหรอกครับ เป็นการละเมิดสิทธิ์ แต่ว่ามีพี่น้องประชาชนทั้งที่โทรศัพท์ทั้ง SMS เข้ามามาก ก่อนอื่นก็ต้องขอขอบคุณอีกครั้งหนึ่งสำหรับทุก ๆ คน ซึ่งเป็นส่วนใหญ่นะครับที่ให้กำลังใจสนับนสนุนผม ทั้งที่เข้าใจแผนปรองดอง สนับสนุนให้กำลังใจอย่างเต็มที่ ทั้งที่ไม่เคยเป็นผู้สนับสนุนผม เห็นแผนปรองดองแล้วให้กำลังใจในการที่จะทำแผนนี้ให้สำเร็จ ไปจนถึงคนที่ให้กำลังใจแม้ไม่เห็นด้วยกับแผนปรองดอง แต่ยังมีความเชื่อว่าผมนั้นทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ผมกราบขอบพระคุณทุกคนด้วยความจริงใจ และทุกกำลังใจนั้นก็มีความหมายมากสำหรับผมและเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติ งานอยู่ในขณะนี้
  @ ผมไม่ตกลงอะไรกับใครในเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวแน่นอน
   สำหรับที่ต่อว่าต่อขานมานี้ครับ ผมอยากจะเรียนอย่างนี้ครับ หลายคนเข้าใจผิด ไปเชื่อข้อมูลข่าวสารที่บอกว่า มีการไปแอบทำข้อตกลง มีการไปฮั้ว มีการไปซูเอี๋ย ไม่มีหรอกครับ ไม่มีเลยครับ และที่แปลกประหลาดที่สุดก็คือว่า พอรู้อย่างนี้ก็บอกว่าไล่ผมลาออกไปเสีย รวมไปถึงบอกว่าที่สะท้อนเข้ามาบอกว่า ผมเป็นคนขี้ขลาดอ่อนแอ ไม่กล้าจัดการอะไร ลาออกไปเสีย ผมบอกเลยครับ คนที่ไม่ปรารถนาดีต่อบ้านเมืองในขณะนี้ต้องการเห็นมากที่สุดคือการเปลี่ยน แปลงรัฐบาลทันที คือการให้ผมลาออก คือการเอาคนอื่นเข้ามาไม่ว่าจะเป็นคนซึ่งอาจจะตัดสินใจแล้วทำให้เกิดความ รุนแรงบานปลายไปสู่การเป็นสงครามประชาชน หรือคนที่เข้ามาแล้วมีการพลิกขั้วทางการเมืองแล้วไปเอื้ออำนวยต่อกลุ่มที่ กระทำการผิดกฎหมาย ผมยืนยันครับ ผมไม่ตกลงอะไรกับใครในเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวแน่นอน ผมได้ย้ำไปแล้วว่าไม่มีประโยชน์ส่วนตัวอะไรเลยที่ผมได้รับจากการปรองดองใน ครั้งนี้
   @  ถ้าผมอยากอยู่สบายผมลาออกไปแล้วครับ
     หลายคนบอกว่าผมเอาตัวรอด ผมคงอยู่สบาย แต่ประชาชนเดือดร้อน ผมเรียนด้วยความสัตย์จริงครับ ไม่จริงหรอกครับ ชีวิตผมก็ถูกคุกคามอยู่ตลอดจนถึงทุกวันนี้ และก็รู้ว่าจะต้องถูกคุกคามต่อไปในระยะเวลาที่เหลืออยู่ ในการทำงานทางการเมือง หรือแม้กระทั่งเกินเลยไปกว่านั้น แต่ผมยืนยันครับว่าเมื่อผมอาสามาแล้ว ผมทำหน้าที่เต็มที่ ถ้าผมกลัว ผมลาออกไปแล้วครับ ถ้าผมอยากอยู่สบายผมลาออกไปแล้วครับ แต่ผมอยู่แล้วก็ต้องตัดสินใจแม้จะขัดใจ บางครั้งอย่างที่ผมบอก ขัดใจคนทุกกลุ่มในบางเรื่อง เพื่อประโยชน์ส่วนรวมผมถือว่านั่นไม่ใช่ความอ่อนแอ ผมถือว่านั่นไม่ใช่การขี้ขลาด ไม่ใช่การหนีปัญหา แต่เป็นการเผชิญปัญหา โดยพยายามเอาผลประโยชน์ของตัวเอง ของพรรค ของกลุ่ม เอาไปวางไว้ข้างนอก และยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ข้อกล่าวหาบางครั้งก็ไปพูดถึงสิ่งที่ไม่เป็นความจริงนะครับว่า มีการให้คนนั้นคนนี้ไปพบกันเพื่อตกลง ไม่มีครับ อย่างที่ผมย้ำแล้วครับ ขณะนี้แผนปรองดองนั้น คนที่ต้องการที่จะล้มล้างมากที่สุดก็คือผู้ที่ก่อการร้าย และคนที่อยู่ในต่างประเทศ เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมอยากจะทำความเข้าใจนะครับ กับเสียงสะท้อนที่ผ่านมา ผมตอบ SMS ผมตอบโทรศัพท์ได้ไม่หมดทุกสายหรอกครับ แต่ผมยืนยันข้อเท็จจริงและความรู้สึกอย่างนี้
     @ นั่งทำงานด้วยกันอยู่วันหนึ่งอยู่ด้วยกันไม่ต่ำกว่าเป็น 10 ชั่วโมง
  การทำงานในเรื่องนี้เป็นการทำงานซึ่งผมอยากจะขอยืนยันว่า ผมและบรรดาผู้นำเหล่าทัพ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้นยังทำงานอย่างต่อเนื่อง ต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ จะยุติหรือไม่ยุติการชุมนุมเราก็มีแผนรองรับ ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาของสังคม เราจะพยายามทำอย่างดีที่สุดครับ และผมทราบคำว่าท่านผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพ ของตำรวจ และหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และทุกหน่วยงานทางด้านความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกคนทำงานเต็มที่ครับ ไม่หนีปัญหาครับ สนับสนุนแผนปรองดองเป็นทางออกทางการเมือง แต่จะทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเข้มแข็งต่อไปครับ
      เพราะว่าเรานั่งทำงาน เรานั่งประชุมกันอยู่ทุกวัน เฉพาะผู้นำเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หลายคนนั้นเรียกว่านั่งทำงานด้วยกันอยู่วันหนึ่งอยู่ด้วยกันไม่ต่ำกว่าเป็น 10 ชั่วโมงละครับ ความเป็นเอกภาพมี ไม่มีใครอยากเห็นความสูญเสียกับพี่น้องประชาชน ผู้บังคับบัญชาทุกคนเจ็บปวดกับการสูญเสียของผู้ใต้บังคับบัญชา เราไม่เคยเพิกเฉยต่อความรู้สึกต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชนตรงนี้ ผมขอยืนยันครับ พวกเราทุกคนจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุดต่อไป วิกฤตครั้งนี้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศ แม้กระทั่งชาวโลกเห็นแล้วว่าหนักหน่วงมาก แต่ผมตั้งใจที่จะฝ่าวงล้อมของวิกฤตตรงนี้ออกไปให้ได้ และพร้อมที่จะรับผิดชอบกับทุกการตัดสินใจที่เกิดขึ้น

view