สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดชมความงดงาม วังวรดิศ อายุ 99 ปี

จาก โพสต์ทูเดย์

วังวรดิศ อายุเกือบ 100 ปี ปลูกสร้างด้วยไม้สักเกือบทั้งหมด เพื่อแสดงถึงความรุ่งเรืองในวัฒนธรรมไทยในสมัยนั้น แม้วันเวลาผ่านไปนานแค่ไหน แต่วังแห่งนี้ยังคงความงดงามให้อนุชนรุ่นหลังได้ชื่นชม

เรื่อง : วราภรณ์ ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข

วังวรดิศ อายุเกือบ 100 ปี ปลูกสร้างด้วยไม้สักเกือบทั้งหมด เพื่อแสดงถึงความรุ่งเรืองในวัฒนธรรมไทยในสมัยนั้น แม้วันเวลาผ่านไปนานแค่ไหน แต่วังแห่งนี้ยังคงความงดงามให้อนุชนรุ่นหลังได้ชื่นชม ก้าวแรกที่เดินผ่านเข้าประตูวัง “วรดิศ” พบกับอาคารหลังใหญ่สูงตระหง่านงามสีเหลือง

ด้าน หน้าวังวรดิศ

ท่ามกลางความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกอยู่รายรอบวังนับสิบๆ ไร่ ผสานเข้ากับความเงียบสงบ ไม่น่าเชื่อว่าจะตั้งอยู่ในย่านหลานหลวง กรุงเทพมหานคร นี่เอง วังวรดิศปัจจุบันกลายเป็นมรดกตกทอดสู่ทายาทรุ่นที่ 4 ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ดูแลและเก็บรักษาให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ วังวรดิศ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เข้ามาเยี่ยมเยือนชมประวัติศาสตร์ของผู้เป็นเจ้า ของวัง คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หรือ “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี” พระองค์ทรงเป็นต้นตระกูลของราชสกุล “ดิศกุล”

ในอดีตเมื่อครั้ง ม.ล.ปนัดดา เหลนในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังเยาว์วัย ก็ได้อาศัยอยู่ที่วังนี้กับคุณพ่อ ม.ร.ว.สังขดิศ ดิศกุล พออายุสิบกว่าขวบได้ตามคุณพ่อไปรับราชการเป็นเอกอัครราชทูต ณ ต่างประเทศ จึงจากวังแห่งนี้ไป แล้วก็ย้ายกลับตามคุณพ่อมาอยู่เมืองไทย แล้วก็ตั้งวังแห่งนี้เป็น มูลนิธิพิพิธภัณฑ์ วังวรดิศ ในพระบรมราชินูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตามเจตนารมณ์ของคุณพ่อ โดยได้ปลูกสร้างบ้านหลังใหม่อยู่ในบริเวณเดียวกับวังแห่งนี้

“ผมเคยอยู่วังนี้ตั้งแต่เด็ก พอย้ายกลับมาจากต่างประเทศ คุณพ่อก็ปลูกบ้านหลังใหม่ แล้วทำวังแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ตามคำแนะนำของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราช ชนนี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จทวด คุณพ่อก็น้อมนำแนวความคิดและปฏิบัติตาม”

ใน ห้องพระบรรทมของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพตั้งอยู่กลางวังด้านบน

เมื่อก้าวขึ้นมาด้านบน จะพบกับมุขและเฉลียงหน้าบ้าน เข้าสู่ด้านในพบกับห้องโถงตกแต่งสไตล์จีน เครื่องเรือนจีนที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 ห้องนั่งเล่นส่วนพระองค์ ส่วนอีกฟากหนึ่งของบ้าน จัดแบ่งเป็นหน้ามุข ห้อง Study ห้องรับประทานอาหาร และห้องโถงบันไดเวียนก้าวขึ้นสู่ชั้นสอง แบ่งเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ ห้องทรงพระอักษร ห้องพระบรม ห้องฉลองพระองค์ ห้องนอนของ ม.ล.ปนัดดา เมื่อครั้งยังเยาว์ ห้องพระบรมอัฐิ เป็นต้น โดยแต่ละห้องมีประตูกั้นแต่ก็เปิดถึงกันหมด

“สิ่งที่ผมจำได้แม่นยำคือ ทุกวันสงกรานต์ซึ่งนับเป็นเทศกาลสำคัญที่ลูกๆ หลานๆ ราชสกุลดิศกุล จะต้องมารวมกันที่วังแห่งนี้ มุมห้องนั่งเล่นตรงด้านหลังบ้านทำเป็นแท่นแล้วมีตั่งตั้งอยู่ มุมนี้เป็นมุมที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทับแล้วก็ทรงโปรดให้ลูกๆ หลานๆ มานั่งล้อม แล้วก็เล่าเรื่องราวประทับใจต่างๆ ให้ฟัง ต่อมารุ่นท่านย่าของผมคือ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ก็เคยประทับอยู่ที่วังนี้ก็สืบทอดการเล่าเรื่องแบบนี้ ผมเองตอนเด็กๆ ก็มีห้องนอนตรงปีกซ้าย ปัจจุบันห้องนั้นก็ยังมีเปล และของเล่นของผมตั้งโชว์ให้บุคคลทั่วไปที่สนใจได้ชื่นชม” ม.ล.ปนัดดา เล่าถึงความรู้สึกผูกพันมากเป็นพิเศษ

สำหรับการก่อสร้างตำหนักหลังงามเป็นสถาปนิกคนเดียวกับที่ออกแบบพระราชวัง บ้านปืน และวังบางขุนพรหม Karl Dohring ชาวเยอรมัน “วังวรดิศ” จึง นับเป็นสถานที่สำคัญและมีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ของประเทศไทยอันน่าหวงแหน

5 มุมโปรดแห่งความทรงจำ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดมาประทับและทรงเล่าเรื่องต่างๆ

ห้องนอน : ตอนเด็กๆ ห้องนอนผมอยู่ด้านบนทางด้านปีกซ้าย มองออกไปตรงหน้าต่างจะเห็นสนามหญ้าหน้าวังที่เคยเป็นสถานที่ที่ ม.จ.พูนพิศมัย โปรดทรงขี่ม้ามาก ผมกับคุณพ่อก็ชอบม้า ของเล่นชิ้นโปรดของผมยังเป็นม้าเลย ปัจจุบันก็ยังมีเปลโบราณที่ท่านปู่เคยนอนและตกทอดมาสู่รุ่นผม ตอนเด็กๆ พ่อจะสอนเสมอว่า เราอยู่ในพระตำหนักที่เคยเป็นของสมเด็จทวด ผมจึงอยู่ด้วยความระมัดระวัง ห้องข้างบนคือห้องนอน นับเป็นห้องโปรดของผม เพราะจะมีบันไดปีนขึ้นสู่ห้องใต้บันได แต่เดิมมีหนังสือโบราณอยู่เป็นจำนวนมาก ผมก็ชอบนั่งเล่นอยู่ที่ห้องนอน นั่งเล่น นอนอ่านหนังสือ ชอบระเบียงของตำหนักด้านบนซึ่งติดกับห้องนอน เพราะรู้สึกสงบเรียบร้อยดี

ห้องทรงพระอักษร : ห้องด้านหน้าจัดแบ่งเป็นห้องพระอักษรยามกลางวัน มีตู้ใส่หนังสือโบราณแต่เดิมบรรจุหนังสือด้านประวัติศาสตร์ไว้เยอะมาก แสดงว่าพระองค์เป็นผู้ที่ใฝ่รู้ อีกห้องหนึ่งที่สมเด็จทวดทำเป็นห้องทรงงานและทรงพระอักษรยามกลางคืน บุมุ้งลวดอยู่ในบริเวณห้องพระ เพราะพระองค์จะเกิดสมาธิในการทรงงาน

ห้องโถงชั้นล่าง : ทุกมุมของวังวรดิศ ภาพทุกภาพที่ติดประดับอยู่ตามฝาผนังล้วนเป็นภาพเก่าแก่ตั้งแต่ยุคสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ทรงจัดวางภาพแต่ละภาพด้วยพระองค์เอง ปัจจุบันก็ยังไม่เปลี่ยนตำแหน่ง โดยผมต้องการให้คงความเก่าแก่เหมือนพระองค์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ให้มากที่สุด มุมห้องโถงบริเวณหน้าวังวรดิศ ถือเป็นด่านแรกที่ทุกคนที่มาเยี่ยมต้องผ่าน จากห้องโถงทางเข้าบริเวณชั้นล่างเป็นห้องรับแขกตกแต่งแบบจีน ซึ่งแยกเป็นสัดส่วนกับห้องเสวย เมื่อครั้งอดีตสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยทรงใช้เป็นที่ถวายการรับรองการเสด็จพระราชดำเนินเยือนวังวรดิศของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายรัชกาล

ห้อง นั่งเล่นที่ห้องโถงหน้า

มุมที่ประทับส่วนพระองค์ : วังวรดิศนับเป็นวังขนาดกลาง แต่มีการแบ่งสัดส่วนการใช้งานห้องแต่ละห้องไว้อย่างเป็นระเบียบ อย่างเช่น ห้อง Study ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าปีกซ้ายของวัง จัดเป็นห้องศึกษาวิทยาการแตกฉาน จัดตกแต่งภายในเสมือนวังโบราณยุโรป มีโซฟาสีฟ้าตั้งอยู่ บนโซฟาแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งเสด็จฯ มาเยี่ยมวังวรดิศ เมื่อก่อนห้องนี้จะมีหนังสือเยอะมาก พอมีหอสมุดกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ย้ายไปเก็บที่นั่นเกือบหมด ส่วนระเบียงที่อยู่หลังตำหนักที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดใช้พื้นที่ตรงส่วนนี้เป็นที่ประทับส่วนพระองค์แบบ ไทยๆ เช่น เป็นที่เสวยพระกระยาหารกับพระโอรสพระธิดา รับสั่งสนทนาหรือประทานเล่าเรื่องราวความรู้อันจะเป็นวิทยาทานแก่ผู้อื่น

ห้องพระบรมอัฐิ : เมื่อก้าวขึ้นสู่ชั้นบน จะผ่านห้องเกียรติสถิต ราวกับเป็น Hall of Fame ประดับรูปภาพบุคคลในราชสกุลดิศกุลที่ประกอบคุณงามความดีให้กับประเทศชาติ เดินถัดเข้าไปพบกับห้องพระอักษร เดินถัดจากนั้นเป็นห้องแต่งพระองค์ มีชุดนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ของพระองค์ท่านและทายาทหลายช่วงคนตั้งโชว์ ไว้ ห้องที่มีความสำคัญสูงสุดของวัง คือ ห้องพระบรมอัฐิ เป็นห้องที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 พระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกในรัชกาลที่ 5 และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปีหนึ่งจะเปิดให้แขกชมเพียงครั้งเดียวเท่านั้น คือ วันทำบุญใหญ่ของปี

view