สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ร่วมกู้ชาติที่ พิพิธภัณฑ์เสรีไทย

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

ภายในห้องแรกจะพบกับ เรื่องราวการก่อกำเนิดของเสรีไทย
       ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปีพ.ศ.2482 ประเทศไทยประกาศวางตัวเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ครั้นถึงพ.ศ.2484 สถานการณ์เริ่มเข้มข้นขึ้น ญี่ปุ่นเจรจาขอให้กองทัพเดินทัพผ่านประเทศไทยเพื่อไปโจมตี พม่า มลายู และสิงคโปร์ แต่รัฐบาลไทยซึ่งนำโดย จอมพล ป. พิบูลสงครามปฏิเสธ ญี่ปุ่นจึงส่งทหารหลายหมื่นนายขึ้นบกตามจุดต่างๆ ตั้งแต่ประจบคีรีขันธ์ถึงปัตตานี ทหาร ตำรวจ และประชาชนไทยได้พยายามต่อสู้กับทหารญี่ปุ่น แต่สู้ไม่ไหวเพราะกำลังมีน้อยกว่ามาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงจำต้องยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยเพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สิน ของคนไทยไว้
       
       แต่นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย จึงจัดตั้งองค์การใต้ดินเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น นั่นคือ "ขบวนการเสรี ไทย" โดยในครั้งนี้ฉันจะพาไปรู้จักกับ "พิพิธภัณฑ์เสรี ไทยอนุสรณ์" ซึ่งตั้งอยู่ในสวนเสรีไทย ถนนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม นั่นเอง

ไกด์กิติมศักดิ์เล่า ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นจุดเริ่มของเหตุการณ์ที่จะพาไปพบในห้องต่อๆ ไป
       สำหรับอาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้จำลองแบบมาจาก "ทำเนียบท่า ช้าง" หรือบ้านเลขที่ 19 ถนนพระอาทิตย์ เขตพระนคร กทม. ซึ่งเคยเป็นที่พำนักของนายปรีดี พนมยงค์ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 และหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ทำเนียบท่าช้างในสมัยนั้นจึงเป็นเสมือนกองบัญชาการของขบวนการเสรีไทยในสมัย สงครามโลกครั้งที่ 2
       
       อาคารเสรีไทยอนุสรณ์เป็นอาคารสูง 3 ชั้น ในชั้นแรกจัดสร้างเป็นห้องสมุดประชาชนและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตบึงกุ่ม โดยแบ่งเป็นห้องสมุดสำหรับบริการประชาชนทั่วไป ห้องอ่านหนังสือสำหรับเด็ก ห้องทำงานเจ้าหน้าที่ ส่วนในพื้นที่ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์เสรีไทยดั่งที่ฉันจะพาไปเรียนรู้เรื่องราวทางการ เมืองร่วมสมัย ซึ่งเป็นการช่วยส่งต่อความทรงจำจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนรุ่นต่อๆมา

ห้องนี้บ่งบอก พื้นที่ที่มีการสู้รบ ซึ่งดูสัญลักษณ์ต่างๆ ได้จากลูกโลก
       โดยการมาเยี่ยมชมในครั้งนี้ฉันได้มาพบกับไกด์กิตติมศักดิ์ "แมน เจริญวัลย์" ประธานอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อป.พร.) เขตบึงกุ่ม ซึ่งเป็นผู้ที่มีความผูกพันธ์กับสถานที่แห่งนี้มาเป็นเวลานาน เป็นผู้พาฉันไปเที่ยวชมภายในพิพิธภัณฑ์ที่แบ่งพื้นที่การจัดแสดงออกเป็น ส่วนๆ ทั้งหมด 8 ส่วนด้วยกัน
       
       สำหรับในส่วนแรกเป็นส่วน "บริบททางสังคมการเมืองและการเมือง โลก" ซึ่งในส่วนนี้จัดแสดงเพื่อสร้างความเข้าใจของผู้เข้าชมต่อเหตุการณ์สงคราม โลกครั้งที่2 ทั้งในส่วนของที่มา ผลกระทบ และบทบาทของประเทศไทย รวมทั้งการต่อต้านการรุกรานจากต่างชาติของคนไทยผู้รักชาติ ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 จนพัฒนามาเป็นขบวนการเสรีไทยที่มาจากส่วนต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ

อุปกรณ์ที่ใช้ในการ ติดต่อสื่อสารของขบวนการเสรีไทย
       ต่อมาในส่วนที่ 2 "การรวมตัวเป็นขบวนการเสรีไทย" แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของขบวนการเสรีไทยที่มีตั้งแต่คนใน รัฐบาล นักการเมือง ปัญญาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ นักหนังสือพิมพ์ ขบวนการใต้ดินต่างๆ ผ่านกิจกรรมที่คนเหล่านั้นได้ทำขึ้นก่อนจะมารวมกันเป็นขบวนการเสรีไทย จนถึงช่วงที่มารวมกันเป็นขบวนการเสรีไทย
       
       ส่วนที่ 3 "ห้องจัดแสดงสิ่งของ" ซึ่งในส่วนการจัดแสดงนี้มี คุณแมน บอกว่ามีแนวคิดหลักคือการใช้สิ่งของเล่าเรื่อง ผู้ที่เข้าชมจะได้สัมผัสถึงบรรยากาศเสมือนจริงในยุคนั้นผ่านทางเอกสาร หลักฐานสำคัญ เช่น ใบปลิวต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ดาบซามูไรของนายทหารญี่ปุ่น วิทยุของคุณจำกัด พลางกูร ผู้แทนขบวนการเสรีไทยผู้เดินทางไปเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรที่ประเทศจีนและไป เสียชีวิตที่นั่น ร่มที่ใช้กระโดดจากเครื่องบิน และโปสการ์ดที่ทหารสัมพันธมิตรเขียนมาขอบคุณคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือ ระหว่างสงคราม เป็นต้น

ภายในส่วนนี้จัดแสดง สื่อสิ่งพิมพ์ที่ตีแผ่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้ปิดหูปิดตาประชาชน
       ถัดไปเป็นส่วนจัดแสดงที่ 4 "กองบัญชาการเสรีไทย" ซึ่งในสมัยนั้นตั้งอยู่บนถนนพระอาทิตย์ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฏ์ ต่อมาได้ใช้เป็นที่พำนักของนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อคำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และถูกใช้เป็นกองบัญชาการเสรีไทยในทางลับด้วย และเรียกขานกันว่า "ทำเนียบท่าช้าง"
       

       ภายในส่วนจัดแสดงนี้ได้จำลองบรรยากาศการดำเนินกิจกรรม การวางแผนของขบวนการเสรีไทยภายในทำเนียบท่าช้าง และเชื่อมโยงให้เห็นภาพรวมพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ของเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน เช่น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บ้านมะลิวัลย์ และโรงแรมรัตนโกสินทร์ เป็นต้น

ธนบัติในยุคที่มี ขบวนการเสรีไทย
       จากส่วนที่ 4 ฉันเดินต่อไปต่ออารมณ์ยังส่วนที่ 5 "ห้องปรีดี อนุสรณ์" ซึ่งนำเสนอประวัติและผลงานของนายปรีดี พนมยงค์ โดยภาพรวมและเจาะลึกลงไปในแนวคิดเรื่องเอกราชอธิปไตย แนวคิดสำคัญเกี่ยวกับแนวทางสันติภาพ ผ่านนวนิยายและภาพยนตร์เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก" นอกจากนี้ยังมีเอกสารสำคัญที่จัดแสดงคือ สำเนา"ประกาศสันติภาพ" ที่นายปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 8 ประกาศให้สงครามต่ออังกฤษและอเมริกาเป็นโมฆะ และด้วยแนวความคิดก้าวหน้าและคุณความดีของท่านทำให้ได้รับการยกย่องเป็น บุคคลสำคัญของโลกโดยองค์การยูเนสโกในปีพ.ศ.2543 แต่ชีวิตของท่านต้องเผชิญมรสุมทางการเมืองหลายครั้งจนในที่สุดต้องลี้ภัยไป อยู่ต่างประเทศ
       
       ส่วนที่ 6 "ปฏิบัติการเสรีไทย" จัดแสดงเรื่องราวภายหลังการรวมตัวเป็นขบวนการเสรีไทยแล้ว ภารกิจสำคัญคือการร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรในการขับไล่ญี่ปุ่นออกจากประเทศ ไทย เป็นการนำเสนอภารกิจของขบวนการเสรีไทยแต่ละส่วนผ่าน3ปฏิบัติการสำคัญคือ ปฏิบัติการทางมนุษยธรรม ปฏิบัติการทางทหาร ปฏิบัติการทางการทูต บริเวณกลางห้องมีแผนที่แสดงพื้นที่และวิธีการที่เสรีไทยแต่ละกลุ่มลักลอบ เข้าประไทยตามจังหวัดต่างๆ ด้านหนึ่งมีวีดิทัศน์เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีเครื่องปั่นไฟสมัยสงครามที่ใช้สำหรับวิทยุสื่อสาร
       
        

ห้องที่แสดง ยุทโธปกรณ์ภายในพิพิธภัณฑ์
       และนำมาสู่ส่วนที่ 7 "ผลสำเร็จของขบวนการเสรีไทย"นำ เสนอคุณูปการของขบวนการเสรีไทยต่อประเทศไทยในประเด็นที่ฝ่ายสัมพันธมิตร รับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นผู้แพ้สงคราม รัฐบาลไทยไม่ต้องยอมจำนน กองทัพไทยไม่ต้องวางอาวุธ ดินแดนไทยไม่ต้องถูกยึดครอง เปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสถานภาพของประเทศแพ้สงครามกับ สถานภาพของประเทศไทยที่ผ่านพ้นวิกฤตการณ์เหล่านั้นมาได้ แต่อย่างไรก็ตามไทยต้องชดเชยค่าเสียหายแก่อังกฤษด้วยข้าวจำนวน1.5 ล้านตัน และชดเชยเงินค่าทางรถไฟสายพม่า

เงินตราที่ใช้ซื้อ ของในยุคนั้น
       และมาถึงในส่วนสุดท้าย "ห้องสารสนเทศเสรีไทย" ที่รวบรวมเอกสารชั้นต้นต่างๆ หนังสือวิจัยค้นคว้า เทปบันทึกภาพ-สารคดี-ภาพยนตร์เกี่ยวกับเสรีไทย และยังจะเป็นฐานข้อมูลสำหรับการค้นคว้าศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องสันติภาพ และสันติวิธีอีกด้วย โดยคุณแมน ก็ได้กล่าวทิ้งทายไว้ว่า

โปสเตอร์ที่ติดไว้ ให้ประชาชนไตร่ตรองข่าวสารที่ออกมาในช่วงนั้นให้รอบคอบ
       "ผมมีความรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่เขตบึงกุ่มมีพิพิธภัณฑ์ เสรีไทย เพราะในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่มีความรักชาติจึงอยากเชิญชวนชาวไทยทุกคนได้มี โอกาสมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้ประวัติศาสตร์ของ ชนชาติใดเลย"
       
       และนั่นก็เป็นเรื่องราวเสรีไทยของคนยุคหนึ่งที่แสดงให้เห็นอย่าง ชัดเจนว่า พวกเขาต่อสู้ ยอมตาย เพื่อชาติบ้านเมือง ผิดกับกลุ่มคนจำนวนหนึ่งในยุคสมัยนี้ที่ต่อสู้เพื่อเงินและเพื่อตัวเอง จนส่งผลให้ชาติไทยย่อยยับอย่างที่เห็น

บรรยากาศร่มรื่นภาย ในสวนเสรีไทย
        
       
       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
       
       
พิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์ ตั้งอยู่ในสวนเสรีไทย ถนนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม กทม. เปิดเข้าชมฟรีทุกวันอังคาร-ศุกร์ และอาทิตย์ เวลา 10.00-16.00 สำหรับบุคคลทั่วไป และเวลา 14.00-16.00 น.สำหรับเข้าชมเป็นหมู่คณะ(โปรดติดต่อล่วงหน้า) สอบถามรายละเอียด โทร.0-2374-6700

view