สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เพลินพิศชมวัง มนต์ขลังความงามแห่งสยามประเทศ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

วัดพระแก้ว วัดภายในพระบรมมหาราชวัง(ภาพ : ททท.)
       ก่อนอื่นฉันต้องขอสวัสดีวันปีใหม่ไทยกันก่อน หวังว่าทุกคนคงจะสุขสำราญกับวันหยุดยาวครั้งนี้ แต่หากใครไม่ได้ออกนอกเมืองไปไหนฉันขอแนะนำสถานที่เที่ยวที่ยิ่งใหญ่นั้นคือ การเที่ยวชม "วัง" อันทรงคุณค่าทั้งทางด้านศิลปะ สถาปัตยกรรม ทรงคุณค่าทางด้านความสำคัญ และทรงคุณค่าทางจิตใจอีกด้วย เพราะสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันหลักที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของเราคนไทยทั้งชาติ
       
       นั่นเลยทำให้วันหยุดยาวครั้งนี้ ฉันจึงขันอาสาพาแฟนานุแฟนมิตรรักนักอ่านไปสัมผัสกับวังต่างๆ ที่น่าสนใจในกรุงเทพฯกัน
       
       พระบรมมหาราชวัง
       
       สำหรับวังแรกคือ "พระบรมมหาราชวัง" ที่ตั้งอยู่ใกล้กับท้องสนามหลวง พระบรมมหาราชวังแห่งนี้เป็นพระราชวังหลวงที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬา โลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี โปรดเกล้าให้สร้างขึ้น เมื่อทรงย้ายราชะานีจากกรุงธนบุรี มายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยการก่อสร้างพระราชวังเริ่มขึ้นพร้อมๆกับการสร้างพระนครในปี พ.ศ.2325

พระที่นั่งจักรีมหา ปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง
       พระบรมมหาราชวังได้ถูกใช้เป็นที่ประทับและศูนย์กลางการปกครองของพระ มหากษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์มาโดยตลอด จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ประทับเพียงครั้งคราว และมาในสมัยรัชกาลที่ 8 พระองค์เสด็จประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน กระทั้งเสด็จสวรรคต จากนั้นก็ไม่มีพระมหากษัตริย์เสด็จมาประทับเป็นการถาวรอีก ปัจจุบันพระบรมมหาราชวังถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญๆต่างๆ ตามพระราชประเพณี เป้นที่รับแขกเมืองและพระราชอาคันตุกะ รวมทั้งเป็นที่ตั้งพระบรมศพและพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง
       
       ผังของพระบรมมหาราชวังแห่งนี้ เป็นไปตามแบบของกรุงศรีอยุธยาในหลักใหญ่ๆ คือ สร้างชิดแม่น้ำ หันหน้าวังขึ้นเหนือน้ำ เอากำแพงเมืองด้านข้างแม่น้ำเป็นกำแพงวังชั้นนอก สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ไว้ในเขตพระราชฐาน เหมือนอย่างวัดพระศรีสรรเพชญ ในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา ซึ่งแม้ภายในพระบรมมหาราชวังแห่งนี้จะไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปชม ด้านในอย่างใกล้ชิด แต่ฉันก็จะขอแนะนำให้รู้จักคร่าวๆกัน และก็สามารถมองเห็นและถ่ายรูปได้จากด้านนอกด้วย
       
       โดยภายในพระบรมมหาราชวังประกอบด้วยพระที่นั่ง หอ พระตำหนัก และสถานที่สำคัญๆมากมาย "พระที่นั่งและหอในหมู่พระมหามณเฑียร" เขตพระราชฐานชั้นกลาง อาทิ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน อันเป็นพระที่นั่งองค์ประธานในหมู่พระที่นั่งมหามณเฑียร, พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นพระที่นั่งต่อเนื่องกับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน , พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ซึ่งภายในกำแพงแก้วของพระที่นั่งแห่งนี้ยังมีพระที่นั่งและหอต่างๆอีกมากมาย

พระที่นั่งดุสิตฯ ในพระบรมมหาราชวัง
       สำหรับ"พระที่นั่งในหมู่พระมหาปราสาท"เขตพระราชฐานชั้นกลาง" ได้แก่ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในยังมีพระที่นั่งต่างๆอีก เช่น พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท, พระที่นั่งราชกรัณยสภา เป็นต้น ส่วนพระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นพระที่นั่งที่เชื่อมต่อกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ก่ออิฐถือปูน ทาสีขาว ยกพื้นสูง มีเสาลอยรับหลังคาโดยรอบ
       
       ส่วน "พระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท" เขตพระราชฐานชั้นกลาง อาทิ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรด เกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นท้องพระโรง ใน พ.ศ. 2418 , พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ขึ้น แทนพระที่นั่งเดิมที่ทรุดโทรม ด้วยสถาปัตยกรรมแบบยุโรปร่วมสมัย ตัวพระที่นั่งเป็นอาคารแบบยุโรป มุงหลังคาพระที่นั่งด้วยกระเบื้องเป็นแบบไทยเพื่อให้รับทัศนียภาพกับพระที่ นั่งจักรีมหาปราสาท และได้พระราชทานนามอันเป็นนามของพระที่นั่งองค์เดิม
       
       พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เป็นพระที่นั่งองค์ใหม่อันเป็นส่วนต่อเติมพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเข้าไปใน เขตพระราชฐานชั้นใน สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยง และสำหรับ "หมู่ พระที่นั่งในสวนศิวาลัย" เขตพระราชฐานชั้นกลาง มีพระที่นั่งสำคัญ อาทิ พระที่นั่งบรมพิมาน ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร นอกจากนี้ยังมีพระที่นั่ง หอ พระตำหนัก และอาคารต่างๆอีกมากมายที่ฉันไม่สามารถบรรยายได้หมดเป็นแน่

พระที่นั่งวิมานเมฆ พระที่นั่งอันงดงามในพระราชวังดุสิต(ภาพ : ททท.)
       พระที่นั่งวิมานเมฆ
       
       จากพระบรมมหาราชวัง ฉันจะพาไปต่ออารมณ์กันที่ "พระราชวัง ดุสิต" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อเสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งที่ 1 ใน พ.ศ. 2440 โดยใน พ.ศ. 2441 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลาขึ้นเป็นที่เสด็จประทับแรมชั่วคราว และพระราชทานนามว่า "สวนดุสิต"
       

       และเนื่องจากเดิมนั้น นายแพทย์ประจำพระองค์ได้กราบบังคมทูลว่า ในพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นพระราชนิเวศน์ที่ประทับมาแต่เดิมไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ทรงพระประชวรกันเสมอ ต่อมา เมื่อมีการสร้างพระที่นั่งขึ้น และพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาประทับบ่อยครั้ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชนิเวศน์แห่งใหม่ และพระราชทานนามว่า "วังสวนดุสิต"
       

       ต่อมาเมื่อมีการขยายพระนครจึงเกล้าฯ ให้สร้างที่ประทับถาวรขึ้น และเสด็จมาประทับบ่อยครั้ง จึงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระที่นั่งต่าง ๆ ขึ้นเพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีได้เช่นเดียวกับพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเปลี่ยนนามวังสวนดุสิตเป็น พระราชวังสวนดุสิต จนกระทั่ง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เรียกพระราชวังสวนดุสิตว่า "พระราชวังดุสิต"
       


นักท่องเที่ยวเพลิด เพลินกับการถ่ายรูปที่พระที่นั่งวิมานเมฆ
       สำหรับที่พระราชวังดุสิตนี้มีพระที่นั่งสำคัญๆได้แก่ พระที่นั่งอนันตสมาคม, พระที่นั่งอัมพรสถาน, พระที่นั่งอภิเศกดุสิต และพระที่นั่งวิมานเมฆ แต่สถานที่ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวสมารถเข้าไปชมได้นั้นคือ "พระที่ นั่งวิมานเมฆ" อันเป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นพระที่นั่งถาวรองค์แรกในพระราชวังดุสิต ใน พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่เกาะสีชังเมื่อ พ.ศ. 2435 แต่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์มาสร้างในสวนดุสิต และพระราชทานนามว่า "พระ ที่นั่งวิมานเมฆ"
       

       ลักษณะขององค์พระที่นั่งนี้เป็นแบบวิตอเรีย ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุโรป ผสมกับไทยประยุกต์ องค์พระที่นั่งเป็นรูปอักษรตัวแอลในภาษาอังกฤษ ยาวด้านละ 60 เมตร สูง 20 เมตร เป็นอาคาร 3 ชั้น ยกเว้นตรงส่วนที่ประทับซึ่งมีรูปร่างเป็นแปดเหลี่ยม มี 4 ชั้น ชั้นล่างสุดก่ออิฐ ถือปูน ชั้นถัดขึ้นไปสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหมดทาด้วยสีครีมอ่อนหลังคาสีแดง และหลังคาเป็นทรงไทยประยุกต์ มีลวดลายตามหน้าต่าง และช่องลมซึ่งฉลุเป็นลายที่เรียกว่าขนมปังขิง
       
       รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จมาประทับที่พระที่นั่งวิมานเมฆ จนกระทั่งพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นและแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2449 พระองค์จึงได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถานเป็นการถาวร จนกระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2453 และพระที่นั่งวิมานเมฆยังคงเป็นสถานที่ประทับของเจ้านายจนกระทั่งสิ้นรัชกาล

มุมหนึ่งของพระที่ นั่งวิมานเมฆ
       ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาประทับที่พระที่นั่งวิมานเมฆใน พ.ศ. 2468 แต่เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต พระวรราชายาก็ทรงย้ายออกจากพระที่นั่งวิมานเมฆ และจากนั้นมาพระที่นั่งวิมานเมฆก็มิได้เป็นพระราชฐานที่ประทับของเจ้านายอีก
       
       จนมาถึงในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อพ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นปีที่ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงขอพระบรมราชานุญาตซ่อมพระที่นั่งวิมานเมฆ เพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันพระที่นั่งวิมานเมฆจึงเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ในความดูแลของสำนัก พระราชวัง รวมทั้งหมู่พระตำหนักของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในด้วย
       
       สำหรับพระที่นั่งวิมานเมฆนี้จะแบ่งเป็นห้องชุดต่างๆ 5 สีด้วยกัน คือสีฟ้า เขียว ชมพู งาช้าง และสีลูกพีช (ชมพูอมส้ม) แต่ละห้องจะจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 5 รวมถึงเจ้านายชั้นสูง เช่น ห้องสีเขียว เป็นห้องเครื่องเงินจากประเทศจีน ส่วนชั้นสองเป็นห้องทรงงานของรัชกาลที่ 5 และห้องบนชั้นสามจะเป็นห้องบรรทม แต่ห้องที่งดงามที่สุดในพระที่นั่งวิมานเมฆเห็นจะเป็นห้องท้องพระโรง ที่มีบรรยากาศขรึมขลังอลังการมากที่สุด ใครที่ยังไม่เคยไปชมฉันขอแนะนำว่าให้ลองไปสักครั้งในชีวิตจักถือเป็นบุญยิ่ง

เรือนไทยภายในวังสวนผักกาด
       วังสวนผักกาด
       

       จากนั้นโยกย้ายไปยังอีกหนึ่งวังที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยว ชมได้ นั้นก็คือ "วังสวนผักกาด" ถ.ศรีอยุธยา อันเคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต และ หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร (เทวกุล) โดยสร้างเพื่อประทับในช่วงสุดสัปดาห์ และเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชมศิลปะและโบราณวัตถุ โดยที่เจ้าของบ้านยังใช้เป็นที่พำนักอยู่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2495
       
       ภายหลังจากพระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตรฯ สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2502 พระชายา คือ หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ได้มอบให้วังสวนผักกาดอยู่ในความดูแลของ มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ และเปิดเป็น พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดตั้งแต่นั้นมา โดยในวังสวนผักกาด ประกอบด้วยเรือนไทยโบราณ 8 หลัง เรือนหลังที่ 1-4 จัดเป็นหมู่เรือนไทย
       
       เรือนหลังแรกมีสะพานเชื่อมไปสู่เรือนหลังที่ 2, 3 และ 4 ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ ตามลำดับ ส่วนเรือนหลังที่ 5-8 ปลูกอยู่ห่างกันทางทิศตะวันตก และมีหอเขียนอยู่ทางทิศใต้ นอกจากนี้ก็ยังมี "ห้อง บ้านเชียง" และ"ห้องศิลปนิทรรศมารศี" จัดแสดงอยู่ในศิลปาคารจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ สำหรับสิ่งที่โดดเด่นในพิพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็คือ "หอเขียน" ซึ่งตั้งอยู่บนสนามหญ้าทางทิศใต้ของวังสวนผักกาด หอเขียนหลังนี้เสด็จในกรมฯได้นำสิ่งปลูกสร้างมาจากวัดบ้านกลิ้ง จ.พระนครศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2501 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ให้สถาปัตยกรรมของไทยคงอยู่

อาคารเรือนไทยในวัง สวนผักกาด
       นอกจากหอเขียนแล้ว ในหมู่เรือนไทยโบราณอื่นๆ เช่นเรือนไทยหลังที่ 1 จัดแสดงเป็น "พิพิธภัณฑ์ดนตรี ทูลกระหม่อมบริพัตฯ" ที่ภายในมีการจัดแสดงเครื่องดนตรีไทยในทูลกระหม่อมบริพัตฯ ซึ่งพระองค์ได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งเพลงไทยสากล ส่วนเรือนไทยหลังอื่นๆก็มีการจัดแสดงที่น่าสนใจไม่แพ้เรือนไทยหลังแรก ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์โขนในเรือนไทยหลังที่ 6 หรือเครื่องชามสังคโลกในเรือนไทยหลังที่ 7 ส่วนเรือนไทยหลังอื่นๆก็มีการจัดแสดงวัตถุโบราณต่างๆที่น่าสนใจไว้อย่างมาก มาย
       
       และนั่นก็เป็น 3 วังงามที่น่าสนใจในกรุงเทพฯ นอกจากนี้กรุงเทพฯยังมีวังที่น่าสนใจให้เที่ยวชมกันอีก อาทิ วังพญาไท พระราชวังเดิม เป็นต้น ซึ่งนี่ถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ความงามคู่สยามประเทศที่ถือเป็นมรดกทาง วัฒนธรรมอันทรงคุณค่ายิ่งของเมืองไทย
       
       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
       
       วังสนามจันทร์-ปางปะอิน 2 วังงามใกล้กรุง

พระราชวังสนามจันทร์
       นอกจากวังเด่นๆในกรุงเทพฯแล้ว หากกล่าวถึงพระราชวังอันมีชื่อเสียงของจังหวัดในเขตปริมณฑล อย่าง "พระราชวัง สนามจันทร์" อ.เมือง จ.นครปฐมถือเป็นหนึ่งในสถานที่อันสวยงามที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม
       
       โดย "พระราชวังสนามจันทร์" แห่งนี้สร้างขึ้นในพื้นที่เดิมที่สันนิษฐานว่าเคยเป็นพระราชวังเก่าของ กษัตริย์ในสมัยโบราณ เรียกว่าเนินปราสาท เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ยังดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราชฯ มีพระราชประสงค์จะสร้างวังขึ้น ณ เมืองนครปฐม เนื่องจากพระองค์ทรงโปรดความร่มเย็นเป็นธรรมชาติ ความเป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรม ศาสนาของเมืองนครปฐม และเพื่อเป็นสถานที่ประทับครั้งมานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์และเมื่อบ้านเมือง ถึงยามวิกฤต
       
       พระองค์ทรงเห็นว่าบริเวณเนินปราสาทนั้นเป็นทำเลที่เหมาะสมจึงขอซื้อ ที่ดินจากราษฎรรวมทั้งสิ้น 888 ไร่ เพื่อสร้างพระราชวัง แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หลวงพิทักษ์มานพ (น้อย ศิลปี ซึ่งต่อมาเลื่อนยศเป็นพระยาวิศุกรรม ศิลปประสิทธิ์) เป็นแม่งาน ใช้เวลาสร้างถึง 4 ปีด้วยกัน เมื่อเสร็จเรียบร้อยลงใน พ.ศ.2450 รัชกาลที่ 6 จึงพระราชทานนามให้ว่า "พระราชวังสนามจันทร์" ตามชื่อที่ชาวบ้านเรียกขานสระน้ำโบราณหน้าโบสถ์พราหมณ์ (ปัจจุบันไม่มีโบสถ์พราหมณ์เหลืออยู่แล้ว) ว่า สระน้ำจันทร์ หรือสระบัว
       
       สำหรับพระราชวังสนามจันทร์ ประกอบไปด้วยพระที่นั่งและพระตำหนักต่างๆ อันมีชื่อคล้องจองกันได้แก่ พระที่นั่งพิมานปฐม พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ พระที่นั่งวัชรีรมยา พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ พระตำหนักทับขวัญ พระตำหนักทับแก้ว และอนุสาวรีย์ย่าเหล
       


พระที่นั่งไอศวรรย์ ทิพยอาสน์ ความงดงามกลางน้ำในพระราชวังปางปะอิน
       และอีกหนึ่งพระราชวังใกล้กรุงก็คือ "พระราชวัง บางประอิน" อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา พระราชวังบางปะอินนั้น ตามตำนานได้กล่าวไว้พอสรุปความได้ว่า...เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จประพาสล่องแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วเรือเกิดล่มที่บริเวณเกาะบ้านเลนอยุธยา ทำให้พระองค์ได้พบกับ“อิน”หญิงสาวชาวบ้าน ที่พอพบพาก็ถูกตาต้องใจและมีสัมพันธ์กันจนให้กำเนิดพระราชโอรส ที่ภายหลังขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า"สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง" ซึ่งในปี พ.ศ. 2175 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นในบริเวณที่เสด็จพระราชสมภพ แล้วพระราชทานชื่อว่า "วัด ชุมพลนิกายาราม"นอกจากนี้ยังมีการสร้าง "พระที่นั่ง ไอศวรรย์ทิพยอาสน์"ขึ้น
       
       นับแต่นั้นมาพระราชวังแห่งนี้กลายเป็นที่เสด็จประพาสเพื่อความสำราญ ของพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมา ก่อนจะถูกทิ้งร้างหลังเสียกรุงฯ จากนั้นในยุครัตนโกสินทร์พระราชวังบางปะอินได้รับการฟื้นฟูเรื่อยมาจน ปัจจุบันพระราชวังบางปะอินถือเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวอันขึ้นชื่อ ของอยุธยา
       
       สำหรับสิ่งน่าสนใจในพระราชวังแห่งนี้เริ่มตั้งแต่เขตพระราชฐานชั้น นอก ที่แรกคือ หอเหมมณเฑียรเทวราช ที่รัชกาลที่ 5 สร้างถวายแด่พระเจ้าปราสาททอง มีรูปทรงคล้ายพระปรางค์แบบขอมขนาดเล็ก ต่อไปคือ สระน้ำใหญ่ ที่มีกระโจมแตรแปดเหลี่ยมตั้งอยู่ริมน้ำ ส่วนตรงกลางสระน้ำดูโดดเด่นไปด้วย พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ หนึ่งในสัญลักษณ์ของพระราชวังบางปะอิน ที่ประณีตงดงามด้วยสถาปัตยกรรมไทยทรงปราสาทจตุรมุข ซึ่งจำลองแบบมาจากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ภายในประดิษฐานพระบรมรูปหล่อสัมฤทธิ์ของรัชกาลที่ 5
       
       อีกแห่งหนึ่งที่โดดเด่นในพระราชวังแห่งนี้ก็คือ หอวิฑูร ทัศนา หอสูง 4 ชั้น ยอดมนตั้งโดดเด่นอยู่ ซึ่งหอวิฑูรแห่งนี้ถือเป็นหอชมวิวพระราชวังบางปะอินชั้นเยี่ยม ที่หากใครมีกำลังขาเหลือเฟือน่าจะเดินขึ้นบันไดเวียนชึ้นไปชมวิวด้านบน ที่บนหอวิฑูรฯ สามารถมองเห็นทิวทัศน์มุมสูงสวยๆงามๆของพระราชวังบางปะอินได้หลายมุม ไม่ว่าจะเป็นพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียรในมุมสูง หรือพระที่นั่งเวหาศจำรูญที่อยู่ใกล้ๆกับหอวิฑูรฯ
       
       นอกจากนี้ภายในพระราชวังบางปะอินยังมีสถานที่สำคัญอีกมากมาย อาทิ อนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทกุมารีรัตน์ ซึ่งเสด็จทิวงคตเนื่องจากเรือพระที่นั่งเกิดอุบัติเหตุล่มลงในแม่น้ำเจ้า พระยา และที่ใกล้ๆกันนั้นเป็นอนุสาวรีย์ราชานุสรณ์ ที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างขึ้นเพื่อไว้อาลัยแด่พระอัครชายาเธอพระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ พร้อมทั้งพระราชโอรสและพระราชธิดาอีกสามพระองค์ เป็นต้น
       

view