สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แบงก์ มึน มาตรฐานIAS19 แบกค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

จากประชาชาติธุรกิจ

นักวิเคราะห์ตามติด ธปท.ปรับใช้มาตรฐานบัญชีกับแบงก์ ทั้งฉบับใหม่และปรับปรุง 28 ฉบับ ภายในปี"54 และอีกเกือบ 10 ฉบับ ในปี"56 ชี้ประเมินผลกระทบลำบาก ขณะที่แบงก์ยังไม่ยอมเปิดข้อมูล อ้างรอความชัดเจนแบงก์ชาติ



ตามที่ "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานความเคลื่อนไหวการนำมาตรฐานบัญชีใหม่ ๆ มาใช้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งหลายฉบับจะต้องเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2554 เป็นต้นไป โดยเฉพาะกับสถาบันการเงินจะเป็นกลุ่มธุรกิจแรก ๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บังคับให้ใช้ก่อนธุรกิจอื่น

ล่าสุดแหล่งข่าวจากวงการวิ เคราะห์ หลักทรัพย์กล่าวกับ "ประชาาชาติธุรกิจ" ว่า กลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เชิญนักวิเคราะห์ร่วมประชุมเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับมาตรฐานบัญชีทั้งฉบับ ปรับปรุงและฉบับใหม่ที่จะนำมาบังคับใช้กับธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่ต้นปี 2554 เป็นต้นไป โดยรวมแล้วมีทั้งหมด 28 ฉบับ จากทั้งหมด 38 ฉบับ โดยอีก 10 ฉบับนั้นจะทยอยศึกษาและปรับใช้ภายในปี 2556

โดยชุดที่จะปรับใช้ปี 2554 ฉบับที่คาดว่าจะสร้างผลกระทบมากที่สุดคือ IAS19 เรื่องผลประโยชน์พนักงาน (Employee Benefits) ซึ่งขณะนี้ ธปท.ยังอยู่ระหว่างรอฟังความคิดเห็นของธนาคารพาณิชย์ถึงแนว ทางในการลงบัญชีค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงานที่จะเกิดขึ้นตามมาตรฐานบัญชี ใหม่ ซึ่งมีทั้งแบบที่คิดเป็นรายจ่ายแล้วทยอยบันทึกภายใน 5 ปี หรือบันทึกครั้งเดียวซึ่งเป็นวิธีที่กระทบหนักที่สุด

"นักวิเคราะห์ ได้ติดตามการปรับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ เพราะต้องกระทบผลดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์แน่นอน เพียงแต่ต้องรอความชัดเจนของธนาคารแห่งประเทศไทยว่าสรุปจะให้ลงบัญชีวิธีใด ซึ่งทั้งหมดต้องปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกัน" แหล่งข่าวกล่าว

ด้าน นายวรพล วิรุฬห์ศรี นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนิตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ตามมาตรฐานบัญชีบางฉบับธนาคารพาณิชย์จะไม่สามารถนำรายได้จากเงินปันผลเข้ามา รวมในรายได้ดอกเบี้ย ซึ่งประเด็นนี้จะส่งผลกระทบกับธนาคารพาณิชย์ที่มีพอร์ตลงทุนในตราสารหนี้ จำนวนมาก ซึ่งจะมีส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ลดลง

"อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ไม่น่ากระทบผลประกอบการในภาพรวมเท่ากับ IAS19 ที่จะกระทบเงินกองทุน (BIS Ratio) อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) และอัตราผลตอบแทนต่อทุน (ROE) ให้ลดลงด้วย" นายวรพลกล่าว

ด้าน นางสาวธริศา ชัยสุนทรโยธิน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.นครหลวงไทย กล่าวว่า จากที่ได้สอบถามไปยังธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง พบว่าธนาคารพาณิชย์มีความกังวลต่อประเด็นนี้เช่นกัน แต่ยังไม่มีธนาคารพาณิชย์ใดเปิดเผยผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยให้ข้อมูลเพียงว่าต้องรอความชัดเจนเกี่ยวกับวิธีลงบัญชีจาก ธปท. ขณะที่นักวิเคราะห์ที่ติดตามประเด็นนี้ก็ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้เช่น กัน เพราะนอกจากไม่มีข้อสรุปจาก ธปท.แล้ว ยังไม่รู้ข้อมูลช่วงอายุของพนักงานธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง ซึ่งหากมีพนักงานที่สูงอายุมากก็จะมีผลกระทบค่อนข้างมากด้วย

อย่าง ไรก็ตามแม้การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานบัญชีจะส่งผลกระทบด้านลบกับธนาคารพาณิชย์ แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลไปยังผู้ใช้บริการหรือลูกค้า เห็นได้จากรอบการปรับใช้ IAS39 ในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งสร้างผลกระทบอย่างมากให้กับระบบ แต่ก็ไม่พบการส่งผ่านต้นทุนไปยังลูกค้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรฐานบัญชีใหม่ IAS19 เป็นมาตรฐานบัญชีที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของพนักงานที่ครอบคลุมการจ่ายผล ประโยชน์พนักงานทั้งในระยะสั้น เช่น เงินเดือน โบนัส รวมถึงผลประโยชน์พนักงานในระยะยาว เช่น ผลประโยชน์การเกษียณอายุ และการเลิกจ้างโดยนายจ้าง ซึ่งภายใต้ข้อบังคับมาตรฐานใหม่ดังกล่าวทำให้ต้องลงบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายสูงขึ้น จากปกติที่ลงเฉพาะผลประโยชน์ระยะสั้นที่เกิดขึ้นจริงภายใน 1 ปีเท่านั้น

view