สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เขมรไม่หยุดแค่ปราสาทพระวิหาร-เป้าหมายดินแดนและพลังงาน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ประสิทธิ์ ไชยชมพู



ฝ่ายกัมพูชาอยาก เสนอแผนจัดการรอบบริเวณปราสาทพระวิหารต่อคกก.มรดกโลกใจจะขาด แต่รัฐไทยไร้เอกภาพ เห็นแต่ภาคประชาชนเพียรเสนอแนวทางคัดค้านชัดขึ้นๆ
หลังการประชุมคณะกรรมการมรดก โลก(ภายใต้องค์การยูเนสโก้) 3 ครั้ง กัมพูชาก็ได้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไปแล้ว เหลือแต่แผนบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบที่ต้องได้รับการเห็นชอบจากไทย

ครั้งที่ 34 คณะกรรมการมรดกโลก จัดประชุมที่ประเทศบราซิล ระหว่าง 25 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2553 และถ้าไทยคัดค้านจะต้องยื่นเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนวันที่ 9 ก.ค.

กระแสการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ในนามภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาท เขา พระวิหาร อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 อย่างคึกโครมคือกรณี นายวีระ สมความคิด นำมวลชนไปกดดันที่เขาพระวิหาร จุดบ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษณ์ ศรีสะเกษ ปะทะกับคนไทยด้วยกันเองถึงสองครั้ง

ส่วนค่อยๆ คืบ คือเครือข่ายทวงคืนแผ่นดินแม่ นำโดย นายวีระพล โสภา กับคณะ นำมวลชนไปตั้งชุมชนตามตะเข็บชายแดนเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของยันกับชาวเขมร ที่มาตั้งชุมชนเช่นกัน

หม่อม หลวง วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคีเครือข่ายฯ ได้เปิดนิทรรศการเสวนา และเปิดตัวหนังสือ "บันทึกภาคประชาชน เรื่องการพิทักษ์ดินแดน จากกรณีปราสาทพระวิหารโมเดล" ที่หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์(ท่าพระจันทร์) วันที่ 1 ก.ค.และต่อเนื่องไป 1 เดือนเต็ม

ดร.สุ วันชัย แสงสุขเอี่ยม อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้นำข้อมูล สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ เคยเสนอต่อรัฐบาล และรัฐสภา ตั้งแต่ต้นปี 2552 ขอสรุปดังนี้

จากฐานเดิม ศาลโลกตัดสินให้เฉพาะตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา และรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ประกาศพร้อมจะทวงคืนเมื่อมีโอกาส และออกประกาศคณะปฏิวัติให้ยึดถือแนวทางตามรัฐธรรมนูญที่เคยปฏิบัติมา คือ ครม.ไม่มีอำนาจเจรจายกดินแดน และเรื่องนี้ไม่เคยผ่านรัฐสภา จึงเสนอต่อเสนอรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ 1.อย่ายอมรับแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนอย่างเด็ดขาด 2. เสนอให้ไทยถอนตัวจาก คกก.ประสานงานระหว่างประเทศ หรือไอซีซี(7ชาติ) 3. เสนอให้รัฐบาลยกเลิก บันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยู 2544

4.เสนอตั้ง คกก.เฉพาะกิจคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ ฝ่ายเดียว เพื่อให้ทันสถานการณ์ 5.ให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะทำงานช่วย นางโสมสุดา ลียะวณิช รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการมรดกโลก เนื่องจากไทยมีสิทธิพลาดได้ถ้าเสียง 2 ใน 3 ออกมาอย่างไร ไทยต้องยอมรับด้วยเพราะได้เข้าร่วมเป็นกรรมการแล้ว

6.ข้อตกลงถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาท แต่กัมพูชาสวมรอยตั้งชุมชนครอบครัวทหารอยู่ ส่วนทหารไทย คนไทยเข้าไม่ได้ 7.ตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบ ปล่อยให้มีการรุกเข้ามาตั้งชุมชนกัมพูชาในเขตพิพาท 8. เสนอให้ทบทวนยกเลิก ทีโออาร์ แนบแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน (ผ่านรัฐสภา 28 ก.ย.2551)

นอกจากนี้ เคยยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวโทษ รัฐบาล กรมแผนที่ทหาร กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่คำตอบคือเอาผิดไม่ได้ เพียงแค่เสนอให้ทบทวนใหม่เท่านั้น

ข้อมูล เชิงประจักษ์ กลบเกลื่อนหมุดจีพีเอส

นาย ปราโมทย์ หอยมุกข์ ประธานพันธมิตรฯ บุรีรัมย์ นายศรีเมือง วัฒนาชีพ ประธานเครือข่ายทวงคืนแผ่นดินแม่ พร้อมคณะได้ร่วมกันสำรวจหาหลักปักปันเขตแดนใหม่ จากคำสั่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้เร่งปักปันเขตแดนโดยเร็วที่สุดก่อนรัฐบาลจะล่ม

พลโทแดน มีชูอรรถ เจ้ากรมแผนที่ทหาร (เสียชีวิตด้วยมะเร็ง 26 ต.ค.51) กับฝ่ายทหารกัมพูชาร่วมกันปักหมุดจีพีเอส (ตรวจสอบพิกัดทางดาวเทียม) ตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2550 ดำเนินการตั้งแต่ อ.น้ำยืน อุบลราชธานี มาถึงสุรินทร์ และ 2551 ถึง 2552 จากบุรีรัมย์ ถึง ตราด เสร็จสิ้นแล้วจำนวน 52 หมุด ระหว่างทาง 790 ก.ม.

"ทหารรักชาติที่มีส่วนร่วมในการปัก หมุดนี้ รู้ว่าทำเรื่องเสียดินแดน ได้นำข้อมูลมาให้พวกเรา เดี๋ยวนี้เสียใจ จนเสียสติ ผู้บังคับบัญชาต้องให้พักราชการไว้ก่อน"

นายปราโมทย์ ยกตัวอย่างชัด ๆ ไปพบหมุดจีพีเอสที่สันเขื่อนห้วยเมฆา ต.บึงเจริญ อ.บ้านกรวด บุรีรัมย์ ปักเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2550 ล้ำเข้ามาประมาณ 12.5 กิโลเมตร ซึ่งมันต้องอยู่บนแนวสันปันน้ำเทือกพนมดองแร็ก คณะสำรวจถ่ายรูปไว้ครั้งแรก 23 ส.ค.52 เทปูนเขียนชัดเจนว่า เขตแดนไทย-กัมพูชา(ลงวันที่ 10/09/07) แต่เมื่อไปดูอีก 10 ต.ค.52 หมุดเดิมถูกเทปูนใหม่เขียนว่า เขตขยายโครงข่าย (ว/ด/ป เดิม)

เมื่อสอบถามไปกรมแผนที่ทหาร ก็ตอบไม่ชัด แต่เฉไปว่าหมุดอย่างนี้ยังมีอยู่ที่อ่างเก็บน้ำอำปึล สุรินทร์ด้วย แต่เมื่อไปหาไม่พบ นอกจากนี้ อีกหลายพื้นที่พบหลักซีเมนต์หล่อกลมปักไว้จองดินแดน ตกลงกันว่าหลักสีแดงของเขมร หลักสีน้ำเงินของไทย

จู่ๆ หมุดจีพีเอสนี้หายไปเพราะถูกลาดยางมะตอยทับ ต้องขุดลงไปจุดเดิม เมื่อวันที่ 12 ก.พ.53 เจอหมุดจนได้ ถัดมาถึง 10 มิ.ย.53 ชาวบ้านไปดูอีก ปรากฏว่าหมุดจีพีเอสถูกถอนไป และโบกปูนทับด้วยหินเสียแล้ว

นายปราโมทย์ ขยายความเปรียบเทียบว่า ผลจากการติดหมุดจีพีเอสล้ำเข้ามา 12.5 กม. ที่เขื่อนห้วยเมฆา ยิงเป็นเส้นตรงไป จะส่งผลให้หมู่บ้านโคกสูง ต.โนนหมากมุ่น อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว จะถูกผ่าแบ่งซีกทิศเหนือตกเป็นของกัมพูชา

"หลักหมุดจีพีเอสทั้งหมดในประเทศไทย ด้านตะเข็บชายแดนเขมร เชื่อว่าทำขึ้นตามแผนที่อัตรา 1 ต่อ 2 แสน ที่สอดไส้มากับทีโออาร์ 2546" นายปราโมทย์ ระบุ

ต้องบันทึกไว้ เมื่อศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นเจ้าภาพจัดประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องนี้ นายปราโมทย์ โชติมงคล ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายปริญญา สิริสารการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงศึกษาธิการ เข้าประชุม

เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เช่น นายสมปอง สุจริตกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการ นายวีระพันธุ์ มาไลยพันธุ์ โดยยืนยันให้ผู้แทนประเทศไทยต้องแสดงท่าทีคัดค้านการขึ้นทะเบียน ไม่ยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน อย่างเด็ดขาด ซึ่งมีคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่ 23 และ 24 /2551 และคำพิพากษาของศาลปกครองเมื่อ 30 ธ.ค.2552 ระบุว่าใครจะไปกำหนดเขตแดนที่ไม่เป็นคุณต่อประเทศจะกระทำไม่ได้ ถือว่าเป็นการละเมิดศาล

นายสุวิทย์ กล่าวว่า "ผมเรียน ภูมิศาสตร์สารสนเทศ มีความรู้และเข้าใจแผนที่ดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย ปราสาทเขาพระวิหารอยู่ใต้เขตแนวสันปันน้ำ ยังไงก็ต้องเป็นของไทยแน่นอน เรื่องแผนที่จึงไม่จำเป็นต้องพูด แต่เหลือเรื่องสนธิสัญญา ซึ่งก็ต้องไปเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลโลก อยากให้คนไทยเตรียมตัวให้พร้อม เพราะเชื่อว่าเขมรจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ศาลโลกอีกครั้ง อีกทั้งในภายภาคหน้ามีโอกาสที่จะเป็นของเราแน่นอน"

ต้องบันทึกอีกว่า ในเวทีนี้ นายอิศร ปกมนตรี ตัวแทนกระทรวงบัวแก้ว แสดงความไม่พอใจและต่อว่านักวิชาการที่นำเอกสารลง "ลับ" ใช้ในการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-ลาว ครั้งที่ 7 มาเปิดเผยเพื่อให้เห็นว่า ไทยยังคงยึดแผนที่อัตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนในการปักปันเขตแดน

ซึ่งทางภาคีเครือข่ายฯ ไม่ค่อยเชื่อมั่นต่อหน่วยงานรัฐที่ไม่มีเอกภาพ เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์ กองทัพธรรม เสนอเวทีห้องสมุดปรีดีฯ ว่า เพราะรัฐบาลชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ ลงนามเอ็มโอยู 2543 กับกัมพูชา ดังนั้น เชื่อว่าตอนนี้รัฐบาลอภิสิทธิ์ จะไม่กล้าเปิดศึกหลายด้านแน่ แต่ควรไปถามนายกฯ ให้ตอบต่อสาธารณชนมีแนวทางต่อเรื่องนี้อย่างไรให้ชัดเจน

ผล ประโยชน์ในดินแดน แลกพลังงานในทะเล

นายปราโมทย์ อ้างว่ามีข้อมูลคนระดับสูงในรัฐบาลลงทุนธุรกิจน้ำตาลในกัมพูชา ปลูกอ้อยนับแสนไร่ในอุดรมีชัย และมีนายพลเอกกองทัพไทยมีหุ้นส่วนธุรกิจโรงแรมในเสียมเรียบด้วย นี่เป็นเพียงผลประโยชน์ทับซ้อนเล็กๆ เทียบไม่ได้กับก๊าซและน้ำมันจำนวนมหาศาลในทะเล ตามเส้นดิ่งจีพีเอส พาดไปถึงทะเล

"นี่เป็นผลประโยชน์แลกเปลี่ยนของทักษิณ กับฮุนเซน แต่ฮุนเซนได้ทั้งดินแดนกับปราสาทพระวิหารปราสาทหินอื่นๆ รวม 15 แห่ง ได้ประกาศศักดิ์ศรีเป็นเจ้าของอารยธรรมเก่าแก่ ได้หาเสียงยิ่งใหญ่กับคนเขมรทั้งชาติ แล้วยังได้แบ่งแก๊ส น้ำมันด้วย ส่วนทักษิณก็ได้สัมปทานน้ำมัน และได้รับความช่วยเหลือต่างๆ"

พูดถึงความได้เปรียบ นายปราโมทย์ เห็นว่ากัมพูชาเตรียมการณ์อย่างดี ตั้งองค์กรอัปสราเพื่อล่าสมบัติโบราณ ที่สำคัญคนในองค์กรยูเนสโก้ก็สนับสนุนด้วย

นอกจากนี้ ตามแผ่นพับของเครือข่ายทวงคืนแผ่นดินแม่ ปัจจุบันนำมวลชนไปสร้างชุมชนใกล้อ่างห้วยสะเดา บ้างคลองน้ำซับ ต.แนงมุด อ.กาบเชิง สุรินทร์ ประมาณ 300 หลัง เมื่อเทียบกับชาวเขมร(ครอบครัวทหาร)มาปลูกเรือนอยู่ตามตะเข็บชายแดนเท่าที่ พบ 9 จุด ได้แก่ 1.พื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร 3 พันไร่ 2.ช่องตาเฒ่า เขตหมู่บ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ ศรีสะเกษ 3. ปราสาทโดนตวล บ้านภูมิซรอล 4.ภูมะเขือ บ้านภูมิซรอล 5.กลุ่มปราสาทตาเหมือน บ้านหนองคันนา ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก สุรินทร์ 6. ปราสาทตาควาย บ้านไทยนิยม ต.บักได อ.พนมดงรัก สุรินทร์ 7. สระสาม ต.หนองแวง อ.ละหานทราย บุรีรัมย์ 8. ถนนสรรศรีเพ็ญ อ.อรัญประเทศ สระแก้ว 9. บ้านเหล่าอ้อย ต.หนองสังข์ อ.อรัญประเทศ

นายปราโมทย์ ระบุว่านี่จะเป็นปมให้ไทยต้องถูกกฎหมายปิดปากอีก จะเข้าข่ายภาวะครอบครองโดยปรปักษ์ (effective occupation) เพราะรัฐไทยปล่อยให้เขมรแสดงตัวอ้างสิทธิ์ไปเนิ่นนาน ไม่ทักท้วง

ชี้ 5 แนวทางคัดค้านและทวงคืนดินแดน

แผนที่ 1ต่อ 2 แสน หรือแอนเน็กซ์ 1 คือปมใหญ่ที่ฝ่ายคัดค้านเร่งเร้ารณรงค์ เพราะเชื่อว่าจะนำไปสู่การเสียดินแดนประมาณ 1.5 ถึง 1.8 ล้านไร่ ทางภาคีเครือข่ายฯ ให้ยึดถือ อนุสัญญาสยาม – ฝรั่งเศส ค.ศ.1904 (พ.ศ.2446) มีหลักเขตแดนเป็นทางการเขียนอักษรไทย และเขมร ตามแนวสันปันน้ำทางบกโยงถึงทางทะเล

นายวีรพันธุ์ มาไลยพันธุ์ อดีตคณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เสนอแนวทางและเตรียมหลักฐานไว้ต่อสู้ พอประมวลสรุปดังนี้

1.พบกล้วยไม้พันธุ์ปราสาทพระวิหาร ในหนังสือกล้วยไม้พิมพ์กว่า 50 ปีของ ศ.ระพี สาคริก สกุล Vandopsis ชื่อเฉพาะ Lissochiloides ซึ่งเป็นพันธุ์ประจำถิ่นพบทั่วไป และพบมากบนเขาพระวิหาร แสดงถึงกลุ่มคนอยู่อาศัยใช้สอยบนเขาพระวิหารมานานแล้ว

2.มีบทความเก่าของ ศ.ฌ็อง บัวร์ลิเยร์ เขียนหนังสือ"เลอ คอมโบดจ์" ระบุดินแดนปราสาทพระวิหารอยู่ฝั่งไทย 3. ทายาท ของพระยาศรีสหเทพ (เสง วิรยศิริ) บรรดาศักดิ์สุดท้ายคือ พระยามหาอำมาตยาธิบดี ราชเลขานุการในพระองค์ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พบบันทึกเกี่ยวกับการสำรวจเขาพระวิหาร

4.พบหนังสือแผนที่ส่งไปพิมพ์ลอนดอน ระหว่างปี พ.ศ.2430-2431ก่อนจะเกิดวิกฤต รศ.112 (พ.ศ.2437) เรือรบฝรั่งเศสบุกถึงกรุงเทพฯ แสดงว่าประเทศไทยมีความสามารถทำแผนที่สมัยใหม่แล้ว แต่ปิดเป็นความลับ แสดงถึงการไม่ยอมรับฝรั่งเศสทำแผนที่ และ 5.อาจารย์ก่องแก้ว วีระประจักษ์ กับคณะไปพบหลักเขตแดนเก่าริมผาใต้ช่องบันไดหักปราสาทพระวิหาร เมื่อปลาย พ.ศ.2502 ซึ่งปัจจุบันหลักหายไป ถ้าค้นพบรูปถ่ายหลักนี้ก็จะช่วยให้การต่อสู้มีน้ำหนักมากอย่างมาก 

สยามในขณะนั้นจำเป็นต้องยอม เพราะฝรั่งเศสเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งมาก แต่ตามหลักฝ่ายผู้ร้องย่อมมีสิทธิจะร้องค้านเมื่อไหร่ก็ได้ตามความเหมาะสม โดยเห็นว่าไม่เสียเปรียบ

view