สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศูนย์เกษตรวิชญาปราชญ์แห่งการเกษตร

จาก โพสต์ทูเดย์

ประเทศไทยไม่ได้มีจุดขายแค่ด้านการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว เท่านั้น แท้จริงแล้วเป็นประเทศที่มีความสมบูรณ์ทางทรัพยากรดิน น้ำ ป่าที่หลากหลาย

โดย...ปวีณา สิงห์บูรณา

ประเทศไทยไม่ได้มีจุดขายแค่ด้านการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แท้จริงแล้ว “ไทย” เป็นประเทศที่มีความสมบูรณ์ทางทรัพยากรดิน น้ำ ป่าที่หลากหลาย และที่สำคัญไปกว่านั้นยังเป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงอุทิศพระวรกาย เพื่อทุ่มเทให้กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ พสกนิกรของพระองค์ท่าน โดยผ่านทางโครงการพระราชดำริต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งควรค่าเป็นอย่างยิ่งหากคุณผู้อ่านได้มาเยี่ยมชมและสัมผัสโครงการอัน เนื่องมาจากพระราชดำริเหล่านี้ด้วยตัวเอง

จุดหมายปลายทางของทีมงานโลก 360 องศาในครั้งนี้ จึงเริ่มต้นเรียนรู้โครงการพระราชดำริกันที่ศูนย์เกษตรวิชญา จ.เชียงใหม่ หนึ่งในโครงการพระราชดำริที่สำคัญในภาคเหนือ ที่กรมพัฒนาที่ดินเข้าร่วมดำเนินงาน การเดินทางสู่เส้นทางแห่งการเรียนรู้โครงการพระราชดำริครั้งนี้ ทีมงานโลก 360 องศาไม่ได้ลุยเดี่ยว หากแต่ว่าทริปนี้มีคุณเบิร์น มิตรรักของทางรายการเป็นผู้ร่วมเดินทางพิเศษด้วย คุณเบิร์นเดินทางมาจากประเทศเยอรมนี บอกกับทีมงานว่าตั้งใจมาสัมผัสบรรยากาศการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในบ้านเรา ด้วย

พวกเราใช้เวลาเดินทางไม่นานจากตัวเมืองเชียงใหม่ ขับรถเลาะเลียบไปตามเส้นทางสาย 109 มุ่งหน้าขึ้นไปทางทิศเหนือสู่ อ.แม่ริม ตามเส้นทางที่สูงชันและคดเคี้ยวประมาณชั่วโมงกว่าๆ ก็มาถึงจุดหมายปลายทางศูนย์เกษตรวิชญาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านกองแหะ หมู่ที่ 4 ต.โป่งแยง 

อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยกรมพัฒนาที่ดินร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดโครงสร้างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ การฟื้นฟูทรัพยากรดิน และการจัดการระบบชลประทาน ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรโดยศูนย์เกษตรวิชญามีพื้นที่ภายในกว่า 1,350 ไร่ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์โดยสมเด็จพระบรม โอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระราชทานนามศูนย์ศึกษาพัฒนาพื้นที่เกษตรแห่งนี้ว่า “เกษตรวิชญา” ซึ่งแปลว่า ปราชญ์แห่งการเกษตร
แต่ก่อนที่จะเกิดโครงการฯ นั้น พื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านกองแหะมีสภาพเป็นพื้นที่ลาดชัน ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ประกอบกับมีการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ซึ่งก็เป็นผลมาจากการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่เพื่อทำไร่หมุนเวียน ด้วยเหตุนี้การแก้ไข

ปัญหาด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า “...การปรับปรุงที่ดินนั้นต้องอนุรักษ์ผิวดิน ซึ่งมี ความสมบูรณ์ไว้ ไม่ให้ไถหรือปรับหรือลอกหน้าดินทิ้งไป สงวนไม้ยืนต้นที่ยังเหลืออยู่ เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื้นของผืนดิน...” โดยการริเริ่มใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำจึงเกิดขึ้น รวมทั้งทดลองปลูกและแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่ต้องการ จนกระทั่งศูนย์เกษตรวิชญาแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางในการเข้ามาจัดการและ แก้ไขปัญหาทรัพยากรดินของพื้นที่การเกษตรทางภาคเหนือ ทั้งหมดนี้นับได้ว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานแนวทางดังกล่าว เพราะหญ้าแฝกนั้นคือพืชมหัศจรรย์ เมื่อปลูกเป็นแถวแล้วจะเป็นกำแพงที่มีชีวิตช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของ หน้าดินแต่ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำ

ทีมงานโลก 360 องศา พบว่า ที่ศูนย์เกษตรวิชญาจะมีการปลูกพืชไว้มากมายเพื่อเป็นแปลงสาธิตให้แก่เกษตรกร ที่เข้ามาศึกษาดูงาน เดินมาสักหน่อย เจ้าหน้าที่ก็แนะนำให้เราได้รู้จักกับผักขึ้นชื่อของทางภาคเหนือ ผัก “ซาโยเต้” อย่าเพิ่งแปลกใจไป เพราะถ้าเรียกเป็นชื่อไทยแล้ว ผักชนิดนี้ก็คือ “ฟักแม้วมะระหวาน” นั่นเอง ซึ่งสามารถนำมารับประทานสดๆ หรือนำมาผัดก็ได้ ในหนึ่งปีที่ศูนย์ฯ จะมีการปลูกพืชหมุนเวียนหลายๆ ชนิด ทั้งหอมหัวใหญ่พริก ถั่วแขก และคะน้า โดยปลูกหมุนเวียนกันเป็นรุ่นๆ เพื่อตัดวงจรของศัตรูพืช รวมถึงการทำปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยน้ำหมัก จากเศษพืชด้วยสารเร่ง พด. ชนิดต่างๆ ของกรมพัฒนาที่ดินด้วย

ทีมงานโลก 360 องศา ได้ทดลองทำ “ปุ๋ยหมัก” เพียงแค่ใช้เศษพืชเศษหญ้าที่เหลือจากการตัดแต่งอย่างเช่น เปลือกหอม หญ้า หรือใบไม้ต่างๆ เอามาผสมกับตัวเร่งที่เรียกว่า พด.1 ของกรมพัฒนาที่ดิน แล้วปล่อยทิ้งไว้สักระยะก็สามารถนำมาใช้งานได้ “ปุ๋ยหมัก” สามารถใช้ได้ดีกับการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งการทำก็ไม่ยาก แถมยังสามารถนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกลับมาใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ยอินทรีย์ ได้อีกครั้งหนึ่ง ลดทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายแถมยังได้เป็นการออกกำลังกายไปในตัว นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการใช้ชีวิตในแบบพอเพียง สร้างภูมิคุ้มกันตามแนวทฤษฎีใหม่ของพระองค์ท่าน รวมถึงกรมพัฒนาที่ดินก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ชาวบ้านทำปุ๋ย และมีปุ๋ยไว้ใช้เองโดยไม่ต้องไปพึ่งพาสารเคมีเลยทีเดียว

ส่วนการทำปุ๋ยน้ำชีวภาพนั้น วิธีการและวัสดุที่นำมาเป็นส่วนผสมก็จะเหมือนกับการทำปุ๋ยหมัก จะแตกต่างกันแค่ใช้กากน้ำตาลและตัวเร่งที่เรียกว่า พด. 2 ซึ่งย่อมาจากพัฒนาที่ดิน ที่เป็นผลิตภัณฑ์จากการวิจัยและพัฒนาของกรมพัฒนาที่ดิน ส่วนระยะเวลาในการปล่อยให้เศษพืชและตัวเร่งที่เราผสมลงไปทำปฏิกิริยาต่อกัน จนกลายเป็นปุ๋ยน้ำชีวภาพนั้นคือ 3 สัปดาห์ และถ้าเกษตรกรสนใจก็สามารถขอสูตรหรือขอปุ๋ยน้ำชีวภาพที่สำเร็จรูปแล้วได้ที่ หน่วยงานของกรมพัฒนาที่ดินที่มีกระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศที่สำคัญ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าทีมงานโลก 360 องศา จะไปยังประเทศใด องศาไหน เราก็ไม่พลาดที่จะลองไปหาประสบการณ์หรือลงไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน เพื่อให้ได้ข้อมูลและมุมมองในอีกด้านหนึ่งองศาหนึ่ง และในวันนี้มาถึงหมู่บ้านกองแหะ จ.เชียงใหม่ ทั้งที ก็ต้องลงมาสัมผัส ลงมาดูวิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่ว่าเป็นอย่างไร หลังจากที่กรมพัฒนาที่ดินและหน่วยงานอื่นๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขยายผลสำเร็จที่ได้จากศูนย์เกษตรวิชญามาสู่ชุมชน รอบๆ ศูนย์ ซึ่งจากภาพและรอยยิ้มที่เราเห็น ก็บอกได้ว่าพวกเค้ามีความสุขในการใช้ชีวิตตามวิถีแห่งความพอเพียงจริงๆ

นี่เป็นครั้งแรกที่รายการโลก 360 องศา พาเพื่อนที่มาจากต่างแดนเข้ามาท่องเที่ยวยังประเทศไทย หากแต่การท่องเที่ยวครั้งนี้เราไม่ได้มาสัมผัสกับความสวยงามของสถานที่ท่อง เที่ยวในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเข้ามาเรียนรู้วีถีทางการพัฒนาในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพ่อหลวงของเรา

Tags : ศูนย์เกษตรวิชญาปราชญ์แห่งการเกษตร

view