สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความรู้คืออำนาจ

จาก โพสต์ทูเดย์

ประสบการณ์นั้นทรงคุณค่ายิ่ง แต่หากได้รับการพัฒนาเป็นความรู้ และถ่ายทอดพัฒนาสืบต่อไป อาจเปี่ยมไปด้วยพลังซึ่งพลิกผันประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

โดย...อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์

เสียงเครื่องยนต์แม้จะดังขึ้น แต่ก็หาได้กลบเสียงน้ำเชี่ยวกรากที่ไหลกระทบแก่งหิน ภาพเบื้องหน้าที่เห็นนายท้ายเรือคนใหม่ เข้าเกาะกุมพังงา แทนนายท้ายคนเดิม เร่งเร้าให้หลายคนไปรวมกันอยู่ที่บริเวณหัวเรือ เฝ้าดูฝีมือนายท้ายคนใหม่ ในการนำเรือผ่านแก่งหิน ช่วงซึ่งแคบที่สุดของแม่น้ำโขง ในพื้นที่แขวงไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ลำเรือมีอาการ สั่นเล็กน้อยช่วงที่ไหลเข้าบริเวณแก่ง เสียงน้ำกระทบท้องเรือเป็นระยะๆ สีหน้าของนายท้ายเรือวัยกลางคนสงบนิ่ง ขณะประคองพังงา

“ปกติไม่มีใครมาเที่ยวกันไกลขนาดนี้ ยิ่งถ้ามาเรือด้วยยิ่งน้อยมาก ผมเองก็ไม่เคยมา” อ้ายสีเจ้าของเรือที่เราเช่ามาจากหลวงพระบาง เล่าถึงเหตุผลที่ต้องชวนอ้ายพันธ์ ซึ่งคุ้นเคยกับร่องน้ำช่วงตั้งแต่หลวงพระบางลงมาถึงไซยะบุรี มาช่วยถือท้ายเรือ

“แก่งเยอะ นี่ขนาดหน้าน้ำแล้วนะ หินที่โผล่พ้นน้ำให้เห็นยังใหญ่ขนาดนี้ ลองนึกถึงที่จมอยู่ใต้น้ำสิ ถ้าไม่ชำนาญร่องน้ำ ผมไม่กล้ามาแน่ๆ” คำบอกเล่าด้วยภาษาลาวของอ้ายพันธ์ถอดความได้เช่นนี้ เป็นคำบอกเล่าเมื่อคืนที่ผ่านมา ขณะเรานอนพักแรมบนหาดทรายริมโขง และได้ยินเสียงน้ำไหลกระทบหินบริเวณแก่งหลวงแห่งนี้ ราวกับอยู่ใกล้น้ำตก

ภาพ ประกอบข่าว

ขณะที่คนอื่นๆ กำลังเฝ้าดู หัวเรือที่แหวกน้ำผ่านร่องโขดหิน ผมเฝ้าสังเกตนายท้ายเรือ ดูสีหน้า อากัปกิริยาของผู้ชำนาญร่องน้ำแห่งไซยะบุรี อายุอานามที่น่าจะล่วงเข้าสู่วัย 50 ต้นๆ ของอ้ายพันธ์คนขับเรือ ทำให้ผมไม่มีข้อกังขาใดๆ ต่อประสบการณ์เดินเรือในแถบนี้ของแก

เสียงโห่ร้อง ปรบมือดังลั่นไปทั้งเรือ เมื่อเราผ่านแก่งหลวงมาได้ อาจเป็นเพราะการ์นิเยร์นักสำรวจชาวฝรั่งเศส เคยกล่าวไว้เมื่อประมาณ 140 ปีก่อนหน้านี้ว่า “แม่น้ำโขงคงไม่สามารถเดินเรือได้” อาจเป็นเพราะคำพูดนี้ที่ทำให้ทุกคนลุ้นระทึกยามที่เราผ่านแก่งหลวง

ผมเหลือบมองอ้ายพันธ์ สีหน้าของแกยังคงเรียบเฉยเสมือนไร้ความรู้สึกใดๆ ขณะที่อ้ายสีเจ้าของเรือยกแก้วขึ้น เทเหล้าพื้นบ้านเข้าปากไปทั้งกรึ๊บ...

...1 วันก่อนหน้านี้ ผมนั่งรอขึ้นเครื่องบิน เพื่อเดินทางมายังเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง เสียงดังแกรกๆ ดึงความสนใจให้มองไปยังต้นเสียง ภาพชายหนุ่มวัย 30 ต้นๆสองคนลากกระเป๋าผ่านผมไป จากการแต่งกายบอกให้รู้ว่า นี่คือนักบินของผม นักบินของสายการบินลาวแอร์ไลน์ส

ไม่นานหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดิน เปิดประตูให้ผู้โดยสารกว่า 40 คน เดินไปขึ้นเครื่องบินสองใบพัด ที่มีรูปดอกลั่นทมสีขาวหรือที่คนลาวเรียกว่า ดวงจำปา เป็นสัญลักษณ์ แม้จะเคยโดยสารเครื่องบินแบบใบพัดมาบ้าง แต่ก็เป็นเครื่องบินทหารหรือตำรวจ แม้แต่เครื่องบินโดยสารภายในประเทศพม่า อายุอานามของนักบินก็เชื่อได้ว่าน่าจะมากด้วยประสบการณ์ ต่างจากสองนักบินหนุ่มประจำเครื่องบินลำนี้ แม้จะไม่ถึงกับหวาดหวั่น แต่ก็อดคิดถึงประสบการณ์ของสองนักบินหนุ่มไม่ได้

แล้วทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดีนับแต่เครื่องทะยานขึ้นท้องฟ้า จวบกระทั่งล้อเครื่องบินแตะพื้นสนามบินหลวงพระบาง

ผมคิดว่า หากผู้ที่ถือท้ายเรือช่วงที่เราล่องผ่านแก่งหลวงเป็นเด็กหนุ่ม มิใช่อ้ายพันธ์ เราจะผ่านแก่งหลวงมาได้หรือไม่ หรือเราจะรู้สึกอย่างไรในช่วงเวลาอันน่าระทึกนั้น ผมตั้งคำถามนี้จากฐานความเชื่อว่า อายุที่มากกว่า ย่อมหมายถึงประสบการณ์ที่มากกว่า

แล้วผมก็กลับด้านของความคิดใหม่ว่า หากอ้ายพันธ์ไปขับเรือในสายน้ำอื่น ร่องน้ำอื่น จะยังคงความสามารถเช่นการล่องเรือในร่องน้ำไซยะบุรีอันคุ้นเคยหรือไม่

แต่ผมเชื่อว่า หากเป็นนักบินหนุ่มสองคนนั้น ขับเครื่องบินไปจุดหมายอื่น ในเส้นทางอื่นที่เขาไม่คุ้นเคย เขาย่อมทำได้

อ้ายพันธ์นั้นมีประสบการณ์ซึ่งติดอยู่กับตัว มองเผินๆ เราอาจเห็นแค่การบังคับเรือ แต่แท้จริงแล้วการจดจำ การสังเกตภูมิประเทศ การสังเกตระดับและกระแสน้ำ ไม่ต่างจากแผนที่การเดินเรือในร่องน้ำที่อยู่ในหัว หากถ่ายทอดให้กับคนอื่นอย่างเป็นระบบ ใครคนนั้นก็อาจจะเป็นนักเดินเรือในร่องน้ำไซยะบุรีได้ทัดเทียมกับอ้ายพันธ์

สองนักบินหนุ่มอาจด้อยประสบการณ์ แต่เขาได้รับการถ่ายทอดความรู้วิชา ซึ่งแน่นอนว่ามิใช่แค่การบังคับเครื่องบิน แต่รวมถึงความรู้อื่นๆ ที่จำเป็นแก่การบินอีกด้วย ประสบการณ์ทางการบินนับแต่อดีตกาล ถูกถ่ายทอดต่อมายังสองนักบินหนุ่มอย่างเป็นระบบ จนเป็นศาสตร์ เป็นความรู้ และเป็นสากล เพียงแค่เปิดแผนที่ ศึกษาเส้นทางการบิน แม้จะอ่อนด้อยประสบการณ์ แต่เขาสามารถบังคับเครื่องบินไปได้ในทุกที่

...700 ปีก่อน ในยุคที่มนุษย์เชื่อว่าโลกเสมือนถาดใบใหญ่ที่ใส่น้ำเอาไว้ การที่ใครสักคนจะนำเรือออกทะเล เดินทางห่างแผ่นดินไปกว่า 6,000 ไมล์ ไปอย่างไร้จุดหมายเพื่อสำรวจโลก ขณะที่ความรู้การเดินเรือมีแค่เข็มทิศและดาราศาสตร์ นับว่าต้องพึ่งพาความกล้าหาญอย่างมาก นี่คือสิ่งที่ เจิ้งเหอ นายพลเรือแห่งราชวงศ์หมิงของจีน ซึ่งมีชีวิตอยู่ก่อนที่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จะค้นพบทวีปอเมริกาในปี ค.ศ. 1492 ถึง 57 ปี ได้กระทำมาแล้ว

ว่ากันว่าการเดินเรือท่องโลก 6 ครั้งตลอดชีวิตของเจิ้งเหอ เขาพากองเรือกว่า 300 ลำ ไพร่พลอีกกว่า 2 หมื่นคน เดินทางไปถึงน่านน้ำทวีปอเมริกา แอฟริกา และเส้นทางใหม่สู่มหาสมุทรอินเดีย ก่อนที่นักเดินเรือจากตะวันตกจะค้นพบ ประสบการณ์ของเจิ้งเหอทำให้มีข้อมูลมากมายเกี่ยวกับมหาสมุทรและน่านน้ำ ซึ่งถูกนำมาพัฒนาเป็นวิชาเดินเรือ

ในบั้นปลายชีวิต เจิ้งเหอถ่ายทอดประสบการณ์การเดินเรือให้กับนายทหารรุ่นใหม่ๆ ขณะที่จักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงก็ส่งเสริมการต่อเรือเดินสมุทร ที่นำประสบการณ์ของเจิ้งเหอมาปรับปรุง ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประสบการณ์จะได้รับการพัฒนาเป็นความรู้ แต่เมื่อหมดยุคของเจิ้งเหอ นโยบายพัฒนากองเรือและวิชาการเดินเรือของราชวงศ์หมิงก็ค่อยๆ หายไป กระทั่งนักเดินเรือจากโลกตะวันตก นำประสบการณ์ที่เจิ้งเหอผ่านพบมาพัฒนาเป็นความรู้ จนสามารถพิชิตโลกได้ในที่สุด

ประสบการณ์นั้นทรงคุณค่ายิ่ง แต่หากได้รับการพัฒนาเป็นความรู้ และถ่ายทอดพัฒนาสืบต่อไป อาจเปี่ยมไปด้วยพลังซึ่งพลิกผันประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

Tags : ความรู้คืออำนาจ

view