สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชุมชนตาล ถ้ำรงค์ ยืนยงคู่วิถีเมืองเพชร

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ทุ่งนา ดงตาล วิถีชนบทแบบเมืองเพชรที่ชุมชนถ้ำรงค์
       "...แรกรักกันมันหวานดั่งตาลเมืองเพชร ช่างหวานสะเด็ดไม่มีอะไรเปรียบปาน..."
       
       บทเพลง ยับเยิน : วงซูซู
       
       เป็นที่โจษจันกันมานานแล้วว่า ตาล(โตนด)เมืองเพชรนั้นให้รสหวานนัก อีกทั้งความอร่อยก็ไม่เป็นสองรองใคร แต่น่าเสียดายที่วันนี้"ต้นตาล"ไม้คู่บ้านคู่เมืองเพชรบุรีกลับมีจำนวนลด น้อยถอยลงไปมาก เช่นเดียวกับวิถีการทำตาลของชาวเมืองเพชรที่นับวันยิ่งลดน้อยลงทุกที
       
       อย่างไรก็ดี เพชรบุรีวันนี้ยังคงไม่สิ้นไร้ซึ่งวิถีแห่งตาล เพราะที่"ชุมชน ถ้ำรงค์"(ต.ถ้ำรงค์) อ.บ้านลาด ยังคงมีการอนุรักษ์สวนตาลโตนดและภูมิปัญญาการทำตาลไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียน รู้กัน รวมถึงยังเป็นชุมชนที่โดดเด่นไปด้วยภูมิปัญญาและวิถีชนบทแบบคนเพชร จนถูกยกให้เป็นหนึ่งในชุมชนท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากแห่งหนึ่งของภาคกลาง

เจ้าจ๋อจอมยุ่งที่ เขาถ้ำรงค์
       ถ้ำรงค์ชื่อนี้ได้แต่ ใดมา
       
       "ชุมชนถ้ำรงค์น่าจะมีอายุหลายร้อยปีหรือเกือบพันปี โดยดูจากความเก่าแก่ของหลวงพ่อดำ พระพุทธรูปคู่ชุมชนที่ชาวบ้านเคารพศรัทธามาช้านาน"
       
       บรรพต กำไลแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำรงค์ กล่าวนำ ก่อนเล่าถึงประวัติของชุมชนโดยอ้างอิงจากเอกสารอบต.ว่า สมัยก่อนบ้านถ้ำรงค์มีสภาพเป็นป่า วันหนึ่งมีเจ้าเมืองไม่ปรากฏนามเสด็จประพาสผ่านมา ระหว่างที่กำลังชื่นชมกับภูมิประเทศ หญิงสาวชาวบ้านเห็นว่าพระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อย จึงเข้ามาถวายน้ำดื่มแก้กระหาย แต่ในขันน้ำมีใบหญ้าคาลอยอยู่ เจ้าเมืองเห็นทรงกริ้วมาก เรียกหญิงสาวเข้าไปพบ เธอจึงอธิบายว่า ที่ต้องใส่หญ้าคาลงไปเพื่อกันไม่ให้พระองค์รีบเร่งเสวยน้ำ เพราะกำลังเหน็ดเหนื่อยจะทำให้จุกเสียดและอาจทรงพระประชวรได้
       
       เจ้าเมืองเมื่อฟังแล้วซาบซึ้งใจ จึงมอบแหวนตอบแทนต่อหญิงสาว ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า "ธรรมรงค์" ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกชุมชนแห่งนี้ว่า"บ้านธรรมรงค์" ก่อน ที่จะเพี้ยนเป็น"ถ้ำรงค์"มาจนถึงปัจจุบัน

หลวงพ่อดำ
       ชุมชนโชคดี ของดีชุมชน
       
       ...ถ้ำเขารงค์รูปช้าง ยางนาใหญ่ แม่น้ำเพชรใส หลวงพ่อเทพเลื่องลือไกล พระดำใหญ่คู่ตำบล...
       
       นี่คือคำขวัญประจำตำบลถ้ำรงค์ ที่บรรพตบอกว่า ชุมชนของเขาค่อนข้างโชคดี เพราะมีองค์ประกอบสำคัญ 7 อย่างที่หาไม่ได้ง่ายๆในชุมชนอื่นๆ คือ 1.ภูเขา มีถึง 5 ลูก 2.แม่น้ำ(มีแม่น้ำเพชรไหลผ่าน) 3.ลำห้วย 4. ป่าไม้(มีป่าสงวนติดกับชุมชน) 5. มีแหล่งอารยธรรมดั้งเดิม 6.ป่ายางแดง(ในหลวงทรงให้อนุรักษ์ไว้) และ 7. มีถ้ำ
       
       ด้วยศักยภาพเหล่านี้ทำให้ชุมชนถ้ำรงค์ได้รับเลือกจากนักวิชาการให้ เป็นชุมชนท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 2544
       
       "แต่ตอนนั้น พวกเรายังไม่ประสีประสา ล้มลุกคลุกคลานกันอยู่พักใหญ่ ก่อนจะเข้าที่เข้าทางก็ราวปี 2548" บรรพตรำลึกความหลัง
       
       จากนั้นมาชุมชนถ้ำรงค์ได้บ่มเพาะศักยภาพและประสบการณ์ เดินหน้าเข้าสู่ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเรียนรู้อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยสิ่งน่าสนใจชวนเที่ยวในชุมชนถ้ำรงค์ที่เด่นๆ มีดังนี้
       
       หลวงพ่อดำ ประดิษฐานอยู่ในถ้ำหลวงพ่อดำที่เขาถ้ำรงค์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่ชุมชนปางห้ามญาติ หล่อด้วยสำริดดำทั้งองค์ ทางชุมชนได้ให้กรมศิลปากรมาตรวจสอบสันนิษฐานว่ามีอายุเกือบ1,000 ปี นอกจากหลวงพ่อดำแล้วในถ้ำยังมีพระพุทธรูปเก่าแก่ประดิษฐานอยู่อีกหลายองค์ ด้วยกัน

หลวงพ่อขาว
       หลวงพ่อขาว อีกหนึ่งพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของ ชุมชน เดิมประดิษฐานอยู่ในถ้ำคนละด้านกับเขาถ้ำรงค์ แต่ตอนหลังถ้ำหลวงพ่อขาวพังทลายลง ชาวบ้านจึงอัญเชิญหลวงพ่อขาวมาบูรณะซ่อมแซมใหม่ แล้วจึงนำมาประดิษฐานเคียงคู่กับหลวงพ่อดำในศาลาที่หน้าถ้ำหลวงพ่อดำ ซึ่งบริเวณนี้มีฝูงลิงออกวิ่งเล่นและหากินอยู่พอสมควร ช่วยสร้างสีสันในการกราบไหว้หลวงพ่อทั้งสองได้ไม่น้อยเลย

โบสถ์วัดถ้ำรงค์
       วัดถ้ำรงค์ อีกหนึ่งแหล่งรวมจิตใจของชาวถ้ำรงค์ มีบรรยากาศร่มรื่น มีโบสถ์เก่าแก่รูปทรงสูงสมส่วนสวยงาม ภายในมีรูปเคารพหลวงพ่อเทพ อดีตเจ้าอาวาส เกจิชื่อดังที่มรณะเมื่อปี 2525 หลวงพ่อเทพเป็นพระปฏิบัติมีญาณแก่กล้า มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย
       
       นอกจากนี้ชุมชนถ้ำรงค์ยังมีสิ่งน่าสนใจอื่นๆ อาทิ วัดม่วงงามและพิพิธภัณฑ์ของเก่า ถ้ำเขาน้อย ป่ายางนาต้นสูงใหญ่ มีท้องทุ่งนาเขียวขจี(ในฤดูปลูกข้าว) มีสวนเกษตรผสมผสาน มีบ้านเรือนทรงไทยแบบดั้งเดิมอยู่เป็นจำนวนมาก บางบ้านแม้ดูเก่าขลังแต่วิถีในบ้านกลับผสมผสานระหว่างความใหม่เก่าได้เข้า กันอย่างลงตัว
       
       อีกทั้งยังมีประเพณีการละเล่นอันเป็นเอกลักษณ์ อย่าง การเห่เรือบก การละเล่นพื้นบ้านหลังเก็บเกี่ยวข้าว มีบทเพลงแห่เรือและขบวนเรือที่นำมาแห่บนบกอย่างสนุกสนาน การละเล่นผีกระด้งที่มีการนำกระด้งมาทำพิธีแล้วร้องรำทำเพลงไปตามจังหวะ

สวนตาลลุงถนอม
       หมู่บ้านตาลโตนด
       
       ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของชุมชนถ้ำรงค์ซึ่งเป็นที่รับรู้ อย่างกว้างขวางก็คือ ที่นี่เป็นแหล่งชุมชนตาลที่มากไปด้วยต้นตาล และวิถีการทำตาลของชาวบ้าน ที่หาดูไม่ได้ง่ายๆในเมืองไทย โดยแหล่งปลูกตาลที่สำคัญและเด่นดังที่สุดในชุมชน เห็นจะหนีไม่พ้นสวนตาลของลุง ถนอม ภู่เงิน(อดีตกำนัน ต.ถ้ำรงค์) บนพื้นที่ราว 10 ไร่ นับเป็นแห่งเดียวในเพชรบุรีที่มีการปลูกต้นตาลมากที่สุด ตาลที่นี่มีลำต้นอวบใหญ่แผ่ก้านใบร่มครึ้ม แถมยังเป็นการปลูกตาลแบบเป็นระเบียบเป็นแถวเป็นแนวแบบสวนผลไม้อีกต่างหาก
       
       ลุงถนอมเล่าว่า ตนไม่อยากให้ต้นตาลเมืองเพชรสูญหายเหลือเพียงตำนาน เพราะตาลเป็นต้นไม้เอกลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี เมื่อคิดถึงเพชรบุรีต้องคิดถึงต้นตาล แต่ปัจจุบันต้นตาลเมืองเพชรกลับเหลือน้อยเต็มที ลุงถนอมจึงอยากอนุรักษ์สวนตาลไว้ให้อยู่คู่เมืองเพชรไปนานๆ
       
       ปัจจุบันนอกจากสวนตาลลุงถนอมแล้ว ชาวบ้านถ้ำรงค์ส่วนหนึ่งยังคงปลูกตาล ทำตาลเป็นอาชีพ จนชุมชนแห่งนี้ถูกเรียกขานให้เป็น"หมู่บ้านตาลโตนด" ที่ นอกจากจะชวนเที่ยวชมแล้ว ยังควรค่าแก่การเรียนรู้ในภูมิปัญญาและวิถีแห่งตาลไม่น้อยเลย

ของที่ระลึกฝีมือลุง พุฒ
       ด้วยเหตุนี้ ชุมชนถ้ำรงค์จึงมีกิจกรรมท่องเที่ยวเรียนรู้ในวิถีแห่งตาลขึ้นในรูปแบบต่างๆ อาทิ การยีโตนดที่ใช้ลูกตาลสุกมายีเพื่อนำไปทำขนมตาล การแข่งขันชกมวยใบตาลโดยปิดตาคู่ชกแล้วให้เดินชกกันแบบมวยสากลบนเวทีใบตาล ที่เวลาเดินจะเกิดเสียงดังทำให้คู่ชกได้ยินเสียง(คล้ายมวยใบจาก) การขึ้นตาล การเฉาะตาล การเคี่ยวตาล การทำแกงหัวตาล การทำขนมตาล เป็นต้น รวมถึงการทำตุ๊กตาลูกตาลของลุงพุฒ นามมั่น ที่นำเอาลูกตาลโตนดและวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติในท้องถิ่น มาตกแต่งดัดแปลงเป็นงานแฮนด์เมดจำพวกตุ๊กตาของที่ระลึกรูปแบบต่างๆอย่างสวย งาม
       
       แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบรรพตบอกว่า นักท่องเที่ยวต้องไปให้ถูกช่วง ถูกจังหวะ จึงจะได้เห็นถึงวิธีการทำตาลของชาวบ้าน

อุทยานจราจร
       ไม่มีโฮมสเตย์
       
       ถ้ำรงค์นอกจากจะเป็นชุมชนที่โดดเด่นด้านการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นชุมชนต้นแบบด้านความปลอดภัยและการส่งเสริมวินัยจราจร ในชุมชนมีการจัดทำโครงการต่างๆที่เกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนน รวมถึงการสร้าง"ทางลอดถ้ำรงค์"บนถนนใหญ่หน้าชุมชน เพื่อเป็นถนนสายรองให้ชาวบ้านสัญจรเดินทางข้ามไปมา โดยไม่ต้องไปเสี่ยงภัยกับรถที่วิ่งเร็วและแรงบนถนนใหญ่(เพชรเกษม)
       
       จนในปี 2552 ได้รับรางวัลจากโครงการ"ทางลอดร่วมใจ ปลอดภัยทุกชีวิต" ในฐานะชุมชนส่งเสริมความปลอดภัย จากสภาวิศวกร ในการประกวดชุมชนร่วมใจ สร้างความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 5 และได้รับรางวัล "Prime Minister Road Safety Award" จากนายกรัฐมนตรี ในงานสัมมนาระดับชาติ เรื่องอุบัติเหตุจราจร ครั้งที่ 9 ชึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)
       
       นอกจากนี้ล่าสุดชุมชนถ้ำรงค์ยังนำเรื่องการจราจรมาผนวกกับการท่อง เที่ยวในโครงการ "อุทยานจราจรถ้ำรงค์" โดยร่วมมือกับกรมทางหลวงและสสส. ทำเป็นถนนพิเศษสำหรับจักรยานพร้อมฐานการเรียนรู้ด้านการจราจร 9 ฐานควบคู่ไปกับฐานการเรียนรู้ในภูมิปัญญาท้องถิ่นตามจุดต่างๆ ซึ่งเมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์อุทยานฯจะเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ด้านการจราจร และถนนสำหรับขับขี่จักรยานท่องเที่ยวควบคู่กันไป

บ้านเรือนไทย
       ส่วนความโดดเด่นอีกประการหนึ่งที่ถ้ำรงค์แตกต่างออกไปจากชุมชนท่อง เที่ยวจำนวนมากก็คือ ที่นี่ไม่มีโฮมสเตย์และไม่คิดที่จะทำโฮมสเตย์ โดยบรรพตให้เหตุผลว่า เนื่องจากชาวบ้านยังไม่พร้อม และเกรงว่าโฮมสเตย์จะทำให้ชุมชนสูญเสียความเป็นตัวตนไป เพราะชาวบ้านต้องปรับตัวและปรับเวลาการทำงาน ทำสวน เพื่อมาคอยดูแลนักท่องเที่ยวมากขึ้น
       
       "แต่หากใครมาในเวลาปกติ เช้ามืดถึงค่ำ ที่นี่ยินดีต้อนรับเสมอ เพียงแต่ว่าใครที่อยากสัมผัสกับการละเล่น ประเพณี รวมถึงวิธีการทำตาลต่างๆ ต้องมาให้ถูกช่วง ถูกจังหวะ ถูกเวลา จึงจะได้เห็น เพราะที่นี่ไม่มีการจัดฉากหลอกนักท่องเที่ยว ทุกอย่างที่ทำยังคงเป็นวิถีชีวิตจริงที่ชาวบ้านทำกันเป็นปกติ"บรรพตกล่าว ทิ้งท้าย

       *****************************************
       
       ชุมชนถ้ำรงค์(ต.ถ้ำรงค์) ตั้งอยู่ใน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี อยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรไปบนทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ประมาณ 5 กม. ทางเข้าหลักของชุมชนบ้านจะอยู่บริเวณกม. 178 มีศูนย์พักนักท่องเที่ยวเป็นจุดสังเกต ซึ่งหากใครไปเป็นหมู่คณะสามารถติดต่อขอใช้บริการรถรางนำเที่ยวตามจุดต่างๆ ของชุมชนได้(ชุมชนมีโปรแกรมนำชมตามฤดูกาล) โดยผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดต่างๆเพิ่มเติมได้ที่ อบต.ถ้ำรงค์ 0-3249-1467


Tags : ชุมชนตาล ถ้ำรงค์ วิถีเมืองเพชร

view