สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทับลาน บ้านหลังสุดท้ายของ ป่าลาน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

เส้นทางที่เต็มไปด้วยต้นลานในอุทยานฯทับลาน
       สำหรับพืชบางชนิดการออกดอก แตกผล คือ การขยายพันธุ์ การบ่งบอกว่าได้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์แล้ว แต่สำหรับพืชบางชนิดเปราะบางกว่านั้น เพราะการออกดอก ออกผล หมายถึงความตายกำลังจะมาเยือน
       
       ลาน หรือ ไม้ลาน เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่อยู่ในตระกูลปาล์ม เป็นพันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์ ที่ไม่ขึ้นแพร่หลายนัก มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาและแถบเมดิเตอร์เรเนียน ความสำคัญอันโดดเด่นของลานที่เอ่ยแล้วเป็นต้อง ร้องอ๋อ...กันทุกคน คือ การทำมาทำคัมภีร์ใบลานคัดลอกอักษร ก่อนที่เราจะวิวัฒนาการมาเป็นสมุด

คืนลาน สู่ป่า ด้วยการยิงลูกลาน
       ลาน 3 เหล่า
       
       ลานทั่วโลกมีกันมากมายหลายสายพันธุ์ แต่ที่เมืองไทยเราจะสามารถพบลานได้เพียง3 ชนิด คือ ลานป่า ใน ธรรมชาติเป็นลานที่นิยมนำมาใช้เขียนหรือจารึกอักษร
       
       ลานพรุ ชอบขึ้นตามแนวชายฝั่งแม่น้ำหรือในพื้นที่ ชุ่มน้ำประเทศไทยพบมากในแถบภาคใต้ มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากลานชนิดอื่น คือ ลำต้นสูงคล้ายต้นตาลขึ้นอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากตามที่ราบท้องทุ่ง แม้พื้นที่น้ำท่วมขัง
       
       และชนิดสุดท้ายคือ ลานวัด หรือ ลานหมื่น เถิดเทิง เป็นปาล์มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ลานชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในศรีลังกาและอินเดีย จนเป็นต้นไม้ประจำชาติของศรีลังกา ประเทศไทยไม่พบในธรรมชาติ แต่มีการนำเอามาปลูกในภาคเหนือของประเทศไทย

ดอกของต้นลานเครื่อง หมายแห่งความตายของต้นลาน
       บ้านของลาน
       
       แต่ถ้าจะพูดถึงที่พักพิงของลานที่อบอุ่นและกว้างใหญ่แสนสมบูรณ์ ทั้งประเทศไทยก็คงจะเหลือเพียงที่นี่ที่เดียว "อุทยานแห่งชาติทับ ลาน" ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี สถานที่ซึ่งถูกมอบหมายให้เป็น "ป่าลานผืนสุดท้ายของประเทศไทย" ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งพรรณพืชและพันธุ์สัตว์ สำหรับป่าลานที่อุทยานฯทับลาน สภาพจะเป็นป่าโปร่ง มีลานขึ้นอย่างหนาแน่นทั่วพื้นที่ ป่าลานนี้มีเนื้อที่ 200 ไร่ บริเวณที่ราบบนเขาละมั่ง ด้วยธรรมชาติของต้นลาน เมื่อลานต้นแม่ออกดอกแล้ว จะทิ้งตัวตายไป และทิ้งเมล็ดลานที่จะเติบโตเป็นลานรุ่นต่อไป
       
       แต่ด้วยข้อจำกัดของการล่วงหล่นและการกระจายลูกลานจะกระจุกตัวอยู่ เพียงบริเวณต้นแม่ที่ตายไป การขยายวงกว้างให้เมล็ดลานได้กระจายโดยธรรมชาติไปสู่ผืนป่าจึงมีปริมาณน้อย ต้นลานจึงมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง รวมถึงการบุกรุกตัดต้นและใบลานของเขตชุมชนรอบ ๆ พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งป่าลานในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทับลานนับเป็นทรัพยากรด้านท่องเที่ยว ที่สำคัญเนื่องจากเป็นพื้นที่สำหรับศึกษาระบบนิเวศวิทยาได้เป็นอย่างดียิ่ง รวมทั้งสร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบอุทยานแห่งชาติทับลานอีกด้วย

ใบลานที่กำลังได้รับ การคลี่ผึ่งแดดเพื่อรอทำการแปรรูป
       ซึ่งบริเวณป่าลานและป่ารุ่นจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่ สามารถปรับตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้แก่ กระรอก หนู กระต่ายป่า พังพอน เก้ง กวางป่า เหยี่ยวขาว นกคุ้มอกลาย กิ้งก่าหัวแดง ตุ๊กแกบ้าน กิ้งก่าหางยาว อึ่งอ่างบ้าน คางคก เป็นต้น สัตว์ต่างๆ เหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารทางธรรมชาติเป็นอย่างมาก การสูญเสียต้นลานจากการตายโดยธรรมชาติหรือการบุกรุกโดยมนุษย์ย่อมส่งผลกระทบ ต่อระบบนิเวศอย่างแน่นอน
       
       คืนลาน สู่ป่า
       
       ด้วยเหตุนี้อุทยานแห่งชาติทับลาน จึงต้องจัดกิจกรรมเพื่อการรณรงค์ให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างรู้ค่า รักษาแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงการอนุรักษ์พันธุ์ลานที่เกรงว่าจะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย เนื่องจากในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน จะเป็นช่วงที่ ต้นลานออกดอกเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็หมายความว่าต้นลานเหล่านั้นใกล้จะถึงวาระสุดท้ายของวงจรชีวิต
       
       ประมวล มาหาร หัวหน้าฝ่ายวิชาการอุทยานแห่งชาติทับ ลาน เล่าเรื่องลานป่าให้ฟังว่า ในประเทศไทยเหลือป่าลานหลายจังหวัด ทั้งที่ จ.ลพบุรี จ.ชัยภูมิ ก็มี แต่ว่าในจุดที่เคยมี ไม่ได้เป็นป่าที่สมบูรณ์เหมือนในจุดนี้ เป็นลานหัวไร่ ปลายนา ในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน

ลูกลานเหล่านี้คือ ความหวังและลมหายใจของป่าลาน
       ต่างจากที่ทับลานแต่ลานที่เป็นผืนใหญ่และอุดมสมบูรณ์ที่สุดที่ทับลาน มีคือลานป่า ระบบนิเวศน์ของลานชอบดินเหนียวทรายระบายน้ำได้ดี เป็นป่าดิบแล้ง แต่โครงสร้างของป่าลานก็มีต้นไม้อื่นขึ้นด้วย ลานสามารถยึดพื้นดินตามไหล่เขาเพราะรากที่แผ่กระจายออกไป อุ้มน้ำได้ดี
       
       "ลานมีวงจรชีวิต เมื่อไหร่เห็นลานออกดอกแสดงว่าระสุดท้ายของลานมาถึงแล้ว ในช่วงชีวิตของลานจะมีการติดดอกออกผลได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นต่อหนึ่งต้น แต่อายุในช่วงที่จะออกดอกได้นั้นก็ต้องอยู่ในช่วงอายุ 60-80ปี เห็นต้นไหนออกดอกปีหน้าก็ยืนต้นตายเราก็ปล่อยให้ผุพังไปตามธรรมชาติ ต้นลานจะออกดอกเป็นช่อใหญ่คล้ายรูปปิรามิด ตรงส่วนยอดของลำต้น ช่อดอกหนึ่งจะมีดอกเป็นจำนวนล้าน ๆ ดอก สีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม นับตั้งแต่เริ่มออกช่อดอกและบานกลายเป็น ผลกินเวลาประมาณ 1 ปีขึ้นไป"ประมวล เล่าเรื่องวงจรชีวิตของลานให้ฟัง
       
       เขายังกล่าวต่อไปอีกว่า ป่าลานที่เหลืออยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ห้ามใครบุกรุก จึงเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย อีกส่วนหนึ่งคือต้นลานที่ออกต้นในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่ชาวบ้านก็ยังเห็นความสำคัญน้อยไม่สนใจ พอลานต้นหนึ่งออกลูกก็จะมีหลายหมื่นหลายพันลูก
       
       ทางอุทยานฯสงสารลูกลานเลยได้ประชุมกันตั้งแต่ปีพ.ศ.2548 ว่าอยากช่วยเหลือลูกลาน เลยขอชาวบ้านแล้วนำลูกลานเหล่านั้นมาปลูกในพื้นที่ของอุทยานฯเป็นจุดเริ่ม ต้นของ "โครงการคืนลาน สู่ป่า" โดยให้ชุมชนเห็นความสำคัญ ให้ชาวบ้านรู้ว่าป่าลานมีความสำคัญ เหลือน้อย ไม่ใช่ว่าเคยชิน ตื่นมาก็เห็นต้นลานอยู่หน้าบ้าน แต่ต้องให้รู้ว่าป่าลานที่มีอยู่ เมื่อเทียบกับพื้นที่ทั่วไปแล้วมันเหลือน้อย เราใช้ โครงการ คืนลาน สู่ป่า ประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนเห็นว่าลานเป็นไม้สำคัญ เป็นไม้ที่โดดเด่นของผืนป่ามรดกโลกอีกชนิดหนึ่ง มีสมบูรณ์เฉพาะ ต.บุพราหมณ์ เพื่อให้ชาวบ้านรู้สึกภูมิใจกับบ้านเกิดของเขาด้วย

ยิงลูกลานด้วยหนังสติ๊กอีกหนึ่งวิธีปลูกลาน
       "ป่าลานที่นี่น่าจะเป็นป่าลานผืนสุดท้ายที่จะสมบูรณ์อยู่ และเป็นแห่งเดียวของเอเชียเสียด้วยซ้ำ"ประมวล กล่าวถึงถิ่นพักพิงอันน้อยนิดที่ยังสมบูรณ์ของป่าลาน
       
       ผลสำเร็จของการกระตุ้นให้คนในชุมชนหันมาสนใจลาน คือ มีชุมชนบางส่วนที่ได้ใช้ประโยชน์จากใบลาน โครงการคืนลานสู่ป่าสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนพอควร จากที่ครั้งแรกก็จะมีเสียงแว่วเข้ามาว่า จะทำไปทำไม มีในที่เขาเองยังต้องตัดทิ้งเสียด้วยซ้ำไป แต่ขณะนี้คนบุพราหมณ์มองว่า อนาคตเราพยายามจะปลูกต้นลานให้ริมฝั่งสองข้างทางถนนเป็นตำบลเดียวในไทย
       
       ด้านเรื่องของประโยชน์ใช้สอยที่สร้างมูลค่าให้แก่ลานและชุมชน ประมวลมองว่า การแปรรูปจากลานในปัจจุบันนิยมใช้ใบอ่อนของลานเพียงอย่างเดียว แม้แต่การนำลูกลานอ่อนมาทำขนมหวานก็ยังมีทำกินเฉพาะในครัวเรือน ทำให้การทำลูกลานเป็นของหวานหากินยาก ทำยากเพราะ เปลือกที่ติดเม็ดต้องเอาออกให้หมดไม่ฉะนั้นอาจจะท้องเสีย แต่สำหรับนักพิทักษ์แล้วเขากลับมองว่า เป็นการดีเพราะเมื่อไหร่ที่ชุมชนเอาลูกลานมากินมากๆ ป่าลานก็หมด ต้นแม่ก็ตายเมื่อนั้นลานคงสูญพันธุ์เร็วขึ้น
       
       ลานแปรรูป
       
       เพราะเกิดและโตในชุมชนที่แวดล้อมด้วยต้นลาน การนำลานมาเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป ก็ดูจะเป็นการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ได้เป็นอย่างมาก สายหยุด ทองมา หัวหน้ากลุ่มจักสานลานทอง หมู่ 1 ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี เป็นคนหนึ่งที่คลุกคลีกับงานจักสานลานมานาน ได้เล่าให้ฟังว่า ลานที่เอามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในชุมชนเป็นลานหัวไร่ปลายนา(ลานที่เกิดขึ้น เองตามธรรมชาติในท้องไร่ท้องนาของชาวบ้าน)โดยมีเงื่อนไขอยู่ว่า ใบลานที่จะใช้ได้ต้องเป็นลานที่มีอายุตั้งแต่18 ปีขึ้นไป การดูอายุลานต้องใช้ความชำนาญสมาชิกในหมู่บ้านจะมาอยู่ 3-4 คนที่ดูเป็น
       
       "ใบลานจักสานได้ดี เพราะเหนียวทน ไม่แตก ไม่หัก ย้อมสีติดง่าย แต่งสีสันได้มากกว่าใบไม้อื่น เราทำกันมา20กว่าปี จุดเริ่มต้นเพราะชุมชนมีลานเยอะ เป็นการเพิ่มรายได้ คนตกงาน คนพิการในชุมชนก็ยังทำได้ ลานเรามีในชุมชนพอไม่ต้องไปเอาจากในเขตอุทยาน เพราะว่ากรีดมายอดหนึ่งก็ทำจักสานได้เยอะ เราเริ่มเรียนรู้เรื่องจักสานลานกันตั้งแต่รุ่นแม่ เริ่มแรกมีกองอุตสาหกรรมในครัวเรือนมาสอน ตอนนี้มีสมาชิก 60 กว่าคน ทำกันทั้งหมูบ้าน สมาชิกก็มีการปลูกลานเพิ่ม เด็กในชุมชนก็มีการจักสานลานอยู่ทำเป็นโดยสายเลือด"หัวหน้ากลุ่มจักสานเล่า

ลูกลานนับพันที่ติด ผลบนต้นแม่
       สายหยุดเล่าถึงการจักสานลานต่อไปว่า การจักสานผลิตภัณฑ์จากใบลานนั้นจะเริ่มจากการตัดยอดต้นลาน ซึ่งยอดของต้นลานจะมี 2 ยอด เรียกว่า ยอดต่อยอด โดยยอดที่สูงสุดจะถูกตัดมาใช้งานเพื่อปล่อยให้อีกยอดเติบโตแทนที่ โดยหนึ่งยอดสามารถสานหมวกได้ประมาณ 6-7 ใบ
       
       เมื่อได้ยอดมาลานมาแล้วก็จะเริ่มตัดยอดลานมาผ่าเป็นส่วนๆ นำมาฉีกแล้วตากให้แห้งถึงสามวัน แล้วจึงกรีดเพื่อให้เส้นลานตามขนาดที่ต้องการ จากนั้นก็จะนำไปฟอกขาวทิ้งไว้ประมาณ 1-2 คืน หากต้องการเส้นลานที่มีสีสันก็จะนำไปย้อมสีก่อนจะนำไปผึ่งแดด แล้วจึงจะสามารถนำมาสานขึ้นรูปได้ หลังจากสานเสร็จแล้วจึงเก็บริมตกแต่ง ทาน้ำยาเคลือบเงาทิ้งไว้ให้แห้งก็ถือเสร็จสิ้น
       
       "สินค้าที่เราทำโดยเฉพาะกระเป๋าและหมวกจากใบลาน เป็นที่รู้จักของคนทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกเหนือจากนี้ก็มีทำผลิตภัณฑ์อย่างอื่นด้วยทั้ง หมวกสตรี หมวกคาวบอย กระเป๋า กล่องทิชชู ซองใส่นามบัตร กล่องอเนกประสงค์ มีให้เลือกหลายสีสันหลายรูปแบบ มีให้เลือกตั้งแต่ราคาหลักร้อยไปจนถึงหลักพันแล้วแต่ความยากง่ายในการสานและ คุณภาพของเส้นใบลาน"
       
       สายหยุดเล่าถึงการนำใบลานจากธรรมชาติมาแปรรูป พร้อมทั้งกล่าวยืนยันเป็นการทิ้งท้ายว่า ถึงแม้ที่อุทยานแห่งชาติทับลานและต.บุพราหมณ์ ถูกมองว่าเป็นป่าลานผืนสุดท้ายของประเทศไทยแต่เธอและคนบุพราหมณ์จะช่วยกัน รักษาป่าผืนนี้ไว้ให้คู่ลูกหลานอย่างสุดความสามารถ


Tags : ทับลาน บ้านหลังสุดท้าย ป่าลาน

view