สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คำชนคำกรณีปราสาทเขาพระวิหาร ใครพูด ใครพลิ้ว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

การเจรจาระหว่าง เรื่องปราสาทเขาพระวิหารยังคงยืดเยื้อต่อไป ส่วนภาคประชาชนไทยก็กดดันรัฐบาลหนัก ทุกอย่างมีปม ขอเสนอให้อ่านถ้อยแถลงที่เป็นปม!
แม้วาระพิจารณาแผนบริหารจัดการ พื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาเสนอ จะถูกเลื่อนไปพิจารณาปีหน้า แต่ปัญหาก็ไม่จบ ขอเรียกโดยรวมว่า เครือข่ายคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร เรียกร้องต่อรัฐบาลให้พิจารณา 4 ข้อ และตอบคำถาม

1) ขอให้รัฐบาลไทยเพิกถอนสัญญา ข้อตกลง และพันธกรณีทั้งหมดที่ไทยเสียเปรียบและเสียหายภายใน 7 วัน 2) ให้รัฐบาลมีมาตรการผลักดันประชาชนและทหารกัมพูชาออกจากเขตแดนไทย 3) รัฐบาลต้องรีบทำตามพินัยกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่สงวนสิทธิต่อคำพิพากษาโลก เพื่อทำให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของไทย โดยยึดหลักสนธิสัญญาโตเกียว พ.ศ.2484 และ 4) ไม่ขึ้นทะเบียนร่วมแบบผสมและข้ามพรมแดน(Trans boundary)  กับกัมพูชา จนกว่าทำหลักเขตแดนตามหลักสันปันน้ำให้แล้วเสร็จก่อน

โดยเฉพาะบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับ กัมพูชาว่าด้วยการจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ.2543 (MOU 2543) ลงนามโดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รมช.ต่างประเทศ กับนายวาร์ คิม ฮง ผู้รับผิดชอบกิจการชายแดนกัมพูชา ซึ่ง แนบท้าย *แผนที่ 1: 200000 และแผนที่ผนวกรวม 11 ฉบับ ซึ่งนำไปสู่จัดตั้งคณะกรรมการปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชา ให้เป็นไปตามแผนที่ดังกล่าว และเชื่อว่าไทยจะเสียเนื้อที่ 3 พันไร่ สุ่มเสี่ยงจะเสียอีกตามแนว 7 จังหวัดจากอุบลราชธานีถึงตราด ประมาณ 1.8 ล้านไร่ และจะสูญเสียพื้นที่ทางทะเลฝั่งอ่าวไทยอีก 1 ใน 3
อีกทั้งยกปม ร้อน ๆ กรณี นายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประกาศชัยชนะเหนือไทย เพราะนายสุวิทย์ คุณกิตติ ได้ลงนามรับเอกสาร WHC-10/34.COM/7B.Add.3. จำนวน 5 ข้อ อย่างไรก็ตาม พบว่าเครือข่ายคัดค้านฯ แปลความหมายต่างไปจากรัฐบาล ในที่นี้จะอ้างฉบับรัฐบาลแปล เรียกว่าข้อตกลงประนีประนอม ลงนามรับรอง 3 ฝ่ายคือผู้แทนไทย ผู้แทนกัมพูชา และประธานที่ประชุม

1) ได้รับเอกสาร WHC-10/34.COM/7B.Add.3.  2) อ้างถึงข้อตัดสินใจ 31 COM 8B.24, 32 COM 8B.102 และ 33 COM 7B.65 ซึ่งผ่านการรับรองของที่ประชุมครั้งที่ 31(ไครซ์เชิร์ส,2550) ครั้งที่ 32(ควิเบก,2551) และครั้งที่ 33(เซบีย่า, 2553)

3) รับทราบว่าศูนย์มรดกโลกมีเอกสารที่เสนอโดยรัฐภาคี 4) รับทราบด้วยความยินดีต่อขั้นตอนที่รัฐภาคีจะจัดตั้งคณะกรรมการประสานงาน ระหว่างประเทศ (International Coordinating Committee-ICC) เพื่อการคุ้มครองปราสาทพระวิหารอย่างยั่งยืน และ 5) ตัดสินใจจะพิจารณาเอกสารซึ่งเสนอโดยรัฐภาคีในการประชุมครั้งที่ 35 ในปี 2554

สอดคล้องกับ นางซูซาน วิลเลียมส์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสาร ยูเนสโก ประจำกรุงเทพฯ แจ้งต่อสื่อมวลชนว่า นายชูลา เฟร์ไรรา ประธานคณะกรรมการมรดกโลก และรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมบราซิล ยื่นมติโดยได้รับการสนับสนุนจากผู้แทนไทยและกัมพูชา รับขั้นตอนของประเทศกัมพูชาในการจัดตั้งไอซีซี และรับทราบที่ศูนย์มรดกโลกได้รับเอกสารกัมพูชา ซึ่งจะพิจารณาในครั้งที่ 35 พ.ศ.2554

ท่าที ความเห็นฝ่ายรัฐบาล / หน่วยงานรัฐ

ย้อนไปเมื่อ 24 มิ.ย.2551 อ้างจากเว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ เผยแพร่คำอภิปรายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านขณะนั้น ในญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี(สมัคร สุนทรเวช) และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จะยกเฉพาะประเด็นปราสาทพระวิหารในสาระสำคัญดังนี้

...เมื่อรัฐบาลไทยตั้งข้อสงวน คำพิพากษา และประท้วงไปชัดเจน ท่านรัฐมนตรีก็มาอ้างในเรื่องของธรรมนูญของศาลโลกครับ บอกว่าจะสงวนไว้อย่างไรก็ตาม ข้อ 61 ใช่ไหมครับ ข้อ 5 เขียนเอาไว้ การขอทบทวนคำพิพากษานั้น จะต้องทำภายใน 10 ปีนับจากวันที่มีคำพิพากษา ถูกต้องครับไม่มีใครปฏิเสธ แต่ข้อ 60 พูดถึงการสงสัยเกี่ยวกับความหมายเกี่ยวกับขอบเขตของคำพิพากษานั้น อันนี้ไม่มีอายุความ...ผมนึกไม่ถึงว่าคนที่จะหยิบยกเรื่องอายุความ 10 ปีนั้นจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย ถ้ามาจากทนายของรัฐบาลกัมพูชา ผมจะเชื่อ เพราะคนเป็นรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทยนั้น ต้องรักษาผลประโยชน์ของคนไทย หยิบยกเฉพาะข้อกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับไทยขึ้นมา
...แต่แนวที่ให้ไปตรวจสอบว่าทั้งหมดนี้อยู่ในแนวเขตที่ กำหนดในมติ ครม.2505 หรือไม่ ซึ่งกระผมบอกแล้วว่าไม่มีใครยึดถือเป็นเขตแดน เรายึดถือ"หลักสันปันน้ำ" กับให้ "ตัวปราสาท" เท่านั้น
... แถลงการณ์นี้...ลงเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน เซ็นโดยรองนายกฯของกัมพูชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และผู้แทนของยูเนสโก คนหนึ่งเซ็นที่พนมเปญ แต่อีกคนหนึ่งเซ็นที่กรุงเทพฯ และอีกคนเซ็นที่ปารีส..ขอให้ส่งเป็นไฟล์ทางคอมพิวเตอร์เพื่อให้ได้เซ็น แล้วก็ใช้ชื่อว่าแถลงการณ์ร่วม...เจตนา เพื่อจะไม่ให้เอาเข้าสภาฯ ท่านบอกว่าเป็นแถลงการณ์ร่วมไม่ใช่สัญญา ผมบอกว่าถ้าไม่ใช่สัญญาก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม ถ้าอยากรู้ว่าอะไรเป็นสัญญาก็ต้องไปดูอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายและ สนธิสัญญา องค์ประกอบของสัญญานี้มีง่ายๆ ข้อตกลงระหว่างประเทศของคนที่มีอำนาจแทนรัฐเป็นลายลักษ์อักษร ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร...ผมถามว่าทิศเหนือ และทิศตะวันตก ของตัวปราสาท ท่านรัฐมนตรีว่าเป็นเขตไทยหรือไม่ ถ้าเป็นเขตไทยการที่เขายังไม่กำหนดเขตตรงนี้ ทำไมต้องเป็นสปิริตของการประนีประนอม ก็เพราะว่าเป็นของเรา จำได้หรือไม่ เวลามีบันทึกมาถึงไทย เขาไม่ได้เรียกแม้แต่ว่าทับซ้อน แต่เขายืนยันว่าเป็นของเขา

สรุปคือผู้นำฝ่ายค้าน(ขณะนั้น) เข้าใจประเด็นสอดคล้องกับฝ่ายเครือข่ายคัดค้านฯ ขณะนี้

จนมาถึง 27 ก.ค.53 ในฐานะนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า MOU 2543 เป็นประโยชน์ เพราะเป็นการยอมรับว่าพื้นที่นี้ยังมีปัญหา ทำให้กัมพูชาไม่อาจถือตามแผนที่ของกัมพูชาได้ และไทยยืนยันต้องถือตาม"สนธิสัญญา"

29 ก.ค.53 กระทรวงการต่างประเทศ เชิญเอกอัครราชทูตประเทศภาคีคกก.มรดกโลก 17 ชาติรวมถึงที่ไม่มีสถานทูตในไทย 2 ชาติรับฟังจุดยืนคัดค้านแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบประสาทพระวิหารของ กัมพูชา

31 ก.ค.53 นายชวน หลีกภัย กล่าวว่า "ขอยืนยันในยุคของผมไม่ได้ทำให้ประเทศเกิดการเสียเปรียบ เพราะไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวจะต้องยอมหรือไม่ยอมอย่างไร"

2 ส.ค.53 นายสุวิทย์ คุณกิตติ แถลงว่าเป็นความสำเร็จของคนไทยทุกคนที่เลื่อนการพิจารณาออกไป ต่อคำถามกรณี นายสก อาน ประกาศว่ากัมพูชาชนะนั้น นายสุวิทย์กล่าวว่า กัมพูชาได้ยื่นให้กับเจ้าหน้าที่รับไว้เท่านั้น ยังไม่มีการแจกจ่ายให้กับประเทศภาคีสมาชิก...หากประชุมครั้งหน้ามีปัญหาอีก ก็จะคัดค้านต่อไป

2 ส.ค.53 นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ชี้แจงสื่อมวลชน(จากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ) ในข้อ 6.เกี่ยวกับสถานภาพเอ็มโอยู 2543 ตามกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นความตกลงที่ทำขึ้นเพื่อการเจรจา ดังนั้น จึงมิใช่ความตกลงจะต้องเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบก่อนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 224 และก่อนจะจัดทำความตกลงดังกล่าวอีกฉบับ รัฐบาลต้องปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 190 วรรคสอง

3 ส.ค.53 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ยืนยันเอ็มโอยู 2543 ทำให้รัฐบาลไทยสามารถรักษาผลประโยชน์ได้ เพราะเป็นกรอบในการสำรวจและปักปันเขตแดน...ไม่ใช่แผนที่ 1 ต่อ 2 แสน เพียงฉบับเดียว ต้องเอาแผนที่ฉบับอื่นมาประกอบเทียบกันจะใช้อันไหน และต้องเอามาเทียบกับ  สนธิสัญญาระหว่างไทย-ฝรั่งเศสด้วย แต่ถ้าแผนที่ขัดกับสนธิสัญญา จะต้องยึดสนธิสัญญา
3 ส.ค.53 พลโทวีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ แม่ทัพภาคที่ 2 ระบุกัมพูชาปรับปรุงเส้นทางไปปราสาทเขาพระวิหาร ผิดข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่ก่อสร้างใดๆ ในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งยังไม่ตกลงเรื่องเส้นเขตแดนที่แน่ชัด ซึ่งได้ทำหนังสือประท้วงคณะกรรมการร่วมชายแดน 2 ประเทศไปหลายครั้ง
แถลง ของฝ่ายกัมพูชา

4 ส.ค.53 มติชนรายวัน เสนอรายละเอียดเอกสารเผยแพร่ของสำนักงานเพื่อการตอบโต้และชี้แจงข่าวเร่ง ด่วน (พีคิวอาร์) สำนักคณะรัฐมนตรีกัมพูชา 2 ฉบับ ว่าด้วยผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่บราซิล ต่อสื่อมวลชนในกัมพูชา เมื่อ 2 ส.ค. สาระสำคัญคือ - แผนบริหารจัดการฯ แล้วเสร็จสมบูรณ์ปี 2552 -กัมพูชามีอำนาจเต็มจะเดินหน้าต่อไปบนพื้นฐานของแผนบริหารจัดการ และได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากศูนย์มรดกโลก, องค์กรที่ปรึกษาทั้งหลาย และตัวคณะกรรมการมรดกโลกเองด้วย

-การคัดค้านของการไทยไม่ยังผลใดๆ เพราะไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ต่อรายงานของศูนย์มรดกโลกอย่างมีสารัตถะ ไม่มีข้อโต้แย้งอย่างมีสารัตถะต่อเอกสารทั้ง 2 ชิ้นของกัมพูชา...ไม่มีการหารือใดๆ ในกรุงบราซิเลีย เรื่องการขึ้นทะเบียนร่วมหรือการบริหารจัดการร่วม
-ผู้แทนไทยข้อโต้แย้ง เดียวคือรายงานดังกล่าวและเอกสารอื่นๆ ถูกส่งมอบให้ล่าช้า อย่างไรก็ดี หากดูข้อมูลจะเห็นว่าถูกส่งมอบให้ศูนย์มรดกโลกตั้งแต่มกราคมปีนี้ ก่อนกำหนดที่ระบุไว้(ล่วงหน้า 6 เดือน) -ฝ่ายไทยรับรายงานของศูนย์มรดกโลกไปแล้ว 3 วันก็ไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ
ความ เห็นนักวิชาการ

17 ก.ค.53 พลเรือเอก ถนอม เจริญลาภ อดีตเจ้ากรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เจ้าหน้าที่เทคนิคด้านเขตแดนทางทะเล (พ.ศ.2515-ปัจจุบัน) กล่าวว่า “แผนที่ 1 ต่อ 2 แสน มีปัญหาในทางเทคนิค คือล้าสมัยเกินกว่าจะมาถ่ายทอดในแผนที่สมัยใหม่ได้” (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  http://bit.ly/aQ51LJ )

2 ส.ค.53 (มติชนออนไลน์) นายศรีศักดิ์ วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กล่าวว่า...ถ้ารัฐยังยืนยันใช้เอ็มโอยู 1 ต่อ 200,000 ถึงว่าจบคราวหน้าจะพังและไปกระเทือนคนข้างล่าง...คนรอบๆ เขาพระวิหารจะเดือดร้อนอย่างไร...ถ้ายังโง่ใช้เอ็มโอยูอยู่ละก็ จะทำให้ประเทศเสียหายอีกแน่นอน

3 ส.ค.53 (มติชนออนไลน์) นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ ระบุไว้สรุปได้ว่า หากยกเลิกเอ็มโอยู 2543 ความพยายามที่ทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันเพื่อยุติ-ป้องกันความขัดแย้งเหนือดิน แดนในทศวรรษที่ผ่านมาย่อมหยุดชะงักลงทันที…ในแง่นี้เอ็มโอยู 2543 จึงประกอบด้วยเอกสารที่ถ่วงดุลอำนาจในการต่อรองและผลประโยชน์ของคู่เจรจา ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติในการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ

3 ส.ค.53 นายอดุล วิเชียรเจริญ อดีตประธานคกก.แห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกของไทย บอกว่าไทยไม่ชนะกัมพูชา และเสนอให้ปฏิเสธการเข้าร่วมคณะกรรมการใดๆ ที่กัมพูชาจะเสนอมา เพราะแต่ละชุดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ล้วนสนับสนุนกัมพูชา

4 ส.ค.53 นายอัษฎางค์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำยูเอ็น ที่ปรึกษา รมว.ต่างประเทศ พูดในรายการ“ตอบโจทย์” ทีวีไทย ข้อตกลง 5 ข้อที่นายสุวิทย์ลงนาม ไทยน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าเสียและเป็นเพียงข้อตกลงรับไว้เพื่อดำเนินการต่อ ไป ซึ่งผลจากการคัดค้านทำให้ไม่มีการแจกแผนพัฒนาฯ ของกัมพูชาในที่ประชุม...ส่วนประเด็นตั้งคกก.7 ชาตินั้นประเทศไทยยืนยันแล้วไม่เข้าร่วม ดังนั้นกัมพูชาจะตั้งอะไรก็เป็นเรื่องของเขา อย่างไรก็ตาม "อย่าให้เอกสารของเขมรที่จะละเมิดอธิปไตยของไทยผ่านหูผ่านตาไปได้"

พรรคการเมืองฝ่ายค้าน

ย้อนไป 14 มิ.ย.52 นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ออกแถลงการณ์กดดันพอสรุปได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาบริหารประเทศ และหลังจากไปเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ตามสิ่งที่เคยพูดไว้ โดยเฉพาะประเด็น
        1. เคยอภิปรายว่าเส้นเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชายังใช้สันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดน ทั้งๆ ที่กองทัพ กรมแผนที่ทหาร และกระทรวงการต่างประเทศ ยึดถือเส้นเขตแดนที่ขีดตามแผนที่ชุด L7017 (ใช้สันปันน้ำเหมือนกันแต่ยกเว้นปริเวณปราสาทพระวิหารที่ขีดเส้นและยกให้ กัมพูชาตามคำตัดสินศาลโลก)
        2. ครม.รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ปี 2541 เคยอนุมัติพระราชกฤษฎีกาที่ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เมื่อปี 2541 และจัดทำแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาในแผนที่ดังกล่าว(L7017) นอกจากนั้นยังระบุใต้แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาว่า เส้นเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหาร คือ "เขตเส้นพรมแดนตามกฎหมาย ระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา" ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งอภิปรายในสภาอย่างสิ้นเชิง...ถ้าคดีขึ้นศาลโลกไทยอาจจะ ถูกกฏหมายปิดปากอีกครั้ง เพราะไปออกกฏหมายภายในเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งทำตามแผนที่ชุด L7017 ไปแล้ว

ทางออก คลุมเครือ !

เรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศต้องละเอียดอ่อน การยอมรับง่ายดายอาจส่งผลเสียหายแก้ไขยากในภายภาคหน้า ซึ่งท่าทีพฤติการณ์ของกัมพูชาเป็นเชิงรุกตลอดทั้งกำลังคนและเอกสารต่างๆ ขณะที่ฝ่ายไทยหลายรัฐบาล ต่างตามต้อยๆ ตามแก้ โยกโย้ ยืดเยื้อ และปกปิดในสาระสำคัญต่อคนในประเทศ

แทนที่รัฐบาลจะแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขข้อพิพาทดินแดน แบบหลายมิติ พร้อมยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ แต่รัฐบาลเลือกมีมติครม.ตั้งคณะกรรมการฯ ชุดเตรียมการ 1 ปีไปประชุมหนหน้ามีนายสุวิทย์เป็นประธาน กรรมการเป็นหน่วยงานรัฐทั้งสิ้น ซึ่งฝ่ายคัดค้านย่อมเล็งว่าคงไม่มีอะไรไปสู้ ไปต่อรองกัมพูชาได้

จึงไม่แปลก จึงถูกมองว่า รัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์กำลังแก้ปัญหาตัวเองเป็นด้านหลัก อาศัยความคลุมเครือ เพื่อจะแก้ปัญหาคดีพรรคจะถูกยุบ ป้องกันสกัดขบวนการแดงใต้ดินโจมตี และผ่อนปรนความรู้สึกร้าวฉานในใจคน

ยิ่งเฉพาะหน้า เสียงแค่ปริ่มน้ำ...จะได้มือไหนยกโหวตกฎหมายงบประมาณ ยังจะเสียท่าเลือกตั้ง ส.ข. ส.ก.(29 ส.ค.) ซึ่งคนกรุงหลายระดับจะถูกปลุกกระแสไม่เอา ปชป. ก็ด้วยเรื่องปราสาทเขาพระวิหารนี่เอง 

ความคลุมเครือ ยืดยื้อเหมือนซื้อเวลานี่เอง เครือข่ายคัดค้านฯ จึงถือเป็นเงื่อนไขจัดชุมนุมกดดันในวันเสาร์ที่ 7 ส.ค.นี้ ขึ้นอยู่ว่านายกฯอภิสิทธิ์จะหาทางออกอย่างไร จึงสยบม็อบข้างเคียงได้

*หมายเหตุ

 1. แผนที่ 1 : 200000 เกิดจากพิธีสารอินโดจีน- สยาม ค.ศ.1904(พ.ศ.2447) ตกลงจะทำแผนที่กัน โดยการเดินสำรวจของฝรั่งเศสฝ่ายเดียว และมาเป็นแผนที่ในค.ศ.1907 ซึ่งถกเถียงต่อมาว่า สยามไม่ลงนามรับรองแผนที่นี้ แต่ก็ไม่เคยโต้แย้ง
2. แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระ วิหาร(22 พ.ค.2551) ลงนามนายนพดล ปัทมะ กับนายสก อัน ที่กรุงปารีส และมติครม.17 มิ.ย.2551 สนับสนุนแถลงการณ์ฯ ต่อมา ศาลปกครองวินิฉัย(27 มิ.ย.2551) มีคำสั่งห้ามมิให้รมว.ต่างประเทศ และครม.ใช้ประโยชน์จากแถลงการณ์ร่วมฯ และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย(8 ก.ค.2551) ว่าแถลงการณ์ร่วมฯเป็นหนังสือสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 190
3. สนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ค.ศ.904(13 ก.พ.2447) สาระสำคัญคือพรมแดนสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ใช้ "สันปันน้ำ" / อนุสัญญากรุงโตเกียว 9 พ.ค.2484 /อนุสัญญากรุงวอชิงตัน 17 พ.ย.2489

Tags : คำชนคำ กรณีปราสาทเขาพระวิหาร ใครพูด ใครพลิ้ว

view