สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สุวิทย์เล่าเบื้องหลังนาทีชิงเหลี่ยมเขมร

จาก โพสต์ทูเดย์

วาระปราสาทพระวิหารที่เคยถูกหยิบยกเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ ประเทศบราซิล ยังถูกนำมาเป็นที่ถกเถียงกันอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาต่างก็ประกาศชัยชนะหลังการประชุมมรดกโลก จนอาจจะเรียกว่า “วิน-วิน” ต่างฝ่ายต่างพูดเข้าข้างตัวเองว่าชนะ แต่เป็นการชนะแบบทางใครทางมัน ก็ไม่น่าจะผิดนัก

สุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยที่ได้เดินทางไปร่วมประชุม เปิดเผยกับ “โพสต์ทูเดย์” ว่า ผลจากการร่วมประชุมบนเวทีโลกนั้น เกิดอะไรขึ้นกันแน่ เบื้องลึกเบื้องหลังเป็นอย่างไร และชัยชนะในการเจรจาครั้งนี้ ควรจะตกเป็นของใคร?

“ก่อนอื่นหากเรียงลำดับสิ่งที่เราไปดำเนินการตั้งแต่เดินทางไปถึง ต้องเริ่มจากก่อนร่วมประชุม ผมและคณะผู้แทนระดับสูง ทั้งจากกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงจาก ทส. ได้เข้าหารือกับผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ทำหนังสือเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและยื่นหนังสือคัดค้านให้กับ รมว.วัฒนธรรมของบราซิล ซึ่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก รวมถึงกรรมการมรดกโลก 19 ประเทศ

“เราย้ำให้เห็นว่ากระบวนการขึ้นทะเบียนไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะเรื่องที่ศูนย์มรดกโลก ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการมรดกโลก ไม่ได้ส่งเอกสารประกอบการพิจารณาให้กับคณะกรรมการตามระเบียบที่กำหนดไว้ว่า ต้องส่งล่วงหน้าก่อนการประชุม 6 สัปดาห์ ทำให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยต้องยื่นหนังสือคัดค้าน”

สุวิทย์ เล่าว่า วาระปราสาทพระวิหาร ซึ่งถูกบรรจุให้ที่ประชุมพิจารณาในวันที่ 28 ก.ค.นั้น ศูนย์มรดกโลกไม่ได้แจกเอกสารการประชุมฉบับเต็ม ซึ่งกัมพูชาเคยส่งให้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. แต่แจกเฉพาะเอกสารสรุปย่อจากรายงานฉบับดังกล่าว ตอนบ่ายโมง ของวันที่ 27 ก.ค.

เนื้อหาของเอกสารที่แจก ประกอบด้วย แผนบริหารจัดการพื้นที่ (Management Plan) และแผนผังแนวกันชน (Buffer Zone) และร่างข้อมติจำนวน 7 ข้อ โดยในร่างนี้มีเนื้อหาระบุถึงการยอมรับแผนบริหารจัดการและรายละเอียดพื้นที่ กันชนโดยรอบ ซึ่งจะทำให้การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารสมบูรณ์ ขณะที่ระบุรายละเอียดชัดเจนเช่นกันว่า แผนพัฒนาพื้นที่นั้นมีการรุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทย

“เมื่อเห็นว่าเป็นอย่างนั้น เราก็ปฏิเสธที่จะยอมรับทั้งเอกสารและร่างข้อมตินั้นในทันที เพราะนอกจากมีความไม่ชอบมาพากลที่ชัดเจน ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์แล้ว ยังชัดว่ารุกล้ำเข้ามาในเขตแดนไทยอีกด้วย เราจึงเตรียมขอมติคณะรัฐมนตรีวอล์กเอาต์และถอนตัวจากการเป็นภาคีสมาชิก เรียกว่าตัดสินใจเล่นแรงเลย” เขากล่าว

สุวิทย์ เล่าว่า บรรยากาศในช่วงนั้นตึงเครียดอย่างยิ่ง โดยต่อมามีการประชุมร่วมกันระหว่างประธานการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งมีนายฆวาว ลูอิซ ซิลวา เฟอร์ไรรา รมว.วัฒนธรรมบราซิลเป็นประธาน การหารือซึ่งใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ฝ่ายไทยได้ข้อตกลงเป็นร่างมติ (Draft Decision) แต่เมื่อบราซิลนำร่างมตินี้ไปหารือกับทางกัมพูชาในลักษณะเดียวกับที่ได้ หารือกับไทย เพื่อให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นร่วมกัน ปรากฏว่าทางฝ่ายกัมพูชาไม่สามารถรับข้อเสนอได้ แต่การหารือก็ยังดำเนินต่อไป ตลอดเวลามีการโทรศัพท์รายงานการหารือให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ทราบความเคลื่อนไหวโดยตลอด ขณะที่ฝ่ายกัมพูชาก็เดินเกมรุกอย่างต่อเนื่อง

“กว่าจะได้มติ 5 ข้อนี้ ก็ต้องเหนื่อยกันถ้วนหน้า แต่สุดท้ายถูกมองว่าเป็นปัญหา ถึงกับมีการพูดกันว่ามีการลงนามในข้อตกลงและมีข้อผูกมัดไปถึงเรื่องนั้น เรื่องนี้ ทั้งที่จริงๆ แล้ว นอกจากไม่มีผลผูกมัดแล้ว ทั้ง 5 ข้อ ยังเป็นการขอแก้จากร่างเดิม ซึ่งมี 7 ข้อ เราขอแก้คำที่ใช้บางคำ แก้รายละเอียดในข้อที่เราเห็นว่ามีตรงไหนที่เราเสียเปรียบ หรือกระทั่งมีนัยในการยอมรับแผนจัดการที่กัมพูชาเสนอไป เช่น ข้อที่ 5 ในร่างเดิมระบุว่า "อนุรักษ์พื้นที่ทรัพย์สิน" เราก็ขอแก้ใหม่ ให้ระบุเฉพาะ ‘ตัวปราสาท’ เราไม่เซ็นอะไรที่ทำให้เราต้องเสียดินแดน หรือไปยอมรับ หรือรับรองแผนจัดการของกัมพูชาอย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้ ในข้อที่ 5 ซึ่งเลื่อนขึ้นมาจากข้อ 7 เป็นการกำหนดให้มีการพิจารณาเอกสารที่ทางกัมพูชาเสนอแผนในอีก 1 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นแค่การพิจารณา ไม่ใช่การยอมรับในสิ่งที่กัมพูชาเสนอในอนาคต

“หลังจากนั้นทั้งไทยและกัมพูชายังถูกประธานการประชุมทาบทามให้ร่วมหารือ กันหลายครั้ง เพราะอยากให้สองชาติตกลงกันได้ ขณะเดียวกันก็เสนอให้จัดทำร่างข้อมติ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา จนได้ร่างข้อมติ 5 ข้อ ซึ่งเป็นที่รับทราบร่วมกัน ประธานได้นำเสนอร่างข้อมติดังกล่าวให้ที่ประชุมเพื่อพิจารณา ซึ่งกว่าที่จะได้ทั้ง 5 ข้อมา กัมพูชางัดทุกกลยุทธ์มายื้อกับฝ่ายเรา อ้างว่าเป็นเรื่องของเทคนิคบ้างล่ะ ก่อนที่ประธานการประชุมให้มีการแก้ไขรายละเอียดในมติ แล้วก็ให้ทั้งสองฝ่ายดูจนกว่าจะพอใจ ประธานบราซิลถึงกับบ่นว่า กัมพูชาดึงเรื่องเกินเหตุ” เขาเล่า

ถามว่า หากไม่เซ็นรับทราบใน 5 ข้อ จะเกิดอะไรขึ้น สุวิทย์ บอกว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ต้องมีการออกเสียงกัน ซึ่งจะเป็นการออกเสียงในมติ 7 ข้อ ที่ทางกัมพูชาเสนอในตอนแรก และจะเป็นการออกเสียงลับๆ ซึ่งไม่แน่ว่าไทยอาจจะมีเสียงสนับสนุนน้อยกว่า

“กว่าจะได้ข้อสรุป 5 ข้อ บราซิลแทบจะเรียกได้ว่าเค้นกัมพูชา ซึ่งไม่ยอมง่ายๆ กันเลยทีเดียวเลย ขณะที่เมื่อเราเห็นว่าพอใจแล้วได้ประโยชน์ก็ตกลง จะไม่มีฝ่ายไหนเบี้ยว หรือทำอะไรนอกเหนือไปจาก 5 ข้อนี้”

อย่างไรก็ตาม ร่างข้อมติที่ได้เซ็นรับทราบไปก็ยังถูกมองว่ามีผลในการยอมรับคณะกรรมการ ประสานงานระหว่างประเทศ (International Coordinating Committee หรือไอซีซี) ซึ่ง สุวิทย์ อธิบายว่า ตามข้อเท็จจริงแล้วเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ไทยค้านมาโดยตลอดเช่นกัน

“กรรมการชุดนี้เป็นมติของที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 32 ที่ควิเบก ประเทศแคนาดา ตั้งแต่ปี 2551 เป็นข้อกำหนดให้กัมพูชาประสานกับยูเนสโกจัดการประชุมขึ้นเพื่อรักษาและพัฒนา ทรัพย์สิน ระบุว่าให้แล้วเสร็จภายใน ก.พ. 2552 แต่ถึงตอนนี้ก็ยังตั้งไม่ได้ และเราก็ยืนยันที่จะไม่เข้าร่วม เพราะหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกอีก 7 ประเทศยังคลุมเครือ เราไม่รู้ว่าขอบเขตอำนาจของไอซีซีมีแค่ไหน ผลของการตัดสินจะผูกพันเราอย่างไร”

หากวิเคราะห์ถึงความเคลื่อนไหว รวมถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเดินทางไปร่วมประชุมในครั้งนี้ล้มเหลว สุวิทย์มองว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของเกมการเมือง เพราะเมื่อพิจารณาจากการไม่ยอมรับฟังเหตุผลแล้ว ยากที่จะมองเป็นเรื่องอื่น และยังยืนยันถึงความสำเร็จในการไปเจรจาที่มาถึงวันนี้ แม้จะไม่อยากเรียกว่าเป็นชัยชนะ เพราะเกรงว่าหากประกาศออกไปแล้ว ย่อมเลี่ยงที่จะถูกตีความในแง่ลบไม่ได้

“ช่วงนี้จะมีการเลือกตั้ง สก. สข. มีการดึงเรื่องเอ็มโอยู ปี 2543 เข้ามาโยง ทั้งๆ ที่เรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวกับเรื่องของมรดกโลกเลย เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ เพราะเป็นเรื่องของเขตแดน คณะทำงานที่เดินทางไปร่วมประชุมทุกคนรู้ดีว่ากำลังไปเผชิญหน้ากับอะไร หากเกิดความผิดพลาดแล้วอาจจะกลับเมืองไทยไม่ได้ด้วยซ้ำไป เราอาสาไปสู้ โดยบอกได้ว่าทางกัมพูชาไม่ได้อะไรทั้งสิ้น เพราะแผนการจัดการถูกเลื่อนออกไปโดยยังไม่ได้พิจารณาอะไรเลย กัมพูชาประสบความสำเร็จอย่างเดียวคือได้ยื่นเอกสาร แต่ก็ยังไม่ถึงมือคณะกรรมการ” เขากล่าว

สุวิทย์ กล่าวอีกว่า หากตามกำหนดการ แผนการจัดการจะถึงมือของคณะกรรมการในที่สุด สิ่งที่ประเทศไทยจะดำเนินการต่อไปก็คือพิจารณารายละเอียดในเอกสารนั้นอย่าง ละเอียด โดยจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้ และหากพบว่าในรายละเอียด ปรากฏชัดว่าไทยถูกรุกล้ำอธิปไตยก็ต้องดำเนินการคัดค้านและทำความเข้าใจกับ นานาชาติอย่างถึงที่สุด ซึ่งนานาชาติน่าจะรับฟังว่าเรื่องทั้งหมดไม่เป็นไปตามกติกาอยู่แล้วตั้งแต่ แรก

“นานาชาติรวมถึงชาติสมาชิกอนุสัญญามรดกโลกทราบอยู่แล้วว่าเรื่องของเขต แดนนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และตราบใดที่ปัญหานี้ยังมีอยู่ เรื่องประเด็นปัญหาการขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลกก็ยังดำรงอยู่ต่อไป แม้จะย้อนไปนับหนึ่งใหม่ด้วยการย้อนกลับไปคุยกันเรื่องการประกาศขึ้นทะเบียน ร่วมกันระหว่างสองประเทศ เพราะยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่ล้วนแต่บ่งชี้ว่าจะกลายเป็นปัญหาที่รออยู่ ในอนาคตพร้อมๆ กับปัญหาเรื่องเขตแดน” สุวิทย์ กล่าว ก่อนจะทิ้งท้ายว่า

หากเป้าหมายหลักของคณะผู้แทนไทยที่ไปเจรจาในครั้งนี้ คือต้องการบอกให้โลกรู้ว่าไทยยอมไม่ได้ ถ้ากัมพูชามีการเขียนแผนที่รุกรานอธิปไตยของไทย หรือกระทั่งเรากำลังยอมให้มรดกโลกด่างพร้อยเพราะการดำเนินการไม่เป็นไปตาม กติกา ก็ถือว่าไทยบรรลุเป้าหมายแล้ว

เวลานี้ปัญหาการเจรจาบนเวทีโลกได้ผ่อนคลายลงเพื่อให้ทั้งสองได้ พักหายใจไปชั่วระยะหนึ่ง แต่สิ่งที่กำลังจะตามมาขณะนี้คือ การเมืองภายในของประเทศที่ยังทะเลาะกันเองไม่สิ้นสุด


กมม.พอใจดีเบตพระวิหาร

จาก โพสต์ทูเดย์

สุริยะใสพอใจดีเบตปมพระวิหาร ปัดพรรคการเมืองใหม่ฉวยโอกาสเกาะกระแสช่วงหาเสียงเลือกตั้งส.ก.และส.ข.เรียก ร้องนายกฯทำงานควบคู่ภาคประชาชนปกป้องอธิปไตย

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ แถลงว่า พรรคขอสนับสนุนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งยก เลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนทางบกปี 2543 หรือเอ็มโอยู43 ถือเป็นเรื่องน่าชมเชย และขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองสนับสนุนเพื่อยกระดับข้อพิพาทดังกล่าวเป็น วาระแห่งชาติ
         
นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า พรรคมิได้หยิบยกประเด็นข้อพิพาทปราสาทพระวิหารมาเคลื่อนไหวเพื่อหวังผลการ เลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) หรือเพื่อทำลายความชอบธรรมของรัฐ อย่างที่คนบางกลุ่มตั้งข้อกล่าวหา เพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เคลื่อนไหวในประเด็นนี้ตั้งแต่ ปี2551 ก่อนจะมีการตั้งพรรคการเมืองใหม่

นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า ส่วนการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กับแกนนำเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ ถือเป็นชัยชนะเบื้องต้นของคนไทยที่มีการตีแผ่ และเปิดเผยข้อเท็จจริง

"ในภาพรวมทั้งสองฝ่าย มีเป้าหมายไม่ต่างกัน แต่ในแง่ขั้นตอนการปฏิบัติยังมีความเชื่อและวิธีคิดที่ยังไม่ตรงกันทีเดียว ถือเป็นบรรยากาศที่ดี โดยขั้นตอนตอนไปจะต้องกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อร่วมกันทวงดินแดนและรักษา อธิปไตยของชาติกลับคืนมา" นายสุริยะใส กล่าว และว่าการดีเบท สิ่งที่ประชาชนได้รับประโยชน์คือ การที่รัฐบาลนำเอกสารลับบางอย่างมาเปิดเผย ซึ่งเป็นผลจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีทำงานร่วมกับภาคประชาชนอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องอธิปไตยของไทย เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อาจทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนได้ รัฐบาลชุดนี้จึงควรให้ความชัดเจน และสานต่อความร่วมือ รวมถึงการให้นโยบายกับข้าราชการประจำในเรื่องนี้


สุวิทย์ชงตั้งกก.ที่ปรึกษากรณีพระวิหารภาคประชาชน

จาก โพสต์ทูเดย์

สุวิทย์เตรียมเสนอนายกฯตั้งกรรมการที่ปรึกษาภาคประชาชนกรณีเขา พระวิหาร เพื่อดึงทุกฝ่ายเข้ามาร่วมให้ข้อมูล

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวภายหลังร่วมหารือกรณีปราสาทเขาพระวิหารกับตัวแทนจากกลุ่มเครือข่ายคน ไทยหัวใจรักชาติว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ตั้งคณะกรรมการ ขึ้นมา 1ชุด เพื่อเดินหน้าในเรื่องปราสาทพระวิหารต่อไป โดยได้เตรียมเสนอนายกฯให้ตั้งกรรมการที่ปรึกษาภาคประชาชน เพื่อจะเชิญชวนทุกฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาร่วมให้ข้อมูล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อ 

“การดีเบตในวันนี้ ทุกคนได้พูดถึงความเห็นของตัวเองชัดเจนและต้องขอบคุณว่า สิ่งที่เราไปทำมานั้นถูกต้องแล้วและเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ผมรู้สึกมีกำลังใจมากขึ้น เพราะที่ผ่านมามีการเกิดความเข้าใจผิดบางครั้ง บางเรื่อง  แต่ในส่วนของภาคประชาชนให้ออกมาเยอะจะได้ให้เขาเห็นว่าคนไทยมีความรู้สึก อย่างไรบ้างความเห็นจะตรงกันหรือไม่ตรงกันไม่เป็นไร” นายสุวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้หากยังมีข้อสงสัย และอยากรู้รายละเอียดก็ยินดีนั่งคุยด้วยทุกอย่างก็จะอธิบายให้ฟัง แต่บางเรื่องเป็นกระบวนการทางด้านเทคนิคที่นำไปสู่การเจรจาต่อรองคงพูดทั้ง หมดไม่ได้ การดีเบตเป็นการแสดงความเห็นที่แตกต่างไม่ใช่ความเห็นที่แตกแยก ไม่ได้เป็นการทะเลาะ

Tags : สุวิทย์ เล่าเบื้องหลัง นาทีชิงเหลี่ยมเขมร

view